เคน นครินทร์ ชวน โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ (The Money Coach) มาให้แนวทางที่คนทั่วไปน่าจะต้องการมากที่สุดในภาวะวิกฤตแบบนี้ นั่นคือ ‘แนวทางวางแผนการเงินส่วนบุคคล’ หรือถ้าใครเป็น SMEs เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ก็สามารถนำเอาไปปรับใช้ได้ รวมถึงคนที่อาจต้องเป็นหนี้จากภาวะนี้จะจัดการและรับมืออย่างไร
จัดการหนี้อย่างไรในวันที่รายได้ไม่เหมือนเดิม
หากนับตามโครงสร้าง ปัญหาการเงินของคนไทยยังเป็นเรื่องหนี้สินเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนรูปไป เพราะรายได้หาย มันเริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว คนทำงานถูกลดเงินเดือน ถึงขั้นมีคนที่มาฟังบรรยายบอกว่า “โค้ชครับ ไม่ต้องสอนเรื่องการลงทุนอะไรทั้งสิ้น ขอเรื่องหนี้ล้วนๆ เลยครับ รายได้หายไปจะทำอย่างไร”
ยกตัวอย่างโครงสร้างรายได้ของคนไทยในภาคอุตสาหกรรม เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ‘เงินเดือน’ กับ ‘ค่าทำงานล่วงเวลา’ (Overtime: OT) ค่าโอทีมีสิทธิ์สูงถึง 50% จนบางคนพูดว่า “เงินเดือนเอาไว้ใช้หนี้ โอทีเอาไว้ใช้รับประทาน” สิ่งที่กระทบตามมาคือ บริษัทเริ่มลดค่าโอที ลดวันทำงาน ปรับสัดส่วนรายได้ คนคุ้นชินกับการมีค่าโอทีมารองรับรายจ่ายที่สูงติดเพดาน มองเงินทั้งหมดที่ได้เป็นรายได้เสถียรและคงที่ เมื่อต้องการกู้ยืม ธนาคารก็ช่วยเต็มที่ นับรวมค่าโอทีเข้าไปในรายรับ เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาก็เกิดขึ้นตามมามากมาย
4 แนวทางวางแผนการเงินในวิกฤตรายได้
1. ดึงเงินกลับมาอยู่ในสภาวะควบคุมให้ได้
ในช่วงสภาวะการเงินดี คุณอาจไม่ได้ควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเต็มที่ ดังนั้น เมื่อเกิดสภาวะถดถอย สิ่งแรกที่ควรทำคือ การดึงเงินกลับมาอยู่ในสภาวะควบคุมได้
ลองวางแผนการเงินด้วยวิธีประเมินรายรับ-รายจ่ายล่วงหน้า 6-12 เดือน โดยไม่ใช่การทำย้อนหลัง แต่เป็นการคาดการณ์ไปข้างหน้าว่า ทุกเดือนหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นับจากรายได้หลัก รายได้พิเศษ รายการหักเงินสำคัญ รายจ่ายประจำ รวมออกมาเป็นเงินคงเหลือ คล้ายกับการทำงบกำไรขาดทุนของบริษัท
ย้อนกลับไปในสภาวะปกติ พยายามเลี่ยงการทุ่มเงินเก็บทั้งหมดไปอยู่ในพอร์ตการลงทุน เพราะเมื่อไรที่เดือดร้อน คุณอาจไม่กล้าเอาเงินออก ควรแบ่งเก็บเงินสดสัก 3-6 เดือน หมั่นเช็กว่าถ้ามีเงินเก็บตรงนี้ ชีวิตจะเคลื่อนไปได้อีกนานเท่าไรโดยที่ไม่เดือดร้อน การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณมีสติรับมือกับวิกฤตได้ดีขึ้น โดยไม่ตื่นตระหนกมากจนเกินไป
อีกสิ่งที่อยากให้ทำคือ การพูดคุยกับตัวเองและครอบครัว โค้ชหนุ่มเคยเจอเคสต์ตัวอย่างของสามีที่แบกรับทุกอย่าง โดยภรรยาไม่รับรู้และไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนเกิดเป็นการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว ลองชวนคนสำคัญมาคุยกันว่า มีอะไรบ้างที่พอจะช่วยกันได้ วางงบประมาณ ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เน้นสิ่งสำคัญคือการสื่อสารข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน
2. ลดรายจ่ายและหนี้
รายจ่ายคงที่คือ รายจ่ายก้อนแรกที่ควรตัด ส่วนใหญ่มักจะมาจากรายจ่ายที่ผูกไว้ในอนาคต เช่น เงินที่ต้องส่งให้คุณพ่อคุณแม่เป็นประจำทุกเดือน อาจต้องต่อรองสักหน่อย เพราะการลดรายจ่ายประเภทนี้ ทำให้คุณได้ส่วนต่างหรือกระแสเงินสดกลับมาทุกเดือน
รายจ่ายคงที่อีกส่วนคือ หนี้ ลองสำรวจดูว่า หนี้ขนาดใหญ่อย่างค่าผ่อนบ้านและรถยนต์ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ผ่อนไหวหรือไม่ ถ้าไม่ไหว ควรต่อรองกับธนาคาร เล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น คุณกำลังโดนหักเงินเดือนหรือลดวันทำงาน โดยธนาคารส่วนมากพร้อมที่จะยอมรับ เพราะเขารู้ว่า การที่ลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถจ่ายเงินได้พร้อมกันจะทำให้เกิดหนี้เสีย ทางธนาคารเองมีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย ซึ่งเคสต์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น ธนาคารอาจช่วยให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ย จ่ายครึ่งหนึ่งของยอดเงินทั้งหมด หรือหยุดชำระชั่วคราวไปเลย
ท้ายที่สุด หากจำเป็นต้องตัดสินใจขายสินทรัพย์บางอย่าง ลองเรียงลำดับความสำคัญและความเร่งด่วน เช่น ตัดสินใจยอมขายรถ คิดเสียว่า รอพร้อมกว่านี้ค่อยกลับมาซื้อใหม่ โดยไม่แนะนำให้มีการยืมเงิน เพราะมันทำให้คุณไม่พยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นตออย่างแท้จริง
ในเชิงธุรกิจ ถ้ารายได้ลดลง 3-4 เดือน ผู้ประกอบการควรวิเคราะห์เป็นสัดส่วน ได้แก่
1. ตรวจดูว่า มีไลน์ธุรกิจไหนของบริษัทที่สามารถระบายสต๊อกสินค้าในราคาที่ถูกลง เพื่อนำเงินสดกลับมาให้บริษัทได้หรือไม่
2. เก็บเงินจากลูกหนี้ ด้วยการยอมลดราคาบางส่วน เพื่อแลกกับการชำระที่เร็วขึ้น เพื่อให้เกิดสภาพคล่องกว่าเดิม
3. เรียกขวัญกำลังใจจากพนักงาน โดยการปรับความเข้าใจ ไม่ไล่ใครออก แต่อาจขอลดเงินเดือน เพื่อความอยู่รอดของบริษัทและทุกคน
3. การหารายได้เพิ่ม
ลองใช้โอกาสในช่วงวิกฤตเป็นเวลาให้คุณได้กลับมาทบทวนทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถ หรืองานอดิเรกของตัวเอง ว่ามีสิ่งไหนที่อาจทำให้เกิดรายได้เสริมได้บ้าง
4. ระวังการลงทุนที่มีการรับประกัน
ช่วงวิกฤตที่คนกำลังเดือดร้อน มักเป็นช่วงที่แชร์ลูกโซ่หรือการหลอกลวงเติบโตมากที่สุด ระวังการลงทุนที่มีการรับประกันผลตอบแทนแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง
“ช่วงวิกฤตปี 2540 คนตกงานกันนับไม่ถ้วน 5 ปีต่อมา ผมเจอคน 2 ประเภท ประเภทที่ 1 แม้เจอวิกฤต แต่เขาไม่ยอมแพ้ จนตอนนี้เขามีทุกอย่าง ประเภทที่ 2 เขามักพูดว่าตัวเองยังจมอยู่กับวิกฤตและชีวิตไม่ฟื้นอีกเลย ผมอยากให้คุณลองมองไปในอนาคตว่าคุณอยากเป็นคนประเภทใด เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ทัศนคติในการดำรงชีวิตของตัวคุณเอง
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การไม่ย่อท้อ คนที่สู้ถึงอย่างไรก็รอด แต่ไม่ใช่สู้เพียงวันเดียวแล้วถอดใจ กระบวนการนี้ต้องใช้เวลา คุณต้องตัดสินใจเดินไปข้างหน้าทุกวัน อย่าท้อแล้ววางทุกอย่างทิ้งไป ถามตัวเองเสมอว่า เรายังยืนอยู่บนเส้นทางของคนที่จะแก้ปัญหาผ่านไปได้หรือเปล่า”
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Episode Editor ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Music westonemusic.com