×

‘วิชา 9 หน้า’ ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ กับ 9 เส้นทางที่ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเรียน (ตอนที่ 1)

13.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • แนะนำ 9 เส้นทาง 9 จังหวัด ตามโครงการ ‘วิชา 9 หน้า’ ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานไว้ ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวก็มีทั้งตามรอยแหล่งเรียนรู้อันเนื่องมาจากพระราชดำริและชุมชนใกล้เคียงที่น้อมนำคำสอนมาปฏิบัติจริง
  • สามารถร่วมทำกิจกรรมเพลินๆ เช่น พายเรือคายัก เล่นน้ำ ล่องห่วงยาง ปิกนิกริมน้ำบริเวณหน้าประตูเขื่อน โดยมีฉากหลังเป็นมุมสูงของประตูเขื่อนคอนกรีตที่ยาวที่สุดในโลก หรือเรียนเทคนิคการย้อมคราม ทำผ้ามัดย้อมไว้สวมใส่กันให้ไม่เหมือนใคร เป็นต้น

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชทรงได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์นักพัฒนาตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ทรงวางรากฐานของประเทศด้วยโครงการในพระราชดำริมากถึง 4,596 โครงการ ซึ่งมีทั้งเกี่ยวกับน้ำ ดิน ป่า และวิศวกรรม ทั้งหมดก็เพื่อให้พสกนิกรในแผ่นดินของพระองค์อยู่ดีกินดี

     ‘ศาสตร์แห่งพระราชา’ คือคำสอนและองค์ความรู้ที่พระองค์พระราชทานไว้ จึงเปรียบเสมือนวิชาของพ่อที่ช่วยพัฒนาให้คนไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน

     THE STANDARD ขอพาคุณลงทะเบียนเรียนในหลักสูตร ‘วิชา 9 หน้า’ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตามเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพระบาท ซึ่งเราเห็นว่าน่าเที่ยว น่าตามรอย ทั้งยังได้เรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ ของพระองค์ควบคู่กับเก็บหน่วยกิตหลักสูตรนี้พร้อมๆ กันไปด้วย

 

 

  1. วิชาปรุงไทยในใจคน: สืบสานตำนานเรือ สร้างสรรค์ตำนานไทย

     ภาพเรือหลวงเคลื่อนขบวนไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ฝีพายแต่งชุดเต็มยศ เวลาพายเป็นจังหวะจะโคน สอดประสานพร้อมเสียงเห่เรือดังกึกก้องทั่วท้องน้ำ เฉลิมพระเกียรติองค์ประมุขไทย กระบวนพยุหยาตราชลมารคเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา จวบจนรัชกาลที่ 7 จึงหยุดชะงักด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และสถานภาพทางการเมืองอันไม่สงบในช่วงนั้น

     กระทั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเก็บเรือพระราชพิธีที่คลองบางกอกน้อยใน พ.ศ. 2495 และทอดพระเนตรเห็นเรือหลายลำอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ฟื้นฟู ทางกรมศิลปากรและกองทัพเรือจึงเข้ามาดูแลซ่อมแซม จัดทำทะเบียนเรือพระราชพิธีต่างๆ จนกลับมาใช้ได้อีกครั้ง เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2502

 

กิจกรรมชวนเก็บหน่วยกิต

 

 

  • ชมเรือหลวง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

     อู่เก็บเรือพระราชพิธีเก่าซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวังและกองทัพเรือนั้น นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมเพื่อศึกษาเรื่องราวของพระราชพิธีต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง โดยจัดแสดงเครื่องประกอบในพระราชพิธีต่างๆ ทั้งบัลลังก์บุษบก บัลลังก์กัญญา สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกายของเหล่าฝีพายทุกตำแหน่ง รวมทั้งมีการจำลองกระบวนพยุหยาตราชลมารคให้ด้วย

พิกัด: ปากคลองบางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

ค่าเข้าชม: คนไทย 20 บาท ค่าถ่ายภาพ 100 บาท

เปิดให้บริการ: จันทร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-17.00 น.

โทรศัพท์: 0 2424 0004

 

 

  • เรียนรู้ทำการทำขันลงเงินที่ ‘ชุมชนบ้านบุ’ แห่งเดียวในเมืองไทย

     บุขันลงหิน เป็นอาชีพเก่าแก่ในชุมชน ‘บ้านบุ’ ที่ทำกันทุกครัวเรือนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนอพยพมาตั้งรกราก ณ ละแวกบางลำพูและบางกอกน้อยเพราะกรุงแตก ขั้นตอนการทำขันลงหินนั้นยุ่งยาก ต้องใช้ความประณีตและฝีมือช่างเป็นอย่างมาก ทำให้มีแต่เจ้านายชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์ที่นิยมใช้ เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา ความนิยมเริ่มจางหาย จากหลายครอบครัวก็เหลือเพียงครอบครัวเดียวคือโรงงานของตระกูลเจียมแสงสัจจา

 

 

     นอกจากแวะดูการทำขันลงเงินรอบๆ ชุมชน ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ตลาดไร้คาน ตลาดเก่าอายุ 80 ปี แหล่งค้าขายของคนจีนในย่านบ้านบุ และวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร วัดเก่าที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชใช้ลานวัดเป็นสถานที่ประหารเชลยพม่า

พิกัด: ริมคลองบางกอกน้อย ข้างวัดสุวรรณาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี

เปิดให้บริการ: ทุกวัน

โทรศัพท์: 08 1615 7840

 

 

  1. วิชาชลปราการ: จาก ‘นครนายก’ สู่ ‘นครนาสมบูรณ์’

     แม้จังหวัดนครนายกในภาพที่เราคุ้นชินจะมีภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำ ต้นไม้เขียวชอุ่ม พืชพันธุ์ใดๆ ก็น่าจะขึ้นง่าย โตเร็ว แต่ความจริงชาวบ้านในพื้นที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง เพาะปลูกอะไรก็ขึ้นยาก จนทางการต้องยกภาษีที่นาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสังเกตเห็นว่าที่จังหวัดนครนายกมีปริมาณน้ำไหลผ่านมาก และกว่า 90% ถูกปล่อยลงสู่ทะเลโดยเปล่าประโยชน์ จึงรับสั่งให้กรมชลประทานสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำให้ชาวบ้านไว้ใช้ยามขาดแคลนและป้องกันอุทกภัยยามน้ำหลาก ระหว่างการดำเนินการ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรเพื่อสอบถามปัญหาทุกข์สุข ทรงย้ำไม่ให้ชาวบ้านขายที่ดินเป็นอันขาด โดยตรัสด้วยพระราชอารมณ์ขันว่า เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จก็จะโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจังหวัดจาก ‘นครนายก’ เป็น ‘นครนาสมบูรณ์’

     เขื่อนสร้างเสร็จสมบูรณ์ภายใน 10 ปี กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่เก็บน้ำสมัยใหม่ เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ และยังมีการนำเทคนิคและวิทยาการสมัยใหม่มาปรับใช้ เช่น การนำคอนกรีตไปบดอัดกับกากถ่านหินจนมีความทนทานสูง เป็นอาทิ ประชาชนได้ใช้นำจากการชลประทาน เรือกสวนไร่นางอกงาม ตัวเขื่อนยังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รองรับผู้คนจากทั่วสารทิศ

 

กิจกรรมชวนเก็บหน่วยกิต

 

 

  • พักผ่อนริมน้ำ กินปลาน้ำจืดที่ ‘เขื่อนขุนด่านปราการชล’ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

     ล่องเรือชมเขื่อน สัมผัสภาพในมุมกว้าง ดื่มด่ำกับความงามของน้ำตกผางามงอน น้ำตกคลองคราม แวะชมพระตำหนักที่ประทับของรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จฯ มาทรงงาน หรือเลือกกิจกรรมสบายๆ อย่างพายเรือคายัก เล่นน้ำ ล่องห่วงยาง ปิกนิกริมน้ำบริเวณหน้าประตูเขื่อน โดยมีฉากหลังเป็นมุมสูงของประตูเขื่อนคอนกรีตที่ยาวที่สุดในโลก

พิกัด: หมู่ที่ 2 บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

เปิดให้บริการ: ทุกวัน เวลา 8.00-16.00 น.

ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี

โทรศัพท์: 08 9634 9287

 

Photo: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

  • รู้ทุกเรื่องของดินที่ ‘ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ’

     สถานที่เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลึกซึ้งและครบวงจร อดีตเคยเป็นพื้นดินรกร้าง เพาะปลูกไม่ขึ้น แต่ถูกพัฒนาด้วยการน้อมนำหลักแนวคิดและทฤษฎีการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพดิน น้ำ ป่า คน ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 จนปัจจุบันกลายเป็นศูนย์สีเขียวที่มีแต่ร่มไม้ และเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับบุคคลที่สนใจ

 

 

     จัดแสดงแปลงสาธิตตามแนวพระราชดำริ ทั้งการจำลองทฤษฎีแก้มลิง, ทฤษฎีแกล้งดิน, ทฤษฎีอธรรมปราบอธรรม, กังหันน้ำชัยพัฒนา ฯลฯ โดยแบ่งเป็นสภาพดินตามภาคต่างๆ ของประเทศ และทฤษฎีที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนา เช่น ภาคเหนือ ทำความรู้จักกับป่าเปียกกันไฟและฝายตามทฤษฎีป่า 3 อย่าง, ภาคอีสาน นำเสนอเรื่องราวของข้าว หลักความคิดของธนาคารข้าว การสีข้าว และการปศุสัตว์

พิกัด: 98/1 หมู่ที่ 2 บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

เปิดให้บริการ: ทุกวัน เวลา 8.00-17.00 น.

ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี

โทรศัพท์: 0 3738 4049 (ติดต่อทำกิจกรรมล่วงหน้า)

 

 

  1. วิชาตำนานพันธุ์: จุดเริ่มต้นของ 3 ดำแห่งแดนภูพาน

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคยพระราชทานสัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า เหตุที่พระองค์ทรงพัฒนาชนบททางภาคอีสาน เพียงเพราะต้องการต่อสู้กับความอดอยากหิวโหยของราษฎร มิใช่กับพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เพื่อเป็นศูนย์กลางการทำงานของพระองค์ในภาคอีสาน พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทดลองแนวพระราชดำริต่างๆ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ในฤดูแล้ง การหาข้าวพันธุ์ดีที่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ หรือการเลี้ยงสัตว์ ที่พระองค์พระราชทานแนวทางง่ายๆ ว่าต้องแข็งแรง ทนต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่าย ลงทุนไม่สูง จนกลายเป็นที่มาของตำนาน 3 ดำแห่งภูพาน ได้แก่ ไก่ภูพาน สุกรภูพาน และโคเนื้อภูพาน

 

กิจกรรมชวนเก็บหน่วยกิต

 

 

  • ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

     หนึ่งห้องเรียนตามพระราชดำริที่พระองค์พระราชทานไว้ให้แก่ชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาสภาพดิน รวมถึงการขาดแคลนน้ำในการทำเกษตร ปัจจุบันกลายเป็นต้นแบบในการจัดการทรัพยากรน้ำหลายพื้นที่จนเกิดเป็นตำราวิชาเฉพาะ 19 บทเรียน โดยเฉพาะวิชาตำนาน 3 ดำ เคล็ดไม่ลับแห่งเทือกเขาภูพาน

 

 

     นั่งรถรางชมพื้นที่แปลงเกษตรสาธิตและปศุสัตว์ 3 ดำ เรียนรู้ระบบเกษตรบนแนวคิดวิถีพอเพียงตามรอยพระราชดำริ รวมถึงศาสตร์แห่งการจัดการป่าและพรรณไม้ ‘การปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง’ รื่นรมย์กับทัศนียภาพของอ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่ พร้อมเรียนรู้แนวคิดการจัดการระบบน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรของชุมชน

พิกัด: บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

เปิดให้บริการ: จันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น.

ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี

โทรศัพท์: 0 4271 2975

 

 

  • สัมผัสวิถีไทเทิง ภู-นา-ป่า-คราม ที่ ‘ชุมชนบ้านหนองส่าน’

     หมู่บ้านเล็กๆ บนเทือกเขาภูพานที่มากด้วยเสน่ห์ นักท่องเที่ยวผู้มาเยี่ยมชุมชนสามารถเรียนรู้วิถีไทยผ่านการพักโฮมสเตย์ โดยมีไกด์เจ้าถิ่นดูแลทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการไหว้พระขอพร ณ วัดโพธิ์ชัย หนองส่าน, ทดลองสานกระติ๊บและหวดข้าว (นึ่งข้าว), หยิบกล้าดำนาช่วงหน้าฝน, ลองแปลงร่างเป็นพรานป่าตามชาวบ้านไปเก็บเห็ด, เรียนรู้ระบบนิเวศป่า, ฟังเรื่องราวจากปากผู้เฒ่าเกี่ยวกับบรรยากาศพรรคคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น ก่อนกลับมาเรียนเทคนิคการย้อมคราม ทำผ้ามัดย้อมไว้สวมใส่

 

 

พิกัด: 28 หมู่ที่ 11 ตำบลโคกภู เทศบาลนครสกลนคร อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร

เปิดให้บริการ: ทุกวัน (กรุณาติดต่อล่วงหน้า)

ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี (ไม่รวมค่ากิจกรรม)

โทรศัพท์: 0 9876 3184

 

 

  1. วิชาธรรมชาติสามัคคี: บทพิสูจน์ของ ‘คนกับป่า’

     เมื่อ 30-40 ปีก่อน ประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้กระแสการคืบคลานของลัทธิคอมมิวนิสต์ ละแวกภูหินร่องกล้าคือสมรภูมิสำคัญที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ป่ารกชัฏ จุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อพื้นที่ 3 จังหวัดคือ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก, อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ แม้ภายหลังสถานการณ์จะคลี่คลาย บ้านเมืองสงบ แต่ปัญหาภูหินร่องกล้ายังไม่หมดไป ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวม้งยังคงดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่นกับกะหล่ำปลี และมักเข้าไปบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่า ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและประชาชน

     ด้วยเหตุนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้หยิบยกเอาแนวทางพระราชดำริมาเป็นฐานเพื่อแก้ไข โดยสนับสนุนให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากไร่เลื่อนลอยมาเป็นพืชที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่น กาแฟอาราบิก้า, สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ขณะเดียวกันก็ปลูกฝังความคิดเรื่องป่า สอนให้รู้จักดูแลธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการทำแนวป้องกันไฟป่า การดูแลพันธุ์พืช ดูแลแหล่งน้ำ ส่งผลให้ภูหินร่องกล้ากลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ในที่สุด

 

กิจกรรมชวนเก็บหน่วยกิต

 

Photo: โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ภูหินร่องกล้า

  • โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก

     กำเนิดขึ้นเพื่อปฏิบัติตามแนวพระราชดำริด้านงานพัฒนาป่าไม้ของรัชกาลที่ 9 ใน พ.ศ. 2552 โดยส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งที่บ้านใหม่ร่องกล้า หมู่ที่ 10 ปรับเปลี่ยนอาชีพจากการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ไร่กะหล่ำปลี ให้หันมาปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 และกาแฟอาราบิก้า จนปัจจุบันสามารถต่อยอดพัฒนากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว

 

 

     ช่วงเวลาเหมาะสมแก่การเยือนคือปลายปี ทุ่งดอกกระดาษจะบานสวย มีจุดชมวิวสวยตามหินผา 6 จุดสำคัญ ได้แก่ ผาไททานิค, ผาพบรัก, ผาบอกรัก, ผารักยืนยง, ผาคู่รัก และผาสลัดรัก จิบกาแฟปลอดสารจากน้ำมือของชาวม้งท่ามกลางผืนป่าเขียวชอุ่ม หรือดอกสีชมพูสวยของต้นนางพญาเสือโคร่งในช่วงต้นปี

พิกัด: หมู่ที่ 10 บ้านร่องกล้า ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

เปิดให้บริการ: ทุกวัน ฤดูที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวคือมกราคม-กุมภาพันธ์

ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี

โทรศัพท์: 08 1596 5977                                       

 

 

  • ‘บ้านเข็กน้อย’ เที่ยวปีใหม่ม้ง สัมผัสประเพณีโบราณที่มีมานานกว่า 100 ปี

     สนุกสนานไปกับงานประเพณีประจำปีของบ้านม้ง ณ บ้านเข็กน้อย จังหวัดพิษณุโลก ชุมชนชาวม้งที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศไทย คือมีทั้งหมด 12 หมู่บ้าน เกือบ 14,000 คน งานฉลองปีใหม่ของชาวม้งจะเริ่มตั้งแต่ในเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี แต่ละหมู่บ้านจะจัดไม่ตรงกัน แต่ส่วนใหญ่นิยมเริ่มในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 นาน 7-9 วัน จำนวนวันขึ้นกับความเคร่งและความยิ่งใหญ่ของหมู่บ้าน ผู้หญิงจะเตรียมตัดเย็บเสื้อผ้าให้สมาชิกในครอบครัว ผู้ชายจะเตรียมฟืนไว้สำหรับหุงต้ม กรรมการหมู่บ้านจะฝึกหนุ่มสาวไว้ฟ้อนรำ

     นักท่องเที่ยวสามารถร่วมงานหรือแวะไปเยี่ยมชมและเรียนรู้งานประเพณีได้ตั้งแต่ลองตัดเย็บเสื้อผ้าไปจนถึงการฝึกซ้อมฟ้อนรำและการละเล่นต่างๆ เช่น ชนวัว, เล่นลูกข่าง, เป่าแคน, ยิงหน้าไม้ หรือแม้แต่การโยนลูกช่วงเสี่ยงคู่ ที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวเกี้ยวพาราสีกันได้อย่างโจ่งแจ้งในที่สาธารณะ

พิกัด: องค์การบริการส่วนตำบลเข็กน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

เปิดให้บริการ: เทศกาลปีใหม่ม้งตำบลเข็กน้อย ประจำปี 2561 จะตรงกับวันที่ 18-26 ธันวาคม 2560

ค่าเข้าชม: เข้าชมฟรี (ไม่รวมค่ากิจกรรม)

โทรศัพท์: 0 5692 5576 (คุณนารีรัตน์)

 

      อยากเก็บคะแนนให้ครบหลักสูตร ‘วิชา 9 หน้า’ ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ กับ 9 เส้นทางที่ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเรียน ติดตามต่อได้ในตอนหน้า

 

Photo: หนังสือ ‘วิชา 9 หน้า’

อ้างอิง:

  • หนังสือ ‘วิชา 9 หน้า’ ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X