วันนี้ (3 มีนาคม) พรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ จะจัดการเลือกตั้งขั้นต้นใน 14 รัฐเพื่อเฟ้นหาผู้สมัครลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งการที่หลายรัฐจัดการเลือกตั้งพร้อมกันจึงเรียกวันนี้ว่า Super Tuesday โดยผู้สมัครคนใดได้คะแนนโหวตสูงสุดก็มีโอกาสสูงที่จะได้เป็นตัวแทนของพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้
Super Tuesday สำคัญอย่างไร
Super Tuesday เป็นวันเลือกตั้งขั้นต้นทั้งแบบคอคัสและไพรมารีในสหรัฐฯ ที่มีจำนวนมลรัฐจัดพร้อมกันมากที่สุดในวันเดียว ซึ่งปกติแล้วจะจัดในวันอังคารเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม
ความสำคัญอยู่ตรงที่ยิ่งใครได้คะแนนโหวตมากเท่าไรก็มีโอกาสได้จำนวนผู้แทนผู้ลงคะแนน (Delegates) มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งตัวแทนเหล่านี้จะไปโหวตเลือกผู้สมัครตามเจตจำนงของสมาชิกหรือผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่พรรค (Convention) โดยเดโมแครตจะจัดการประชุมใหญ่ที่เมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน วันที่ 13-16 กรกฎาคม ขณะที่รีพับลิกันจะจัดที่เมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา วันที่ 24-27 สิงหาคม
สำหรับผู้แทนผู้ลงคะแนนที่มีการชิงชัยกันในวันนี้นั้นมีสัดส่วนถึงราว 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด ดังนั้นใครได้ไปมากที่สุดก็จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าใครมีโอกาสได้เป็นตัวแทนของพรรคในบั้นปลาย ด้วยเหตุนี้ผลการเลือกตั้งในวัน Super Tuesday จึงสำคัญมาก และถือเป็นตัวชี้วัดที่ทั่วโลกจับตา
เลือกตั้งขั้นต้น Super Tuesday จัดในรัฐใดบ้าง
สำหรับ 14 รัฐที่จัดการเลือกตั้งแบบไพรมารีในวันที่ 3 มีนาคมนั้น ประกอบด้วย รัฐแอละแบมา, อาร์คันซอ, แคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, เมน, แมสซาชูเซตส์, มินนิโซตา, นอร์ทแคโรไลนา, โอคลาโฮมา, เทนเนสซี, เท็กซัส, ยูทาห์, เวอร์มอนต์ และเวอร์จิเนีย
นอกจาก 14 รัฐในสหรัฐฯ แล้ว ยังมีดินแดนของสหรัฐฯ ที่จัดการเลือกตั้งขั้นต้นในวันนี้ด้วยคือ อเมริกันซามัว (เฉพาะเดโมแครต)
จำนวนผู้แทนผู้ลงคะแนนที่ชิงชัยกัน
- แอละแบมา: เดโมแครต 52 คน, รีพับลิกัน 50 คน
- อาร์คันซอ: เดโมแครต 31 คน, รีพับลิกัน 40 คน
- แคลิฟอร์เนีย: เดโมแครต 415 คน, รีพับลิกัน 172 คน
- โคโลราโด: เดโมแครต 67 คน, รีพับลิกัน 37 คน
- เมน: เดโมแครต 24 คน, รีพับลิกัน 22 คน
- แมสซาชูเซตส์: เดโมแครต 91 คน, รีพับลิกัน 41 คน
- มินนิโซตา: เดโมแครต 75 คน, รีพับลิกัน 39 คน
- นอร์ทแคโรไลนา: เดโมแครต 110 คน, รีพับลิกัน 71 คน
- โอคลาโฮมา: เดโมแครต 37 คน, รีพับลิกัน 43 คน
- เทนเนสซี: เดโมแครต 64 คน, รีพับลิกัน 58 คน
- เท็กซัส: เดโมแครต 228 คน, รีพับลิกัน 155 คน
- ยูทาห์: เดโมแครต 29 คน, รีพับลิกัน 40 คน
- เวอร์มอนต์: เดโมแครต 16 คน, รีพับลิกัน 17 คน
- เวอร์จิเนีย: เดโมแครต 99 คน, รีพับลิกัน 48 คน
- อเมริกันซามัว: เดโมแครต 6 คน (รีพับลิกันจัดวันที่ 24 มีนาคม ชิงตัวแทน 9 คน)
สถานการณ์ก่อน Super Tuesday
หลังผ่าน 4 สนามแรก (คอคัสที่ไอโอวา, ไพรมารีที่นิวแฮมป์เชียร์, คอคัสที่เนวาดา และไพรมารีที่เซาท์แคโรไลนา) เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์ ได้คะแนนโหวตรวมสูงที่สุดของฝั่งเดโมแครต โดยกวาดจำนวนผู้แทนผู้ลงคะแนนไปแล้ว 60 คน จากทั้งหมด 155 คนที่มีการประกาศไปแล้ว ตามมาด้วย โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีในสมัยบารัก โอบามา ที่ได้ไป 54 คน ส่วนอันดับ 3 คือ พีต บุตติเจจ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเซาท์เบนด์ รัฐอินเดียนา ได้ไป 24 คน ขณะที่ เอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเซตส์ และเอมี โคลบูชาร์ วุฒิสมาชิกรัฐมินนิโซตา ตามมาเป็นอันดับ 4 และ 5 ด้วยจำนวนผู้แทนผู้ลงคะแนน 8 คน และ 7 คน ตามลำดับ
ส่วนฝั่งรีพับลิกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้คะแนนโหวตสูงสุดในขณะนี้ (91%) กวาดจำนวนตัวแทนผู้ลงคะแนนไปแล้ว 144 คน นำที่ 2 บิล เวลด์ ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ที่ได้ไปเพียงคนเดียวอย่างขาดลอย
แคนดิเดตน่าจับตา
บทความนี้จะเจาะเฉพาะฝั่งเดโมแครต เพราะฝั่งรีพับลิกันมีโอกาสสูงที่ทรัมป์จะได้เป็นตัวแทนพรรคแบบลอยลำ หลังนำโด่งมาเดี่ยวๆ แบบไร้คู่แข่งในการเลือกตั้งขั้นต้นก่อนหน้านี้ และมีบางรัฐได้ทยอยยกเลิกการเลือกตั้งทั้งไพรมารีและคอคัสเพื่อเตรียมเทคะแนนให้ทรัมป์แล้ว รวมถึงรัฐแอละแบมาและเวอร์จิเนียที่เดิมอยู่ในโปรแกรม Super Tuesday ด้วย
อาจกล่าวได้ว่าสองผู้สมัครของเดโมแครตที่มาแรงที่สุดในขณะนี้คือแซนเดอร์สและไบเดน โดยแซนเดอร์สมีคะแนนนำเป็นที่ 1 ด้วยจำนวนผู้แทนผู้ลงคะแนน 60 คนในเวลานี้ และมีโอกาสได้เพิ่มในรัฐเวอร์มอนต์ ซึ่งเป็นฐานเสียงเขตเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาของเขา รวมถึงแคลิฟอร์เนียที่เป็นรัฐใหญ่
อย่างไรก็ตาม ก่อนศึก Super Tuesday จะเปิดฉากขึ้น ไบเดนซึ่งตามหลังคู่แข่งอย่างแซนเดอร์สใน 4 สนามแรกได้เสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจากคู่แข่งอย่าง พีต บุตติเจจ, เอมี โคลบูชาร์ และเบโต โอรูร์ก ที่ขอถอนตัวจากการชิงชัยเป็นแคนดิเดตพรรคไปก่อนหน้านี้ ทำให้ไบเดนอาจมีจำนวนตัวแทนที่ไปโหวตเลือกเขาในที่ประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรคเพิ่มขึ้นจาก 54 คนในขณะนี้ โดยก่อน Super Tuesday บุตติเจจมีจำนวนตัวแทนสะสมอยู่ 26 คน ส่วนโคลบูชาร์มี 7 คน
สนามเลือกตั้งชิงดำ
เป็นที่จับตาว่าผู้สมัครคนใดจะกวาดคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในรัฐทางใต้ได้ โดยในปี 2016 แซนเดอร์สไม่สามารถเอาชนะ ฮิลลารี คลินตัน ในมลรัฐทางใต้ได้ ส่งผลให้เขาต้องพ่ายให้กับคลินตันในท้ายที่สุด ดังนั้นรอบนี้แซนเดอร์สจึงหมายมั่นว่าจะแก้มือโดยอาศัยประสบการณ์จากรอบที่แล้ว โดยเตรียมชูนโยบายเพื่อขอเสียงสนับสนุนจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐทางใต้ของประเทศ
แต่เมื่อดูผลเลือกตั้งไพรมารีในเซาท์แคโรไลนาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาแล้วพบว่าไบเดนได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้เสียงสนับสนุนจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ดังนั้นไบเดนจึงมีลุ้นในรัฐทางใต้เช่นกัน โดยเฉพาะในรัฐแอละแบมา, นอร์ทแคโรไลนา, เวอร์จิเนีย และอาร์คันซอ โดยรัฐเหล่านี้มีสัดส่วนผู้แทนผู้ลงคะแนนเกือบ 300 คน จากทั้งหมด 1,357 คนที่มีการชิงชัยในศึก Super Tuesday
อีกรัฐที่น่าจับตาอย่างมากคือรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีการชิงผู้แทนถึง 415 คน โดยคาดว่าแซนเดอร์สจะคว้าชัยในรัฐนี้ และได้จำนวนผู้แทนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
แต่หากไบเดนคว้าชัยชนะในรัฐทางใต้ได้ ก็อาจช่วยชดเชยจำนวนผู้แทนที่เสียไปให้กับแซนเดอร์สในรัฐแคลิฟอร์เนียได้
สำหรับวอร์เรนที่ยังไม่ยกธงขาวเหมือนกับบุตติเจจและโคลบูชาร์นั้น เธอมีลุ้นในแมสซาชูเซตส์ รัฐฐานเสียง แต่โพลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดบ่งชี้ว่าถึงแม้วอร์เรนจะเป็นผู้สมัครที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนสายลิเบอรัล แต่เธอก็ต้องขับเคี่ยวกับแซนเดอร์สอย่างสูสี โดยคาดว่าทั้งคู่จะเบียดแย่งจำนวนผู้แทนในรัฐนี้ซึ่งมีทั้งหมด 91 คน แต่หากวอร์เรนถอนตัว แซนเดอร์สก็มีโอกาสชนะโดยได้ผู้แทนมากกว่า
นอกจากรัฐข้างต้นแล้ว เท็กซัสถือเป็นรัฐที่ตัดสินผู้ชนะในภาพรวม เพราะมีการชิงจำนวนผู้แทนมากถึง 228 คน หากไบเดนชนะในรัฐทางใต้อย่างเวอร์จิเนียและนอร์ทแคโรไลนาได้ตามคาด และแซนเดอร์สชนะในรัฐแคลิฟอร์เนีย เท็กซัสก็จะเป็นรัฐที่ตัดสินว่าใครคือผู้ชนะใน Super Tuesday ซึ่งโพลล่าสุดมีลักษณะผสมผสาน บ้างก็ชี้ว่าแซนเดอร์สมีภาษีดีกว่า แต่บางโพลก็ชี้ว่าทั้งคู่สูสี ดังนั้นจึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ซึ่งหลังจากทราบผลเลือกตั้งขั้นต้น Super Tuesday แล้วเราจะได้เห็นภาพชัดขึ้นว่าใครมีโอกาสได้เป็นผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้นำทำเนียบขาวกับทรัมป์มากที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการเลือกตั้งขั้นต้นที่เหลือจะไม่สำคัญ เพราะผู้สมัครแต่ละคนยังมีโอกาสตั้งตัวและพลิกสถานการณ์ได้ทุกเมื่อ การเมืองสหรัฐฯ จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง
อ่านบทความเกี่ยวกับความแตกต่างของระบบเลือกตั้งแบบคอคัสและไพรมารี และเส้นทางของผู้สมัครก่อนลงชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนได้ที่ thestandard.co/caucus-primary-vote/
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/world-us-canada-51716348
- https://edition.cnn.com/2020/03/02/politics/super-tuesday-states-list/index.html
- https://www.latimes.com/politics/story/2020-03-02/how-to-know-whos-winning-on-super-tuesday-what-to-watch
- สำหรับพรรคเดโมแครต ผู้ที่จะได้เป็นแคนดิเดตของพรรคเพื่อลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องได้คะแนนโหวตจากตัวแทนผู้ลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่อย่างน้อย 1,991 คน จากทั้งหมด 3,979 คน
- ส่วนรีพับลิกัน ผู้สมัครต้องได้คะแนนจากตัวแทนในที่ประชุมใหญ่อย่างน้อย 1,276 คน จากทั้งหมด 2,551 คน