วันครูแห่งชาติของประเทศไทยเริ่มกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 เพื่อรำลึกถึงพระคุณครูในฐานะเป็นผู้มีพระคุณประสิทธิ์ประสาทวิชาแก่ลูกศิษย์ โดยมีการจัดงานวันครูเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2500 ซึ่งในวันนี้เด็กนักเรียนและศิษย์เก่าจะได้ร่วมประกอบพิธีทางศาสนา การกล่าวรำลึกถึงพระคุณครูและอาจารย์ จัดพานพุ่ม มอบพวงมาลัย และมีกิจกรรมรื่นเริงในระหว่างวัน
ในระหว่างการทำพิธีไหว้ครู บทเพลงที่นักเรียนไทยหลายคนจะได้ร้องรำลึกถึงพระคุณครูนอกจากเพลงโรงเรียนแล้วยังมีเพลง พระคุณที่สาม (ครูบาอาจารย์ที่ท่านประทานความรู้มาให้…) หรือ แม่พิมพ์ของชาติ (แสงเรืองๆ ที่ส่องประเทืองอยู่ทั่วเมืองไทย…) ทั้งสองเพลงนี้แต่งโดย สุเทพ โชคสกุล ซึ่งเป็นครูและนักแต่งเพลงดนตรีลูกทุ่งในช่วงปี 2500-2510 ครูสุเทพเป็นผู้ริเริ่มการสอนหนังสือด้วยเพลงคนแรกของไทยและแต่งเพลงเกี่ยวกับครูไว้เป็นจำนวนมาก เช่น มาร์ชครู, เพลงครูโรงเรียนราษฎร์, ครูแถลงการณ์ ฯลฯ ซึ่งเนื้อหาในเพลงส่วนใหญ่จะเล่าถึงชีวิตของคุณครูในเขตโรงเรียนประชาบาลซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร มีความยากลำบากในการเดินทางไปสอนหนังสือให้แก่เด็กนักเรียน นอกจากนี้ครูสุเทพยังเป็นผู้แต่งเพลง ตรงต่อเวลา, ความเกรงใจ, ความซื่อสัตย์, อย่าเกียจคร้าน ฯลฯ ที่ใช้ประกอบการเรียนในวิชาลูกเสือและเนตรนารีอีกด้วย จนทำให้ครูสุเทพได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาเพลงประกอบบทเรียน