Q: เพิ่งได้เงินเดือนมาไม่กี่วัน แต่เงินเดือนจะหมดแล้วค่ะ เป็นแบบนี้เกือบทุกเดือนเลย ใจจดจ่ออยู่ตลอดเวลาว่าเมื่อไรจะถึงวันเงินเดือนออกเสียทีจะได้หายใจหายคอสะดวกอีกครั้ง ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องโบนัสที่เพิ่งได้มานะคะ อันนั้นหมดเกลี้ยงไปอย่างรวดเร็ว ไม่อยากมีชีวิตแบบนี้เลย หนูควรทำอย่างไรดีคะ
A: สิ่งที่น้องเป็นอยู่ พี่ก็เคยเป็นครับ พี่ก็เคยใช้ชีวิตทางการเงินแบบผิดๆ มาก่อน จะไม่ว่าหนูสักคำเลย เพราะคิดว่าหนูรู้อยู่แล้วว่านี่เป็นปัญหา ดีใจกับน้องมากกว่าที่ลุกขึ้นมาอยากจะแก้ไขครับ
พี่ต้องถามน้องมากกว่าว่า เงินเดือนหมดตั้งแต่ต้นเดือนมาหลายเดือน น้องอยู่มาได้อย่างไรล่ะนี่ ฮ่าๆ แต่เอาล่ะ อย่างน้อยมองในแง่ดี น้องก็มีทักษะการเอาชีวิตรอดมาได้เป็นต้นทุนชีวิต เพียงแต่ว่าน้องน่าจะอยู่ได้สบายและมั่นคงกว่านี้ถ้าเงินเดือนไม่หมดเอาตั้งแต่ต้นเดือน และคิดเล่นๆ ว่า ถ้าจู่ๆ เกิดเหตุฉุกเฉินที่น้องต้องใช้เงินขึ้นมาแต่น้องไม่มีเงินแล้ว อันนี้สิลำบากแน่ เอาว่าที่ผ่านมารอดมาได้ก็เป็นประสบการณ์ชีวิตนะครับ ได้รู้ว่าอยู่แบบลำบาก จำกัดจำเขี่ยเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้รู้ตัวแล้วนะครับว่ามันไม่ใช่ชีวิตแบบที่มั่นคง
เรื่องวินัยทางการเงินเป็นเรื่องที่ควรมีตั้งแต่เรายังไม่มีเงินเดือนด้วยซ้ำ ถ้าถามพี่ว่าวิชาไหนที่มหาวิทยาลัยไม่มีสอนและควรต้องสอนก็คือวิชาวินัยทางการเงินนี่แหละครับ ไม่อย่างนั้นมาทำงานได้เงินแล้วแต่บริหารไม่เป็น หรือใช้เงินแบบเดิมกับตอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย ซึ่งเราอาจจะไม่ได้เป็นคนหาเงินเอง มีหวังพังแน่นอน แต่ไม่เป็นไรครับ พี่คิดว่าเรื่องแบบนี้ฝึกกันได้ จะเป็นตอนไหนก็สำคัญทั้งนั้น
อย่างแรก น้องมาสำรวจก่อนเลยว่าแต่ละเดือนน้องมี ‘ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น’ อยู่เท่าไร จำเป็นในที่นี้ไม่ใช่ของในหมวด ‘ของมันต้องมีนะคะพี่ขา’ นะครับ จำเป็นคือจำเป็นจริงๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เงินเดือนที่จะให้พ่อแม่ ฯลฯ เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จ่ายไม่ได้ และรู้แน่นอนแล้วว่าต้องจ่ายเท่าไร
ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในที่นี้ ถ้ามาดูดีๆ น้องอาจจะสามารถลดรายจ่ายได้มากขึ้นก็ได้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ผ่านมาเราได้ประหยัดได้มากกว่านี้ไหม เปิดแอร์ทั้งวันทั้งคืนหรือเปล่า อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เรามีกินไฟบ้านหรือเปล่า การจัดบ้านของเราทำให้ต้องใช้แอร์มากขึ้นไหม หรือค่าโทรศัพท์มือถือ เราใช้แพ็กเกจที่เหมาะกับเราหรือเปล่า บางคนจ่ายแพ็กเกจที่ถูกแต่ใช้จริงบานปลาย ทำให้มียอดการใช้บวมเกินแพ็กเกจ ซึ่งยอดที่เกินนี่แหละครับคือส่วนที่แพง หรือจริงๆ เราต้องจ่ายแพ็กเกจแบบไหนถึงจะตรงกับความจำเป็นในการใช้งานของเรา (ก็ไม่ต้องประหยัดขนาดยิงหาเพื่อนให้โทรกลับเอานะครับ) ค่าเช่าบ้านกับค่าเดินทางเหมือนกันครับ สองอย่างนี้มักจะสัมพันธ์กัน บางคนยอมอยู่ไกลเพื่อให้ได้ห้องราคาถูกลง แต่ปรากฏว่าที่จริงเสียค่าเดินทางเยอะกว่าเดิม อันนี้เราต้องมาดูว่าอยู่แบบไหนแล้วเหมาะกับชีวิตเรามากกว่ากัน
พอรู้ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว ลองมาดูว่ามันสัมพันธ์กับรายได้ที่เรามีหรือเปล่า ถ้าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นมีมากจนเงินเดือนแทบไม่เหลือ มีสองทางคือ ลดรายจ่าย หรือเพิ่มรายได้
หลักๆ แล้วการมาสำรวจค่าใช้จ่ายทำให้เรารู้ว่า อะไรคือรายจ่ายที่จำเป็น อะไรคือรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ถ้าเราไม่เคยรู้เลยและใช้อย่างเดียว อันนี้แหละอันตราย
นอกจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว สิ่งที่พี่อยากให้น้องตัดออกมาก่อนเลยทันทีที่ได้เงินเดือนคือ 4 อย่างนี้ครับ เงินสำรองฉุกเฉิน เงินออม เงินลงทุน และเงินเพื่อความสุข
เงินสำรองฉุกเฉิน คือเงินที่เราจะใช้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เช่น เกิดอุบัติเหตุ ตกงาน ฯลฯ เป็นเงินสดส่วนที่เราจะไม่แตะเลยถ้าไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เงินส่วนนี้ถ้าจะให้ดีควรมีอยู่ในบัญชี 3-6 เท่าของเงินเดือน ไม่ต้องตกใจว่าทำไมต้องเยอะ อย่างที่บอกครับว่าเผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ให้คิดแบบนี้ครับว่า ถ้าจู่ๆ เราไม่มีเงินเข้ามาเลย เราจำเป็นต้องมีเงินส่วนนี้มาใช้ประทังชีวิตได้อย่างน้อยกี่เดือน น้องก็ค่อยๆ หักจากเงินเดือนออกมาไปอยู่ในบัญชีเงินสำรองฉุกเฉินไปเรื่อยๆ ที่สำคัญคือห้ามใช้เด็ดขาดถ้าไม่ฉุกเฉิน
เงินออมคือเงินเก็บซึ่งแยกมาจากเงินสำรองฉุกเฉินนะครับ เงินออมในที่นี้ถ้าจะให้ดีคือเป็นเงินออมที่มีจุดมุ่งหมาย คือคิดไว้แล้วว่าอยากออมไปใช้เพื่ออะไร มันจะได้มีแรงกระตุ้นอยากจะออม เช่น ออมเพื่อไปเที่ยว ออมเพื่อการศึกษา ออมเพื่อวันเกิด ออมเพื่อรองเท้าคู่ใหม่ ฯลฯ ถ้าเรารู้ว่าแต่ละอย่างต้องใช้เงินเท่าไร เราจะตั้งใจออมมากขึ้นและสนุกกับการออมของเราครับ
เงินลงทุน เห็นดอกเบี้ยธนาคารแล้วอ่อนใจไหมครับ ถ้าเราจะหวังว่าฝากเงินในธนาคารแล้วเงินจะงอกเงยขึ้นมามากๆ ก็อาจจะรอกันจนรากงอก พี่แนะนำว่าน้องควรจะคิดเรื่องเงินเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งคิดเร็วยิ่งดี เพราะแปลว่าน้องจะมีเวลาเตรียมตัวเยอะ การลงทุนในกองทุนรวมก็เป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจครับ มีข้อดีคือ เงินน้อยก็ลงทุนได้ มีกองทุนหลากหลายให้เลือกตามความเสี่ยงที่เรารับได้ ตั้งแต่กองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น กองทุนผสม กองทุนทางเลือกอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำฯลฯ และมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารกองทุนตามนโยบายการลงทุนแทนเรา
เรื่องการลงทุน อีกวิธีหนึ่งที่พี่อยากแนะนำก็คือการลงทุนแบบ DCA อธิบายง่ายๆ คือ การตัดเงินเดือนของเราไปทันทีอัตโนมัติในแต่ละเดือนเพื่อไปลงทุนในกองทุนรวมที่เราเลือก เป็นการสร้างวินัยทางการเงินอย่างหนึ่ง เงินไม่มาถึงมือเราแน่นอนเพราะตัดเงินไปก่อนเลย ไม่อย่างนั้นเราเอาไปใช้ก่อนแน่นอน จะตัดเดือนละกี่ร้อยกี่พันหรือมากกว่านั้นก็เลือกได้เลยครับ ไม่ต้องมีเงินเยอะก็ลงทุนได้ แต่จะให้ดีคือลงทุนสม่ำเสมอและหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมเสมอครับ
สุดท้าย เงินเพื่อความสุข เป็นอย่างสุดท้ายที่เราจะมี แต่มักจะเป็นอย่างแรกที่คนอยากจะใช้เมื่อได้เงินเดือนมา ฮ่าๆ พอเรารู้ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว และตัดเงินสำรองฉุกเฉิน เงินออม เงินลงทุนไปแล้ว ส่วนที่เหลือนี่แหละครับเป็นโควตาเงินเพื่อความสุขของเรา
หลักการคือออมก่อนใช้ ยิ่งถ้าเรารู้ว่าเราเป็นคนใช้เงินเก่ง เราต้องรีบเอาเงินออกไปจากตัวไปอยู่ในที่ปลอดภัยก่อน แล้วส่วนที่เหลือนี่แหละครับส่วนที่เราจะใช้เพื่อความสุขของตัวเอง พยายามยึดโควตานี้ไว้ พยายามอย่าใช้เงินเกินตัว ไม่อย่างนั้นเราจะลำบาก
ทีนี้พอเรารู้ว่าแต่ละเดือนเราจะมีเงินเข้าเงินออกอย่างไรบ้าง จะแบ่งกองไปใช้แต่ละจุดประสงค์อย่างไร ต่อไปเราอาจจะพัฒนาขึ้นเป็นการหารายได้เพิ่มนอกจากเงินเดือนและการลงทุนก็ได้ เช่น ลองดูว่าเรามีความถนัดหรือความชอบอะไรที่สามารถต่อยอดเป็นรายได้อีกทางได้ พี่คิดว่าคนเราไม่ควรได้เงินจากเงินเดือนแหล่งเดียวนะครับ ควรมีงานเสริมด้วย นอกจากเรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว มันคือการพาเราไปสู่อีกโลกหนึ่งที่เป็นโลกนอกการทำงาน เป็นโลกที่เราได้อยู่กับความถนัดของเราหรือได้ทำสิ่งที่เราชอบ และถ้ามันได้รายได้มาด้วยก็เป็นเรื่องดีไป เราจะได้ประสบการณ์เพิ่ม ได้เจอสังคมใหม่ๆ และได้เงินเพิ่มไปในตัว สนุกด้วย
วินัยทางการเงินดูอาจจะฟังดูเป็นเรื่องทำได้ยาก ไม่สนุกเหมือนเวลาเราใช้เงิน แต่ให้มองว่าคนที่ได้ประโยชน์ก็คือตัวเรา พอเราฝึกตัวเองไปถึงจุดหนึ่งแล้ว เราจะเริ่มเห็นความงอกเงยของเงินที่เราอดทนเก็บ เห็นตัวเราเองมีความอดทนต่อสิ่งเร้ามากขึ้น เห็นตัวเรารู้คุณค่าของเงินมากขึ้น เห็นตัวเราลำบากน้อยลง เราจะรู้สึกภูมิใจในตัวเองมากขึ้นครับ ตอนนี้น้องเริ่มต้นดีแล้วที่อยากจะลุกมาแก้ปัญหา ที่เหลือคือลงมือทำจนเป็นวินัยครับ
แล้วเดี๋ยวมาดูกันว่าวินัยทางการเงินจะทำให้ชีวิตของน้องเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า