ปี 1922 นับเป็นศักราชเริ่มต้นของความหลงใหลต่ออารยธรรมอียิปต์ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการค้นพบสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานเกี่ยวกับคำสาปของฟาโรห์อีกด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ ‘สมบัติของฟาโรห์ตุตันคาเมน’ จำนวนมากถึง 150 ชิ้นได้เดินทางเวียนมาจัดแสดงที่ซาตชีแกลเลอรี (Saatchi Gallery) กรุงลอนดอน ภายใต้ชื่อนิทรรศการว่า ‘Tutankhamun: Treasures of the Golden Pharaoh’ ซึ่งทางผู้จัดบอกว่าเป็นเวิลด์ทัวร์ครั้งสุดท้ายแล้ว หลังจากเดินทางจัดแสดงมาหลายประเทศ (ก่อนหน้านี้จัดแสดงที่ปารีส) ถ้าพลาดก็จะต้องตามไปดูกันที่พิพิธภัณฑ์แกรนด์อียิปต์ ซึ่งจะเปิดปลายปีหน้านี้แทน
หน้ากากทองคำของฟาโรห์ตุตันคาเมน จัดแสดงอยู่ที่กรุงไคโร
Photo: Roland Unger/wikipedia
แน่นอนว่า ‘โบราณวัตถุ’ หรือ ‘ศิลปวัตถุ’ ถือว่างดงามมาก และสะกดให้ทุกคนที่เข้าชมอยู่ในภวังค์ ตกตะลึงกับความมั่งคั่งร่ำรวย ความสามารถทางศิลปะ และความลึกซึ้งต่อความเชื่อหลังความตายของอียิปต์เมื่อกว่า 3,000 ปีมาแล้ว (ในใจผมคิดเปรียบเทียบกับประเทศไทยว่าตอนนั้นยังอยู่เป็นยุคสำริด คนอยู่กันในหมู่บ้านขนาดเล็ก ยังเพาะปลูกและล่าสัตว์กันอยู่เลย)
แต่เมื่อเก็บเอาความทึ่งไว้ในใจแล้ว สิ่งที่ผมตั้งคำถามไปพร้อมกันก็คือทำไมโบราณวัตถุของตุตันคาเมนถึงได้ตะลอนเดินทางจัดแสดงไปทั่วโลก ทำไมผู้คนทั่วโลกจึงสนใจความยิ่งใหญ่ของอียิปต์ และอะไรเป็นปรากฏการณ์ที่ตามมาหลังการค้นพบสุสานของตุตันคาเมน
คาร์เตอร์ผู้ค้นพบ
นิทรรศการเริ่มต้นจากการอธิบายพระราชประวัติของฟาโรห์ตุตันคาเมน ความเชื่อหลังความตายของอียิปต์ และประวัติของการค้นพบสุสานแห่งนี้เมื่อปี 1922 โดย ฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ นักสำรวจชาวอังกฤษ ซึ่งมี ลอร์ด คาร์นาร์วอน เป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจภาพรวมก่อนเข้าชมศิลปวัตถุหรือ ‘สมบัติ’ ของฟาโรห์ที่อุทิศให้กับพระองค์เพื่อนำไปใช้ยังโลกหน้า
ลอร์ด คาร์นาร์วอน (ซ้ายสุด) และฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ (ขวาสุด) ผู้ค้นพบสุสานตุตันคาเมน
Photo: Harry Burton/wikipedia
เรื่องของคาร์เตอร์นั้นถูกให้น้ำหนักค่อนข้างมาก และให้เครดิตเขาในฐานะที่เป็นผู้ที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับงานโบราณคดีภาคสนามด้วยการบันทึกของที่พบทุกอย่างอย่างละเอียด เช่น การทำทะเบียน การถ่ายรูป และจดบันทึกต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังอย่างมาก และนับเป็นครั้งแรกที่การศึกษาเรื่องอียิปต์ไม่ได้เป็นการศึกษาเฉพาะตัววัตถุ แต่ทุกคนสามารถศึกษาสุสานของพระองค์ได้ทุกแง่มุมเหมือนได้เปิดสุสานด้วยตัวเอง
เรื่องการค้นพบสุสานของตุตันคาเมนนั้น ผมได้ไปหาอ่านเพิ่มเติมมาจากหนังสือ Tutankhamun: Egypt’s Most Famous Pharaoh เขียนโดย บิล ไพรซ์ ซึ่งได้เล่าไว้ว่า ในวันที่ 4 พฤศจิกายน คนงานได้ขุดค้นพบบันไดทางลงไปสู่สุสาน ซึ่งทีแรกเขาคิดว่ามันอาจเป็นสุสานที่ยังสร้างไม่เสร็จหรืออาจถูกลักลอบขุดไปแล้วในสมัยโบราณ แต่เมื่อขุดลึกลงไปอีก คาร์เตอร์ได้เห็นตราของหลุมศพของราชวงศ์ ภาพของสุนัข และสัญลักษณ์ของเทพอานูบิส ซึ่งทั้งหมดนี้ชี้ชัดว่าเป็นสมาชิกของราชวงศ์ที่ 18 แต่เขายังไม่พบชื่อของฟาโรห์ จึงคิดว่าเป็นขุนนางชั้นสูง อีกทั้งยังมีร่องรอยการเปิดสุสานแล้วครั้งหนึ่งหลังจากที่สุสานแห่งนี้ถูกผนึกเอาไว้
คาร์เตอร์ได้แจ้งข่าวไปยังคาร์นาร์วอน ทำให้เขาและคณะได้เดินทางมาถึงยังสุสานในวันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งทางเข้าสุสานได้ถูกขุดค้นเข้าไปยังประตูชั้นที่หนึ่งเป็นที่เรียบร้อย และทำให้คาร์เตอร์ได้พบตราประทับพระนามของฟาโรห์ตุตันคาเมนเหนือกรอบประตู นอกจากนี้แล้วยังพบของอื่นๆ ที่มีชื่อของตุตันคาเมน
ในวันที่ 26 พฤศจิกายน คาร์เตอร์ได้เจาะเข้าไปยังประตูชั้นที่สอง ในบันทึกของเขาได้เขียนว่า เมื่อแสงเทียนสาดส่องเข้าไป ตาทั้งสองข้างของเขาได้มองเห็นประติมากรรมรูปสัตว์ คน และเทพเจ้าทั่วทุกแห่งสุกอร่ามไปด้วยทองคำจนรู้สึกตกตะลึง เช่นเดียวกับคาร์นาร์วอนที่กล่าวว่ามันน่ามหัศจรรย์อย่างมากจนแทบไม่อาจยืนอยู่ได้
ศาลบูชาขนาดเล็กปิดด้วยทองคำ แกะสลักเป็นภาพของตุตันคาเมนและพระราชินีของพระองค์เมื่อครั้งยังดำรงพระชนม์ชีพ ซึ่งศาลบูชานี้เองที่ทำให้คาร์เตอร์ต้องตกตะลึงกับแสงทองคำที่สะท้อนกลับมา
พวกเขาเตรียมความพร้อมอยู่ 2 วัน ในวันที่ 29 พฤศจิกายน เป็นวันที่เปิดผนึกสุสานของฟาโรห์อย่างเป็นทางการ แต่ความจริงแล้วทั้งคาร์เตอร์ คาร์นาร์วอน และบุคคลผู้มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งได้ลอบเข้าไปดูสุสานก่อนแล้ว พวกเขาได้พบกับสิ่งของต่างๆ ที่อุทิศให้กับฟาโรห์ ทั้งยังพบประตูที่ปิดผนึกไว้อีกสองประตู ห้องหนึ่งเก็บของ อีกห้องหนึ่งเป็นสุสาน ที่ห้องสุสานนี้มีประติมากรรมสองตัวทำหน้าที่เป็นทวารบาล แต่การลอบเข้าไปยังห้องเก็บศพของฟาโรห์นี้ ภายหลังได้รับการตั้งคำถามอย่างมากถึงจริยธรรมว่าพวกเขาได้หยิบสมบัติอะไรออกไปบ้างหรือไม่ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด เอาเป็นว่าในวันที่ 29 พฤศจิกายนนั้น ประตูของสุสานได้ถูกเปิดอย่างเป็นทางการ และข่าวการค้นพบสุสานของตุตันคาเมนนี้ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก และทำให้คาร์เตอร์มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมาก
เพื่อจัดการกับโบราณวัตถุในสุสาน คาร์เตอร์ได้เชิญนักโบราณคดีอเมริกันและอังกฤษเข้ามาช่วยเพื่อศึกษาวัตถุต่างๆ และอนุรักษ์ จากนั้นได้เชิญให้ แฮร์รี เบอร์ตัน มาถ่ายรูปตลอดการทำงาน และให้ อาร์เธอร์ แชนเลนเดอร์ ซึ่งเป็นวิศกรและสถาปนิกมาช่วยเคลื่อนย้ายเปิดหีบพระศพ (โลงศพ) และเปิดฝาโลง ซึ่งมีน้ำหนักมากและยังอยู่ในที่แคบอีกด้วย
จากข่าวที่ออกไปทำให้คลื่นมหาชนรวมถึงนักข่าวมายังสุสานเป็นจำนวนมากและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นคาร์เตอร์จึงตัดสินใจขายภาพสุดเอ็กซ์คลูซีฟให้กับหนังสือพิมพ์ The Times และเพื่อให้ได้เงินมาขุดค้นทางโบราณคดีด้วย
จุดเริ่มต้นของคำสาปฟาโรห์
แต่แล้วในปี 1923 ได้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นระหว่างคาร์เตอร์กับคาร์นาร์วอน ด้วยเป็นเพราะมีข้อตกลงว่าถ้าหากพบสมบัตินั้นในสภาพดั้งเดิม สมบัตินั้นจะต้องตกเป็นของรัฐบาลอียิปต์ ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างคาร์เตอร์ซึ่งต้องการมอบสมบัติให้กับรัฐบาลอียิปต์ ในขณะที่คาร์นาร์วอนนั้นไม่เห็นด้วย เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคาร์นาร์วอน ประกอบกับร่างกายที่ไม่แข็งแรง เมื่อถูกยุงกัดจึงติดเชื้อและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายนในปีเดียวกัน
การตายของคาร์นาร์วอนนี้เองที่ถูกแต่งเติมสีสันจากนักหนังสือพิมพ์ว่าเป็นคำสาปของฟาโรห์ อันเป็นผลจากการรบกวนหลุมฝังพระศพของกษัตริย์ นอกจากนี้ยังแต่งเติมไปอีกว่าในช่วงเวลาที่คาร์นาร์วอนเสียชีวิตนั้นได้มีแสงพุ่งออกมาจากกรุงไคโร และยังมีไฟดับเกิดขึ้นอีกด้วย (สมัยนั้นเหตุไฟดับเป็นเรื่องปกติมาก) อีกทั้งสุนัขของคาร์นาร์วอนยังตายในเวลาเดียวกันอีก
คาร์เตอร์ได้กลับไปเปิดฝาโลงพระศพของตุตันคาเมนซึ่งหนักเป็นตันออก สิ่งแรกที่พบคือใต้ฝาโลงเป็นผ้าลินิน และเมื่อเอาออกก็พบกับโลงพระศพรูปคนที่ตกแต่งเป็นรูปร่างหน้าตาของตุตันคาเมน ในวันถัดมาคาร์เตอร์ตั้งใจที่จะให้ภรรยาและครอบครัวของคนที่ทำงานในสุสานในฐานะที่เป็นไกด์ทัวร์ได้ดูโลงพระศพ แต่ก็ถูกห้ามโดยกระทรวงแรงงานของอียิปต์ และยังถูกสั่งห้ามไม่ให้ดำเนินการขุดค้นอีกด้วย
ในเวลานี้คาร์เตอร์ไม่มีคาร์นาร์วอนให้ความช่วยเหลืออีก และไม่มีเส้นสายกับนักการเมือง แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลอียิปต์มองเห็นว่าไม่มีใครที่จะทำงานนี้ได้ดีเท่ากับคาร์เตอร์อีกแล้ว พวกเขาจึงยอมให้คาร์เตอร์กลับมาทำงานภายใต้ข้อตกลงใหม่ และเลดี้คาร์นาร์วอนก็ได้ให้เงินทุนสนับสนุนต่อเป็นจำนวนมากถึง 36,000 ปอนด์
คาร์เตอร์กลับมาเริ่มงานอีกครั้งในปี 1925 ในปีต่อมาฝาโลงชั้นในได้ถูกเปิดขึ้น ซึ่งเผยให้เห็นหน้ากากทองคำและมัมมี่ของตุตันคาเมน คาร์เตอร์ยังคงทำงานอยู่ที่นั่นจนถึงปี 1932 สมบัติทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์กรุงไคโร ยกเว้นเพียงโลงพระศพเท่านั้น
หน้ากากทองคำของตุตันคาเมนเมื่อแรกเปิดหีบพระศพออกมาครั้งแรกเมื่อปี 1925
Photo: Harry Burton/wikipedia
หลังจากงานขุดค้นเสร็จสิ้น คาร์เตอร์ได้เดินทางกลับไปยังอังกฤษ และใช้ชีวิตอีก 7 ปีที่เหลืออยู่เพื่อเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับตุตันคาร์เมน ตีพิมพ์รายงานขุดค้น และเลกเชอร์ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ และแล้วเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1932 คาร์เตอร์ก็ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบโดยปราศจากสารแสดงความอาลัยทั้งจากรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลอียิปต์ในความสำเร็จดังกล่าว ซึ่งช่วยทำให้อังกฤษและอียิปต์มีชื่อเสียงต่อการค้นพบอันยิ่งใหญ่ของโลก
หลังจากคาร์เตอร์เสียชีวิตไปแล้ว งานค้นคว้าเกี่ยวกับตุตันคาเมนยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีการเชื่อมโยงอุบัติเหตุต่างๆ เข้ากับคำสาปฟาโรห์ เช่น นักโบราณคดีด้านอียิปต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งคือ ซาฮี ฮาวาสส์ ได้ประสบอุบัติเหตุเมื่อต้องไปสำรวจที่หุบเขากษัตริย์ หรืออยู่ๆ เครื่องซีทีสแกนก็ทำงานไม่ได้เมื่อต้องสแกนพระศพของตุตันคาเมน ทุกวันนี้ก็ยังคงมีคนเชื่อว่าคำสาปฟาโรห์นั้นเป็นจริง
ศิลปวัตถุอันล้ำค่าในห้องจัดแสดง
ชาวอียิปต์มีความเชื่อในชีวิตอมตะ ดังนั้นความตายเป็นเพียงสิ่งชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่จุดจบสุดท้ายของชีวิต เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนับแต่มีชีวิตจนถึงหลังความตาย ชาวอียิปต์จึงบูชาเทพเจ้า และเมื่อพวกเขาตายลงจึงได้นำร่างมาทำเป็นมัมมี่เพื่อหวังให้ดวงวิญญาณ (ในความเชื่อของอียิปต์ วิญญาณแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ บา กา และอัคห์) กลับเข้ามาในร่าง จะได้กลับมาหายใจและมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ ข้าวของเครื่องใช้ อาหาร และเครื่องดื่มจึงถูกนำมาอุทิศให้กับผู้ตายโดยวางอยู่บนโต๊ะในห้องหนึ่งที่แยกออกมาต่างหากจากห้องเก็บโลงศพ เพื่อให้ผู้ตายมีสิ่งที่จำเป็นไว้กินใช้สำหรับโลกหลังความตาย พร้อมทั้งมีการเขียนตัวอักษรที่เป็นคาถา มนตรา หรือบทสวดเพื่อช่วยชี้ทางไปสู่โลกหน้า แต่คาถาพวกนี้จะมีพลังได้ก็ต่อเมื่ออ่านออกเสียง ซึ่งนักบวชจะทำหน้าที่ตรงนี้
ด้วยระบบความเชื่อดังกล่าว ‘สมบัติ’ ของตุตันคาเมนจึงเป็นของที่อุทิศให้ผู้ตายไว้ใช้ในโลกหลังความตายเพื่อรอว่าวันหนึ่งกษัตริย์หนุ่มจะกลับมาคืนชีพนั่นเอง สุสานของพระองค์จึงถูกแบ่งออกเป็น 3 ห้องหลักคือ ห้องสำหรับเก็บข้าวของเครื่องใช้ (Antechamber และ Annexe) เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หีบใส่ของ อาวุธต่างๆ เมื่อเดินสุดห้องนี้ก่อนเข้าไปยังห้องเก็บหีบพระศพจะมีประติมากรรมทวารบาลสองคนเฝ้าอยู่ ห้องถัดมาเป็นห้องเก็บหีบพระศพ (Burial Chamber) และสุดท้ายเป็นห้องเก็บสมบัติ (Treasury) ซึ่งทางเข้าห้องนี้ต้องเดินผ่านห้องเก็บหีบพระศพ พอเข้าไปจะเจอสุนัขดำ ซึ่งคือเทพอานูบิส เป็นเทพแห่งความตาย
แจกันสำหรับใส่น้ำมันเพื่อให้แสงสว่างไปสู่โลกหลังความตาย แกะสลักจากหินแคลไซต์ ประดับด้วยหินสีมีค่า
ภาชนะที่เป็นสัญลักษณ์ของการรวมอียิปต์ตอนบนกับอียิปต์ตอนล่าง ทำจากหินแคลไซต์
เมื่อเดินเข้าไปในห้องนิทรรศการที่จัดแสดง ‘สมบัติ’ ต่างๆ พูดตรงๆ ว่าผมรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะนี่คือครั้งแรกที่ได้เห็นของจริง หลังจากที่ตอนเด็กอ่านต่วยตูนมานาน มีเรื่องหนึ่งที่ผมต้องขออภัยคือภาพที่นำมาลงในบทความนี้ผมใช้กล้องมือถือถ่ายเอาเท่านั้น ทำให้ภาพไม่ค่อยชัดเท่าไรนัก
สำหรับสิ่งของจัดแสดงในห้องแรกของนิทรรศการมีหลายชิ้น ชิ้นที่น่าสนใจเป็นภาชนะสำหรับบรรจุน้ำมัน เพราะเชื่อว่า เทพเร (เทพแห่งแสงสว่าง) จะใช้นำทางตุตันคาเมนท่ามกลางความมืดมิดสู่โลกหลังความตาย ในตู้เดียวกันมีแจกันตั้งบนฐานเก้าอี้ที่สลักจากหินแคลไซต์ ชิ้นนี้น่าสนใจตรงที่ระบบสัญลักษณ์ Shen Ring หรือห่วงที่มีขีด เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นนิรันดร์ ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของอียิปต์ตอนบน (Upper Egypt) ในขณะที่ปาปิรุสเป็นสัญลักษณ์ของอียิปต์ตอนล่าง (Lower Egypt) ซึ่งหมายความว่าตุตันคาเมนจะรวมอียิปต์ทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน
อย่างที่กล่าวว่าอาหารเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตหลังความตาย ในตู้จัดแสดงใบหนึ่งจึงมีกล่องสำหรับเก็บอาหาร 4 กล่องจัดแสดง มีอยู่ใบหนึ่งที่ถ้าเดาจากรูปทรงภายนอกคงจะต้องเป็นพวกสัตว์ปีก อาจเป็นไก่หรือห่าน
ภาชนะสำหรับบรรจุอาหารที่อุทิศให้กับตุตันคาเมน
ประติมากรรม 3 ชิ้นที่ผมรู้สึกตื่นเต้นและชอบมากคือ 1. ประติมากรรมปิดทองรูปตุตันคาเมนกำลังถือฉมวกยืนอยู่บนเรือขนาดเล็ก สังเกตว่ามงกุฎนี้เป็นของอียิปต์ตอนล่าง 2. ประติมากรรมปิดทองรูปตุตันคาเมนกำลังก้าวเดินเพื่อไปสู่โลกหลังความตาย ส่วนมงกุฎเป็นของอียิปต์ตอนบน 3. ประติมากรรมปิดทองรูปตุตันคาเมนยืนอยู่บนหลังเสือดำ เสือดำนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของฟาโรห์ และเป็นพาหนะพาพระองค์ไปสู่ดินแดนแห่งความตาย
ประติมากรรมจำลองรูปตุตันคาเมนขณะกำลังยืนอยู่บนเรือและขว้างฉมวก
ประติมากรรมปิดทองรูปตุตันคาเมนกำลังก้าวเดินเพื่อไปสู่โลกหลังความตาย
ประติมากรรมปิดทองรูปตุตันคาเมนยืนอยู่บนหลังเสือดำ
ชีวิตของตุตันคาเมนนั้นเต็มไปด้วยความหรูหราตามอย่างฟาโรห์ของอียิปต์ ในสุสานของพระองค์จึงเต็มไปด้วยเครื่องประดับที่ทำจากอัญมณีและหินมีค่านานาชนิด เพื่อที่ว่าเมื่อพระองค์ฟื้นคืนชีพจะได้มีเครื่องประดับไว้ใช้สมกับฐานะความเป็นฟาโรห์
ไฮไลต์หนึ่งของวัตถุจัดแสดงในนิทรรศการนี้ก็คือเครื่องประดับที่ใช้ตกแต่งพระศพชั้นในของตุตันคาเมนซึ่งได้นำมาเพียงบางส่วน และน่าเสียดายที่หน้ากากทองคำจริงไม่ได้นำมาจัดแสดงด้วย เพราะจัดแสดงที่ไคโร มีเพียงหน้ากากจำลองที่จัดแสดงไว้ในห้องขายของที่ระลึกเท่านั้น
ทวารบาลที่ทำหน้าที่คุ้มครองทางเข้าสู่ห้องเก็บหีบพระศพของตุตันคาเมน
เครื่องประดับบางส่วนของหีบพระศพชั้นในของตุตันคาเมน
ปลอกมือทองคำของตุตันคาเมนซึ่งในพระหัตถ์กำลังถืออาวุธ ระหว่างมือมีแมลงสการับ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดใหม่อยู่ด้วย
สร้อยคอทองคำรูปนกเหยี่ยว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจที่ปกครองอียิปต์ทั้งมวล
สร้อยคอทำจากอัญมณีและหินกึ่งรัตนชาติของตุตันคาเมน ประดับด้วยแมลงสการับ (แทนสัญลักษณ์ของการกำเนิดใหม่) และเหยี่ยว (แทนสัญลักษณ์ของกษัตริย์)
‘Tutmania’ หรือความคลั่งไคล้ตุตันคาเมน
ระยะหลังมานี้ผมเห็นพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษหลายแห่งให้ความสำคัญกับ ‘วัฒนธรรมร่วมสมัย’ หรือป๊อปคัลเจอร์กันมากขึ้น เช่น ที่ British Museum หรือที่ Natural History Museum ในกรณีของตุตันคาเมนนั้น ตั้งแต่ปี 1922 เป็นต้นมา ผู้คนทั่วโลกต่างคลั่งไคล้ในอารยธรรมของอียิปต์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มีทั้งการสร้างภาพยนตร์ โฆษณา หนังสือพิมพ์ ขนม และอีกมากมาย ที่นำเรื่องราวของตุตันคาเมนหรือบางเอเลเมนต์ของตุตันคาเมนไปใช้เผยแพร่จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก ลักษณะเช่นนี้เองที่เรียกว่าป๊อปคัลเจอร์ (คล้ายกับกรณีของ บุพเพสันนิวาส)
วิดีโอกำลังฉายกระแสของ ‘ตุตันมาเนีย’ หรือความคลั่งไคล้ต่อตุตันคาเมนที่เกิดขึ้นหลังจากการค้นพบสุสาน
ดังนั้นในนิทรรศการตุตันคาเมนในห้องท้ายๆ จึงมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Tutmania’ หรือความคลั่งไคล้ตุตันคาเมนเสริมเข้ามาด้วย เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าเรื่องของตุตันคาเมนนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของอดีตหรือเรื่องเก่าๆ เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับคนปัจจุบันด้วย ซึ่งผมคิดว่านี่คือรหัสอย่างหนึ่งของการจัดนิทรรศการในปัจจุบันที่จะดึงคนให้รู้สึกผูกพันกับอดีต
กระแสความนิยมคลั่งไคล้ตุตันคาเมนนี้เองที่จากเดิมตุตันคาเมนเป็นฟาโรห์ที่ถูกลืมและไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร กลับกลายเป็นว่าตุตันคาเมนได้กลายเป็นฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดพระองค์หนึ่งในโลก จะว่าไปปรากฏการณ์นี้เองที่ทำให้ตุตันคาเมนกลับมาฟื้นคืนชีพจากความตาย โลกหลังความตายของพระองค์จึงไม่ใช่โลกบาดาล (Netherworld) อันลี้ลับ แต่กลับเป็นโลกสมัยใหม่ (Modern world) อันทันสมัย และทำให้พระองค์เป็นที่จดจำของคนทั้งโลก นี่เองที่คือความเป็นอมตะ
ความคลั่งไคล้ต่ออียิปต์ยังส่งผลไปยังงานด้านโบราณคดีอีกด้วย จากเดิมที่งานโบราณคดีเป็นเรื่องของผู้มั่งมีหรือเป็นงานวิชาการ แต่ส่งผลให้คนนับล้านคนทั่วโลกสนใจต่องานโบราณคดีและอารยธรรมโบราณอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จนเกิดกระแสอีกอันที่ตามมาด้วยคือ ‘Egyptomania’ หรือความคลั่งไคล้ต่ออียิปต์ ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วยุโรป ความคลั่งไคล้นี้เห็นได้ใกล้ๆ เช่น ถ้าใครเคยไปห้างแฮร์รอดส์ในกรุงลอนดอน ที่ชั้นล่างและบันไดเลื่อนจะตกแต่งด้วยเสา ภาพวาด และตัวอักษรแบบอียิปต์ กระทั่งในไทยเองก็มีกระแสความคลั่งไคล้อียิปต์เช่นกัน (แต่ยังไม่ได้มีการศึกษาในเรื่องนี้มากนัก)
ใครที่มีโอกาสไปลอนดอนช่วงนี้แนะนำให้ไปดูกันนะครับ แต่ถ้าพลาดก็ไม่เป็นไร ปลายปีหน้าสมบัติของตุตันคาเมน 150 ชิ้นนี้และอีกเกือบ 5,000 ชิ้นจะจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ใหม่ในกรุงไคโรที่ผู้คนทั่วโลกกำลังเฝ้ารอคอย แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากให้สังเกตด้วยคือการจัดแสดงสมบัติของตุตันคาเมนที่เวียนไปทั่วโลกนี้ ผมคิดว่าไม่ได้แตกต่างไปจากสมบัติของสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้เท่าไรนัก ในแง่ที่ว่าสมบัติพวกนี้ได้ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของอียิปต์และจีนในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้บริบทที่ทั้งสองประเทศต้องการเปิดประเทศหลังปัญหาทางการเมือง กรณีอียิปต์นั้นก็เกิดขึ้นภายหลังจากตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและถูกชาติต่างๆ ดูแคลนมานาน กรณีของจีนก็เกิดขึ้นในช่วงที่ต้องการเปิดประเทศให้โลกรู้ว่าจีนนั้นไม่ใช่มังกรที่หลับใหลอีกต่อไปหลังจากที่เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษเช่นกัน
ดังนั้นเวลาที่ไปดูนิทรรศการอะไรหรือพิพิธภัณฑ์ไหนก็ตาม ผมอยากชวนให้ผู้อ่านพยายามมองทะลุให้เกินวัตถุ แต่เห็นบริบทการเมืองที่โอบล้อมอยู่ด้วย นี่คือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการอ่านนิทรรศการครับ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- Price, Bill. Tutankhamun: Egypt’s Most Famous Pharaoh. London: Pocket Essentials.
- www.historymuseum.ca/cmc/exhibitions/civil/egypt/egcr04e.html
- en.wikipedia.org/wiki/Tutankhamun
- myweb.usf.edu/~liottan/theegyptiansoul.html
- tutankhamun-london.com