Work-Life Balance คีย์เวิร์ดสำคัญที่คนทำงานในยุคปัจจุบันพยายามมุ่งแสวงหา
หลายคนพยายามบริหารเวลาให้เรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากการทำงาน แต่ทันทีที่กลับบ้านก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องสะสางงานให้เสร็จ ยาวไปถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ชีวิตก็ยังมีแต่เรื่องงานจนขาดสมดุล ถึงขั้นเกิดภาวะ Burnout Syndrome ในที่สุด
The Secret Sauce เอพิโสดนี้ เคน นครินทร์ เล่าถึงอีกหนึ่งแนวคิดในการบาลานซ์งานและชีวิตที่เรียกว่า Work-Life Flow
ผมคิดชื่อภาษาไทยของแนวคิด Work-Life Flow ว่าวิธีการเต้นรำไปกับชีวิตและงาน เมื่อมีคำว่าเต้นรำ ทุกอย่างดูเป็นจังหวะเดียวกัน ลื่นไหล ผ่อนคลาย ไม่จำเป็นต้องแบ่งเวลาชัดเจน
จากบทความในเว็บไซต์ต่างประเทศที่ผมเคยได้อ่าน ผมสรุปแง่มุมที่มีต่อ Work-Life Balance มาได้ 3 ประเด็น
1. Work-Life Balance เป็นแค่ ‘ภาพลวงตา’
‘งาน’ กับ ‘ชีวิตส่วนตัว’ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ เพราะ ‘งาน’ เป็นซับเซตหนึ่งของ ‘ชีวิต’ นั่นเท่ากับว่าในวงกลมวงใหญ่ที่สุดที่เรียกว่า ‘ชีวิต’ มีงานเป็นส่วนประกอบอยู่ในนั้น รวมถึงยังมีวงกลมย่อยๆ อีกมากมาย ทั้งเรื่องครอบครัว คนรัก การดูแลสุขภาพ ทุกวงไม่มีวงไหนแยกออกจากกัน ดังนั้นการปิดสวิตช์เรื่องงานจึงเป็นเรื่องทำได้ยาก เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอยู่แล้ว
2. เกิดวงจรอุบาทว์ (A Destructive Cycle)
ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องการแบ่งเวลาออกเป็นช่วงๆ อย่างชัดเจนว่าแต่ละพาร์ตที่ได้จัดสรรไว้ควรทำอะไรบ้าง วงจรแบบนี้อาจทำให้รู้สึกเหนื่อย ยากที่จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ เพราะผลงานที่ได้จาก Performance มักเกิดจากการใช้ชีวิตที่ลื่นไหล พร้อมปรับเปลี่ยนตามจังหวะชีวิต ไม่อิงอยู่กับชั่วโมงทำงานตามที่วางกรอบไว้แล้ว
3. ชั่วโมงการทำงานไม่มีผล (The Standard Solution)
ทางแก้ที่มักได้ยินบ่อยๆ คือ “ถ้าอยากได้ Work-Life Balance ก็ทำงานให้น้อยลงสิ”
สำหรับผม ชั่วโมงการทำงานไม่ใช่ประเด็นในการที่คนเราจะบาลานซ์ตัวเองได้ เพราะบางวันออกจากที่ทำงานเร็ว แต่ก็ยังรู้สึกเหนื่อยมาก ในขณะที่บางวันทำงานดึกดื่น แต่ก็ยังรู้สึกมีพลังและสามารถออกไปแฮงเอาต์ต่อได้ด้วย ดังนั้นชั่วโมงการทำงานไม่ใช่เครื่องการันตีผลงานที่จะทำ แต่ Flow ที่ได้ระหว่างทำงานต่างหากที่สำคัญยิ่งกว่า
การจัด Flow ของแต่ละคนแตกต่างกัน แล้วแต่บุคลิกภาพว่าใครเหมาะกับงานแบบไหน ควรบริหารเวลาอย่างไรให้ Flow ไหลลื่น ไม่รู้สึกเหนื่อยล้า ทำให้มี Productivity เพิ่มขึ้น
เทคนิค Work-Life Flow
1. Stopped Worrying About How Many Hours Per Day
หยุดกังวลว่าวันนี้คุณใช้เวลาทำงานไปกี่ชั่วโมง แล้วไปโฟกัสว่าวันนี้งานที่คุณทำออกมาจะมีประสิทธิภาพที่ดีมากพอหรือยัง
สมัยนี้เวลาทำงานไม่ใช่ตัวชี้วัดแล้วว่าคุณเป็นพนักงานที่ดีพอหรือเปล่า แต่มันวัดจากผลงานที่คุณทำออกมาต่างหาก
ดังนั้นคุณต้องรู้จัก Flow การทำงานของตัวเองว่าช่วงไหนคุณจะทำสิ่งไหนแล้วได้ผลงานที่ออกมาดี บางคนประชุมตอนเย็นแล้วรู้สึกเหนื่อยหรือหมดพลัง ก็อาจต้องลองนัดหมายเป็นช่วงเช้าแทน
2. Find A Company Worth Hustling For
เรื่องนี้สำคัญมาก การหาบริษัทที่ทำให้คุณอยากพัฒนาตนเองและตอบโจทย์เป้าหมายของชีวิตทำให้คุณรู้สึกว่าคุณไม่ได้กำลังแค่ซัพพอร์ตบริษัท แต่บริษัทก็กำลังซัพพอร์ตคุณเช่นกัน
3. Create A Morning Ritual
ก่อนที่จะต้องเจอกับความวุ่นวายของวัน ลองเซตชั่วโมงแรกของวันไปกับการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ เล่นกับน้องหมา สิ่งเหล่านี้ช่วยทำให้คุณพร้อมสำหรับวันใหม่ได้ดีขึ้น
4. Be Selfish
ให้เวลาตัวเองในตอนที่คุณต้องการ ถ้าง่วงก็งีบบ้าง อยากกลับบ้านเร็วบ้างก็ได้ วันไหนไม่ไหวก็พักหน่อย แน่นอนว่าเราอยู่ในโลกยุคที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ แต่ถ้าคุณไม่รู้จักให้เวลาตัวเอง โลกของคุณก็จะโคจรรอบเป้าหมายของคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวคุณ
5. Be Understanding
เข้าใจเถอะว่าไม่มีอะไรเป็นไปตามแผนได้ 100% เตือนตัวเองไว้เสมอว่าถ้าเมื่อไรที่มีอะไรไม่เป็นไปตามแผนก็ไม่เป็นไร มันโอเค พักสักแป๊บก็ได้
6. Ditch The World And Relax
บางครั้งเราแค่ต้องการวันสำหรับตัวเอง มันก็ดีเหมือนกันถ้ามีวันที่ไม่ต้องมี Commitment ไม่มีอะไรผูกมัด พักผ่อนเลยครับ อยากไปนวดสปา ไปทำเล็บ ดูเน็ตฟลิกซ์ทั้งวัน หรือจิบไวน์ชิลๆ อยู่ที่บ้านกับคนรัก ทำเลย
ในวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่มีใครหวังว่าอยากใช้เวลาทำงานในออฟฟิศให้มากกว่านี้
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์