×

กรมทรัพยากรธรณี แถลงค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ 4 สายพันธุ์

19.09.2019
  • LOADING...
ซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

วันนี้ (19 ก.ย.) สมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วย ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ภายในถ้ำยายรวก บ้านถ้ำเพชร ตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญของการกระจายตัวของไฮยีนาลายจุดทางตอนใต้สุดเท่าที่เคยพบมา

 

โดยกรมทรัพยากรธรณีได้รับแจ้งการค้นพบโครงกระดูกหินขนาดใหญ่ในตะกอนดินโบราณ จากองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวลึกเหนือ จังหวัดกระบี่ จึงเข้าดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 โดยตรวจสอบภายในถ้ำเขายายรวก บ้านถ้ำเพชร ตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ พบว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี โดยการศึกษาไอโซโทปเสถียร (Isotope) ของธาตุคาร์บอนและศึกษาไอโซโทปของออกซิเจนจากเคลือบฟันของซากดึกดำบรรพ์

 

ผลการตรวจสอบวิเคราะห์ไอโซโทปยืนยันว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ 4 สายพันธุ์ที่สำคัญ ได้แก่ 

  • ไฮยีนาลายจุด (Crocuta crocuta ultima) 
  • แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) 
  • กวางป่า (Rusa unicolor) 
  • เม่นใหญ่แผงคอยาว (Hystrix brachyura) 

 

ซึ่งคาดว่าจะมีอายุอยู่ในช่วงตั้งแต่ช่วงปลายของสมัยไพลสโตซีนตอนล่างไปจนถึงช่วงต้นของสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย (Middle to Late Pleistocene) หรือประมาณ 200,000-80,000 ปีที่ผ่านมา ในสภาพแวดล้อมเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา สลับป่าทึบ

 

ซึ่งทางกรมทรัพยากรธรณีจะพัฒนาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ถ้ำยายรวก จังหวัดกระบี่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วย ซึ่งในไทยพบไฮยีนาลายจุดกระจายตัวอยู่ 6 พื้นที่ ประกอบด้วย

 

  1. ผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน Middle Pleistocene หรือ 2-1.6 แสนปี
  2. บ่อทรายบ้านโคกสูง จังหวัดนครราชสีมา Middle Pleistocene หรือ 2-1.6 แสนปี
  3. ถ้ำวิมานนาคินทร์ จังหวัดชัยภูมิ Middle Pleistocene หรือ 2-1.6 แสนปี
  4. ถ้ำเพดาน จังหวัดนครศรีธรรมราช Middle Pleistocene หรือ 2-1.6 แสนปี
  5. ถ้ำประกายเพชร จังหวัดชัยภูมิ Late Pleistocene
  6. ถ้ำยายรวก จังหวัดกระบี่ คาดว่ามีอายุ Late Pleistocene 200,000-80,000 ปี

 

อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรธรณีจะหารือกับองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวลึกเหนือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ถ้ำยายรวก จังหวัดกระบี่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป

 

ภาพ: กรมทรัพยากรธรณี

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X