×

ฉากชีวิต ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ สู่การเดินทางครอบจักรวาลแสนไกลอีกหน

27.08.2019
  • LOADING...
ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • 92 ปี คือช่วงเวลาที่ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ครองกายสภาพอยู่บนโลกใบนี้ แต่ทว่านับแต่วินาทีที่ลมหายใจของเขาสงบลง นั่นอาจหมายถึงจุดเริ่มต้นออกเดินทางไกลท่องจักรวาลอีกหน เพื่อให้ครอบคลุมมากกว่าการเป็นเพียงชื่อรายการ ‘ครอบจักรวาล’ ที่เขาเคยสร้างชื่อเสียงไว้ก็เป็นได้ 
  • มรดกสำคัญจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก คือการสร้างตำนานนักชิมอาหารจากเชลล์ชวนชิมสู่หมึกแดง ที่หล่นไม่ไกลต้นจากตำนานของผู้เป็นพ่อ

เอ่ยชื่อ ‘ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์’ ขึ้นมาในวงสนทนาใดก็แล้วแต่ เชื่อเหลือเกินว่าทุกคนต้องร้องอ๋อพร้อมกัน แล้วตามมาด้วยคำบรรยายคุณสมบัติของชายผู้นี้ได้ตรงกันข้อหนึ่งว่า นี่คือสุภาพบุรุษผู้สร้างตำนานนักชิมอาหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย

 

มรดกตกทอดของคุณชายถนัดศรี หรือเรียกกันแบบภาษาสื่อมวลชนว่า ‘คุณชายยอดนักชิม’ ยังปรากฏให้เห็นเป็นตำนานที่มีชีวิตมาจนถึงยุค 4.0 เพราะกาลเวลาไม่อาจทำลายความประณีตแห่งรสชาติปลายจวัก และรสชาติชีวิตของบุรุษผู้เกิดในสกุลเจ้า แต่ชอบกินข้าวแกงตามตรอกข้างถนน ยันภัตตาคารร้านเหลาสุดหรู เรียกได้ว่าไปมาหมดแล้วทั่วทั้งร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำในประเทศและโลกใบนี้

 

ตราบจนลมหายใจสุดท้าย เมื่อเวลา 11.35 น. ของวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ณ โรงพยาบาลเปาโล ม.ร.ว.ถนัดศรีก็ออกเดินทางไกลไปทัวร์จักรวาลของแท้ คราวนี้คงได้ไป ‘ครอบจักรวาล’ สมใจปรารถนาเป็นแน่ ทิ้งไว้เพียงฝุ่นความทรงจำที่ฟุ้งขึ้นมาเมื่อไร ก็นึกถึงใบหน้า เสียงหัวเราะ และความขี้เล่นของ ม.ร.ว.ถนัดศรี ผู้เป็นแบบฉบับ ‘เชลล์ชวนชิม’ อันลือเลื่องไว้ในโลกใบนี้ ที่เป็นเพียงเสี้ยวส่วนของจักรวาล

 

ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

 

ม.ร.ว.ถนัดศรี คือใคร

 

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ สิริรวมอายุปัจจุบัน 92 ปี เกิดวันที่ 28 พฤษภาคม 2470 

 

เป็นหม่อมราชวงศ์ชายคนแรกของหม่อมเจ้าเฉลิมศรี สวัสดิวัตน์ และหม่อมเจริญ 

 

หม่อมเจ้าเฉลิมศรีเป็นโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิสิษฐ์ กับหม่อมละมุน ซึ่งกรมพระสวัสดิวัตนวิสิษฐ์ คือพระโอรสองค์หนึ่งในสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4

 

ม.ร.ว.ถนัดศรี เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2470 ที่วังเพชรบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันก็คือบริเวณที่ตั้งของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบันนั่นเอง

 

“เกิดวังเพชรบูรณ์ โตวังสระปทุม มีลูกมีเมียวังศุโขทัย” คือประวัติชีวิตที่ ม.ร.ว.ถนัดศรีมักชอบสรุปให้ใครๆ ฟัง

 

หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อันเนื่องมาจากการสละพระราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ม.ร.ว.ถนัดศรีได้เลือกศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ขณะที่ครอบครัวของท่านส่วนมากรับราชการทหาร และต้องการให้ท่านไปเรียนโรงเรียนนายร้อยที่ประเทศรัสเซีย

 

“นักเรียนธรรมศาสตร์สมัยนั้นน่ารักอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่มีใครปิดบังความจน เพราะถือว่าความจนเป็นอาภรณ์ประดับชีวิต ใครจนแต่สามารถบากบั่นมาถึงนี่คือวีรบุรุษ” คือสิ่งที่ท่านได้เล่าไว้เมื่อครั้งเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ 

 

และการเรียนที่ธรรมศาสตร์ทำให้ท่านที่เกิดในสกุลเจ้าเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนมากขึ้น สงครามโลกในห้วงนั้นไม่ได้เป็นเส้นแบ่งความรวยจนเรื่องอาหารการกิน เนื่องจากภาวะสงครามล้วนทำให้ทุกคนต้องดิ้นรน หาอาหารประทังชีวิต

 

ม.ร.ว.ถนัดศรีเริ่มร้องเพลงเพื่อหาเงินช่วยค่าอาหารให้เพื่อน ต่อมาได้เข้ามาอยู่วงดนตรีสุนทราภรณ์ หลังสงครามก็เรียนหนังสือไปด้วย พร้อมกับทำงานเป็นเสมียนกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นชีวิตที่โลดโผดของ ม.ร.ว.ถนัดศรีก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานนับแต่นั้น

 

ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

 

ม.ร.ว.ถนัดศรี ครอบจักรวาล ร้อง เล่น เต้น กิน สารพัดความสามารถ

 

ม.ร.ว.ถนัดศรี เป็นหม่อมราชวงศ์คนหนึ่งที่มีชีวิตราวกับนิยาย เป็นทั้งนักแสดง นักร้อง นักเขียน นักจัดรายการ และนักชิมอาหาร ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดของเมืองไทย

 

ช่วงหนึ่งของชีวิต ม.ร.ว.ถนัดศรีเคยเล่าถึงความตั้งใจว่า จะไปเรียนต่อด้านกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ แต่เพราะการใช้ชีวิตชนิดที่เรียกว่าเต็มที่ ทำให้ปริญญาที่ได้แทนที่จะเป็น ‘Barrister’ ก็เป็น ‘บาร์เทนเดอร์’ แทน

 

แต่ทว่าการใช้ชีวิตดังกล่าวไม่ได้สูญเปล่าแต่อย่างใด ในมืดมีสว่าง ม.ร.ว.ถนัดศรีสามารถนำมันมาใช้ประโยชน์ในการเข้าไปทำรายการ ‘Letter from London’ ของสถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย และรายได้จากตรงนั้นคือเม็ดเงินส่วนหนึ่งที่สามารถใช้ชีวิตให้รอดพ้นมาได้

 

หลังกลับจากประเทศอังกฤษ ม.ร.ว.ถนัดศรีได้ยึดอาชีพบันเทิงเป็นหลัก รับเล่นเป็นพระเอกหลายเรื่อง ได้เล่นละครโทรทัศน์เรื่องแรกของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2499

 

ความรู้ทางด้านอาหารนั้นได้มาจากหม่อมละมุน สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ผู้เป็นหม่อมย่า และผู้ว่าการห้องเครื่องในวังสระปทุม 

 

ในขณะที่แม่แท้ๆ คือหม่อมเจริญ เป็นลูกมือของ ม.ร.ว.เสงี่ยม สนิทวงศ์ ผู้ทำเครื่องถวายสมเด็จพระพันปีหลวง ทุกอย่างได้ซึมซับเข้ามาอย่างไม่รู้ตัว ทั้งอาหารคาวหวานเลิศรส ตลอดจนกรรมวิธีการปรุงต่างๆ ที่ผ่านตาผ่านลิ้นมาตั้งแต่วัยเด็ก

 

เพราะเหตุนี้เอง จึงทำให้ ม.ร.ว.ถนัดศรีมีความเชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงในฐานะนักชิม ผู้สร้างตำนาน ‘เชลล์ชวนชิม’ ที่เป็นประหนึ่งป้ายการันตีความอร่อยที่ใครเห็นเป็นต้องเชื่อถือ สร้างโอกาสให้กับพ่อค้าแม่ค้านักปรุงอาหารทั่วฟ้าเมืองไทยมาจนถึงวันนี้ 

 

ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

 

ด้วยนิสัยการชอบหาของแปลกใหม่รับประทาน ชอบเดินทางท่องเที่ยว และมีกลุ่มเพื่อนมากมาย ทำให้ ม.ร.ว.ถนัดศรีมีประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย และยังเป็นนักเล่าเรื่องที่มากด้วยอารมณ์ขัน เต็มไปด้วยสาระและความบันเทิงครบครัน เรื่องราวเหล่านั้นถูกถ่ายทอดออกมาในรายการทีวี รายการวิทยุ และข้อเขียนในหนังสือต่างๆ

 

รายการทีวีที่ได้รับความนิยมเป็นชื่อเสียงตำนาน ผ่านการเป็นพิธีกรนำของคุณชาย อาทิ ครอบจักรวาล การบินไทยไขจักรวาล พ่อบ้านเข้าครัว เป็นต้น

 

สำหรับการขับร้องเพลงไทยสากลนั้น ม.ร.ว.ถนัดศรีมีเทคนิคการร้องเพลงที่เป็นแบบเฉพาะของตนเอง การเอื้อน การออกเสียงเต็มไปด้วยมนต์ขลัง ทั้งนุ่มนวล อ่อนหวาน มีผลงานเพลงที่ขับร้องอัดแผ่นเสียงรวมกว่า 200 เพลง 

 

เพลงบางเพลงมีความไพเราะได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย อาทิ สีชัง ทะเลระทม วานลมจูบ ทำไมหนอ ตราบสิ้นลม วนาสวาท ฯลฯ 

 

นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับสถานภาพของนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลงให้มีเกียรติ มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของสังคม

 

จากผลงานดังกล่าวทำให้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลงสีชัง รางวัลเสาโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะจัดรายการดีเด่น รางวัลเมขลาในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้านวิทยุและโทรทัศน์ และในปี 2551 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)

 

ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

 

ม.ร.ว.ถนัดศรี ที่ขอฝากไว้

 

สีชัง ชังชื่อแล้วอย่าชัง

อย่าโกรธพี่จริงจังจิตข้อง

ตัวไกลจิตก็ยังเนาว์แนบ

เสน่ห์สนิทน้องนิจผู้อาดูร

 

เนื้อหาท่อนเริ่มของเพลงสีชัง ที่ขับร้องโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี กระทั่งสร้างชื่อเสียงจนได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ เหมือนกำลังจะบอกเราว่า บัดนี้ สีชังก็ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ประหนึ่งผู้ขับร้องที่นับแต่เวลานี้คงเหลือแต่เพียง ‘ชื่อ’ ที่เป็น ‘ชื่อเสียง’ ให้คนได้จดจำเช่นเดียวกัน

 

นอกจากมรดกเสียงเพลงของ ม.ร.ว.ถนัดศรีแล้ว สิ่งที่เป็นมรดกสำคัญประการหนึ่งก็คือ มรดกในเรื่องอาหารที่ถูกถ่ายทอดผ่านสายเลือดและความคิดของคน ‘รุ่นพ่อ’ สู่ ‘รุ่นลูก’ โดยมีกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบ จากแบรนด์ ‘เชลล์ชวนชิม’ มาเป็นแบรนด์ ‘หมึกแดง’

 

การชอบทำอาหาร ชอบชิม และสามารถถ่ายทอดด้วยวาทศิลป์ และการเขียนที่มีเอกลักษณ์ มีลูกเล่นลูกฮาเฉพาะตัวไม่ต่างจากผู้เป็นพ่อ คือสิ่งที่ถ่ายทอดมาทางสายเลือด ผนึกรวมกับความรู้ที่ร่ำเรียนมา และพรสวรรค์เฉพาะตัวในการปรุง คือสูตรความสำเร็จที่สำคัญของหมึกแดง

 

ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

 

หมึกแดง หรือ ม.ล.ศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ บุตรชาย เคยเล่าว่า ครั้งหนึ่งที่เดินหน้าเพื่อทำรายการอาหารหรือเดินทางแบบพ่อ เขาถูกตราหน้าว่าเป็นคน ‘เนรคุณ’ คิดจะแข่งกับพ่อตัวเอง เขาถูกสบประมาทมากมาย ด้วยเพราะใต้ชายคานี้ถูกสร้างและบ่มเพาะมาจากถนัดศรีผู้พ่อนั่นเอง

 

วันหนึ่งเขาเคยไปทูลปรึกษากับพระองค์เจ้าหญิงสุทธสิริโสภา ซึ่งมีศักดิ์เป็นป้าถึงเรื่องนี้ พระองค์หญิงให้คำตอบว่า “พ่อเธอเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีเงายาวมาก ถ้าเธอจะไปเกิดใต้ต้นไม้นั้นเธอก็เป็นได้แค่เห็ดเพราะไม่โดนแดด”

 

และวันนี้มรดกที่หล่นไม่ไกลต้นของ ม.ร.ว.ถนัดศรีก็คือ ‘หมึกแดง’ ที่กลายเป็นที่รู้จักไม่ต่างจากพ่อ พร้อมๆ กับการทดแทนบุญคุณ ดูแลบุพการีในยามบั้นปลาย จวบจนพ้นวัฏสงสารไป

 

หากเปรียบชีวิตของผู้เป็นพ่อเหมือนนวนิยายที่หลากหลายรสชาติ เชื่อเหลือเกินว่า เรื่องราวของคนเป็นลูก ก็คงเป็นนิยายภาค 2 ที่มีเนื้อหาเข้มข้นไม่แพ้กัน และนี่คือ ม.ร.ว.ถนัดศรี…ที่ฝากไว้ ในแผ่นดิน

 

ภาพ: เพจครอบจักรวาล

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X