หลังเกิดเหตุขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสหยุดให้บริการทุกสถานี ทั้งในสายสีลมและสายสุขุมวิทในช่วงเช้าที่ผ่านมา ภายหลังสืบทราบว่า เกิดจากการที่ผู้โดยสารรายหนึ่งดึงคันโยกฉุกเฉิน (PER) เพียงเพราะต้องการให้ขบวนรถหยุดรอเพื่อน เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารตกค้างตามสถานีเป็นจำนวนมาก และทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรีเซตขบวนรถใหม่ จนเกิดความล่าช้าในการเดินทาง
ล่าสุด สุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ เปิดเผยว่า สำหรับเหตุการณ์ผู้โดยสารดึงคันโยกฉุกเฉิน (PER – Passenger Emergency Release หรือ พีอีอาร์) เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงประมาณเที่ยง วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา
ทางบีทีเอสจึงขอเรียนผู้โดยสารทุกท่านทราบว่า ทุกครั้งที่ดึง PER จะกระทบต่อการเดินรถ เพราะเจ้าหน้าที่ควบคุมรถจะต้องใช้เวลารีเซตขบวนรถทุกครั้ง และจะทำให้ขบวนที่ตามหลังมาก็ต้องจอดคอยต่อๆ กันไป เพื่อรักษาระยะห่างให้ปลอดภัยเสมอ แต่เกิดความล่าช้าสะสมและกระทบผู้โดยสารท่านอื่นๆ จึงมีข้อกำหนดให้มีโทษปรับ หากใช้โดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ สุมิตรได้อธิบายต่อไปว่า สำหรับ PER มีไว้ใช้เปิดประตูขบวนรถ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในขณะที่รถจอดสนิท ติดตั้งบริเวณด้านข้างประตูทุกประตู และทุกขบวนรถ พร้อมติดสติกเกอร์ที่มีคำแนะนำการใช้งานคาดไว้ทุกชิ้น
ตัวอย่างการใช้ PER เช่น ขบวนรถไฟฟ้าจอดสนิทที่สถานี หากอยู่ในขบวนรถ แต่พบผู้โดยสารท่านอื่นขาตกในช่องว่างระหว่างชานชาลา ก็สามารถดึง PER เพื่อไม่ให้รถเคลื่อนที่ได้
ซึ่งกรณีที่พบได้บ่อยกว่ากรณีอื่นคือ มีผู้เป็นลมในขบวนรถ ผู้โดยสารจึงดึง PER ซึ่งทำให้ขบวนรถต้องหยุดนานกว่าปกติที่สถานีถัดไปโดยไม่จำเป็น
หากพบผู้เป็นลม ป่วย หรือต้องการความช่วยเหลือขณะที่อยู่ในขบวนรถ โปรดกดปุ่มกระดิ่งแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที โดยเจ้าหน้าที่จะประสานสถานีถัดไปให้เตรียมการช่วยเหลือทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาจอดนาน เพื่อรีเซตขบวนรถ สำหรับปุ่มกระดิ่ง อยู่บริเวณเดียวกับ PER ในทุกตู้โดยสาร
ทั้งนี้ ระบบการเดินรถของบีทีเอสยึดหลัก Fail-Safe คือ หากตรวจพบความผิดปกติใดก็ตามในการเดินรถ ไม่ว่าจะเป็นขบวนรถ ระบบอาณัติสัญญาณ หรือราง คอมพิวเตอร์ควบคุมการเดินรถ จะสั่งให้ขบวนรถหยุดไว้ก่อนเสมอ นี่คือที่มาของเสียงประกาศจัดการจราจรในขบวนรถ แต่ช่วยให้การเดินรถตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีความปลอดภัยและไม่เคยเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: