บทความนี้เป็นบทความสำหรับน้องๆ ที่กำลังจะเรียนจบและกำลังสับสนกับอนาคตของตัวเองอยู่ว่า จบไปแล้วเราจะไปทำอะไรกับชีวิตของเราดี
ก่อนที่จะตัดสินใจ ผมขอให้น้องๆ ลองอ่าน Behavioural Guideline 4 ข้อในการเลือก ‘เพื่อความสุขในอนาคต’ ดังต่อไปนี้นะครับ
1. สิ่งที่เราชอบในวันนี้ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราชอบในวันข้างหน้า
คนเรามักจะคิดว่าความชอบ หรือ Preference นั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะ Stable คือไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงสักเท่าไรนักตลอดชีวิตของเรา พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าวันนี้เราชอบกินชาเขียว ตัวเราเองในอนาคตอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้าก็คงจะชอบชาเขียวเช่นเดียวกัน
แต่ในความเป็นจริงนั้น ความชอบของคนเรามักจะขึ้นอยู่กับ Context หรือบริบทซึ่งมักจะเปลี่ยนกันไปตามกาลเวลา
ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เราอาจจะเลือกกินแต่ชาเขียว เพราะว่าเราชอบชาเขียวที่สุดเมื่อเทียบกันกับชาอื่นๆ ที่มีขายตามท้องตลาด แต่ถ้าสมมติว่าอีก 20 ปีข้างหน้ามันกลับมีชาอื่นๆ ที่มีรสชาติดีกว่าชาเขียวที่เรากินอยู่หลายร้อยเท่า (สมมติว่าเป็นชาม่วงที่สกัดมาจากมะเขือพวงก็แล้วกัน) ความชอบของเราที่มีต่อชาเขียว เมื่อมีชาม่วงเป็นตัวเลือกอีกหนึ่งตัว ก็อาจจะเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของบริบทก็ได้
แต่ถึงแม้ว่าเราจะมั่นใจว่าเราจะชอบกินชาเขียวไปตลอดชีวิตของเรา เราก็คงจะไม่ลงทุนจ่ายเงินที่เรามีในวันนี้เพื่อซื้อ Supply ของชาเขียวในอนาคต เพื่อที่เราจะได้มีชาเขียวไว้ดื่มไปตลอดชีวิตใช่ไหมครับ
ปัญหาก็คือ การเลือกสายการงานที่เราจะต้องทำไปอีก 30-40 ปีข้างหน้าจากความชอบของเราในวันนี้นั้น มันก็ไม่ได้แตกต่างจากการลงทุนซื้อ Supply ของชาเขียวไปอีก 30-40 ปีข้างหน้า เพียงเพราะว่าวันนี้เราชอบทานชาเขียวเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นพื้นฐานการตัดสินใจว่าตัวเองควรจะทำอะไรในอีก 30-40 ปีข้างหน้ากับความชอบในวันนี้เพียงอย่างเดียว จึงเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างจะมีความเสี่ยงต่อความสุขของตัวเราเองในอนาคตเป็นอย่างมากนะครับ
2. ถ้าอยากจะเลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบ ก็ควรจะเลือกในสิ่งที่มีความหมายด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้พยายามจะบอกจากข้อ 1 ว่าน้องๆ ไม่ควรที่จะเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า ถึงแม้ว่าคนเราจะสามารถทำงานอย่างมีความสามารถในสิ่งที่เราไม่ชอบเลยได้ แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าถ้าในสิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่เราชอบด้วย
ผมแค่อยากจะบอกว่า ความชอบนั้นมันสามารถเปลี่ยนแปลงตามบริบทได้ ถ้าพูดกันเป็นภาษาอังกฤษล่ะก็ ‘preference is Fickle’
ความชอบนั้นเปรียบเสมือนเปลวไฟที่เคลื่อนไหวไปตามลมนั่นเอง
แต่สิ่งที่ไม่ค่อยเปลี่ยนไปตามบริบทก็คือ ความหมาย หรือ Meaning (หรือ Purpose ก็ได้) ที่เราได้มาจากสิ่งที่เราทำ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าสิ่งที่เราทำในวันนี้สร้างความหมายให้กับเราและคนรอบข้าง ทำให้สังคมและชีวิตของคนส่วนรวมดีขึ้น โอกาสที่สิ่งที่เราทำในวันนี้จะคงซึ่งยังความหมายในตัวในอนาคตก็จะยังสูงอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
เพราะฉะนั้นถ้าน้องๆ ยังปักใจอยากเลือกที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองชอบในวันนี้ไปอีก 30-40 ปีข้างหน้า พยายามเลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบ และทำให้ตัวเองรู้สึกมีความหมายพร้อมๆ กันไปด้วยก็จะดี เพราะถ้าในอนาคตเราอาจจะไม่ชอบในสิ่งที่เราเคยชอบแล้ว อย่างน้อยความหมายจากสิ่งที่เราทำก็คงจะยังอยู่ไม่หายไปไหน
3. ในกรณีที่ไม่รู้ว่าชอบอะไร แต่มีคนอื่นแนะนำให้ลองทำอย่างที่เขาแนะนำดู ให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่า ทำไมเขาถึงแนะนำในสิ่งที่เขาแนะนำ
อย่างที่บอกไปแล้วว่า การเลือกอนาคตโดยใช้พื้นฐานของสิ่งที่ชอบในวันนี้อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างจะเสี่ยง ถ้าการเลือกในสิ่งที่เราชอบไม่มีปัจจัยของ Purpose หรือความหมายของการทำสิ่งนั้นๆ อยู่
แต่ผมก็เชื่อว่าในสังคมปัจจุบันของเรานี้ก็ยังมีน้องๆ อีกหลายคนที่ยังไม่รู้ตัวเองเลยด้วยซ้ำว่าชอบอะไร หรืออะไรที่ทำให้ตัวเองรู้สึกมีความหมายถ้าได้ทำ
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าน้องๆ เติบโตมาพร้อมๆ กับการตัดสินใจแทนของผู้ใหญ่หลายๆ คน “เชื่อพ่อสิ ทำนี่แล้วชีวิตจะดี” “เชื่ออาจารย์นะ อย่าไปเลือกทำในสิ่งนั้น ไม่กลัวการล้มเหลวหรือไง”
การที่น้องๆ ได้มีคน ‘ช่วย’ ตัดสินใจแทนให้เกือบตลอด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้องๆ ไม่มีความเชื่อมั่นในการตัดสินใจของตนเอง (ส่วนหนึ่งเพราะอาจจะโตมาไม่ค่อยมีประสบการณ์ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง) และจากการที่น้องๆ ไม่ได้มีโอกาสได้ตัดสินใจให้กับตัวเอง ถูกบ้าง ผิดบ้างมาตั้งแต่เด็กๆ โอกาสที่น้องๆ จะรู้ว่าตัวเองชอบอะไรจริงๆ นั้นก็จะมีน้อย
และด้วยเหตุผลนี้เอง เวลาที่น้องๆ กำลังคิดว่า เอ๊ะ ตัวเราชอบอะไรกันแน่นะ ความไม่แน่ใจของตัวเองจึงเป็นใบเบิกทางให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนบอกกับน้องๆ ว่า “ถ้าไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ทำไมไม่เรียน/ทำอันนี้สิ”
ถ้าเหตุการณ์ตามที่ผมกล่าวไว้ข้างบนเกิดขึ้นกับตัวน้องจริงๆ ล่ะก็ ก่อนที่จะตอบตกลง ผมอยากให้น้องๆ ลองถามตัวเองดูว่า ‘คำแนะนำที่ผู้ใหญ่เขาให้ เขาให้ด้วยเหตุผลอะไร’
หนึ่ง เขาให้เพราะมันเป็นอะไรที่เขาอยากให้เราทำหรือเปล่า และที่เขาอยากให้เราทำ เพราะมันเป็นอะไรที่เขาอยากทำเองแต่ไม่ได้ทำหรือเปล่า สอง เขาให้เพราะเขาคิดว่ามันเป็นอะไรที่น่าจะให้ผลตอบแทน อย่างเช่น หน้าที่การงาน ความมั่นคง ที่ดีที่สุดให้กับเราหรือเปล่า แล้วค่าตอบแทนพวกนี้มันเป็นอะไรที่เราให้คุณค่ากับมันเท่าๆ กันกับที่ผู้ใหญ่เขาให้ไหม
ถ้าคำตอบของข้อแรกคือใช่ และข้อสองคือไม่ละก็ ผมอยากให้น้องๆ ลองหยุดบอกกับตัวเองสักนิดว่า มันตัวของเรานะ ไม่ใช่ตัวผู้ใหญ่เขา ที่จะต้องทำในสิ่งที่เขาแนะนำไปอีก 30-40 ปี เราจะทำมันได้ไหม
การไม่มีสิ่งที่เราชอบในวันนี้ไม่ใช่อะไรที่แปลกนะครับ คนที่ประสบกับความสุขและความสำเร็จในชีวิตการทำงานส่วนใหญ่มักจะไม่ได้เจอในสิ่งที่เขาทั้งชอบและสิ่งที่เขาคิดว่าให้ความหมายในชีวิตของพวกเขาตั้งแต่แรก ที่สำคัญคือการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ การยอมเชื่อและการยอมให้อภัยการตัดสินใจของตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะหาสองสิ่งนั้นให้เจอ
4. ถ้าเราอยากรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังคิดจะทำนั้นจะทำให้เรามีความสุขในอนาคตไหม ให้ถามคนที่กำลังทำอยู่ว่าเขารู้สึกอย่างไร
เวลาที่เรากำลังจะตัดสินใจว่าจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าจะเลือกเปิดร้านกาแฟ หรือเลือกที่จะเรียนกฎหมาย เป็นต้น เรามักจะทำวิจัยว่าไอ้สิ่งที่เราอยากจะทำนี้มันให้ค่าตอบแทนกับเราเท่าไร แต่ถึงแม้ว่าเราอาจจะได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งที่เราอยากจะทำจนครบถ้วนทุกอย่าง พอเราไปทำจริงๆ เราอาจจะพบว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้ Fulfil ชีวิตตามที่เราได้คาดหวังเอาไว้เลย
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า คนเรามักจะไม่ค่อยเก่งในการคาดการณ์ความสุขในอนาคตของตัวเอง Base จากการดูข้อมูลที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับสิ่งที่เราอยากจะทำเหล่านี้
ทำไมน่ะเหรอครับ
ยกตัวอย่างการเลือกที่จะทำงานแบงก์ เวลาที่เราทำการวิจัยว่าจบแล้วเราจะไปทำงานแบงก์ดีไหม ข้อมูลแรกๆ ที่เราอาจจะค้นหาดูเกี่ยวกับงานแบงก์เลยก็คือ เงินเดือนมันเท่าไร
หูย เงินเดือนสูงเว้ย โอเคเลย งั้นเลือกอาชีพนี้เลย
แต่สิ่งที่เราอาจจะไม่ได้ให้น้ำหนักในการพิจารณาและตัดสินใจของเราแม้แต่นิดเดียวเกี่ยวกับงานแบงก์เลยก็คือ งานแบงก์มันงานหนักอยู่นะ และมันอาจจะไม่ได้ให้ความรู้สึกของ Purpose มากเท่ากับงานอื่นๆ ที่อาจจะให้เงินเดือนที่น้อยกว่าก็ได้
เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ค่อยเป็นที่น่าแปลกใจสักเท่าไรที่คนที่เลือกงานแบงก์กลับไม่ได้ชอบมันเท่าที่เขาคิดว่าเขาจะชอบ
การแก้ปัญหาของการคาดการณ์ความสุขในอนาคตล้มเหลวนี้ก็คือการไปถามนายแบงก์หลายๆ คนดูเลยว่า “คุณมีความสุขในชีวิตและการทำงานมากน้อยแค่ไหน” เพราะว่าการถามถึงความสุขของนายแบงก์ทั้งหลาย โดยที่ไม่ได้ดูข้อมูลอื่นๆ เลย สามารถช่วยทำให้เรารับทราบถึงความรู้สึกจริงๆ ของการทำงานแบงก์ได้มากกว่าการใช้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรมแค่อย่างเดียว
ภาพประกอบ: Thiencharas W.
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า