ทุกคนคงเคยรู้สึกเหงา ประหม่า ทำตัวไม่ถูก หรือไม่มั่นใจเวลาอยู่คนเดียว อาการเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเมื่อไปอยู่ต่างถิ่นเพียงลำพัง เพราะมนุษย์ถูกสร้างมาให้อยู่รวมกัน แต่ถ้าคิดว่าต้องอยู่คนเดียวแล้วรู้สึกกลัว คิดมากไปต่างๆ นานา จนทำให้ไม่กล้าที่จะอยู่เพียงลำพัง หรือถ้าคุณเป็นแค่คนขี้เหงา ดีใจที่ได้พาเพื่อนๆ ครอบครัวมารวมอยู่ด้วยกัน แต่ทันทีที่ทุกคนกลับไป ความกลัวการอยู่คนเดียวก็เข้ามาอยู่ในจิตใจ สิ่งนี้ถือว่าปกติหรือไม่ ลองมาหาคำตอบร่วมกัน
โรคกลัวการอยู่คนเดียว หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Autophobia, Monophobia, Isolophobia หรือ Eremophobia โรคนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับคนไทย ทั้งอาการที่เป็นก็ดูเหมือนจะคล้ายอาการของคนขี้เหงาธรรมดา เพียงแต่โรคกลัวการอยู่คนเดียวยิ่งทำให้ไม่กล้าออกไปทำอะไรตามลำพัง
“ถ้าคุณเป็นโรคกลัวการอยู่คนเดียว อยากบอกให้รู้ว่าแท้จริงแล้วคุณไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว เพราะนี่เป็นความกลัวที่คนเป็นกันไม่น้อย” โคลอี คาร์มิเคิล (Chloe Carmichael) ด็อกเตอร์ด้านจิตวิทยาคลินิกในแมนฮัตตัน นิวยอร์ก เผย “จุดมุ่งหมายของคนกลุ่มนี้จึงอยากมีคู่”
อาการเป็นอย่างไร
แท้จริงแล้วความรู้สึกกังวล เบื่อ เหงา เวลาอยู่โดดเดี่ยว หรือคิดว่าจะต้องออกไปทำอะไรคนเดียว เช่น การออกไปทานข้าว ดูหนัง ช้อปปิ้ง เป็นอาการทั่วไปของคนขี้เหงา แต่โรคกลัวการอยู่คนเดียวเป็นมากกว่านั้น นั่นคือรู้สึกไม่มั่นใจเวลาอยู่ในที่สาธารณะ กลัวการเข้าสังคม หรือแม้แต่การติดโซเชียลมีเดียมากเกินไปก็เช่นกัน และถ้าเป็นมานานแล้วยังไม่ได้รับการรักษา อาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
“โรคนี้มีผลกับการใช้ชีวิตของคนที่เป็น และแม้ความกลัวนี้จะไม่ได้รักษาให้หายภายในพริบตา แต่เราสามารถเรียนรู้เพื่อรับมือกับมันได้”จิล สควัยเรส (Jill Squyres) ด็อกเตอร์ด้านจิตวิทยาคลินิกในโคโลราโดเสริม
โรคนี้ก่อให้เกิดอาการรู้สึกกลัวจริงจังเมื่อต้องอยู่คนเดียว หรือรู้สึกต้องการใครสักคนหรือคนกลุ่มใหญ่มาบรรเทาความรู้สึกว้าเหว่แม้กระทั่งที่บ้าน และเมื่อคนที่เป็นต้องอยู่คนเดียว “จะรู้สึกเดียวดายอย่างหนัก เบื่อ หรือรู้สึกประหม่า”จิล สควัยเรส เผย
เธอยังเสริมอีกว่าหากเกิดขึ้นครั้งสองครั้งนั่นเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อคุณสังเกตเห็นแพตเทิร์นของความกลัว ประหม่า หรืออยู่ดีๆ ก็เศร้ามาก ทุกครั้งที่ต้องอยู่คนเดียว นั่นอาจแปลว่าโรคกลัวการอยู่คนเดียวเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ทั้งความกลัวนี้ยังก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ตามมา เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ปวดหลัง หรือกล้ามเนื้อต่างๆ กระทั่งนอนไม่หลับ นอกจากนั้นยังสามารถเกิดได้กับคนที่มีคู่ (แม้อาการมักจะเกิดภายหลัง) อีกด้วย
อาการดังกล่าวอาจกระทบถึงการทำงาน การรับภาระหน้าที่ต่างๆ ได้ ซึ่งจิล สควัยเรส บอกว่า “เนื่องจากมีหลายภารกิจในหน้าที่การงานที่คุณอาจต้องทำคนเดียว เพื่อผลงานที่ดีและความก้าวหน้า”
สาเหตุของโรค
- เกิดจากการประสบเหตุการณ์ที่กระทบใจมาก เช่น ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวและต้องเผชิญเหตุการณ์ร้ายๆ
- อาจเป็นส่วนหนึ่งของอาการทางจิตที่ใหญ่กว่า ที่ความรู้สึกถูกทอดทิ้งเข้ามามีส่วนร่วม
- เกิดจากกระบวนการทำงานของสมอง ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
ส่งผลต่อความสัมพันธ์อย่างไร
ในเรื่องของความรัก คุณอาจยอมคบกับคนแย่ๆ เพียงเพื่อให้ไม่ต้องอยู่คนเดียว หรือคนที่คุณก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น อันเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ไม่ยืดยาว และที่สำคัญที่สุด คือความสัมพันธ์และความรู้สึกที่คุณมีต่อตัวเอง คุณอาจคิดเรื่องร้ายในหัวสารพัด “ถ้าคุณอยู่คนเดียว คุณอาจต่อยอดความคิดว่าคุณจะต้องอยู่โดดเดี่ยวตลอดไป” โคลอี กล่าว “เราต้องคิดด้วยว่าคนโสดทุกคนในโลกก็ยังไม่ได้พบคนพิเศษเหมือนกับเราเช่นกัน”
เอาชนะอย่างไร
ใครที่รู้สึกว่ากลัวการอยู่คนเดียวมากๆ กลัวว่าจะถูกทิ้งและไม่ได้รับความรักความสนใจมากเกินปกติ ควรปรึกษาจิตแพทย์ก่อนในเบื้องต้น ถ้ารู้ตัวเร็วจะรักษาให้หายขาดได้ง่ายมากขึ้น นอกจากจะปรึกษากับจิตแพทย์แล้ว การที่กล้าเผชิญหน้ากับความกลัว เรียนรู้และลองได้รับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้อาการหวาดกลัวหายไปได้ เช่น การนั่งสมาธิหรือเล่นโยคะ ก็เป็นอีกสิ่งที่จะช่วยให้จัดการกับความกลัวได้ดีขึ้น เนื่องจากช่วยให้รู้สึกสงบ ฝึกการหายใจ
นอกจากนั้นคุณอาจยังต้องเผชิญความกลัวซึ่งๆ หน้า ด้วยการอยู่คนเดียวทีละนิด โดยจิลแนะนำว่าให้เริ่มจาก 15 นาทีก่อน โดยลองทำทุกวันต่อสัปดาห์ จากนั้นจึงเพิ่มขึ้นเป็น 30 นาที ค่อยๆ เพิ่มเวลาขึ้นในแต่ละสัปดาห์ พิสูจน์ตัวเองว่าคุณสามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ เพื่อมุ่งสู่การเอาชนะความกลัว
แต่หากมีความกลัวมากๆ แล้วไม่สามารถควบคุมได้ ควรพบแพทย์ที่สามารถสอนให้รู้สึกผ่อนคลาย การฝึกหายใจ ไปจนช่วยบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม ให้คิดถึงเรื่องร้ายๆ น้อยลง และสามารถจัดการกับความรู้สึกประหม่าและกลัวได้ในที่สุด
“การเรียนรู้ที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเองเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิตและสุขภาพจิตที่ดี ในที่สุดแล้วเราต้องเรียนรู้ว่าความรู้สึกปลอดภัย และจิตใจที่สงบนั้นต้องเริ่มที่ตัวเอง” นักจิตวิทยาคลินิกจากโคโลราโดกล่าว
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: