ครั้งนี้ผมจะพาทุกคนไปนั่งเล่นกันที่ ‘ตลาดนัท’ แถวทองหล่อ หรือค็อกเทลบาร์คอนเซปต์เท่ๆ ที่ใส่ใจวัฒนธรรมการดื่มแบบท้องถิ่น และอยากนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งของเรื่องเหล้าๆ ให้สายค็อกเทลและเหล่าบาร์ฮอปปิ้งได้รู้จักกัน เมื่อ คุณนัท-นัท อาจหาญ บาร์เทนเดอร์และเจ้าของร้าน ได้เล่าถึงที่มาที่ไปให้ฟังอย่างน่าสนใจ
ตลาดนัทแห่งนี้นำเสนอ Ethnic Drinks หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของเหล้าพื้นเมือง เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมการดื่มที่นิยมในกลุ่มคนหรือสังคมใดสังคมหนึ่ง โดยสามารถดูได้จากเมนูซึ่งเป็นรูปแผนที่ ก็จะเห็นได้ว่าค็อกเทลไหนมาจากภูมิภาคใด
(บน) เมนูประจำร้าน (ล่าง) คุณนัท-นัท อาจหาญ บาร์เทนเดอร์และเจ้าของร้าน
The Vibe
คุณนัทตั้งใจให้บรรยากาศที่นี่ดูเหมือนตลาดนัดและมีความติดดิน (ดังนั้นชื่อร้านจึงมาจากตลาด+ชื่อเจ้าของร้านนั่นเอง) สังเกตได้จากรถเข็นก๋วยเตี๋ยวที่ห้อยขวดเหล้าเต็มคันรถ ตู้แช่เครื่องดื่มแบบร้านโชห่วย เคาน์เตอร์สเตนเลสแบบรถเมล์หรือรถสองแถว และผนังปูนเปลือย แถมมีเพลงแนวโซลเฮาส์ที่สอดแทรก Ethnic Sound เข้าไปด้วย
The Drinks
ตามที่เกริ่นไปว่าดริงก์ที่ตลาดนัทจะเป็นแนว Ethnic Drinks ทำให้เหล้ากระแสรองหลายตัวได้รับการปัดฝุ่นเป็นพระเอกในแก้วค็อกเทลอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น โอ-เดอ-วี พิสโก้ คาชาซ่า และอื่นๆ อีกมากมาย
เกือบทุกคนคงจะได้ยินชื่อ Gin & Tonic ค็อกเทลพื้นฐานอันเรียบง่ายที่มีส่วนผสมเพียง 2 อย่าง คือ เหล้าจินสักช็อตตามด้วยโทนิก จะมากน้อยแล้วแต่รสนิยมของใครของมัน ซึ่งคุณนัทได้นำเสนอรูปแบบการดื่ม Eau de vie ที่ใกล้เคียงกับ Gin & Tonic เมื่อค็อกเทลแก้วนี้ชื่อว่า Eau de vie buck (280 บาท) มีเพียงโอ-เดอ-วี และโทนิกเท่านั้น อย่างไรก็ตามแก้วเสิร์ฟจะต้องเย็นจัด พร้อมมีน้ำแข็งในแก้วเสร็จสรรพก่อนออกจากตู้แช่ รินแอลกอฮอล์สีใสลงแก้ว ลองจิบเล็กน้อยเพื่อสัมผัสคาแรกเตอร์โอ-เดอ-วี จากนั้นจึงเติมโทนิก ซึ่งทางร้านมีโทนิกหลายประเภทด้วยกัน และล้วนแล้วแต่มีรสชาติที่แตกต่าง แนะนำให้สอบถามบาร์เทนเดอร์เพิ่มเติม
Eau de vie buck
แก้วถัดมาเป็นดริงก์สไตล์เปรี้ยว (Sour Drink) จับคู่เก๊กฮวยตามชื่อ Chrysanthemum Sour (350 บาท) โอ-เดอ-วี อินฟิวส์กับเก๊กฮวยแล้วผสมน้ำผึ้ง ท็อปด้วยซิตรัสโฟมนุ่มๆ โรยผงพลัมให้มีรสเค็มกระจายทั่วปาก เมื่อดื่มแบบสูดจะได้รสเปรี้ยวนุ่มตามด้วยรสเค็มน้อยๆ ปิดท้ายด้วยกลิ่นน้ำผึ้งและเก๊กฮวย
Chrysanthemum Sour
ขยับขึ้นมาอีกระดับ ลองสั่ง AKA Blackstrap (350 บาท) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากอเมริกาใต้และแถบแคริบเบียน ทำขึ้นจากเหล้ารัมและคาชาซ่า (Cachaça) เหล้าขึ้นชื่อของบราซิลที่ทำมาจากอ้อย จากนั้นผสมโมลาส (Molasses) หรือกากน้ำตาล ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Blackstrap นั่นเอง นอกจากนี้ยังผสมสับปะรดและลูกเกดเพื่อดึงรสเปรี้ยวและหวานหอม ตามด้วยบิตเตอร์ที่ได้จากประเทศตรินิแดดและโตเบโก แล้วรินจิงเจอร์เบียร์ปิดท้าย จากนั้นค่อยเทใส่ขวดเบียร์ให้กระดกยกดื่มแบบบ้านๆ ค็อกเทลตัวนี้ดื่มง่าย อีกทั้งมีความหอมหวาน แต่ก็อาจเมาได้ง่ายเช่นกัน เพราะมีแอลกอฮอล์ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับดริงก์ตัวอื่นๆ
AKA Blackstrap
Golden Mile 2015 (350 บาท) ค็อกเทลที่ถูกคิดค้นเมื่อช่วงปี 2009 ตั้งชื่อตามย่านไทยทาวน์ที่สิงคโปร์ ช่วงแรกเครื่องดื่มแก้วนี้จะมีรสเปรี้ยวนำและเบสด้วยเหล้าจิน แต่หลังจากนั้นได้เปลี่ยนมาใช้โอ-เดอ-วี เมื่อปี 2015 ทำให้สไตล์เครื่องดื่มเปลี่ยนเป็นสตรองทันที มีความสปิริตฟอร์เวิร์ดสูง หอมกลิ่นเครื่องเทศจำพวกตะไคร้ ข่า และใบมะกรูด และใช้โอ-เดอ-วี ที่ทำจากขิง นำส่วนผสมทุกอย่างคนให้เข้ากัน เพิ่มความดรายด้วยเวอร์มุธขาว แล้วเหยาะน้ำมันหยดเล็ก การดื่มให้ค่อยๆ จิบตามสไตล์มาร์ตินี่ค็อกเทล
Golden Mile 2015
แต่ถ้าค็อกเทลที่ผ่านมาทั้งหมดยังไม่ใช่แนว ก็อยากให้ลองค็อกเทลปั่น Sour Cider (210 บาท) ที่ใช้ไซเดอร์ปั่นผสมกับโอ-เดอ-วี ซึ่งจะจับคู่ประเภทไซเดอร์กับประเภทโอ-เดอ-วี เช่น แพร์ไซเดอร์กับแพร์โอ-เดอ-วี สำหรับใครที่หาเครื่องดื่มง่ายๆ แก้วนี้ตอบโจทย์อย่างแน่นอน
Sour Cider 2 รสชาติ
What You Should Know:
- Eau de vie เป็นเหล้าสัญชาติฝรั่งเศส จัดอยู่ในประเภทบรั่นดีที่ทำจากผลไม้ สีใส ไร้รส แต่เต็มล้นด้วยปริมาณแอลกอฮอล์กว่า 40% และอาจมีกลิ่นจางๆ ของผลไม้ ส่วนใหญ่ผลไม้ที่นำมาทำ Eau de vie มักจะเป็นแพร์ พีช แอปเปิ้ล เป็นต้น และมักจะดื่มหลังมื้ออาหาร (Digestif)
- Eau de vie บางยี่ห้ออาจมีผลไม้ทั้งลูกในขวด แสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมและมีความสะอาด เพราะหากมีสิ่งสกปรกเล็ดรอดเข้าในขวดแม้แต่นิดเดียว ผลไม้จะเน่าทันที
- การนำลูกผลไม้ใส่ในขวดเหล้า Eau de vie แท้จริงแล้ว กระบวนการเริ่มตั้งแต่นำขวดไปครอบกิ่งไม้ตั้งแต่ต้นไม้ออกผล และปล่อยให้ผลไม้เจริญเติบโตในขวดอย่างช้าๆ
- นัท อาจหาญ บาร์เทนเดอร์และเจ้าของร้าน เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการค็อกเทลมานาน เขาเริ่มต้นเส้นทางการทำงานที่เมลเบิร์น จากนั้นย้ายมาอยู่สิงคโปร์ และเป็นหนึ่งในทีมบุกเบิกก่อตั้ง Tippling Club ร้านอาหารและบาร์ชื่อดังที่เพิ่งจะได้รางวัล Asia’s 50 Best Bar 2018 อันดับที่ 7 ก่อนจะกลับมาที่กรุงเทพฯ และร่วมทำงานกับ Hyde & Seek ก่อนที่จะมาทำตามความฝัน เปิดบาร์ของตัวเองในที่สุด
ตลาดนัท (ปิดถาวร)
Address: ซอยทองหล่อ 6
Open: ทุกวัน เวลา 19.00-01.00 น.
Contact: 08 4553 7706
Budget: 500-1,000 บาท
Page: www.facebook.com/TALADNATH.BANGKOK
Map:
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล