×

ออสการ์ปีนี้ตกเป็นของ…ความอ้วน เมื่องานวิจัยเผยว่าความตึงเครียดในหนังส่งผลต่อน้ำหนักตัว

21.02.2019
  • LOADING...
stress food-reward behavior

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • การดูภาพยนตร์ แม้ว่าโดยเนื้อหาจะเป็นการนั่งเฉยๆ ไม่ได้ใช้พลังงานอะไรก็ตาม แต่กลุ่มทดลองที่ดูหนังซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรงจะมีความเครียดฉับพลัน เกิดอาการลุ้น ตื่นเต้น และเลือกกินอาหารที่มีรสเค็มและอาหารมันๆ ในปริมาณที่มากกว่าอีกกลุ่มอย่างชัดเจน ในขณะที่อาหารหวานนั้น ทั้งสองกลุ่มเลือกกินไม่แตกต่างกัน

ภาพยนตร์เป็นความบันเทิงที่เข้าถึงง่าย เป็นสื่อสากลที่ใครๆ ก็ชอบดู วัยรุ่น วัยทำงาน วัยผู้ใหญ่ วัยชรา ใครเล่าไม่ชอบดูหนังกันล่ะครับ นี่จึงเป็นธรรมเนียมประจำของทุกปีที่เราต้องร่วมลุ้นจนตัวโก่งไปกับงานประกาศรางวัลออสการ์ (Academy Awards) โดยสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงต้นปี หลายคนก็รอลุ้นหนังเรื่องโปรดหรือจับตามองนักแสดงคนโปรดว่าจะได้รับรางวัลกลับบ้านไปกับเขาบ้างไหม แต่ถ้าถามผมในฐานะนายแพทย์ว่าออสการ์ปีนี้จะตกเป็นของหนังเรื่องใด สำหรับผมแล้ว ออสการ์ปีนี้ตกเป็นของ… ‘ความอ้วน’ ครับ

 

ใช่แล้วครับ ความอ้วน คนคงถามว่าความอ้วนมันเกี่ยวอะไรกับการประกาศรางวัลด้านภาพยนตร์ คุณหมอรังเกียจคนอ้วนอย่างนั้นหรือ คุณหมอคงต้องบอกว่าไม่หรอกครับ สำหรับคนที่ใช่ ไม่ว่าจะอ้วนหรือผอมก็คงเป็นคนที่ใช่ ส่วนคนไม่ใช่จะทำอะไรก็ผิดหมดครับ

 

ที่พูดเกี่ยวกับความรักและความอ้วน เพราะในเดือนกุมภาพันธ์นี้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ลงวารสาร Eating Behaviors ซึ่งเป็นการศึกษาว่า ‘ความรุนแรงในภาพยนตร์ทำให้หนุ่มสาวมีพฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน’

 

stress food-reward behavior

 

งานวิจัยนี้เริ่มจากความสงสัยของ มาทธาร์ แอล. (Mattar L.) นักโภชนาการจากเลบานอนและทีมงาน พวกเธอสงสัยกันว่าเดิมทีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูหนังนั้นมีจำนวนน้อย ทั้งที่คนชอบดูหนังกันเยอะแยะ เธอเลยอยากศึกษาเพิ่มเติมว่าการดูหนังประเภทที่ต่างกันส่งผลกับการกินได้อย่างไร

 

ทีมงานจึงประกาศรับอาสาสมัครหนุ่มสาวมาร่วมงานวิจัย 84 คน แบ่งการดูหนังเป็น 2 แบบครับ แบบแรกคือหนังโหด มีความรุนแรงเยอะ มีความเร้าใจสูง ประเภทที่สองคือหนังไม่โหด ไม่รุนแรง เป็นหนังบรรยาย เนือยๆ เนิบๆ โดยระหว่างรับชม ทางทีมงานได้จัดเตรียมอาหารให้ผู้เข้าชมได้เลือกอย่างหลากหลายเพื่อให้ดูไปด้วย กินไปด้วย มีทั้งอาหารหวานๆ มันๆ เค็มๆ เมื่อหนังจบก็มาเช็กกันว่าคนเหล่านี้กินอะไรกันบ้าง มีการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด การดูท่าทางว่าระหว่างดูหนังมีการจิกเก้าอี้หรือจิกหมอนไปด้วยหรือไม่ (Grip Strength) ตลอดจนประเมินความเครียดของผู้รับชมทั้งสองกลุ่ม

 

ผลพบว่าการดูภาพยนตร์ แม้ว่าโดยเนื้อหาจะเป็นการนั่งเฉยๆ ไม่ได้ใช้พลังงานอะไรก็ตาม แต่กลุ่มทดลองที่ดูหนังซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรงจะมีความเครียดฉับพลัน เกิดอาการลุ้น ตื่นเต้น และเลือกกินอาหารที่มีรสเค็มและอาหารมันๆ ในปริมาณที่มากกว่าอีกกลุ่มอย่างชัดเจน ในขณะที่อาหารหวานนั้น ทั้งสองกลุ่มเลือกกินไม่แตกต่างกัน งานวิจัยนี้จึงสรุปว่าความรุนแรงในภาพยนตร์มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการกิน ทำให้บริโภคพลังงานเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น อาจทำให้อ้วนได้

 

stress food-reward behavior

 

นี่ล่ะครับ คำว่า ‘อ้วน’ มาทีไรก็สะเทือนใจเมื่อนั้น ดังนั้นไม่ว่ารางวัลออสการ์ปีนี้จะตกเป็นของภาพยนตร์เรื่องใด หมอก็ขอให้คุณผู้อ่านระมัดระวังในการบริโภค อย่ากินเค็ม มัน หวานมากขึ้นนะครับ เราสนุกกับการดูหนัง แต่ควรยับยั้งใจในการบริโภคไว้ด้วย มิเช่นนั้นแล้วออสการ์ปีนี้ก็ตกเป็นของ ‘ความอ้วน’ แน่นอนครับ

 

สำหรับเหตุผลที่ว่าทำไมกลุ่มคนที่ดูหนังที่มีความรุนแรงจึงนิยมกินของเค็มและของมันๆ ในงานวิจัยนี้ไม่ได้บอกไว้ แต่ผมลองค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากโลกของการวิจัยด้านรสชาติและอาหารอย่าง ศาสตราภิชาน นายแพทย์มิคาห์ เลสเฮม (Micah Leshem) จิตแพทย์จากอิสราเอล ผู้ศึกษาเรื่องเกลือกับการลดความเครียดในมนุษย์ เขาทบทวนข้อมูลระดับประเทศในช่วงปี 2007-2008 แล้วพบว่าผู้หญิงที่กินเกลือน้อยจะมีความเครียดมากกว่าปกติ เขายังให้ความเห็นว่าเกลือออกฤทธิ์เป็นยาคลายเครียดแบบหนึ่ง และยังมีอีกงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาถึงระดับโมเลกุลในหนูทดลอง พบว่าเวลาหนูมีความเครียด ลำไส้จะหลั่งโปรตีนเกรลิน (Ghrelin) สารตัวนี้ส่งสัญญาณไปที่สมอง ทำให้เกิดความหิว และทำให้หนูกินแหลก เราจึงเรียกสารเกรลินนี้อีกชื่อว่าฮอร์โมนแห่งความหิว

 

stress food-reward behavior

 

ทางทีมวิจัยเชื่อว่าโมเดลนี้ก็เกิดในมนุษย์เช่นเดียวกัน เวลามนุษย์มีความเครียด ลำไส้ก็จะหลั่งฮอร์โมนแห่งความหิว ทำให้มนุษย์ชอบกินอาหารสะดวกรับประทาน (Comfort Food) พวกอาการขบเคี้ยวที่มันๆ เค็มๆ รวมไปถึงของหวาน ไอศกรีม ช็อกโกแลต ของกินเล่นพวกนี้ช่วยลดความเครียดได้ประหนึ่งเป็นการสร้างกระบวนการให้รางวัลตอบแทนในสมองของมนุษย์เครียดที่ทำงานในลักษณะที่ว่ากิน เครียด กิน เครียด กิน (คลิกอ่าน วิทยาศาสตร์ของเครียด-กิน-อ้วน)

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าแปลกใจว่าในงานวิจัยเรื่องภาพยนตร์ที่มีความรุนแรง สัดส่วนการบริโภคอาหารหวานในกลุ่มทดลองทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก ในส่วนนี้หากมีการศึกษาโดยเพิ่มจำนวนกลุ่มอาสาสมัครที่มากขึ้นก็อาจจะเห็นความแตกต่างได้มากขึ้น บางทีอาจเป็นได้ว่าของมันๆ หรือของเค็ม หยิบกินง่ายกว่าของหวาน สะดวกคล่องคอกว่า ไม่หวานแสบคอ หรือไม่แน่จริงๆ แล้วอาสาสมัครที่ไม่ยอมกินของหวานเพิ่มอาจเพราะเชื่อกันว่ากินของหวานแล้วจะอ้วน กินของมันหรือของเค็มแล้วอ้วนน้อยกว่าก็เป็นได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอาหารเหล่านี้ไม่ว่าจะมัน เค็ม หรือหวานก็ทำให้อ้วนได้เหมือนกันครับ

 

ภาพ: NETFLIX, Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • Eat Behav. 2019 Feb 10;33:7-12. doi: 10.1016/j.eatbeh.2019.02.002. “Movie violence acutely affects food choices in young adults.”
  • saltinstitute.org/2014/05/14/salt-reduces-stress
  • J Clin Invest. 2011 Jul;121(7):2684-92. doi: 10.1172/JCI57660. Epub 2011 Jun 23. Ghrelin mediates stress-induced food-reward behavior in mice.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X