×

สร้างคนด้วย ‘ความรู้’ ไม่ใช่ใบปริญญา กับ บังเกอร์ รอย ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเท้าเปล่าในอินเดีย

10.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • นักเรียนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจต่ำกว่า มีโอกาสที่จะสอบไม่ผ่านความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มากกว่านักเรียนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจดีกว่าถึง 3 เท่า
  • คะแนนของนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามากกว่าคะแนนของนักเรียนในโรงเรียนสิงคโปร์บางโรงเรียน แต่อันดับการศึกษาภาพรวมของไทยยังคงต่ำ ซึ่งนี่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทยที่กว้างมาก
  • บังเกอร์ รอย ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเท้าเปล่า คือผู้ที่มองเห็นว่า คนในชนบทหลายคนที่ไม่มีโอกาสไปโรงเรียนมีทักษะและความรู้หลายอย่างที่คนไปโรงเรียนนึกไม่ถึง

     รายงานเกี่ยวกับความมั่งคั่งโลก (Global Wealth) โดย Credit Suisse Research Institute ฉบับปี 2016 ระบุว่า

     ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่ามูลค่าความมั่งคั่งโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2015 เป็น 256 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2016 แต่ความมั่งคั่งกลับกระจุกตัวอยู่กับประชากรแค่บางกลุ่ม

     ครึ่งหนึ่งของประชากรโลกครอบครองความมั่งคั่งน้อยกว่า 1% ขณะที่กลุ่มคนรวยที่สุดในโลกที่คิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมดครอบครองความมั่งคั่งถึง 89%

     ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางโอกาส โดยเฉพาะการเข้าถึงการศึกษาระหว่างคนรวยกับคนจนที่กำลังถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ

คนในชนบทหลายคนที่ไม่มีโอกาสไปโรงเรียนมีทักษะและความรู้หลายอย่างที่คนไปโรงเรียนนึกไม่ถึง

 

     THE STANDARD สัมภาษณ์ บังเกอร์ รอย (Bunker Roy) ผู้ก่อตั้ง วิทยาลัยเท้าเปล่า (Barefoot College) วิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อคนจน คนที่อ่านหนังสือไม่ออกและเขียนหนังสือไม่ได้ในอินเดียที่เดินทางมางานประชุมนานาชาติ ‘การพัฒนาชนบทเพื่อขจัดความยากชนในเอเชีย’ ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแสดงทัศนะและแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านโอกาสทางการศึกษาต่อผู้เชี่ยวชาญ นักปฏิบัติ และนักเคลื่อนไหวจากประเทศในเอเชียที่เดินทางมาร่วมประชุม

     อินเดีย คือประเทศที่ได้ช่ือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ศูนย์รวมของนักวิทยาศาสตร์ และศูนย์กลางของบรรดาธุรกิจ Startup

     หากแต่ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ยังคงมีอยู่ชัดเจน เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในเอเชีย

 

 

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นทั่วโลก

     รายงานของ PISA (Program for International Student Assessment) นอกจากจะจัดลำดับการศึกษาของแต่ละประเทศตามผลสอบของนักเรียนแล้ว ยังสะท้อน ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในการเข้าถึงการศึกษาตามฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม

     โดยชี้ว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนแต่ละคนมีอิทธิพลต่อการเข้าถึงการศึกษา และเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะต่างๆ

     รายงานของ PISA ปี 2015 พบว่า ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของทั้งโรงเรียนในฐานะสถาบันการศึกษาและผู้ปกครอง ส่งผลต่อการเข้าถึงอุปกรณ์ทางการศึกษา ช่องทางการพัฒนาทักษะของเรียน รวมไปถึงทัศนคติต่อการศึกษาที่ส่งผลต่อความสามารถของเด็กนักเรียนแม้ในประเทศพัฒนาแล้ว

 

 

     นักเรียนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจต่ำกว่า มีโอกาสที่จะสอบไม่ผ่านความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มากกว่านักเรียนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจดีกว่าถึง 3 เท่า

     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยยอมรับว่า นอกเหนือจากระบบการศึกษาไทยที่คนมักนำไปเปรียบเทียบกับระบบการศึกษาของประเทศอื่นๆ อย่างฟินแลนด์ หรือสิงคโปร์แล้ว ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไทยคือปัญหาใหญ่ที่ควรได้รับการแก้ปัญหาก่อน

     “10% ของนักเรียนไทยมีคะแนนคิดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ใกล้เคียงกับนักเรียนสิงคโปร์ คะแนนของนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามากกว่าคะแนนของนักเรียนในโรงเรียนสิงคโปร์บางโรงเรียน แต่อันดับการศึกษาภาพรวมของไทยยังคงต่ำ ซึ่งนี่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไทยที่กว้างมาก และที่ผ่านมาเราไม่เคยทำให้ช่องว่างเหล่านี้ลดลงได้เลย”

     นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยยังชี้ว่า รัฐบาลสนับสนุนนักเรียนของโรงเรียนที่เป็นที่หนึ่งด้านวิทยาศาสตร์เฉลี่ยแล้ว 200,000 บาทต่อคนใน 1 ปี ขณะที่รัฐบาลสนับสนุนนักเรียนชนบทประมาณ 3,000 บาทต่อคนใน 1 ปี

เราต้องไม่จำกัดความคิดว่าคนที่ไม่มีโอกาสเข้าเรียนคือคนไม่มีความรู้ คนไม่มีการศึกษา การศึกษาหรือการเรียนรู้อาจจะเกิดขึ้นระหว่างชีวิตประจำวันของเขา

 

‘วิทยาลัยเท้าเปล่า’ ในอินเดีย การศึกษาคือ ‘ความรู้’ ไม่ใช่ใบปริญญา

     รอย ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเท้าเปล่า คือผู้ที่มองเห็นว่าการตีค่าและให้ความหมายต่อคำว่า ‘การศึกษา’ หรือ ‘ผู้มีการศึกษา’ ที่จำกัดอยู่แค่คนทำงานในเมืองหรือผู้ที่ถือใบปริญญาหลายใบ คืออีกปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสต่างๆ ก่อให้เกิดความยากจน และทำให้พื้นที่ชนบทถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอินเดีย ที่พื้นที่ชนบทเผชิญกับความแห้งแล้งและขาดการพัฒนา

     “ผมมองว่าเราต้องไม่เหมารวมหรือตีความว่า ‘คนที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้’ คือ ‘คนไม่มีความสามารถ’ เพราะคนในชนบทหลายคนที่ไม่มีโอกาสไปโรงเรียนมีทักษะและความรู้หลายอย่างที่คนไปโรงเรียนนึกไม่ถึง

 

 

     จากทรรศนะข้างต้น ทำให้รอยตัดสินใจก่อตั้งวิทยาลัยเท้าเปล่าขึ้นในปี 1972 เพื่อเปิดโอกาสให้คนจนในชนบทได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อพวกเขา อย่างเช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อให้ชุมชนมีไฟฟ้าใช้ การเป็นหมอฟัน การสร้างบ้าน ไปจนถึงการทำน้ำดื่ม โดยรูปแบบ ‘วิทยาลัยเท้าเปล่า’ ของรอยนั้นเป็นพื้นดินและไม่มีเก้าอี้ เพื่อสร้างบรรยากาศที่คนชนบทรู้สึกคุ้นเคย

     “ไม่ใช่ว่าผมต่อต้านการศึกษาในระบบหรือคนจบปริญญา แต่สิ่งที่ผมพยายามจะบอกผ่านวิทยาลัยนี้คือ เราต้องไม่จำกัดความคิดว่าคนที่ไม่มีโอกาสเข้าเรียนคือคนไม่มีความรู้ คนไม่มีการศึกษา การศึกษาหรือการเรียนรู้อาจจะเกิดขึ้นระหว่างชีวิตประจำวันของเขา แต่เราไม่เคยนำทักษะเหล่านี้เข้ามาสู่การศึกษากระแสหลัก”

หากเราพัฒนาพื้นที่ชนบทด้วยการพัฒนาทักษะคนในพื้นที่ พวกเขาจะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งจะทำให้พวกเขาหวงแหนชุมชนของตัวเอง

 

ส่ง ‘ความรู้’ จากคนชนบทในอินเดียสู่คนชนบททั่วโลก

     วิทยาลัยเท้าเปล่าไม่ได้จำกัดคนเข้าเรียนแค่เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ในชนบท แต่ยังเห็นความสำคัญของคนสูงวัยในชนบทที่สามารถพัฒนาทักษะได้เช่นกัน

     เหมือน ‘คุณยาย’ ในชนบทอินเดียที่ได้เรียนรู้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จากวิทยาลัยเท้าเปล่า จนสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ได้ และคุณยายเหล่านี้ได้เดินทางไปส่งต่อทักษะเหล่านี้ให้กับคนสูงวัยในชนบทของบังกลาเทศ ปากีสถาน เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม และอีกหลายพันหมู่บ้านในอีกกว่า 80 ประเทศ เพื่อให้หลายชุมชนมีไฟฟ้าและแสงสว่าง

     “การพัฒนาชุมชนคือการแก้ปัญหาระยะยาว เพราะหากเราพัฒนาพื้นที่ชนบทด้วยการพัฒนาทักษะคนในพื้นที่ พวกเขาจะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งจะทำให้พวกเขาหวงแหนชุมชนของตัวเอง

     รอยยังมองว่า การพัฒนาที่ลงมาสู่พื้นที่ชนบทนั้นจะช่วยให้คนรุ่นใหม่อพยพไปยังชุมชนเมืองน้อยลงด้วย “ผมเชื่อว่าจริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่หลายคนก็คงไม่อยากมาใช้ชีวิตในมุมไบ ที่ปัจจุบันเต็มไปด้วยชุมชนแออัด แต่ผมมองว่าความคาดหวังของผู้ปกครอง กรอบของสังคม ก็เป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ การศึกษามองว่าการกลับไปทำงานในชนบทคือความล้มเหลว การไม่ประสบความสำเร็จ”

หากความเหลื่อมล้ำยังคงดำเนินต่อไป ความโกรธ ความเดือดดาล จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจะนำโลกไปสู่ความโกลาหล

 

     ผ่านมา 35 ปี รูปแบบของวิทยาลัยเท้าเปล่าเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และแนวคิดการพัฒนาคนในชนบทถูกนำไปปรับใช้ใน 80 ประเทศทั่วโลก

     “หลายคนมองว่าแนวคิดของวิทยาลัยเท้าเปล่าก้าวหน้าเกินไป เพราะพวกเขาไม่เชื่อในตัวคน ในชนบท ในตัวคุณยายของพวกเขา ความคิดและทัศนคติที่ตีกรอบการศึกษาอย่างจำกัดคืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด เพราะการเปลี่ยนความคิดคือสิ่งที่ยากที่สุด ซึ่งผมมองว่าเราต้องเริ่มจากการสร้างตัวอย่างให้ทุกคนเห็น อย่างที่วิทยาลัยเท้าเปล่ากำลังทำอยู่”

     การศึกษาที่ส่งต่อจากมือถึงมือจะช่วยแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในโลกทุนนิยมได้

     “หากความเหลื่อมล้ำยังคงดำเนินต่อไป ความโกรธ ความเดือดดาล จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจะนำโลกไปสู่ความโกลาหล

 

Photo: www.barefootcollege.org

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X