พรุ่งนี้แล้ว (7 กุมภาพันธ์ 2019) ที่เราจะรู้ผลการประกวดงานแกะสลักหิมะ เมืองซัปโปโร ครั้งที่ 46 หลายทีมเตรียมงานเกือบเสร็จสิ้น ในขณะที่อีกหลายทีมยังคงเร่งมือให้ทันเส้นตายตามเวลาตัดสิน แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น THE STANDARD ขอพาคุณอุ่นเครื่องสอดส่องผลงานคู่แข่งว่า 9 ทีมที่เข้าแข่งขันของแต่ละชาติ เขาแกะลวดลายอะไร และมีคอนเซปต์อย่างไรบ้าง
1. ประเทศไทย
ชื่อผลงาน: Betta Brilliance – The Beauty and Strength of Thailand
ทีมแรกที่เราพาไปดู แน่นอนว่าต้องเป็นตัวแทนจากประเทศไทย ปีนี้นำเสนอผลงานชื่อ ‘Betta Brilliance’ หรือ ‘ปลากัดสง่างาม’ ปลากัด 3 ตัวว่ายเกี่ยววนกับฟองอากาศ แสดงถึงวิถีชีวิตอันแน่นแฟ้นระหว่างคนไทยและสายน้ำ นอกจากนี้ปลากัดยังเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ มีประวัติความเป็นมาเกือบ 200 ปี สามารถพบได้ง่ายตามท้องนา มีความสวย สง่างาม ทว่าอ่อนโยน
2. ประเทศจีน
ชื่อผลงาน: Perfect World
ทีมจีนแผ่นดินใหญ่ อีกหนึ่งทีมตัวเต็งที่น่ากลัว ปีนี้มาในคอนเซปต์ ‘Perfect World’ หรือ ‘โลกอันสมบูรณ์แบบ’ นำเสนอภาพหญิงสาวนั่งตัดกระดาษซึ่งมีความเป็นธรรมชาติอันสวยงาม แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของมนุษย์ที่อยากมีโลกที่เราสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสงบสุข
3. เมืองแทจอน ประเทศเกาหลีใต้
ชื่อผลงาน: bubble
ประเทศเกาหลีใต้ส่งประกวดในนามของเมืองแทจอน เมืองใหญ่ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ของประเทศ ผลงานของแทจอนมีชื่อว่า ‘Bubble’ หรือ ‘ฟองอากาศ’ พวกเขาบอกว่าฟองอากาศเหล่านี้เปรียบเสมือนความหวัง ความฝัน และความไร้เดียงสาของเด็กๆ ที่กำลังเติบโตผลิบานในอนาคต บับเบิลเหล่านี้ยังเป็นตัวแทนความสุขของคน และตัวแทนของครอบครัวอีกด้วย
4. ประเทศฟินแลนด์
ชื่อผลงาน: Metsänpeitto ‘Kamikakushi’
ผลงานแกะสลักหิมะแนวแอ็บสแตรกต์ ที่ตีความมาจากนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่น ‘Kamikakushi’ เรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งหายตัวไปขณะเล่นอยู่ใต้ต้นบ๊วยในสนามหญ้าหน้าบ้าน และกลับมาอีกทีหลัง 30 ปีให้หลัง ซึ่งเรื่องราวนี้ไปพ้องกับตำนานพื้นบ้านของฟินแลนด์ Metsänpeitto ที่มักมีคนหรือสัตว์หายในป่าอย่างไร้ร่องรอยโดยไม่ทราบสาเหตุ ทีมฟินแลนด์บอกว่าผู้หญิงในรูปแทนคนที่หายไปในอากัปกิริยาที่ล้มลงฝังตัวไปในต้นไม้ หายใจไม่ออก ดิ้นหลุดไม่ได้ คล้ายกับมีเทพเจ้าหรือขุนเขาบังตาอยู่
5. มลรัฐฮาวาย
ชื่อผลงาน: Riding High Into The Sun
มลรัฐฮาวายมาพร้อมผลงานชื่อ ‘Riding High into the sun’ แปลเป็นไทยว่า ‘ขี่ยอดคลื่นให้ถึงพระอาทิตย์’ ฮาวายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเกลียวคลื่น สายลม และแสงแดด พวกเขาอธิบายคอนเซปต์งานชิ้นนี้ว่า “เมื่อเราโต้คลื่นในวันที่แดดดี ลมสงบ เราจะไม่เห็นอันตรายที่เกิดขึ้นจากด้านล่างหรือด้านข้างเลย ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือพุ่งตรงไปข้างหน้า ใช้ชีวิตให้ถูกต้อง และชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร”
6. ประเทศอินโดนีเซีย
ชื่อผลงาน: Borobudur Temple
นอกจากวัดวาบนเกาะบาหลี ก็มีบุโรพุทโธนี่แหละ ที่นับเป็นจุดหมานแสวงบุญแห่งหนึ่งของเหล่าชาวพุทธ บุโรพุทโธ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 9 ต่อมาถูกทิ้งร้างเนื่องจากชาวชวาหันไปนับถือศาสนาอิสลาม ที่นี่ได้รับการบูรณะหลายต่อหลายครั้งโดยรัฐบาลอินโดนีเซีย ปัจจุบันวัดบุโรพุทโธถูกจัดให้เป็นมรดกในปี 2534 และที่งานนี้ ทีมอินโดนีเซียเนรมิตก้อนหิมะขนาด 3×3 เมตรให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของประเทศ
7. มาเก๊า
ชื่อผลงาน: Sharing Prosperity
หนึ่งผู้เข้าแข่งขันที่นำมังกรเอกลักษณ์ประจำชาติมาเป็นส่วนหนึ่งในทุกปี โดยปีนี้มังกรของมาเก๊ามาพร้อมกับเทพธิดาแห่งคุนลัม (Kun Lum) สัญลักษณ์ของความเมตตาและปรองดอง มังกรเป็นสัตว์นำโชคดั้งเดิมของจีน ตัวแทนของความกล้าหาญและพลังด้านบวก นอกจากความหมายดีงามของสองสัญลักษณ์ เมื่อนำมารวมกัน ทางมาเก๊าบอกว่าประติมากรรมหิมะชิ้นนี้แสดงถึงความกลมกลืนทางสังคมและความเจริญรุ่งเรืองของผู้คน
8. ประเทศโปแลนด์
ชื่อผลงาน: Let’s get to know each other
‘Let’s get to know each other’ ทีมโปแลนด์ชวนชาวญี่ปุ่นเรียนรู้อีกด้านของกันและกันผ่านประติมากรรมแกะสลักน้ำแข็ง ภาพคนสองกลุ่มซึ่งอยู่คนละฝากโลกพยายามเอื้อมจับกัน อิงถึงความร่วมมือระหว่างสังคมโปแลนด์และญี่ปุ่น ซึ่งแม้อยู่ห่างกันทั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม แต่เราต้องการใกล้ชิดกันมากขึ้น ทีมโปแลนด์บอกว่านอกจากความหมายดีๆ ผลงานชิ้นนี้ยังทำเพื่อระลึกถึงวันครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างโปแลนด์กับญี่ปุ่นด้วย
9. ประเทศสิงคโปร์
ชื่อผลงาน: Uniquely Yours
ประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน ที่นำผลงานมาเสนอในชื่อ ‘Uniquely Yours’ ชิ้นส่วนหิมะแกะสลักถอดลายจากนิ้วมือ โดยทีมสิงคโปร์บอกว่า ความเป็นสิงคโปร์ของพวกเขาก็เหมือนกับ DNA ไม่มีใครเหมือน แม้จะพยายามเลียนแบบแค่ไหนก็ตาม
นี่คือผลงานแกะสลักของทั้ง 9 ทีม ส่วนใครจะได้ที่ 1 นั้น รอลุ้นผลพรุ่งนี้ (7/2/2019) อย่าลืมส่งแรงใจเชียร์ทีมไทยเยอะๆ นะ
ภาพประกอบ: Weerapat L.
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์