เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจาก TOYOTA แบรนด์รถยนต์ชั้นนำของโลกที่มีกุญแจแห่งความสำเร็จมาจากเรื่อง ‘คน’ หรือลึกไปกว่านั้นคือ ‘นิสัยและวิธีคิด’ ไม่ใช่แค่สินค้า องค์กร หรือเทคโนโลยี
เคน นครินทร์ เล่าถึง 10 นิสัยการทำงานไม่ธรรมดาที่ทำให้ TOYOTA ขึ้นเป็นผู้นำ อ้างอิงจากหนังสือ นิสัยการทำงานที่ไม่ธรรมดาของโตโยต้า เขียนโดย วะกะมัตสึ โยะชิฮิโตะ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ WeLearn
1. หัวหน้าต้องสอนให้ลูกน้องเก่งกว่าตัวเอง
“ถ้าคุณอยากรู้ว่าหัวหน้าเก่งแค่ไหน ให้ดูจากความสามารถในการสอนลูกน้อง”
ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องจะหายไปเมื่อใครสักคนลาออก แต่ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์จะคงอยู่ตลอดไป ดังนั้นคนของโตโยต้าจึงเลือกตอบแทนผู้ชี้แนะตัวเอง ด้วยการสอนลูกน้องในทีมตัวเองต่ออีกทอด เพื่อให้พนักงานในองค์กรเก่งขึ้นอยู่เสมอ
2. จงกำจัดการเคลื่อนไหวที่สูญเปล่า
การเคลื่อนไหวที่สูญเปล่า หมายถึง งานที่ทำให้เสียเวลา เพิ่มต้นทุน ไม่ก่อให้เกิดมูลค่า โตโยต้าจึงให้ความสำคัญกับการกำจัดสิ่งนี้ โดยพยายามคิดหาวิธีเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. บริหารด้วยเทคนิคนินจา
เปลี่ยนจาก ‘สิ่งที่เป็นไปไม่ได้’ ให้ ‘เกิดขึ้นจริง’ ด้วยการคำนวณจากศักยภาพของคนทำงาน ที่สามารถพัฒนาเพิ่มขึ้นได้ตลอด มากกว่าคำนวณจากแค่ตัวเลข
4. อย่าดูตัวเลขค่าเฉลี่ย เพราะความเป็นจริงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ผู้บริหารโตโยต้าไม่ดูแค่ข้อมูลเชิงตัวเลขจากเอกสาร แต่เลือกไปสังเกตการณ์จริงตามหัวมุมท้องถนน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และพัฒนาให้องค์กรแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
5. เมื่อผิดพลาดให้ตรวจสอบ ‘เหตุ’ ไม่ใช่หา ‘คนทำผิด’
เมื่อเกิดข้อผิดพลาดในองค์กร หรือระหว่างขั้นตอนการทำงาน เรามักเสียเวลากับการหา ‘คนทำผิด’ ก่อนหา ‘สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา’ ฉะนั้นหาต้นตอให้เจอเสียก่อน แล้วค่อยเรียกคนรับผิดชอบมาแก้ไข จะทำให้ลูกน้องสำนึกผิดและกล้าบอกตรงๆ มากขึ้น
6. ปรับปรุงตอนอยู่จุดที่ดีสุด ไม่ใช่จุดที่แย่ที่สุด
โตโยต้าพยายามปรับปรุงสิ่งต่างๆ ในช่วงที่บริษัทกำลังขายรถยนต์ได้มากที่สุด เพราะเป็นจังหวะดีในการเตรียมรับมือล่วงหน้าในวันที่รถยนต์เริ่มขายได้น้อยลง อีกทั้งยังเป็นช่วงที่บริษัทมีเงินทุนพร้อมทางเลือกมากมาย หากปรับปรุงแล้วล้มเหลว บริษัทก็ยังไปต่อได้ ไม่กระทบมากนัก
7. จงแข่งกับที่หนึ่งในทุกวงการ
อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับบริษัทที่อยู่ในลำดับใกล้เคียงเท่านั้น แต่ให้ลองเปรียบเทียบกับบริษัทอันดับหนึ่ง โดยต้องเลิกคิดก่อนว่าเราไม่มีทางชนะได้ เพราะนอกจากจะทำให้กำลังใจถดถอยแล้ว บริษัทอื่นจะแซงหน้าเราไปเรื่อยๆ และเมื่อไรที่ทำดีจนขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งได้สำเร็จแล้ว ลองยกระดับขึ้นอีกขั้น ด้วยการไปเปรียบเทียบกับที่หนึ่งในวงการอื่น เพื่อพัฒนาต่อไปอย่างไร้ขีดจำกัด
8. หาสาเหตุของปัญหาด้วยการถามว่า ‘ทำไม’ 5 ครั้ง
ถามลงรายละเอียดไปเรื่อยๆ เพื่อหารากที่แท้จริงของปัญหา พร้อมค้นเจอต้นตอที่ควรแก้ไข
9. นำปัญหาไปวางในจุดที่ทุกคนมองเห็น
เมื่อเกิดข้อผิดพลาด อย่าปิดบังเอาไว้ แต่จงให้ทุกคนรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูล หรือเตรียมพร้อมรับมือหากเจอปัญหาแบบเดียวกัน
10. เลือกคนที่เก่งที่สุดออกจากทีม
อย่าคัดคนที่มีปัญหามากที่สุดในทีมไปอยู่ทีมอื่น เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้
อะไรดีขึ้นแล้ว พวกเขายังต้องเจอปัญหาแบบเดียวกัน สิ่งที่ควรทำคือการสอนคนเหล่านั้นให้ดีขึ้น เก่งขึ้น พัฒนาไปในทิศทางบวกมากขึ้น
อีกเรื่องที่ควรทำคือ ลองเลือกคนที่เก่งที่สุดออกจากทีม เพื่อไปช่วยพัฒนาทีมอื่นและไปตั้งทีมใหม่ เสริมให้องค์กรแข็งแกร่ง แถมยังเป็นการผลักดันคนในทีมเดิมให้พัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์