จากแผ่นเสียง เทป ซีดี ดาวน์โหลดเพลงบนอินเทอร์เน็ต สู่บริการสตรีมมิงมิวสิกที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สมัครบริการและจ่ายเงินแบบรายเดือนเพื่อฟังเพลงของศิลปินโปรดจากทั่วโลก ซึ่งบริการสตรีมมิงมิวสิกกลายเป็นส่วนแบ่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดในวงการเพลงของปี 2016 ไปแล้วจากผลสำรวจของ Recording Industry Association of America แม้ว่าจะมีข่าวการขาดทุนอย่างต่อเนื่องของ SoundCloud แต่ทางบริษัทก็ยังยืนหยัดที่จะเปิดให้บริการต่อไปตามกระแสของการฟังเพลงบนโลกออนไลน์ที่ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากบริษัทเก่าแก่ที่เปิดมา 10 ปีอย่าง SoundCloud แล้ว ก็ยังมีบริษัทหน้าใหม่มาช่วงชิงพื้นที่มากมาย อย่าง Tidal บริการสตรีมมิงมิวสิกของแรปเปอร์ชื่อดัง เจย์ ซี ที่เปิดให้บริการช่วงปลายปี 2014 พร้อมออกตัวว่าเป็นบริการสตรีมมิงมิวสิกที่คุณภาพเสียงดี และยังให้ส่วนแบ่งกับศิลปินมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะมียอดสตรีมมิง หรือยอดผู้ใช้บริการสูงขนาดไหน แต่รายได้ของในการหากินผ่านบริการมิวสิกสตรีมมิงก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ
แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเห็นต่าง ในปี 2014 ศิลปินเพลงป๊อปชื่อดังอย่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์ เคยขอให้ทาง Spotify นำเพลงของเธอออกจากเว็บไซต์ เนื่องจากแฟนๆ หันไปฟังเพลงผ่านบริการดังกล่าวจนทำให้ยอดขายอัลบั้มของเธอลดลง
ล่าสุดเว็บไซต์ Digital Music News มีการอัพเดตข้อมูลของปี 2017 ให้ผู้ใช้บริการทราบกันไปเลยว่า บริการสตรีมมิงมิวสิกแต่ละแห่งนั้นจ่ายศิลปินเท่าไรกันบ้าง โดยเปรียบเทียบบริการสตรีมมิงมิวสิกหลักๆ 8 แห่ง ได้แก่ Napster, Youtube, Pandora, Apple Music, Tidal, Google Play, Deeze, และ Spotify ซึ่งศึกษาข้อมูลในหัวข้อ รายได้ที่ศิลปินจะได้ ยอดผู้ใช้บริการ และข้อมูลอื่นๆ โดยข้อมูลรายได้ของศิลปินนั้นคิดจากรายได้ที่ศิลปินอิสระจะได้เท่านั้น เพราะศิลปินที่มีการเซ็นสัญญากับค่ายเพลงก็อาจจะมีส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาของแต่ละที่แตกต่างกันไป
จะเห็นว่า Youtube ที่มียอดผู้ใช้งานสูงสุดคือ 1,000 ล้านคน กลับมีส่วนแบ่งให้ศิลปินต่ำที่สุดอยู่ที่ 0.02 บาทต่อการเล่นเพลง 1 ครั้งเท่านั้น การที่ยอดผู้ใช้งานเยอะ และเป็นช่องทางที่น่าเชื่อถือ Youtube จึงมีสิทธิในการแบ่งส่วนแบ่งให้กับศิลปินไม่มากนัก ทั้งที่สามารถดึงทั้งคนฟังและศิลปินให้มาใช้บริการตนเองได้เป็นจำนวนมากได้ด้วย
สรุปแบบเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ถ้าศิลปินที่เราชอบอยากกินข้าวคะน้าหมูกรอบจานละ 50 บาท เราจะต้องเปิดเพลงของพวกเขาใน Youtube ถึง 2,500 ครั้ง
และถ้าศิลปินอยากซื้อเสื้อเชิ้ตตัวใหม่ราคา 1,250 บาท เราต้องเปิดเพลงพวกเขาใน Youtube ถึง 62,500 ครั้ง
ในบริการสตรีมมิงมิวสิกอื่นๆ ที่มีในประเทศไทยและมีผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่องอย่าง Apple Music มีรายงานจากปี 2016 ซึ่งระบุว่า Apple Music มีส่วนแบ่งรายได้ให้กับศิลปินในประเทศไทยเพียง 0.07 บาทไทยต่อการสตรีมมิงเพลง 1 ครั้ง นั่นหมายความว่า ถ้าศิลปินต้องการจะหารายได้ให้เท่ากับรายได้ขั้นต่ำของประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 9,300 บาทต่อเดือน เราจะต้องสตรีมเพลงของเขาในบริการ Apple Music กว่าแสนครั้ง (ประมาณ 132,858 ครั้ง) ถ้าหากเพลงหนึ่งเพลงมีความยาวมาตรฐานที่ 4 นาที ในหนึ่งวันเราจะสามารถเปิดเพลงของศิลปินวนไปได้เพียง 360 ครั้ง และถึงแม้จะเปิดติดต่อกัน 30 วัน ศิลปินก็ยังทำรายได้ไม่ถึงรายได้ขั้นต่ำเลยด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ยังมีข่าวจากเว็บไซต์ Business Insider เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาระบุว่า บริษัทรถยนต์ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอย่าง Tesla กำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบบริการสตรีมมิงมิวสิกของตนเอง ซึ่งผู้ก่อตั้งอย่างอีลอน มัสก์ ก็เป็นแฟนเพลงแนวฮิปฮอปอยู่แล้ว และเคยดีลกับ Spotify ในการติดตั้งบริการสตรีมมิงมิวสิกไว้บนรถของ Tesla รุ่น Model S และ Model X (เฉพาะที่ขายนอกทวีปอเมริกาเหนือเท่านั้น เพราะในทวีปอเมริกาเหนือจะใช้บริการสตรีมมิงมิวสิกของ Slacker แทน)
ในขณะที่ Spotify เองที่เพิ่งมีข่าวว่าจะมาเปิดให้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ รวมถึงประเทศใกล้เคียงอย่างเวียดนามและอินเดีย
แม้ว่าบริการสตรีมมิงมิวสิกจะให้ผลตอบแทนไม่สูงนักเมื่อเทียบกับการขายอัลบั้มจากศิลปินอิสระ หรือจากค่ายในช่วงก่อนหน้านี้ แต่บริการต่างๆ ก็พยายามสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อศิลปินและบุคคลในวงการเพลงอยู่เสมอ อย่างกรณีที่ Spotify จ้างผู้จัดการของเลดี้ กาก้า มาช่วยในการดีลกับศิลปินและสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2016
ศิลปินอิสระ หรือศิลปินที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักอาจทำเงินได้เพียงนิดเดียว หรืออาจจะไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แต่การแชร์ผลงานเพลงบนบริการสตรีมมิงมิวสิกก็เป็นโอกาสที่ดีในการประชาสัมพันธ์ผลงาน
วงดนตรีจากสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งมีคอนเสิร์ตในบ้านเราอย่าง ‘LANY’ กล่าวเอาไว้ในบทสัมภาษณ์สั้นๆ กับ THE STANDARD ว่า “พวกเขาให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียเหมือนกัน เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ป้อนคอนเทนต์ให้แฟนเพลงได้ง่ายขึ้น” ทำให้เราเห็นว่าการทำดนตรีในยุคออนไลน์แบบนี้ก็มีข้อดีในตัวของมันเอง ศิลปินรุ่นใหญ่ก็สามารถจะติดต่อกับแฟนเพลงได้สะดวกขึ้น สามารถรับฟีดแบ็กได้แบบเรียลไทม์ ในขณะที่ศิลปินหน้าใหม่ก็สร้างพื้นที่ให้ตัวเองเป็นที่รู้จักได้ง่ายขึ้นผ่านบริการต่างๆ ในโลกออนไลน์ ทำให้ศิลปินปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ของวงการดนตรีอย่างแท้จริง”
เพราะบางทีค่าตอบแทนที่มีค่ามากกว่าตัวเงินก็อาจหมายถึงกระแสตอบรับที่ดี คำชื่นชม และกำลังใจจากแฟนเพลงที่ส่งตรงไปขอบคุณศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านั้นออกมาก็เป็นได้