×

เป็นสัตว์มีสิทธิไหมคร้าบ / คะ

31.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • คำถามสำคัญก็คือ สัตว์คิดเป็น มีอารมณ์ความรู้สึก และมี ‘สำนึกรู้ตัว’ ว่าพวกมันมีชีวิตอยู่หรือเปล่า
  • วิธีทดลองหนึ่งเพื่อดูว่าสัตว์มีการรับรู้ถึงตัวตนของมันหรือเปล่า นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการทำเครื่องหมายสีแดงบนหน้าผากของสัตว์ที่ถูกเลือก แล้วให้มันนอนหลับอยู่ที่หน้ากระจก ถ้ามันตื่นขึ้นมาแล้วทำท่าสนใจเครื่องหมายที่อยู่ตรงหน้าผากก็แปลว่ามัน ‘ตระหนักรู้’ ถึงตัวตนของมัน
  • เราอาจคิดว่าสิงโตเป็นสัตว์ดุร้าย แต่จริงๆ แล้วพวกมันอยู่รวมกันเป็นฝูง และเมื่อมีสิงโตแก่ที่บาดเจ็บดูเหมือนใกล้ตาย สิงโตอื่นๆ ก็จะช่วยให้มันรอดอยู่ได้ ด้วยการช่วยให้มันได้มีอาหารกิน สิ่งนี้แสดงถึงความอาทรห่วงใยที่เพื่อนพ้องในฝูงมีให้แก่กัน ซึ่งก็เหมือนกับมนุษย์

 

1

     สิทธิของสัตว์ (Animal Rights) ไม่ใช่เรื่องถกเถียงทางสังคมหรือศีลธรรมเท่านั้นหรอกนะครับ

     แต่มันยังเป็นประเด็นถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ด้วย!

     คำถามสำคัญก็คือ สัตว์คิดเป็น มีอารมณ์ความรู้สึก และมี ‘สำนึกรู้ตัว’ ว่าพวกมันมีชีวิตอยู่หรือเปล่า

     มนุษย์มักจะคิดว่าสัตว์ก็คือสัตว์ สัตว์ไม่มีความคิดจิตใจ แต่นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งบอกว่า บางทีสัตว์อาจไม่ได้ ‘แตกต่าง’ จากมนุษย์มากขนาดนั้น

     มันอาจจะคิดเป็น มีความรู้สึก และสำนึกรู้ถึงการดำรงอยู่ของตัวเองก็ได้!

 

2

     ในตอนนี้ คำตอบที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจากศาลก็คือ ไม่!

     คุณอาจสงสัยว่ามีสัตว์ตัวไหนไปฟ้องศาล ขอให้ศาลตัดสินว่าพวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสติสัมปชัญญะเหมือนมนุษย์กระนั้นหรือ นี่เราอยู่ในนิยายเรื่อง The Animal Farm หรืออย่างไร

     ไม่หรอกครับ นี่ไม่ใช่นิยาย นี่คือเรื่องจริง แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้แปลว่าสัตว์จะลุกขึ้นมาฟ้องศาลเรียกร้องสถานะ ‘สภาพบุคคล’ ด้วยตัวของมันเองหรอกนะครับ อันนั้นก็เหลือเชื่อไปหน่อย

     เรื่องของเรื่องก็คือ นักกฎหมายอย่างสตีเฟน ไวส์ (Stephen Wise) ผู้ก่อตั้งและประธานโครงการที่เรียกว่า ‘สิทธิของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่คน’ หรือ Nonhuman Rights Project ได้พยายามต่อสู้เรื่องนี้มาเป็นเวลานาน เขานำเรื่องขึ้นฟ้องศาลตั้งแต่ปี 2013 ทำให้เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เมื่อเขานำเรื่องขึ้นฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับลิงชิมแปนซีตัวหนึ่งชื่อว่าทอมมี่ ซึ่งถูกขังอยู่ที่สวนสัตว์มิชิแกน เป็นการเรียกร้องให้มันมี ‘สภาพบุคคล’ (คือเป็น person นะครับ ยังไม่ถึงขั้นเป็น ‘ประชาชน’ หรือ people เหมือนมนุษย์อื่นๆ ทั่วไป)

     แม้ว่าศาลจะตัดสินในปี 2014 ปฏิเสธสภาพบุคคลของทอมมี่ แต่ไวส์ก็ไม่ย่อท้อ เขายังยื่นเรื่องในนามของชิมแปนซีตัวอื่นอีกหลายตัว เช่น เฮอร์คิวลิส กับลีโอ ที่ถูกขังเพื่อการศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสโตนี บรูก และแม้ว่าเขาจะแพ้คดีในศาล แต่ก็ถือได้ว่าชนะในการสร้างแรงกดดัน เพราะทำให้ทางศูนย์วิจัยยอมปล่อยให้เฮอร์คิวลิสและลีโอไปอยู่ในเขตสงวนคุ้มครองสัตว์ป่าในฟลอริดา คือมีชีวิตในฐานะที่มี ‘ชีวิต’ จริงๆ

     หลายคนอาจคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่อง ‘ใหม่’ แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ใหม่เลยนะครับ เพราะแนวคิดที่ว่าสัตว์มีสภาพบุคคลและต้องมี ‘ความรับผิดชอบ’ นั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคกลางแล้ว ในสมัยโน้นคนสามารถฟ้องร้องทางกฎหมายต่อสัตว์ได้ แต่ไม่ได้ฟ้องเพื่อเรียกร้องปกป้องมันนะครับ คนสมัยก่อนฟ้องเพื่อให้สัตว์ต้อง ‘รับผิดชอบ’ ต่ออาชญากรรมบางอย่างที่พวกมันทำ เช่น ฟ้องตั๊กแตนว่ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร หรือฟ้องหมูที่เป็นฆาตกร ทำให้ต้องแขวนคอหมู

     แนวคิดแบบนี้ก็พบได้ทั่วไปในเมืองไทยและทั่วโลกด้วยนะครับ เช่น ถ้าเสือหรือช้างออกมาทำร้ายหรือกระทืบคน เสือหรือช้างพวกนั้นก็ต้องถูก ‘วิสามัญฆาตกรรม’ ไปได้โดยปริยาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ได้ยัดเยียด ‘ความรับผิดชอบ’ บางอย่างให้กับสัตว์ ราวกับว่ามันมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าสัตว์ไม่ควรต้องรับผิดชอบต่ออะไรทั้งนั้น เพราะสัตว์ไม่ได้รู้ดีรู้ชั่วเหมือนที่มนุษย์รู้

     คำถามก็คือ สัตว์เป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า?

 

3

     จริงๆ แล้วมีการทดลองและค้นคว้าวิจัยเรื่องสัตว์หลายอย่างนะครับที่ทำให้เห็นว่า ‘เส้นแบ่ง’ ระหว่างความเป็นสัตว์ (ของสัตว์บางชนิด) กับมนุษย์นั้นเลือนรางเต็มที บางทีสัตว์มันอาจรู้สึกแบบเดียวกับมนุษย์ก็ได้ เช่น สัตว์อาจรับรู้เวลา มีอารมณ์ความรู้สึก รู้สึกได้ถึงความเป็นตัวของตัวเอง และถึงขั้นมีศีลธรรมบางอย่างด้วยซ้ำไป

     ซานติโน เป็นชิมแปนซีตัวหนึ่งในสวนสัตว์ฟูรูวิกที่สวีเดน มันเป็นชิมแปนซีที่แสดงออกให้เห็นถึง ‘ความโกรธ’ อย่างชัดเจนมาก สิ่งที่มันทำก็คือ มันจะวางแผนเก็บก้อนหินเอาไว้กับตัวเป็นจำนวนนับร้อยๆ ก้อน แล้วมันก็จะเอาก้อนหินนี้ขว้างใส่คนที่มาดูมันอย่างโกรธเกรี้ยว

     พฤติกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าซานติโนมี ‘การวางแผน’ ล่วงหน้า นั่นคือมันมีพฤติกรรมการเรียนรู้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลุนด์ ต้องมาศึกษาปรากฏการณ์นี้ และพบว่าเป็นไปได้ที่มันจะชิงชังรังเกียจการตกเป็นเป้าสายตาหรือเป็น ‘วัตถุ’ ให้คนมาดู มันจึงวางแผนแก้แค้นด้วยการขว้างก้อนหินใส่คนที่มาดูอย่างโกรธเกรี้ยว มันจะควบคุมตัวเองให้อยู่ในความสงบก่อน แล้วเวลาขว้างก็จะขว้างออกไปฉันพลันทันทีไม่ให้คนรู้ตัว แถมยังรู้เวลาที่สวนสัตว์เปิดด้วย นั่นแปลว่ามันวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า และควบคุมตัวเองให้แสดงออกตามแผนการณ์ได้ มันจึงมี ‘ความจำ’ ในแบบที่เป็นไปตามเหตุการณ์ แปลว่าความคิดแบบนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่ซานติโนก็มีความคิดและการวางแผนแบบนี้ด้วยเหมือนกัน

     ที่น่าสงสารมากก็คือ เพื่อลดระดับความก้าวร้าวรุนแรงของซานติโน สิ่งที่มันถูกกระทำก็คือการ ‘จับตอน’ เพื่อลดพฤติกรรมก้าวร้าว

     ในปี 2012 นักประสาทวิทยากลุ่มหนึ่งได้จัดการประชุมที่เรียกว่า Consciousness in Human and non-Human Animals ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แล้วร่วมกันลงนามออกมาเป็นคำประกาศอันหนึ่ง เรียกว่า The Cambridge Declaration on Consciousness ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า สัตว์ต่างๆ มี ‘ความสำนึกรู้’ ลึกลงไปถึงระบบประสาทของตัวเอง แม้กระทั่งแมลงวัน เวลาที่มันบินหนีการตบของคน มันก็ไม่ได้บินหนีด้วยสัญชาตญาณเท่านั้น แต่มันบินหนีด้วย ‘ความกลัว’ ด้วย ดังนั้น ยิ่งหากเป็นสัตว์ที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลายที่มีระบบประสาทซับซ้อนกว่า ก็จะรับรู้ถึง ‘ตัวตน’ รับรู้ถึง ‘การดำรงอยู่’ และพวกมันอาจถึงขั้นมีเจตจำนงเสรีได้ในระดับหนึ่งด้วยซ้ำ เพราะการรับรู้ตัวตนนั้นบ่งชี้ให้เห็นว่าสัตว์พวกนี้มีความสามารถในการส่งต่อ ‘ความคิด’ ให้กับสัตว์อื่นๆ ได้

     คำประกาศเคมบริดจ์ไม่ได้ไปไกลถึงขั้นบอกว่าสัตว์ควรจะมี ‘สภาพบุคคล’ หรอกนะครับ แต่กระนั้นนัยที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ก็ให้ความหมายไม่แตกต่างกัน

     วิธีทดลองหนึ่งเพื่อดูว่าสัตว์มีการรับรู้ถึงตัวตนของมันหรือเปล่า นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการทำเครื่องหมายสีแดงบนหน้าผากของสัตว์ที่ถูกเลือก แล้วให้มันนอนหลับอยู่ที่หน้ากระจก ถ้ามันตื่นขึ้นมาแล้วทำท่าสนใจเครื่องหมายที่อยู่ตรงหน้าผาก ก็แปลว่ามัน ‘ตระหนักรู้’ ถึงตัวตนของมัน เขาบอกว่ามีสัตว์หลายสปีชีส์เลยทีเดียวที่ผ่านการทดสอบนี้ ตั้งแต่ลิง นกแม็กพาย ช้าง วาฬเพชฌฆาต และโลมา

     ยังไม่พอ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อีกหลายชนิดยังแสดง ‘อารมณ์’ ออกมาเหมือนกับมนุษย์อีกด้วย โดยเฉพาะสัตว์ประเภทไพรเมตขนาดใหญ่ รวมไปถึงสัตว์อย่างโลมาและช้าง โดยเฉพาะช้างนั้น แม้เวลาผ่านไปหลายปี แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าเวลามันกลับมาเยี่ยม ‘หลุมศพ’ ของเพื่อนที่ตายไป มันจะยังเอาใบไม้และหญ้ามาปิดคลุมพื้นที่นั้น เสมือนหนึ่งว่ามันยังโศกเศร้า คล้ายกับเป็นการรำลึก เหมือนมนุษย์เอาดอกไม้ไปวางที่หลุมฝังศพของเพื่อน

     สิงโตก็คล้ายกัน เราอาจคิดว่าสิงโตเป็นสัตว์ดุร้าย แต่จริงๆ แล้วพวกมันอยู่รวมกันเป็นฝูง และเมื่อมีสิงโตแก่ที่บาดเจ็บ ดูเหมือนใกล้ตาย สิงโตอื่นๆ ก็จะช่วยให้มันรอดอยู่ได้ด้วยการช่วยให้มันได้มีอาหารกิน สิ่งนี้แสดงถึงความอาทรห่วงใยที่เพื่อนพ้องในฝูงมีให้แก่กัน ซึ่งก็เหมือนกับมนุษย์

 

4

     อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากสตีเฟน ไวส์ ยื่นร้องขอให้ทอมมี่ และคิโค ชิมแปนซีสองตัวที่ถูกขังอยู่ในสวนสัตว์ได้มี ‘สภาพบุคคล’ ก็ปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาอย่างเป็นเอกฉันท์ 5-0 เพื่อให้ปฏิเสธคำร้องว่าด้วยสถานภาพที่เรียกว่า Habeas Corpus ของสัตว์

     Habeas Corpus เป็นศัพท์เทคนิคทางกฎหมาย เป็นภาษาละติน หมายถึง ‘คุณมีร่างกาย’ และการมีร่างกายนี้แปลว่าจะถูกใครมากักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ได้

     คำถามก็คือ สัตว์แต่ละตัวนั้นถือว่าเป็น ‘ร่างกาย’ ของมัน หรือถือว่าเป็น ‘วัตถุ’ ที่คนอื่นสามารถเป็นเจ้าของได้

     ในสายตาของกฎหมายหลายประเทศ สัตว์อย่างชิมแปนซีทอมมี่และอื่นๆ เป็นได้แค่ ‘วัตถุ’ ดังนั้นมันจึงตกเป็นของของคนอื่นได้ และถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวเก็บรั้งไว้ในที่ใดที่หนึ่งได้ ถ้าสัตว์มีสถานะ Habeas Corpus ก็แปลว่ามันเป็น ‘ใครบางคน’ ไม่ใช่ ‘ของบางอย่าง’ ซึ่งแปลว่ามันควรจะมีสิทธิในชีวิตของมันด้วย โดยสิทธิที่ว่านี้ไม่ใช่สิทธิแบบเดียวกับมนุษย์ (เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง ฯลฯ) แต่เป็นสิทธิพื้นฐาน เช่น จะเอาสัตว์ที่แลดูมีสติรับรู้เหล่านี้มาเป็น ‘สัตว์ทดลอง’ ไม่ได้ ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนอยู่มากว่าเราจะแยกแยะอย่างไรว่าสัตว์ชนิดไหน สปีชีส์ไหน หรือ ‘ตัว’ ไหนที่ควรมีสถานะแบบบุคคล

     บางคนบอกว่าแทนที่จะทำให้สัตว์มีสิทธิไปเลย มนุษย์ควรดูแลสัตว์ให้ดีไม่ดีกว่าหรือ เพราะสัตว์ก็คงไม่เข้าใจหรอกว่ามันได้รับสิทธิอะไรบ้าง และถึงอย่างไร มนุษย์ก็ยังต้องควบคุมสัตว์อยู่ดี และที่แน่ๆ ก็คือ นักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งก็เห็นว่าการทดลองหลายอย่างต้องทำกับสัตว์ก่อน ถ้าเราทดลองในสัตว์ทดลองไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไรกับมนุษย์

     นอกจากนี้ยังมีคำถามลุกลามไปถึงมนุษย์ที่สูญเสียความรับรู้บางอย่างไปด้วย ว่า แล้วพวกเขายังมีสถานะบุคคลที่เหมือนมนุษย์คนอื่นๆ หรือว่าอาจจะด้อยกว่าสัตว์ที่ฉลาดๆ หรือเปล่า

     เหล่านี้คือเรื่องท้าทายมาก ยิ่งงานวิจัยทางประสาทวิทยาก้าวหน้าไปเท่าไร ยิ่งเรา ‘รู้จัก’ กับสัตว์ต่างๆ ลึกลงไปเท่าไร ก็จะยิ่งบอกได้ยากว่าเส้นแบ่งระหว่างสัตว์กับมนุษย์อยู่ตรงไหนกันแน่

     ดังนั้นเรื่องสิทธิของสัตว์จึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่กินแดนกว้างไกลทั้งมิติวิทยาศาสตร์และศีลธรรม และจะเป็นเรื่องที่เราต้องถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในอนาคตอันใกล้นี้

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X