ด้วยความที่ผมและภรรยาไม่มีลูก หลายๆ ครั้งที่เราสองคนเจอกับคนแปลกหน้าหรือญาติพี่น้องที่ไม่ค่อยได้เจอกันบ่อย เราก็มักจะเจอกับคำถามยอดฮิตที่คนเราชอบถามคู่สามีภรรยาที่ไม่มีลูกกันนั่นก็คือ
“แล้วเมื่อไรจะมีลูก” หรือ “แล้วไม่คิดจะมีลูกกับเขาบ้างเหรอ”
และไม่ว่าเราจะให้คำตอบอะไรไปก็ตาม (“มีลูกหมาแทนก็พอครับ” / “ไม่อยากมีลูกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคตครับ” / “คือเราสองคนตกลงกันว่าจะไม่มีครับ”) คำตอบที่เราสองคนให้ไปนั้นก็ฟังดูไม่ดีพอ เพราะว่าคำพูดที่เรามักจะได้กลับคืนมาก็คือ “ถ้าไม่มีลูกแล้วแก่ตัวไปใครจะมาดูแล”
และถึงแม้ว่าผมและภรรยาจะคิดในใจ “การตัดสินใจของเรานี่มันทำให้คนอื่นต้องมาเดือดร้อนแทนเราถึงขนาดนี้เลยเหรอนี่”
แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ คำถามที่ว่า “ถ้าไม่มีลูกแล้วแก่ตัวไปใครจะมาดูแล” นั่นเป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะว่ามันเป็นคำถามที่เกี่ยวโยงกันกับอนาคตของผมและภรรยาโดยตรง
แต่แทนที่ผมจะหาคำตอบด้วยการมีลูกเป็นของตัวเองเพื่อที่เขาจะได้ดูแลเราสองคนในอนาคต ผมได้ตั้งคำถามใหม่ขึ้นมาว่า
“แล้วสำหรับคนที่ไม่มีลูกล่ะ พวกเขาอยากมีชีวิตอยู่ในสังคมแบบไหนมากที่สุดในอนาคต”
บ้านพักคนชราสำหรับเด็กอายุ 4 ขวบ
ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจจะแปลกใจถ้าผมจะบอกว่า The Biggest Killer ของคนแก่ในประเทศทางฝั่งตะวันตกนั้นไม่ใช่โรคที่มาจากความชรา แต่กลับเป็นความเหงา (Loneliness) และความเดียวดาย (Social Isolation) ต่างหาก
โรคความเหงาระบาด หรือที่รัฐบาลอังกฤษเรียกกันว่า The Loneliness Epidemic เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ใหญ่มาก ใหญ่จนทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องก่อตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความเหงา (Minister of Loneliness) ขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันรัฐมนตรีคนนี้ก็คือ เทรซีย์ เคราช์ (Tracey Crouch)
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความเหงาก็ได้คิดค้นนโยบายต่างๆ นานาขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ต่อสู้กับโรคความเหงาระบาดนี้ โดยหนึ่งในนโยบายที่คนกำลังพูดถึงมากที่สุดในประเทศอังกฤษตอนนี้ (แต่เป็นนโยบายที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้อย่างเป็นทางการ) ก็คือการนำเอาบ้านพักคนชรามารวมกันกับโรงเรียนอนุบาล
รัฐบาลอังกฤษได้ไอเดียนี้มาจากผลการทดลองทางสังคม (Social Experiment) ที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1976 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวัยชรา (Gerontology) พบว่า การนำผู้สูงวัยมาสร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆ ที่มีอายุประมาณ 4 ขวบ สามารถช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้กับคนชราได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ซึ่งการสร้างปฏิสัมพันธ์นี้รวมไปถึงการให้ผู้สูงอายุรับหน้าที่เป็นครูผู้ช่วยสอนนักเรียนอนุบาล โดยให้ผู้สูงอายุสอนเด็กวาดรูปบ้าง ระบายสีบ้าง ร้องเพลงบ้าง และการพาคนทั้งสองกลุ่มไปทัศนศึกษาข้างนอกห้องเรียนบ้าง เป็นต้น
ยกตัวอย่างการทดลองของรายการทีวี Channel 4 ของประเทศอังกฤษที่มีชื่อว่า ‘Old People’s Home for 4 Years Old’ นักวิจัยในรายการนี้พบว่า การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ กับเด็กนักเรียนอนุบาลสามารถช่วยลดปัญหาจิตตกของผู้สูงอายุได้ แถมยังช่วยพัฒนาสุขภาพกายในด้านต่างๆ และความสามารถในการจำให้กับพวกเขาอีกด้วย
https://www.youtube.com/watch?v=X0-UN0ahOd4&fbclid=IwAR1WxXy8XVWrPf274klCevsxYQpjwq3vuIL1FG3GPZEGNjXXNE3Oixn5xLc
แล้วเด็กๆ ล่ะ การรวมบ้านพักคนชราและโรงเรียนอนุบาลช่วยอะไรเด็กได้บ้าง
จากการทดลองของ Channel 4 พบว่า ไม่ใช่แค่คนชราเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์จากการทดลองนี้ ตัวเด็กเองก็ได้รับผลประโยชน์ที่มาจากการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีอายุมากกว่าพวกเขาเกือบ 80-90 ปีด้วย
อย่างเช่นการที่เด็กได้มีโอกาสสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองจากการได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนต่างวัย และการได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนชราถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา ซึ่งก็รวมไปถึงการเกิด แก่ เจ็บ ตายของมนุษย์ เป็นต้น
และสำหรับคนแก่ที่มีลูกหลานคอยดูแล ถ้าพวกเขาไม่ได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่ช่วยให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างต่างวัย พวกเขาก็อาจจะไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีไปกว่าคนแก่ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราที่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมกับเด็กอนุบาลเหล่านี้เลยก็ได้
นี่แหละครับ อนาคตที่ผมอยากจะได้ ถ้าผมมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่จนถึงตอนนั้น มีบ้านพักคนชราและ/หรือโรงเรียนอนุบาลในประเทศไทยสนใจเอาไปทำบ้างไหมครับ ผมจะได้ไปต่อคิวเป็นลูกค้าของคุณในอนาคต
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า