รัฐสภาสหรัฐมีมติเห็นชอบการออกร่างกฎหมาย เพื่อคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่แล้ว ภายหลังจากที่รัสเซียถูกกล่าวหาว่า มีส่วนพัวพันและเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งล่าสุด แม้ผู้นำทั้ง 2 ประเทศจะออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ และประชาคมโลกต่างเคยดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียมาแล้ว เมื่อตอนที่รัสเซียผนวกรวมเอาดินแดนแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนในปี 2014 จนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รัสเซียต้องถูกอัปเปหิออกจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก อย่างกลุ่ม G8
อีกทั้ง เมื่อปลายเดือนธันวาคม ปี 2016 ภายหลังจากที่รัสเซียได้ถูกกล่าวหาว่า มีความพยายามที่จะล้วงข้อมูลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ก่อนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์จะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2017 นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีในขณะนั้น จึงได้ดำเนินมาตรการลงโทษรัสเซีย ด้วยการยึดทรัพย์สินทางการทูตของรัสเซียในนิวยอร์กและแมรีเเลนด์ รวมถึงได้ประกาศขับเจ้าหน้าที่ทางการทูตของรัสเซียทั้งหมด 35 คนออกจากสหรัฐ (Persona non grata)
ร่างกฎหมายคว่ำบาตรศัตรูทางการเมืองสหรัฐฯ รอบใหม่
นับตั้งแต่ที่มีการกล่าวหาว่า รัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปลายปีที่แล้ว รวมถึงอาจมีความเป็นไปได้ว่า ทีมหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่รัสเซียเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านลบของนางฮิลลารี คู่ต่อสู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนสำคัญจริง ซึ่งข้อกล่าวหาเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นชนักติดหลังของประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันชนิดที่ยากจะสลัดให้หลุดออกได้ง่ายๆ
แต่อย่างไรก็ตาม จาเร็ด คุชเนอร์ (Jared Kushner) ลูกเขยและหนึ่งในสมาชิกทีมหาเสียงของทรัมป์ ได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาว่า ตนและทีมงานของทรัมป์คนอื่นๆ ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดและมีส่วนพัวพันกับการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐแต่อย่างใด พร้อมกันนี้จาเร็ดยังได้ยื่นหลักฐานที่จำเป็นต่อคณะกรรมการด้านข่าวกรองของวุฒิสภาเมื่อวานนี้ (24 กรกฎาคม) อย่างสมัครใจ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า ทุกการกระทำของตนในช่วงแคมเปญหาเสียงช่วยพ่อตาเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม
โดยก่อนหน้านี้ นายทรัมป์มีท่าทีผ่อนปรนต่อรัสเซียในหลายๆ เรื่อง และพร้อมที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจอีกครั้ง แม้อาจจะต้องใช้เวลานานสักระยะหนึ่งก็ตาม
ร่างกฎหมายคว่ำบาตรฉบับใหม่นี้ผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐเรียบร้อยแล้ว โดยสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ในวันนี้ (25 กรกฎาคม) หากทั้งสองสภาเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลทำให้มันถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐลงนามรับรองอีกครั้ง
การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึง ความมุ่งมั่นของรัฐสภาสหรัฐในการเดินหน้า ยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย โดยอาจจะสวนทางกับเจตนารมณ์ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ที่พยายามจะผ่อนปรนและลดความขัดแย้งระหว่างสองประเทศลง
แต่อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีสหรัฐมีสิทธิในการคัดค้านร่างกฎหมายนี้ได้ แต่หากนายโดนัลด์ ทรัมป์เลือกที่จะคัดค้าน (Veto) มติเห็นชอบของรัฐสภาต่อร่างกฎหมายนี้ ก็อาจจะยิ่งทำให้รัฐสภา รวมถึงสาธารณชนระแวงสงสัยในเจตนารมณ์ของนายทรัมป์มากยิ่งขึ้น ว่าอาจมีการสมรู้ร่วมคิดหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับทางรัสเซียจากการกระทำดังกล่าวหรือไม่
หากประธานาธิบดีสหรัฐลงนามคัดค้านมติเห็นชอบนี้จริง รัฐสภาสหรัฐจะมีระยะเวลา 30 วันในการประชุมหารือต่อว่าจะสนับสนุนหรือยกเลิกการคัดค้านดังกล่าว
เมื่อกฎหมายคว่ำบาตรฉบับนี้ประกาศใช้
แน่นอนว่า เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกประกาศและมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย จะส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียมีความรัดกุมและมีข้อจำกัดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เป็นการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรและลงโทษรัสเซีย หลังจากผนวกแหลมไครเมีย ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของยูเครนเป็นของตนในปี 2014
โดยสาระสำคัญของกฎหมายนี้จะมุ่งเน้นไปที่การจำกัดขอบเขตอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐ โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์จะสั่งยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร หรือคืนทรัพย์สินใดๆ ของรัสเซียที่สหรัฐฯ ได้ทำการยึดครองไว้ไม่ได้ หากไม่ได้รับมติเห็นชอบจากรัฐสภาสหรัฐก่อน
นอกจากนี้กฎหมายคว่ำบาตรนี้ยังขยายขอบเขตครอบคลุมประเทศที่ถือว่าเป็น คู่เเข่งหรือศัตรูทางการเมืองของสหรัฐฯ นอกจากรัสเซีย นั่นคือ อิหร่านและเกาหลีเหนือ (2 ใน 3 ประเทศที่ได้รับฉายาจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ว่าเป็น ‘แกนแห่งความชั่วร้าย: Axis of Evil’) อีกด้วย หลังจากที่ทั้งสองประเทศเดินหน้าพัฒนาและทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจะสั่นคลอนต่อสถานะการเป็นมหาอำนาจโลกและกระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ต้องมาคอยจับตาดูกันว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเลือกตัดสินใจเดินหมากเกมนี้อย่างไรเมื่อเดินมาถึงทางแยกที่สำคัญ ถ้าหากตัวเขาเลือกสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะสูญเสียโอกาสในการยุติความขัดแย้งครั้งสำคัญกับรัสเซีย หลังจากที่สถานการณ์ระหว่างสองประเทศตึงเครียดมาตลอดในสมัยรัฐบาลก่อนหน้า
ในขณะที่หากนายทรัมป์ลงนามคัดค้านร่างกฎหมายนี้และเลือกที่จะแสดงท่าทีผ่อนปรนต่อรัสเซีย ก็อาจจะส่งผลต่อแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อตัวเขาและสั่นคลอนเก้าอี้ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของเขาในอนาคตอันใกล้เช่นเดียวกัน หลังจากที่ระดับความนิยมในตัวเขาลดลงเหลือเพียง 36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ภายหลังบริหารประเทศครบระยะเวลา 6 เดือน
Cover Photo: SAUL LOEB/AFP
อ้างอิง:
- www.cnbc.com/2017/07/23/trump-open-to-signing-russia-sanctions-legislation-official-says.html
- www.nytimes.com/2017/07/23/world/europe/trump-putin-sanctions-hacking.html?smprod=nytcore-iphone&smid=nytcore-iphone-share
- www.telegraph.co.uk/news/2017/07/23/us-congress-agrees-agrees-new-russia-sanctions
- www.bbc.com/news/world-us-canada-40711436
- www.aljazeera.com/news/2017/07/trump-son-law-kushner-denies-russia-collusion-170724111702665.html