1
10 ตุลาคม 1465 ไม่ใช่วันธรรมดาเหมือนวันทั่วไป เพราะวันนี้คือวันอภิเษกสมรสของกษัตริย์แห่งนาโปลี อย่างพระเจ้าอัลฟองโซที่สอง (Alfonso)
พระองค์กำลังจะสมรสกับหญิงสูงศักดิ์จากมิลานอย่าง มาเรีย สฟอร์ซา (Maria Sforza) โดยมีการจัดพิธีอย่างหรูหราสง่างาม
ขณะที่พิธีดำเนินไป ว่าที่ราชินีแห่งเนเปิลส์ (Naples) ได้เดินเข้ามาในงาน ความงามของชุดและท่วงทีการเดินนั้นหาใดเปรียบ ฝูงชนต่างอ้าปากค้างตะลึงงัน แต่พวกเขาไม่ได้ตะลึงไปกับพระสิริโฉมของว่าที่ราชินีหรอกนะครับ สิ่งที่พวกเขาตะลึงงันก็คือ ณ ขณะเวลานั้นซึ่งเป็นตอนเที่ยงวันพอดี จู่ๆ พระอาทิตย์ก็กลายเป็นสีน้ำเงิน
เกิดปรากฏการณ์ประหลาดขึ้นในชั้นบรรยากาศ ไม่ใช่แค่ที่นาโปลี ทว่าทั่วทั้งยุโรป เมื่อความมืดหม่นคลี่เข้าปกคลุมทั้งเมือง ทั้งดินแดน และทั้งทวีป ผู้คนร่ำลือกันว่า นี่อาจเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง ทว่าไม่ใช่ เพราะสุริยุปราคาเกิดขึ้นไม่นานก็หายไป ทว่าสิ่งที่เกิดนั้นคล้ายมีฝุ่นละเอียดยิบคล้ายหมอกปกคลุมอยู่ในชั้นบรรยากาศต่างหาก
ตอนนั้นเป็นปลายฤดูใบไม้ร่วง อากาศชื้นแฉะ หมอกฝุ่นที่ว่าจึงจับตัวกับความชื้นในบรรยากาศ กลายเป็นหมอกหนาหนัก ล่องลอยไปทั่วเหมือนหนังสยองขวัญ
แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะอีกหลายเดือนต่อมา อากาศของยุโรปก็ผิดเพี้ยนไปจากที่เคยเป็น หลายประเทศในยุโรปไม่เหมือนเดิมเลย อาทิ มีฝนตกหนักผิดปกติในบางประเทศ อย่างเช่นในเยอรมนี ฝนหนักชะสุสานจนหลุมศพเปิดเปลือยศพออกมาให้เห็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ บางที่ก็เกิดน้ำท่วมหนักในระดับที่หมู่บ้านบางแห่งมีบ้านถูกน้ำพัดหายไป บันทึกแบบนี้พบได้ในหลายที่ มันคือปรากฏการณ์ในระดับทวีป
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ สี่ปีถัดจากนั้น แทบจะเรียกได้ว่าเกิดปรากฏการณ์ Winter is Coming เพราะเหมือนมี ‘ยุคน้ำแข็ง’ ขนาดจิ๋ว เกิดขึ้นทั่วยุโรป ความวิปริตของสภาพอากาศทำให้พืชผลไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ผู้คนเริ่มขาดแคลนอาหาร ฝนหนักและหิมะหนักทำให้การเดินทางโดยใช้ม้าเป็นไปได้อย่างยากลำบาก
คำถามก็คือ – มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?
2
ในปี 1815 ภูเขาไฟชื่อ ‘แทมโบรา’ (Tambora) ที่อยู่ที่อินโดนีเซียเกิดปะทุครั้งใหญ่ มีค่า VEI (Volcanic Eruption Index) ถึงระดับ 7 การระเบิดครั้งนั้นพ่นเถ้าถ่านออกมามากถึง 160 ลูกบาศก์กิโลเมตร ผลลัพธ์จากการระเบิดของแทมโบราก็คือ ในระยะสั้น เกิดความหนาวเย็นฉับพลันทันทีในแบบที่เรียกว่า ‘ฤดูหนาวภูเขาไฟ’ (คล้ายๆ กับนิวเคลียร์วินเทอร์) เพราะเถ้าภูเขาไฟขึ้นไปปกคลุมชั้นบรรยากาศ กั้นแสงแดดเอาไว้นานหลายปี และแม้จะเป็นภูเขาไฟที่ระเบิดในอีกซีกโลกหนึ่ง แต่ก็ส่งผลสะเทือนครั้งใหญ่ไปถึงยุโรป ในปี 1816 ซึ่งเป็นปีรุ่งขึ้น ผู้คนบันทึกเอาไว้ว่าเป็นปีที่ยุโรป ‘ไม่มีฤดูร้อน’ เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยลดลงราว 0.53 องศาเซลเซียส ส่งผลให้คนตายทั่วโลกราว 90,000 คน ปศุสัตว์ต่างๆ ก็ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ที่น่าทึ่งก็คือ เมื่อไม่มีม้าเอาไว้เดินทาง ก็เกิดการค้นคิดจักรยานขึ้นเป็นครั้งแรกที่เยอรมนี จึงพูดได้ว่า ภูเขาไฟระเบิดที่อินโดนีเซีย ทำให้จักรยานถือกำเนิดขึ้น
แทมโบราเป็นการระเบิดของภูเขาไฟที่นับจนถึงบัดนี้ ก็ยังถือว่าเป็นการระเบิดที่ ‘รุนแรง’ ที่สุด ในประวัติศาสตร์เท่าที่มีการบันทึกไว้ในรอบ 5,000 ปี
แล้วทั้งหมดนี้เกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์ในวันที่ 10 ตุลาคม 1465 เล่า?
เกี่ยวสิครับ เพราะเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่เหตุการณ์ในปี 1465 อาจเกิดจากภูเขาไฟระเบิดที่ ‘ใหญ่’ กว่าแทมโบราก็ได้!
3
นักวิทยาศาสตร์คาดว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ปรากฏการณ์ในยุโรปปี 1465 รวมทั้งสิ่งที่ผู้คนสังเกตเห็นในงานอภิเษกสมรสของกษัตริย์อัลฟองโซ อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบเดียวกับแทมโบรา
นั่นคือภูเขาไฟได้ระเบิดขึ้น!
ลักษณะของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกับเมื่อแทมโบราระเบิดในอีกหลายร้อยปีให้หลัง นักวิทยาศาสตร์จึงคิดว่าสาเหตุน่าจะเหมือนกัน นั่นคือต้องเป็นภูเขาไฟระเบิดที่อยู่ห่างไกลออกไปมากๆ หลายพันไมล์ และต้องเป็นภูเขาไฟในเขตร้อนด้วย เพราะภูเขาไฟที่จะก่อให้เกิดผลได้ในระดับโลก (หรือมี Global Impact) ต้องเกิดในเขตร้อน ชั้นบรรยากาศในเขตร้อนจะดึงเอาอากาศลอยสูงขึ้น ทำให้เถ้าภูเขาไฟลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศขึ้นไปสูงกว่า ค้างอยู่บนนั้นได้นานกว่า และส่งผลได้ไกลกว่า ดังนั้นจึงต้องเป็นภูเขาไฟที่มีการระเบิดขนาดใหญ่ จนสามารถสร้างเถ้าถ่านลอยคลุมโลกได้ทั้งใบ และทำให้เกิดความหนาวเย็นยาวนานได้เป็นสิบเป็นร้อยปีด้วย
แต่ที่สำคัญก็คือ นักวิทยาศาสตร์คิดว่า – เป็นไปได้อย่างยิ่งที่การระเบิดครั้งนี้อาจจะ ‘ใหญ่’ กว่าการระเบิดของแทมโบรา เสียงระเบิดของภูเขาไฟน่าจะได้ยินไปไกลถึง 2,000 กิโลเมตร แต่คำถามก็คือ – แล้วภูเขาไฟลูกนี้อยู่ที่ไหน
4
ย้อนกลับไปในยุค 50s นักโบราณคดีปะติดปะต่อเรื่องที่ได้ยินมาจากชาววานูอาตู (Vanuat) ซึ่งเล่าเรื่องภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ จนนักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดว่าอาจเป็นที่นี่ก็ได้
ถ้าตัดเรื่องเล่าปรัมปราที่มีลักษณะแบบตำนานออกไป นักโบราณคดีพบจากเรื่องเล่าว่า เมื่อเกิดภูเขาไฟระเบิดขึ้น คนจำนวนมากหนีไปที่เกาะอื่น คนที่อยู่บนเกาะตายเกือบหมด มีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวเท่านั้นที่กลับมาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้คนอื่นฟัง เรื่องท่ีเขาเล่าส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นจนถึงปัจจุบัน
มีการสำรวจปากปล่องภูเขาไฟ (Crater) พบว่ามีความลึกราวหนึ่งกิโลเมตร แต่ว่าซ่อนอยู่ใต้มหาสมุทร เรียกว่า กูแว (Kuwae Caldera) ในขณะที่บนเกาะใกล้เคียงจะมีชั้นของเถ้าที่หนา ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่า ภูเขาไฟระเบิดที่ว่าเกิดในช่วงไหน จนกระทั่งถึงยุค 80s มีการสำรวจแกนน้ำแข็ง (Ice Core) จากขั้วโลก แล้วพบว่าในช่วงศตวรรษที่ 15 มีภาวะเป็นกรดสูง ทำให้เกิดการสำรวจตรวจตรากูแวกันอีกครั้ง ซึ่งพอย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ครอบครัวการสืบเชื้อสายของคนที่เล่าเรื่องแล้ว ก็ได้ตัวเลขออกมาว่า การระเบิดน่าจะอยู่ในช่วงปี 1540 ถึง 1654 แต่พอมีการหาอายุของโครงกระดูกของคนที่รอดชีวิตมาเล่าเรื่อง (ซึ่งยังหลงเหลืออยู่เพราะเป็นการฝังศพ) พบว่าอายุของเขาน่าจะอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 14 ถึง 15 ซึ่งก็สอดคล้องกับวันที่กษัตริย์อัลฟองโซอภิเษกสมรส
ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งในปี 1993 นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งของนาซา เกิดสงสัยเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วก็เลยค้นคว้าเพิ่มเติม โดยนำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่กว้างขวางมากๆ มาวิเคราะห์ เขาได้ข้อสรุปออกมาว่า การระเบิดที่กูแวน่าจะเกิดขึ้นในปี 1453 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนงานอภิเษกสมรสที่ว่านั้น
ในปี 1453 เกิดเหตุการณ์ที่สอดคล้องกับการระเบิดของภูเขาไฟหลายเรื่อง เช่น ในสวีเดน พืชผลเสียหาย ต้นไม้ทั่วยุโรปตาย ในจีนก็มีคนตายหลายหมื่นคนเพราะอากาศหนาวจัด หิมะตกไม่หยุดถึง 40 วัน ในพื้นที่ทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี (ที่ไม่ได้อยู่เหนือมากนัก) แม่น้ำเหลืองก็จับแข็งถึง 20 กิโลเมตร แถมชาวแอซเท็ก (Aztec) ก็เผชิญภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสไปสำรวจกูแว แล้วบอกว่าถ้าดูจากขนาดของปากปล่องแล้วละก็จะต้องมีแมกมาปริมาณมากแน่ๆ เขาประมาณว่า การระเบิดของกูแวน่าจะพ่นซัลเฟตออกมามากกว่าการระเบิดของแทมโบราถึงสามเท่า ซึ่งแน่นอนว่าต้องก่อให้เกิดผลต่อสภาพอากาศของโลก
แต่นั่นก็ ‘เร็ว’ กว่าเหตุการณ์ที่เกิดในงานอภิเษกสมรสอยู่ดี!
อย่างไรก็ตาม ในตอนหลังมีนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากนิวซีแลนด์ ไปสำรวจกูแวอีกรอบ คราวนี้เขาสรุปออกมาใหม่ว่า การระเบิดที่ว่าไม่น่าจะเป็นการระเบิดใหญ่ครั้งเดียว แต่น่าจะเป็นการระเบิดเล็กหลายๆ ครั้งมากกว่า ซึ่งก็สอดคล้องกับผลจากการสำรวจแกนน้ำแข็งครั้งใหม่จากแอนตาร์กติกาในปี 2012
สรุปก็คือกูแวเกิดการระเบิดก็จริงอยู่ แต่ไม่ใหญ่ และไม่ ‘ตรง’ กันทีเดียวกับสิ่งที่เกิดในยุโรปปี 1465!
5
ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้และไม่อาจยืนยันได้ว่าภูเขาไฟที่เป็นต้นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ในงานวันนั้นอยู่ที่ไหน
แต่กระนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็รู้นะครับว่า การจะก่อให้เกิดผลขนาดใหญ่ถึงเพียงนั้นได้ จะต้องเป็นการปะทุในเขตร้อน (อย่างที่บอกเหตุผลไปตั้งแต่ต้น) ซึ่งถ้าพูดแค่นี้ ก็เท่ากับงมเข็มในมหาสมุทร เนื่องจากเฉพาะในแถบแปซิฟิกอย่างเดียว ก็มีเกาะภูเขาไฟเป็นร้อยๆ ตั้งแต่อินโดนีเซีย เมลานีเซีย โปลินีเซีย และไมโครนีเซีย ทั้งนี้ยังไม่นับรวมภูเขาไฟใต้น้ำอีกนับไม่ถ้วน
เป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่ ‘ผู้ร้าย’ ของเรา จะปะทุระเบิดครั้งใหญ่ในที่ที่ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครบันทึกอะไรไว้ แล้วมันก็ ‘จม’ หายลงไปใต้สายน้ำในมหาสมุทร
นี่คือปริศนาลึกลับที่ยังไม่มีใครรู้ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ลดละที่จะค้นหากันต่อไปและต่อไป
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai