ถึงวันนี้คำว่า Binge Watching หรือการดูซีรีส์ติดต่อกันนานๆ เป็นสิบๆ ตอน ไม่ใช่คำที่แปลกประหลาดอีกต่อไปแล้ว เชื่อว่าหลายคนก็คงทำแบบนั้น เช่นในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แทนที่จะออกไปเดินห้างสรรพสินค้าหรือเตร็ดเตร่ที่ไหน ก็เลือกนั่งๆ นอนๆ อยู่ที่บ้าน พลางดูซีรีส์จากช่องที่ให้บริการสตรีมมิงทั้งหลายที่เดี๋ยวนี้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Amazon Prime, Hulu, iFlix, Line TV ซึ่งก็มีให้เลือกมากเสียจนดูทั้งชีวิตก็ไม่น่าจะหมด
คำถามก็คือ แล้วอะไรเล่าทำให้เกิดการ Binge Watch หรือดูไม่หยุดขึ้นมาได้
เคยมีการสำรวจของ Deloitte ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกบอกว่า คนอเมริกันราว 73% บอกว่าตัวเองเคยดูซีรีส์หรือทีวีในรูปแบบต่างๆ แบบ Binge Watch แล้วถ้าเป็นกลุ่มมิลเลนเนียลตัวเลขยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปใหญ่ กลายเป็น 90% โดยใน 90% นี้มีถึง 38% ที่บอกว่าตัวเอง Binge Watch ทุกๆ สัปดาห์
นิยามของ Binge Watch ของ Deloitte คือการดูซีรีส์ติดต่อกัน 3-4 ตอนขึ้นไป แต่จากการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ดูมากกว่านั้นเข้าไปอีก อย่างกลุ่มที่อายุ 14-33 ปี จะ Binge Watch กันเฉลี่ยครั้งละ 5 ชั่วโมง ซึ่งก็จะตกอยู่ราวๆ 6 ตอน ถ้าแต่ละตอนยาวราว 50 นาที
ในอังกฤษก็ไม่แพ้กัน ในปี 2017 Netflix เคยเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ โดยบอกว่ามีคนมากกว่า 5 ล้านคนที่เคยดูซีรีส์จบทั้งซีซันภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งถ้าเทียบกับตัวเลขในปี 2013 พบว่า มีคนทำแบบนี้แค่ราว 2 แสนคนเท่านั้น ตัวเลขจึงพุ่งสูงกระโดดไปอย่างไม่น่าเชื่อ
The Guardian เคยวิเคราะห์ลักษณะของโชว์ที่จะทำให้คน Binge Watch ได้ดีเอาไว้ 4 อย่าง คือ
1. ถ้ารายการนั้นๆ สั้นพอ ก็จะทำให้คนอยาก Binge Watch มากกว่า เช่น มีความยาวตอนละราวครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าแต่ละตอนยาว (เช่น ยาว 1 ชั่วโมง) แต่ 1 ซีซันมีแค่ 6 ตอนจบ คนก็จะเลือก Binge Watch ได้มากขึ้น The Guardian บอกว่า Bingeable มากกว่า
2. จากสถิติ Binge Watch เขาบอกว่า คนนิยม Binge Watch ซีรีส์ที่เป็นคอเมดี้มากกว่า หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นดราม่าเบาๆ ไม่หนักหนาสาหัสมาก ซึ่งกลับข้างกับความเชื่อทั่วไปที่ว่าคนชอบดูซีรีส์หักเหลี่ยมเฉือนคมหรือหักมุมมากๆ แต่ปรากฏว่าซีรีส์ประเภท Fuller House, Marvel’s The Defenders, Santa Clarita Diet หรือ Grace and Frankie กลับมาแรงกว่า
3. คำวิจารณ์จากนักวิจารณ์ไม่มีผลอะไร เรื่องนี้ค่อนข้างแปลก เพราะถ้าไปดูซีรีส์ที่นักวิจารณ์ชื่นชมมากๆ เช่น The Crown, BoJack Horseman, Dear White People เหล่านี้อาจมีคนดูเยอะจริง แต่คนไม่ค่อย Binge Watch เท่าไร
4. ต่อให้เป็นรายการที่ไม่ค่อยดีเท่าไรคนก็ยัง Binge Watch กันมาก ถ้ามีการพูดถึงรายการนั้นๆ มาก แต่จะดูด้วยวิธีกดข้ามๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ได้ดูอย่างละเอียดลออ ซึ่งเรื่องนี้ The Guardian บอกว่า เหล่านัก Binge Watcher นั้นชอบทรมานตัวเอง คือจะต้องดูให้จบทั้งที่มันไม่ได้สนุกหรือดีขนาดนั้น
คำถามถัดมาก็คือ แล้วการทำรายการให้คนอยาก Binge Watch นั้น มันมี ‘สูตร’ ของมันหรือเปล่า
เจสัน ลินช์ เคยเขียนบทความให้ Quartz ว่า Netflix นั้นมีสูตรอยู่เหมือนกัน เช่น ให้คิดถึงรายการนั้นๆ ทั้งซีซันไปเลยว่าจะมีการขึ้นลงของพล็อตอย่างไรบ้าง คือไม่คิดเป็นตอนๆ เหมือนซีรีส์สมัยเก่า (อย่าง Friends) อีกต่อไปแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เส้นเรื่องหลักของทั้งซีซันจะต้องแข็งแรงมากๆ
อีกวิธีหนึ่งก็คือต้องเอาผู้ชมให้อยู่หมัดตั้งแต่ตอนต้น แล้วตอนท้ายของตอนก็ต้องเชื่อมโยงทิ้งท้ายไปยังตอนต่อไป เทคนิคทิ้งท้ายให้น่าหวาดเสียวนี้เรียกว่า Cliffhangers คือเหมือนปล่อยคนดูห้อยต่องแต่งอยู่ที่ปากเหวอะไรทำนองนั้น
ที่สำคัญก็คือ ไม่จำเป็นต้องพาตัวละครทุกตัวดาหน้าออกมาทุกตอน อาจจะทิ้งตัวละครบางตัวไว้ก่อนได้ ซึ่งข้อดีก็คือ คนดูที่รอดูตัวละครนั้นๆ ก็จะอยากดูต่อเนื่อง ทำให้เกิดการ Binge Watch ไปเรื่อยๆ เพื่อหาตัวละครนั้นๆ
ถ้าเป็นละครที่ออกเป็นตอนๆ อย่างละครหลังข่าวที่ออกอากาศไม่กี่วันใน 1 สัปดาห์ เราจะพบว่าละครเหล่านั้นต้องเน้นย้ำประเด็นสำคัญ (Key Information) อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นซีรีส์ที่สร้างขึ้นเพื่อ Binge Watch แล้ว การเน้นย้ำเรื่องพวกนี้จะทำให้ซีรีส์น่าเบื่อ ซีรีส์เหล่านี้จึงมักไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำประเด็นสำคัญบ่อยๆ
สูตรต่างๆ เหล่านี้ยังมีอีกมาก จึงทำให้การ Binge Watch เป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณกันว่าตอนที่ Stranger Things ซีซัน 2 เริ่มฉายนั้น มีคนที่ Binge Watch รวดเดียว 9 ตอนจบภายในวันแรกมากถึง 361,000 คนเลยทีเดียว
คำถามก็คือ ทำไมการ Binge Watch ถึงทำให้เรารู้สึกดีจนอยาก Binge Watch บ่อยๆ
เรื่องนี้นักจิตวิทยาคลินิกอย่าง เรนี คาร์ร เคยบอกกับ NBC News เอาไว้ว่า ความรู้สึกดีนั้นเกิดขึ้นเพราะเวลาที่เราทำอะไรสนุกตื่นเต้น สมองของเราจะหลั่งสารเคมีอย่างโดพามีน (Dopamine) ออกมา มันคือสารเคมีที่เป็นเสมือนการให้รางวัลตามธรรมชาติ เหมือนสมองส่งสัญญาณสื่อสารกับร่างกายว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ดี โดพามีนมีลักษณะคล้ายๆ สารเสพติด ดังนั้นเวลาเรา Binge Watch แล้วรู้สึกดี เราจึงเกิดอาการ ‘เสพติดเทียม’ (Pseudo-Addiction) กับรายการนั้นๆ แล้วเราก็จะอยากดูมันต่อไปเรื่อยๆ
นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งด้วยที่คนที่มีปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะอกหักหรือผิดหวังต่างๆ มักจะใช้การ Binge Watch เพื่อ ‘หนี’ ปัญหาเหล่านั้น เพราะเมื่อ Binge Watch ก็จะได้รับสารเคมีแห่งความสุข แล้วร่างกายของเรามันไม่ได้เลือกนะครับว่าโดพามีนนี้หลั่งมาเพราะทำงานเสร็จ หรือหลั่งมาเพราะได้รับจูบแรก หรือหลั่งมาเพราะได้ดูซีรีส์ โดพามีนก็คือโดพามีน ดังนั้นการดูซีรีส์ที่ ‘ฟิน’ มากๆ จึงทำให้เราเกิดอาการเสพติดได้
นอกจากนี้ การใช้เวลามากๆ เพื่อ ‘จ่อมจม’ (Immerse) เข้าไปในชีวิตของตัวละครในรายการ ก็เป็นเหมือนตัวเร่งประสบการณ์ให้เราด้วย เพราะสมองของเราจะเข้ารหัสประสบการณ์ต่างๆ เอาไว้เหมือนเป็นประสบการณ์ของเราเอง การดูรายการพวกนี้จึงเหมือนได้พบกับเหตุการณ์ในชีวิตด้วยตัวเอง เราจึงผูกพันและใส่ใจกับผลลัพธ์ที่จะเกิดจากความขัดแย้งในละครได้ โดยเฉพาะเมื่อเรา Identify ตัวเองเข้ากับตัวละครบางตัวในเรื่องที่มีลักษณะ ท่าที หรือเผชิญกับปัญหาคล้ายๆ กับเรา
ด้วยเหตุนี้ ในแง่หนึ่ง การ Binge Watch จึงเป็นเหมือนยาคลายเครียดให้เราได้ด้วย แถมยังเป็นเครื่องมือช่วยให้เราเข้าสังคมได้ เพราะคนที่ชอบดูรายการแบบเดียวกัน มักจะมีลักษณะบางอย่างคล้ายกัน เมื่อได้พูดคุยถึงเรื่องราวที่พบจากการ Binge Watch ก็จะต่อติดกันได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การ Binge Watch ไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป เคยมีการศึกษาของมหาวิทยาลัย Toledo ในกลุ่มคนที่บอกว่าตัวเองเป็น Binge Watcher พบว่า มีอยู่ 142 คน จาก 408 คน ที่ดันมีความเครียด ความวิตกกังวล และอาการซึมเศร้ามากกว่าคนที่ไม่ได้เป็น Binge Watcher เพราะคนเหล่านี้ Binge Watch มากเกินไปจนทำให้การดูทีวีเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์กับมนุษย์ไปเลย สุดท้ายคนเหล่านี้ก็เลยอยู่ในสภาวะ ‘ตัดขาด’ (Disconnect) กับสังคม
จะเห็นว่า อาการ ‘หยุดดูซีรีส์ไม่ได้’ นั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุที่ซับซ้อนหลายอย่าง ทั้งแรงกระตุ้นจากตัวผู้สร้าง ประสบการณ์ในสมองของเราเอง สารเคมีในสมอง รวมไปถึงสังคมรอบข้างด้วย
ซึ่งถ้าหากว่าคุณดูซีรีส์เยอะๆ แล้วไม่มีปัญหาอะไรก็ดูไปเถอะครับ แต่ถ้าคิดว่าตัวเองเริ่มมีปัญหากับคนรอบข้างแล้วละก็ บางทีอาจต้องลองหยุด แล้วย้อนกลับมาพิจารณาตัวเองใหม่ ว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถ Binge Watch ได้อย่างมีความรับผิดชอบ โดยวิธีง่ายๆ ก็คือการจำกัดเวลาในการดูของตัวเอง เพื่อจะเอาเวลาที่เหลือไปทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตเสียบ้าง
พูดน่ะง่าย แต่ก็รู้กันอยู่นะครับว่าถ้าเป็นซีรีส์สนุกๆ แล้วละก็…หยุดดูไม่ได้สักทีสิน่า!
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า