‘พ่อแม่รังแกฉัน’ คำนี้คงไม่ผิดนักเมื่องานวิจัยชิ้นใหม่ของสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่าผู้ใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคปอดเรื้อรัง เนื่องจากโตมากับพ่อแม่ที่สูบบุหรี่
นักวิจัยระบุว่าเยาวชนที่อยู่ใกล้สิงห์อมควันมีสิทธิ์ที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 7 รายต่อผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตจากการไม่สูบบุหรี่จำนวน 100,000 คน ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้จัดทำโดยสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) ทำการศึกษากับกลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่ทั้งชายและหญิงจำนวน 70,900 คน
ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าทางที่ดีที่สุดที่จะป้องกันเยาวชนจากความเสี่ยงนี้คือการเลิกสูบบุหรี่
การศึกษานี้ยังชี้อีกว่าผู้ร่วมทำการวิจัยที่ใช้ชีวิตอยู่กับคนที่สูบบุหรี่นั้นพบกับปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ เนื่องจากหากได้รับควันบุหรี่เข้าไป 10 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจถึง 27% โรคเส้นเลือดในสมองตีบ 23% และโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ถึง 42% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตกับผู้สูบบุหรี่
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Preventive Medicine ชิ้นนี้ได้สอบถามผู้เข้าร่วมทำการวิจัยถึงการได้อยู่ใกล้ชิดกับควันบุหรี่ตลอดทุกช่วงชีวิต ตลอดจนติดตามผลสุขภาพมาตลอด 22 ปี
ภาพ: New Line Cinema
ออกไปสูบข้างนอก
เฮเซล ชีสแมน (Hazel Cheeseman) ผู้รณรงค์เรื่องสุขภาพกับการสูบบุหรี่เผยว่า “ผลการศึกษาที่ออกมาพิสูจน์ให้เห็นว่า การแค่ออกไปสูบบุหรี่ข้างนอกก็สามารถช่วยปกป้องเด็กๆ ได้เช่นกัน”
แต่ทั้งนี้เธอกล่าวว่า “แต่ทางที่ดีที่สุดสำหรับพ่อแม่ที่ทำได้คือเลิกสูบบุหรี่”
ดร.นิค ฮอปคินสัน (Dr.Nick Hopkinson) ผู้ให้คำปรึกษาทางการแพทย์กับมูลนิธิโรคปอดแห่งอังกฤษ (British Lung Foundation) เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ “การสูบควันบุหรี่มือสองมีผลกระทบที่ยาวนานนับจากวัยเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่”
“แต่น่าเสียดายที่บริการช่วยเลิกบุหรี่ในสหราชอาณาจักรถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เราต้องทำให้แน่ใจว่าคนทุกคน โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีเด็กเล็ก จนถึงหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่นั้นได้รับการช่วยเหลือจนเลิกขาดได้”
เสี่ยงต่อทั้งชีวิต
ขณะที่เด็กๆ ที่พ่อแม่เป็นสิงห์อมควันเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้และเป็นปัญหาต่อการพัฒนาของปอด ซึ่งผลวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าผลกระทบกับชีวิตวัยเด็กยังลากยาวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ก่อให้เกิดโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังเอาได้
นักวิจัยยังเน้นย้ำอีกด้วยว่าเยาวชนที่ดมควันบุหรี่ของคนในบ้านอาจเป็นโรคป่วยเรื้อรัง และอาจต้องพึ่งการดูแลรักษาทางการแพทย์เมื่อโตขึ้น
ดร.ไรอัน ไดเวอร์ (Dr.Ryan Diver) หนึ่งในผู้เขียนรายงานการวิจัยเสริมว่า “นี่เป็นผลการศึกษาชิ้นแรกที่ระบุความเกี่ยวโยงระหว่างควันบุหรี่ที่ได้รับในวัยเด็กเข้ากับการเสียชีวิตจากโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังในวัยกลางคนหรือมากกว่านั้น”
“ผลวิจัยนี้เป็นหลักฐานที่หวังจะช่วยให้อัตราการสูบบุหรี่มือสองที่ส่งผลต่อโรคต่างๆ นั้นลดลง” เขาเสริมต่อ
ภาพ: Courtesy of Netflix
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: