×

ฉัตรวรรษรับคำร้องอดีตผู้สมัคร สว. อำนาจเจริญ ถูก จนท. DSI ขู่บังคับให้สารภาพคดีฮั้ว

โดย THE STANDARD TEAM
06.05.2025
  • LOADING...

วันนี้ (6 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา แถลงข่าวสืบเนื่องจากกรณี สว. จังหวัดอำนาจเจริญ ร้องขอความเป็นธรรมต่อประธานวุฒิสภา และกรรมาธิการฯ 

 

ทั้งนี้ จากกรณีการสอบสวนคดีฮั้วเลือก สว. ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นกลาง ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำให้ผู้ถูกสอบรู้สึกถึงความไม่ถูกต้องและเป็นธรรม ว่า DSI สามารถสอบสวนอดีตที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน รวมถึงคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง 

 

พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ ระบุว่า การดำเนินการของ DSI ที่ตั้งเป็นคดีอาญานั้น พนักงานสอบสวนที่ทำการสอบสวน เท่าที่ทราบจากผู้ที่ถูกสอบสวนในกรณีจังหวัดอำนาจเจริญนี้ ยกตัวอย่าง พนักงานสอบสวนของ DSI ได้มีหนังสือราชการด่วนที่สุด เพื่อขอใช้อาคารเป็นที่สอบปากคำ และให้กำนันติดตามบุคคลมาให้ถ้อยคำต่อคณะพนักงานสอบสวน 

 

ในหนังสือนี้ระบุจำนวน 10 รายชื่อ ในวันที่ 10 เมษายน โดยมีดำเนินการไม่เป็นกลาง เพราะไม่ได้ส่งหนังสือในช่องทางปกติตามระเบียบราชการ แต่ส่งผ่านไลน์ และตั้งข้อสงสัยว่า เอกสารดังกล่าวไม่มีลายมือชื่อและตราครุฑ จึงเกรงว่าจะถูกนำไปใช้โดยมิชอบ และเป็นการละเลยการปฏิบัติตามขั้นตอนปกติในการประสานงานของรัฐ และส่งหนังสือทางช่องทางที่ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบราชการ 

 

ทั้งยังไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากไม่ออกหมายเรียกหรือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างหน่วยงานท้องที่และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่ประสานงานกับกำนัน และการเรียกล่วงหน้าเพียงหนึ่งวันนั้น ทำให้ผู้ถูกสอบสวนไม่ได้รับเวลาเพียงพอจะเตรียมข้อมูลหรือเอกสารเพื่อแก้ข้อกล่าวหาในการให้ถ้อยคำ และยังถูกสอบปากคำเป็นเวลานานผิดปกติ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิ์ ทรมานจิตใจ เพื่อให้ข้อมูลหรือรับสารภาพบางอย่าง จึงอาจเข้าข่ายตามความผิดของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 

 

“และยังมีการสอบสวนในลักษณะข่มขู่คุกคาม เพราะจากข้อมูลที่ได้รับ มีการแสดงตนและปฏิบัติอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีอาญาร้ายแรง ซึ่งไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ มีการเดินทางไปยังบ้านของผู้ถูกสอบสวนโดยพลการ ไม่แต่งเครื่องแบบ ไม่แสดงบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ ไม่มีหมายค้น ทั้งยังไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้าน ลักษณะดังกล่าว คือการบุกรุกเคหสถาน และเมื่อผู้ถูกสอบสวน ต้องการเรียกบุคคลอื่นเข้ามาเป็นพยาน กลุ่มบุคคลดังกล่าวก็หลบหนีออกไป แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่ไม่โปร่งใสตรงไปตรงมา ของผู้ที่อ้างว่าเป็นบุคคลของรัฐ และเมื่อผู้ถูกสอบสวนโทรกลับไปก็ถูกปฏิเสธว่าโทรผิด เป็นการพยายามบ่ายเบี่ยง ไม่เปิดเผยตัวตนแท้จริง”

 

สำหรับการบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพ มีการให้ถอดกล้องวงจรปิด เพื่อไม่ได้มีการบันทึกภาพ และใช้กลอุบายกล่าวอ้างว่า บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง รับสารภาพกันหมดแล้ว เพื่อกดดันให้เกิดความกลัว และยอมรับสภาพตามที่ต้องการ เข้าข่ายทรมานจิตใจ และยังมีการซักถามที่เป็นการชี้นำให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมฟังการสอบสวน และการถามนั้น เป็นการถามนำแบบมีธงในใจ และโน้มน้าวให้ยอมรับว่า การฮั้วเลือกตั้ง สว. มีพรรคการเมืองหนึ่งสนับสนุน ซึ่งคงเป็นที่เข้าใจกันดีว่า น่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย 

 

“ยิ่งกว่านั้น มีบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี และเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง สามารถเข้าออกบริเวณที่มีการสอบสวนได้อย่างอิสระ คล้ายกับได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษ ผิดวิสัยของการสอบสวนปกติ ที่จะต้องทำเฉพาะผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น เชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่นัดหมายให้บุคคลดังกล่าว มาแทรกแซงการสอบสวนล่วงหน้า ขาดความเป็นกลางอย่างร้ายแรงในการแสวงหาข้อเท็จจริง” พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ กล่าว 

 

พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ กล่าวต่อไปว่า ในภาพรวมกระบวนการสอบสวนมีลักษณะผิดปกติหลายประการ ตั้งข้อสังเกตว่า มีการมุ่งเป้าสอบสวนไปยังบุคคลบางกลุ่มโดยไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง หรือนักการเมือง รวมถึงการที่ใช้บุคคลฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการสอบสวน ทั้งยังมีการตั้งสมมติฐานล่วงหน้าที่มีความผิดเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง ขาดความโปร่งใสในการดำเนินการ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกตรวจสอบมีเวลาเตรียมตัว หรือชี้แจงเต็มที่ เร่งรัดเวลาไม่เหมาะสม และยังมีพยานหลายคนในพื้นที่ถูกข่มขู่

 

ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่า สิ่งที่ชัดเจนคือการทำงานของ DSI ในช่วงเวลาดังกล่าวถูกตั้งคำถามเรื่องความไม่เป็นกลาง เราจึงจำเป็นต้องปกป้องความถูกต้องและเป็นธรรม เพราะเจ้าหน้าที่ DSI ควรปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

สำหรับกรณีที่ DSI ไม่มีอำนาจสอบสวนเต็มรูปแบบ พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ ระบุว่า ตนเองพร้อม สว.อีก 92 คนได้มีมติร่วมว่า การที่ DSI ให้เป็นคดีพิเศษนั้น เป็นเจตนาพิเศษ จงใจกล่าวหาให้ สว.ได้รับโทษทางอาญา ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติและรับไว้พิจารณาแล้ว ควรเป็นข้อสังเกตให้ DSI หรืออธิบดี DSI ระงับยับยั้งการสอบสวนไว้ก่อน เพื่อให้ ป.ป.ช. พิจารณาวินิจฉัยว่า มีอำนาจหรือไม่ แต่กลับเร่งรีบดำเนินการภายใต้การกำกับควบคุมดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทั้งยังมีการให้ข่าว ในลักษณะที่ขาดพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นการข่มขู่ทำให้ สว. เกิดความอ่อนไหว ไม่สบายใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ 

 

ทั้งนี้ พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ เผยว่า จะส่งหลักฐานเพิ่มเติมจากคำร้องเดิม ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป ส่วนจะมีคำนิจฉัยอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับสององค์กรข้างต้น 

 

“หากไม่แถลงข่าว ก็เหมือนเราถูกมัดให้ยอมรับในการดำเนินการของ DSI  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผมในฐานะที่ได้รับการร้องเรียน เพื่อให้ สว. อีกหลายจังหวัด หากพบการกระทำเช่นนี้ ให้ทุกคนรวมพยานหลักฐานมาเสนอต่อประธานวุฒิสภา” พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ กล่าว

 

พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ ทิ้งท้ายด้วยว่า “ผมไม่หนี คุณจะร้อง คุณจะสอบอะไร ก็ทำเรื่องมา เราพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เราก็โดนเรียกกันไปหลายคนแล้ว เราให้ความร่วมมือกับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง”

 

ส่วนกรณีมีการพุ่งเป้าถึงพรรคภูมิใจไทยในนั้น การสอบสวนของตำรวจไม่มีการล็อกเป้า ต้องสอบจากพยานหลักฐานขึ้นไป แล้วจึงไล่ลงมาว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง แต่การสอบสวนของ DSI ส่วนตัวจึงยังติดใจ ที่บอกว่ามีสมมติฐาน 300 ล้านบาทนั้น เอาของจริงมาดีกว่า อย่าสมมติฐาน ส่วนการสอบสวน ก็ต้องรับผิดชอบการกระทำที่เกินอำนาจหน้าที่ด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising