×

เสริมหน้าอกเสี่ยงมะเร็ง? ครีมตบนมเวิร์ก? ไขคำตอบกับ หมอเบนซ์-พญ.กรวรรณ จันทรจำนง (ว.47202)

30.04.2025
  • LOADING...
dr-benz-korawan-breast-health

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง (ว.47202) หรือ หมอเบนซ์ ไม่ได้เป็นเพียงศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเต้านม แต่เป็นแสงแห่งความหวังสำหรับผู้หญิงที่เผชิญกับความท้าทายของโรคนี้ หมอเบนซ์เป็นผู้ที่รอบรู้และดูแลรักษาทุกมิติที่เกี่ยวกับเต้านม ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษาโรคทั่วไป การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ไปจนถึงการผ่าตัดเสริมหน้าอกเพื่อความงาม 

 

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง (ว.47202)

 

แรงบันดาลใจสำคัญของเธอคือการได้เห็นผู้ป่วยกลับมามีรอยยิ้มและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและเต็มที่อีกครั้ง ซึ่งเป็นรางวัลอันล้ำค่าที่เติมเต็มความตั้งใจในการเป็นศัลยแพทย์เต้านมของเธอ

 

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง (ว.47202)

 

ปัจจุบันเธอเป็นอาจารย์พิเศษที่โรงพยาบาลตำรวจ และยังเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบุกเบิกการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมด้วยหุ่นยนต์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย 

 

นอกจากบทบาททางการแพทย์ในโรงพยาบาลแล้ว หมอเบนซ์ยังเป็นผู้ที่มุ่งมั่นในการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคทางเต้านมผ่านช่อง หมอเบนซ์เน้นนม- DoctorBenz เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ง่ายยิ่งขึ้น 

ด้วยแพสชันในสายงานนี้ เราเลยชวนหมอเบนซ์มาพูดคุยถึงโรคยอดฮิตทางเต้านมที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน รวมถึงทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการเสริมหน้าอกในปัจจุบัน มาดูกันว่าหมอเบนซ์จะมีคำแนะนำอะไรดีๆ ที่จะช่วยให้สาวไทยอย่างเรามีสุขภาพเต้านมที่ดีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนได้บ้าง

 

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง (ว.47202)

 

จุดเริ่มต้นของเส้นทางศัลยแพทย์เต้านม

 

หมอเบนซ์: เริ่มจากตอนที่เราเรียนศัลยกรรม เราเห็นเลยว่าคุณภาพชีวิตของคนไข้มะเร็งเต้านมดีมาก วันที่เขาหายจากโรคไปแล้ว 5 ปี 10 ปี เขายังมาตรวจติดตามกับเรา ในกรณีที่มาตั้งแต่ระยะต้นๆ อัตราการหายขาดของโรคมันสูงแบบ 90-100% เลย ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นการรักษาคนไข้ที่เรามีความหวัง 

 

แล้วพออัตราการหายจากโรคดี คุณภาพชีวิตมันก็ดีตามมาด้วย มีงานวิจัยออกมาเยอะเลยว่าไม่จำเป็นจะต้องตัดหน้าอกออกทั้งหมด ผู้หญิงหนึ่งคนอาจจะสงวนเต้านมก็ได้ หรือถ้ารู้สึกว่า การที่มีเต้านมอยู่เป็นเรื่องที่ทำให้เขากังวล ก็เอาออกแล้วเสริมทดแทนก็ได้ นวัตกรรมใหม่ๆ มันดีขึ้นมากเลยค่ะ อย่างซิลิโคนปีหลังๆ นี่ต้องเรียกว่านุ่มหยุ่นคล้ายของจริงเลย 

 

ขนาดเคสเสริม เรายังทำได้แบบสบายๆ เคสทดแทนเนี่ยมันจะต้องมาตอบโจทย์ที่สุดอยู่แล้ว แล้วทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้เราดีขึ้น

 

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง (ว.47202)

 

หากเปรียบเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นแล้ว ผู้ที่รักษามะเร็งเต้านมหาย แทบจะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงคนทั่วไปเลยไหม

 

หมอเบนซ์: ใช่ค่ะ ต้องบอกว่ามะเร็งเต้านมตอนนี้เป็นโรคที่เจอเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงทั้งโลกเลยค่ะ ในผู้หญิงไทยก็เป็นเบอร์หนึ่งเหมือนกัน มะเร็งอย่างอื่น เช่น มะเร็งปากมดลูกที่เมื่อก่อนเป็น No.1 มันเจอตัววัคซีนเข้ามาเพื่อช่วยดูแลเรื่อง HPV ไปแล้วค่ะ 

 

แต่มะเร็งเต้านมยังเป็นปัจจัยที่แก้ไม่ได้ มันจะเป็นปัจจัยทางพันธุกรรมค่ะ ไม่ว่าจะจากประวัติในครอบครัว หรือว่ามีคุณแม่มียีนส์บางอย่างคล้ายเคสของคุณ Angelina Jolie ที่เขามียีนส์ BRCA1 มันเป็นปัจจัยที่แก้ไม่ได้เลย 

 

หรือปัจจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายซึ่งมันเป็นเรื่องที่เซนซิทีฟมาก เราบอกไม่ได้ว่าใครคือผู้แจ็กพอต และยังไม่รวมถึงในแง่ไลฟ์สไตล์ อีกอันหนึ่งก็คือเรื่องอายุ ซึ่งมันเป็นปัจจัยที่พอเราไม่รู้จะเข้าไปจัดการกับมันอย่างไรมันเลยยังเป็น No.1 ของทั้งหมดอยู่

 

แต่ต้องบอกว่ายิ่งนวัตกรรมมันก้าวไปข้างหน้า อัตราการหายขาดของโรคมันดีมาก ระยะศูนย์นี่เรียกว่าแทบจะ 100% เลยค่ะที่หายได้ ระยะหนึ่งก็อยู่ที่ประมาณ 90% ระยะ 2 อยู่ที่ 80% ระยะ 3 ถ้าได้รับการรักษาที่ครบถ้วนจะอยู่ประมาณ 70% ต่อให้เป็นระยะที่ 4 หรือว่าที่เราชอบเรียกว่ามะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย อัตราการอยู่รอดชีวิตมากกว่า 5 ปี ก็ยังสูงกว่าโรคอื่นๆ หมายถึงว่า ต่อให้เป็นระยะที่มันมีการกระโดดไปที่อวัยวะอื่นแล้ว เราก็ยังเจอว่าคนไข้ของเรายังมีชีวิตที่ดีแล้วก็ใช้ชีวิตเข้าปีที่ 6 ปีที่ 7 ได้มากขึ้นกว่ามะเร็งแบบอื่น มันสู้แล้วมันมีหวังกับทั้งคนไข้ทั้งตัวเราค่ะ 

 

@drbenz.korawan มะเร็งเต้านม NO.1ทั้งในผู้หญิงไทยและทั่วโลก #มะเร็ง #มะเร็งเต้านม #หมอเบนซ์เน้นนม #ตัวแม่สายhealth #awesomeค่ะสาว ♬ เสียงต้นฉบับ – หมอเบนซ์เน้นนม (DoctorBenz) – หมอเบนซ์เน้นนม DoctorBenz

 

คนเป็นหมอน่าจะใจฟู 

 

หมอเบนซ์: ใช่ค่ะ พอมันผ่านจุดที่โอกาสการหายขาดมันสูง ทำให้เราก็มามองว่าหลังหายจากโรคแล้ว สำหรับผู้หญิงคนที่เสียเต้านมไป สิ่งที่เขาเสียมันมากกว่าแค่หน้าอก ในสายตาคนอื่นก็อาจจะมองว่าเสียหน้าอกไม่ได้เสียชีวิต แต่สิ่งที่เขาเสียคือ เขาเสียโอกาสค่ะ เสียโอกาสในการเข้าสังคมได้เหมือนผู้หญิงคนอื่น อย่างถัดมาคือเสียความมั่นใจ เพราะว่าผู้หญิงที่มีหน้าอกข้างเดียวทำให้แต่งตัวได้ไม่เหมือนเดิม 

 

ยิ่งเราได้คลุกคลีกับคนไข้มะเร็งเต้านมมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะมองว่า พอผ่านเข้าปีที่ 6-7 ไปแล้ว สิ่งที่คนไข้กังวลหลังผ่าตัดเต้านมไปก็คือ เขายังไม่กลับมาเหมือนเดิม เขาหายจากโรคแล้วแต่เขายังไม่กลับมาเหมือนเดิม อันนี้ทำให้เป็นแรงบันดาลใจค่ะ อยากให้มีการเสริมสร้างหน้าอกทดแทน หรือว่าเสริมนวัตกรรมเข้ามาที่ทำให้คนเป็นมะเร็งเต้านม ไม่จำเป็นต้องสูญเสียอวัยวะ

 

ภาวะที่ไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมเป็นแค่เรื่องของที่ไม่มีหน้าอกหนึ่งข้างหรืออาการอื่นๆ ด้วย 

 

หมอเบนซ์: เราเจอหลายอย่างมากค่ะ บางคนก็จะมีอาการ Phantom Pain พูดง่ายๆ คือ บางคนจะมีความรู้สึกว่าแขนหายไปแล้วแต่ยังรู้สึกเหมือนมี ยังชา ยังเจ็บตรงนั้น หน้าอกก็มีค่ะ บางคนก็จะรู้สึกชาไปตลอด หรือบางคนก็จะรู้สึกด้านที่ตัดมันหน่วงๆ แต่ไม่ได้เจอในทุกรายนะคะ บางคนก็แค่ชาตลอดไป 

 

ปัจจัยหลักๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตกับความรู้สึกทางจิตวิทยามากกว่าค่ะ เพราะว่าเราก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันภาพลักษณ์มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากอยู่ ผู้หญิงทุกคนย่อมอยากสวย อยากจะเป็นตัวเอง อยากจะมีความมั่นใจ

 

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง (ว.47202)

 

เราสามารถป้องกันมะเร็งเต้านมได้ไหม

 

หมอเบนซ์: จากที่บอกไปข้างต้นว่าปัจจัยหลายอย่างมันแก้ไม่ได้ เราเลยจะดูแลในเชิงตั้งรับมากกว่าค่ะ อย่างแรกคืออายุเกิน 40 ปี เราแนะนำให้เช็กอัพทุกคน แต่ถ้า 35 ปีแล้วดูมีความเสี่ยง เช่น มีประวัติคุณแม่เป็น มีประวัติคุณยายเป็น หรือว่ามีประวัติการใช้ฮอร์โมน ไม่ว่าจะเป็นยาคุมกำเนิด หรือว่าฮอร์โมนต่างๆ กลุ่มนี้เราแนะนำให้เช็กอัพตั้งแต่ 35 เลย

 

หรือถ้าอายุน้อยกว่านั้นแต่มีอาการอะไรที่สงสัยเกี่ยวกับเต้านมก็มาเช็กได้ จะมีอาการ 7 อย่างค่ะ ตั้งแต่อาการเต้านม 2 ข้างไม่เท่ากัน เคยเท่าแล้วอยู่ดีดีไม่เท่ากัน, หัวนม-ลานนมเปลี่ยนหรือแปลกไป, มีน้ำจากหัวนม, เจ็บแปลกๆ, มีผื่นผิวหนัง, มีก้อน, มีผิวหนังเป็นเปลือกส้ม พวกนี้ก็คืออาการที่เริ่มบอกว่ามันมีอะไรละ แต่จริงๆ อย่าปล่อยจนถึงขั้นต้องมีอาการดีกว่า 

 

ถ้าสมมติว่าอายุเราถึงเกณฑ์ก็แนะนำเช็กอัพดีกว่าค่ะ เหมือนเอ็กซเรย์ปอด มันไม่ได้น่ากลัวอะไร

 

เคยมีเคสที่คนอายุน้อยมากๆ เป็นมะเร็งไหม 

 

หมอเบนซ์: มีค่ะ แต่โดยส่วนใหญ่เราต้องบอกว่ากราฟที่บอกว่าสถิติการเกิดโรคมันเยอะขึ้น คือตั้งแต่ 40 ขึ้นไป ตัวเลขมันจะชัดตั้งแต่อายุ 40 ถ้าต่ำกว่า 40 เจอไหม เจอได้ค่ะ แต่ที่ปัจจุบันไม่ได้เอามาเป็นสกรีนนิ่ง เพราะว่าอัตราการเกิดโรคในกลุ่มนี้มันอยู่แค่ประมาณ 5-10% แต่ก็ไม่ได้แปลว่าละเลยได้นะคะ ปีหลังๆ เราก็เจออายุน้อยลง เจอมะเร็งเต้านมมากขึ้นเหมือนกัน

 

เป็นไปได้ไหมว่าถ้าตัดเรื่องพันธุกรรมไป ดูแลตัวเองดีมาก แล้วจู่ๆ ก็เป็นมะเร็ง

 

หมอเบนซ์: มะเร็งทุกอันเราต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องของโชคชะตาอะค่ะ เราคงไม่สามารถบอกได้ชัดๆ ว่าไม่มีประวัติความเสี่ยงแล้วคุณจะไม่เป็น มันเลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนยุคนี้เป็นมะเร็งเยอะขึ้น มันอยู่ในบางอย่างที่เรายังจับไม่เจอ ส่วนใหญ่เขาจะบอกว่าร่างกายมีความเครียด แต่คือความเครียดมันเกิดมาได้จากหลากหลายอย่าง เราก็เลยคงบอกได้ไม่ชัดว่าคนไหนไม่เครียดดีกว่า 

 

ปัจจุบันที่เราจะป้องกันได้ หลักๆ ก็จะเป็นกลุ่มพันธุกรรม แต่นอกนั้นเราก็คงยังตอบอะไรได้ไม่ชัดเลยค่ะ 

 

มีประเด็นไหนเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมบ้างที่คนมักเข้าใจผิดเยอะ 

หมอเบนซ์: อย่างแรกคือ ชอบเข้าใจว่าก้อนไม่เจ็บมักไม่น่าใช่มะเร็ง เอาจริงๆ แล้วไม่ว่าจะก้อนอะไร เจ็บไม่เจ็บก็ควรมาพบแพทย์ค่ะ เหตุผลเพราะเราก็เจอมาแล้วทั้งนั้นว่าก้อนที่ไม่เจ็บมีโอกาสเป็นมะเร็งสูง แต่ก้อนที่เจ็บก็ไม่ใช่แปลว่าจะเป็นมะเร็งเหมือนกัน

 

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง (ว.47202)

 

ส่วนใหญ่ก้อนที่พบเจอจะอยู่บริเวณไหน

 

หมอเบนซ์: คำว่าก้อนของเต้านม เราต้องดูทั้งหน้าอกและที่รักแร้ด้วยค่ะ เหตุผลเพราะว่าผู้หญิงเนี่ยจริงๆ แล้วไม่ได้มีเนื้อเต้านมแค่บริเวณด้านหน้าของร่างกาย แต่มีเนื้อเต้านมไปถึงบริเวณหางของนม หรือตรงบริเวณรักแร้ด้วย ก็เลยเป็นที่มาของเวลาคลำเต้านม เราต้องคลำทั่วค่ะ คลำทั้งหน้าอกและรักแร้

 

ปกติคือมันจะมีแพตเทิร์นการคลำ ไม่ว่าจะคลำเป็นก้นหอยที่เต้านมแล้วก็ไปที่รักแร้ หรือว่าจะคลำเรียงขึ้นลงก็ได้ แต่ถ้าถามหมอส่วนใหญ่ หมอไม่ได้ซีเรียสกับแพตเทิร์นพวกนี้มาก แต่ขอให้คลำสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง

 

ต้องมีช่วงเว้นห่างจากระยะประจำเดือนอย่างไร 

 

หมอเบนซ์: โดยส่วนใหญ่หมอจะให้คลำ 10 วันหลังจากมีประจำเดือนค่ะ จะเป็นช่วงที่หน้าอกค่อนข้างคลำง่าย 

 

ถ้าคลำเจอก้อนแล้วปัจจุบันมีการรักษาแบบใดบ้าง

 

หมอเบนซ์: การรักษาจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่เป็นมะเร็งและไม่เป็นมะเร็ง ถ้าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เป็นมะเร็งแต่มีก้อนในตัวเต้านมแล้ว กลุ่มนี้จะมีเทคนิคที่ชื่อ Vacuum-assisted Breast Excision (VAE) มันเป็นเทคนิคเหมือนเข็มสุญญากาศที่เข้าไปเจาะ ปั่น แล้วก็ดูดเจ้าเม็ดนั้นออกไปเลย แผลมันก็จะเล็กๆ ประมาณ 7 มม. นิดเดียวค่ะ เทคนิคนี้ข้อดีของเขาคือมันจะได้เนื้อทั้งก้อนไปตรวจ ไม่ต้องผ่าตัดแผลใหญ่ 

 

ถัดมาถ้าสงสัยเป็นมะเร็งการรักษาก็ขึ้นอยู่กับไซส์ก้อนค่ะ ถ้าไซส์ก้อนไม่เกิน 2 เซนติเมตร เราก็จะต้องมาดูนิสัยอีกว่าดุหรือไม่ดุ มะเร็งเต้านมมีนิสัยนะคะ เหมือนนางร้าย 4 แบบ แบบแรกคือ นางร้ายสายหวาน พวกนี้กินฮอร์โมนเป็นอาหาร ถัดมา ก็เป็นพวกนางร้ายสายสู้ค่ะ เริ่มดุขึ้นกว่าแบบแรก อันนี้ก็ต้องมาดูเอาว่าตัวก้อนใหญ่แค่ไหน ถัดมาก็คือ นางร้ายตัวแรง อันนั้นก็อาจจะต้องได้เคมีกับยาพุ่งเป้า ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือ นางร้ายตัวแม่ เป็นพวกที่ไม่ตอบสนองตัวยาพุ่งเป้า ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมน

 

พวกนี้คือต้องได้เคมีล้วนๆ เลย

 

@drbenz.korawan มะเร็งเต้านม มี”ชนิด” ที่แตกต่างกัน เพราะความรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นกับหลายอย่าง มาฟังเลย.. #หมอเบนซ์เน้นนม #ตัวแม่เรื่องนม #หมอนมอารมณ์ดี #หมอเบนซ์ #มะเร็งเต้านม #มะเร็ง ♬ เสียงต้นฉบับ – หมอเบนซ์เน้นนม (DoctorBenz) – หมอเบนซ์เน้นนม DoctorBenz

 

ถ้าสมมติเป็นเคสที่เหมาะสมมันก็จะเลือกชอยส์ผ่าตัดได้หลายแบบ ตั้งแต่เก็บหน้าอกทั้งเต้าเลย ผ่าเอาเฉพาะก้อนออกแล้วก็ฉายแสง หลังผ่าตัดเสร็จ แบบนี้แผลกระติ๊ดเดียว แต่ถ้าก้อนใหญ่ก็ต้องไปได้เคมีก่อน

หรือถ้าก้อนมีการกระจายหลายจุดในตัวเต้านม ก็อาจจะต้องเอาเนื้อเต้านมออกทั้งหมด มันก็จะมีตั้งแต่ตัดแบนๆ เหมือนที่เราเคยได้ยินประสบการณ์รุ่นเก่าๆ เขาทำ ก็จะหายไปเลยทั้งข้าง หรือผ่าเอาหน้าอกออกแล้วย้ายหน้าท้องหรือหลังมาทดแทน แต่ว่าเดี๋ยวนี้ก็ทำน้อยลงเพราะซิลิโคนมันดี ก็ใส่ซิลิโคนทดแทนก็มีค่ะ เจ็บน้อยหน่อย แผลน้อยหน่อย 

 

นึกภาพเหมือนซาลาเปาหนึ่งลูก ถ้าเสริมซิลิโคนธรรมดาในเคสเสริมหน้าอก เหมือนเรายกเนื้อซาลาเปาออกจากกระดาษ แล้วใส่ซิลิโคนเข้าไป แต่ถ้าผ่าตัดมะเร็งเหมือนเราเก็บเฉพาะแป้งข้างบนกับกระดาษข้างล่างไว้ เราเอาไส้ซาลาเปาออกหมดเลย แล้วใส่ซิลิโคนเข้าไปแทน

 

การผ่าตัดของคนไข้หนึ่งคนมันเป็นงาน Tailor Made

 

ต้องมาดูกันว่าแต่ละเคสเหมาะกับแบบไหน มันมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ในเรื่องอุปกรณ์อีกก็เช่นกัน อย่างของหมอไปเรียนผ่าตัดหุ่นยนต์มา หมอก็อาจจะมีชอยส์ว่าของคนไข้จะเลือกเป็นผ่าตัดหุ่นยนต์ก็ได้ ผ่าตัดส่องกล้องก็ได้ หรือจะผ่าตัดเสริมคืนก็ได้นะ 

 

การผ่าตัดหุ่นยนต์ (Robotic-Assisted Surgery) เป็นเทคนิคใหม่ที่สุดเลยไหม

 

หมอเบนซ์: ใหม่ที่สุดเลยค่ะ ความรู้สึกเหมือนขับ Gundam เลยค่ะ หมอก็ยังต้องลงมีด แล้วก็จัดการบางส่วน มีการใส่ขาหุ่นยนต์เข้าไปทดแทนในจุดที่มือคนเข้ายาก
ทำให้แผลมันเล็กลง ตอนนี้เทคนิคที่ทำอยู่ก็คือจะแผลแค่ 4 เซนติเมตรค่ะ อยู่บริเวณข้างตัว เอาหน้าอกออกทั้งข้างแล้วใส่ซิลิโคนกลับผ่านแผลนี้

Downtime น้อยกว่าเทคนิคอื่นไหม

 

หมอเบนซ์: นอนโรงพยาบาลประมาณ 2 วันค่ะ แต่หนึ่งสัปดาห์กลับไปใช้ชีวิตได้ ปกติค่ะ เทียบกับเทคนิคยุคเก่าๆ ที่ใช้ย้ายหน้าท้องย้ายหลังมาทดแทน อันนี้สั้นกว่าแน่ๆ แต่ถ้าเทียบกับการผ่าตัดที่แผลใหญ่กว่า อันนี้ไม่แตกต่างกันค่ะ
ข้อดีของการผ่าตัดหุ่นยนต์คือจะตอบโจทย์กลุ่มคนที่กังวลเรื่องแผลมากๆ 

 

ถ้าเป็นการดูแลตัวเองในแบบที่เราควบคุมได้ หมอเบนซ์คิดว่าไลฟ์สไตล์อะไรที่มันเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม 

 

หมอเบนซ์: ห้ามอวบค่ะ มะเร็งชอบสาวอวบ เพราะเมื่อไรที่เราน้ำหนักตัวเกิน หรือว่าเราอวบขึ้นน่ะค่ะ เอสโตรเจนฮอร์โมนมันจะเยอะขึ้น ผู้หญิงกับเอสโตรเจนฮอร์โมนเนี่ยมันเป็นดาบสองคม ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงเนี่ยมันทำให้เราดูอวบอิ่มเต่งตึง แต่ว่ามันก็มีข้อเสียเหมือนกัน พอมันสูงเนี่ย มันกระตุ้นการทำงานของหน้าอกเยอะขึ้น ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม โดยส่วนใหญ่เขาจะกังวลในกลุ่มที่เริ่มมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน ส่วนใหญ่ตามสถิติ BMI เกิน 25 ก็จะเพิ่มความเสี่ยงค่ะ 

จริงๆ มันก็ไม่ใช่แค่มะเร็งเต้านมนะคะ มันก็ตามมาด้วยโรคอื่นๆ เช่น PCOS, เบาหวาน, ​ไขมันเกาะตับ

 

@drbenz.korawan ความอ้วน..สาเหตุการเกิดมะเร็งที่คุณอาจจะยังไม่รู้ ลดน้ำหนักก่อน สุขภาพดีก่อนไม่ต้องรอป่วยนะคะ 🥰🥰 #สุขภาพดี #หมอเบนซ์ #หมอเบนซ์เน้นนม #ตัวแม่สายhealth #awesomeค่ะสาว ♬ เสียงต้นฉบับ – หมอเบนซ์เน้นนม (DoctorBenz) – หมอเบนซ์เน้นนม DoctorBenz

 

สุดท้ายแล้วมันคือการต้องหาบาลานซ์ให้ตัวเอง

 

หมอเบนซ์: ใช่ค่ะ เจอเหมือนกัน มันไม่ได้แปลว่าคนเฮลตี้คนหุ่นดีจะไม่เป็นมะเร็ง ก็อย่างที่บอกมันเป็นโชคชะตาด้วยส่วนหนึ่งค่ะ แต่คนที่ดูแลตัวเองมักจะจัดการได้เร็ว เราใช้คำนี้ว่า ถ้าหมั่นคลำหน้าอกไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นจะไม่เป็นมะเร็ง แต่ถ้าเจอตั้งแต่ระยะต้นมันรักษาง่าย มันอาจจะไม่ได้เสียหน้าอก แล้วปัจจุบันมันไปถึงจุดที่ว่า มะเร็งเต้านมที่ไม่ได้รุนแรง ไม่จำเป็นต้องได้ยาเคมีแล้ว มันทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 

ก็เลยเป็นที่มาว่าเมื่อไรก็ตามที่มีอาการผิดปกติ อยากให้เข้ามาพบแพทย์ แบบไม่ได้อยากได้ก็ค่าตรวจคนไข้ แต่อยากให้มั่นใจว่าเขาไม่มีอะไร เพราะว่าทุกวันที่นอนกังวลเกี่ยวกับตัวโรค มันทำให้มันเสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตเลย

 

เราจะไม่ได้อยู่กับคนไข้คนหนึ่งไปแค่ปี 2 ปี รักษาหายแล้วก็ยังเป็นคนไข้ เพราะยังต้องมาตรวจติดตามกันไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็เจอว่า อย่างหนึ่งที่มาคู่กับคนไข้มะเร็งเต้านมคือ ภาวะทางสุขภาพจิตของญาติที่มันแย่ลงด้วย 

 

ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวอย่างลูกหลานโดยตรง สามีคนไข้ หรือบางทีเราก็จะเจอเลยว่าพอผ่านระยะเวลาเข้าไปสัก 5 ปี คนไข้อายุมากขึ้น สุขภาพเรื่องเต้านมอาจจะหายแล้ว แต่กลายเป็นคนแพนิก วิตกกังวลเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และญาติก็แพนิกด้วยอีกคน ซึ่งเอาจริงๆ นอกจากตัวคนไข้แล้ว อีกคนที่หมอก็ต้องดูแลใกล้ชิดเหมือนกันก็คือญาติ

 

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง (ว.47202)

 

พูดถึงเคสที่หมอเบนซ์เคยเจอ เคยมีเคสไหนไหมที่รู้สึกว่าท้าทายที่สุดในชีวิต 

 

หมอเบนซ์: คงจะเป็นเคสมะเร็งที่ปล่อยไว้จนเป็นเยอะแล้วนะคะ คนไข้กลุ่มนี้จะค่อนข้างน่าสงสาร เหตุผล อาจเป็นเพราะขาดโอกาสที่จะได้สกรีนนิ่งตั้งแต่ระยะโรคน้อยๆ หรือบางอันที่เจอก็คือเขาขาดองค์ความรู้ เขาคิดว่ามันไม่เจ็บ ไม่น่าจะมีอะไร 

 

เคยเจอเคสที่ก้อนใหญ่มาก ก้อนแตกมีเลือดออก แล้วพอ มะเร็งเป็นไปเยอะในระดับหนึ่งแล้ว การได้ยาเคมีมันก็จะยากขึ้นเพราะว่ามีเรื่องภาวะซีด มีเรื่องการขาดสารอาหารจากเจ้าตัวมะเร็งมันแย่งอาหารไปจากร่างกาย ทำให้รับยาเคมีก็ไม่ไหว กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ ถ้าเป็นเยอะขนาดนั้นมักจะต้องสตาร์ทจากประคับประคองโรค ถ้าเขาผ่านช่วงฟื้นฟูร่างกายได้ก็ต้องไปเริ่มต้นที่เคมีบำบัดก่อนค่ะ มันผ่าตัดเลยตั้งแต่แรกไม่ไหว

 

ส่วนใหญ่จะเป็นระยะที่ลามแล้ว 

 

หมอเบนซ์: แต่ส่วนใหญ่จากวันที่เริ่มเป็นไปจนถึงจุดนั้นมันใช้ระยะเวลาเป็นปีนะคะ ก็เลยเป็นที่มาที่ทำไมจำเป็นจะต้องออกมาให้ความรู้ เพราะว่าการรักษาตั้งแต่ต้นๆ มันดีกับทั้งคนไข้ ดีกับหมอด้วย แล้วก็ดีกับรัฐบาลด้วย มันดีกับทุกฝ่าย เพราะว่าวันที่ระยะโรคเป็นน้อย ค่าใช้จ่ายในการรักษาน้อย ผ่าตัดน้อย คุณภาพชีวิตก็ดี แล้วก็อาจจะเก็บเต้านมไว้ โดยที่ไม่ต้องสูญเสียอะไรเลยก็ได้

 

จากที่หมอเบนซ์บอกว่าการป้องกันมะเร็งคือการตั้งรับ ซึ่งก็สอดคล้องกับศาสตร์ Preventive Medicine ในยุคนี้ และหนึ่งในวิธีดูแลก็คือการพึ่งอาหารเสริม หมอเบนซ์คิดอย่างไรกับอาหารเสริมที่ดูแลเรื่องเต้านม

 

หมอเบนซ์: จากประสบการณ์ อย่าเพิ่งกระโดดเข้าหาเทรนด์อะไรเร็วเกินไป อันนี้เราคุยกันตามตรงค่ะ เราไม่สามารถบอกได้หรอกค่ะว่าอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้ามันจะ Effective แน่ๆ ถ้าเราผ่านการทำงานมาพักหนึ่ง เราจะรู้ว่าวิตามินหรืออาหารเสริมบางตัวมาแล้วก็ไป หรือบางตัวผ่านไปสัก 5 ปี 10 ปี กลายเป็นมีผลเสีย

 

ถ้าคนไข้มาถามว่าต้องกินอะไรเสริมที่จะช่วยเรื่องเต้านมได้บ้าง ก็จะบอกว่าไม่จำเป็นค่ะ แค่ใช้ชีวิตอยู่บนเส้นสแตนดาร์ด ดูแลสุขภาพให้ดี กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายไม่ให้น้ำหนักตัวเกิน แล้วก็เช็กอัพทุกปี แค่นี้พอแล้วค่ะ

 

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง (ว.47202)

 

เน้นอาหารจริงไว้ก่อน 

 

หมอเบนซ์: ใช่ค่ะ ไม่ได้แอนตี้นะคะ แต่ว่าด้วยความที่ปัจจุบันหลักฐานของอาหารเสริม ทุกครั้งที่มันมีงานวิจัยเราต้องคุยกันที่ Long-term ใน Short-term แบบหลักปี 2 ปี เราคงยังตอบอะไรไม่ได้ งานวิจัยก็มีหลาย Level ค่ะ จริงๆ ถ้าไปดูในรายละเอียดก็ต้องไปดูในแต่ละตัวนะคะ

 

งานวิจัยแต่ละตัวมันจะเริ่มจากในแล็บแล้วก็ออกมาลองในฝั่งทดลองแล้วก็มาลองในมนุษย์ ส่วนใหญ่งานวิจัยที่เป็นพวกกลุ่มอาหารเสริมจะเป็นในกลุ่มตัวอย่างหลักสิบถึงหลักร้อยค่ะ มันไม่ใช่ตัวเลขหลักล้าน เราคงยังบอกได้ไม่ชัดหรอกค่ะว่าผลลัพธ์ของหนึ่งคนกับทุกคนมันจะเหมือนกัน 

 

พูดถึงเรื่องอาหารเสริม เราจะได้ยินกันมานานกับอาหารเสริมเพิ่มไซส์หน้าอก 

 

หมอเบนซ์: เอาจริงๆ ถ้าจะเอาให้ชัด ถ้าอยากหน้าอกโตเสริมเลยดีกว่าค่ะ ชัวร์สุด อย่างแรกซิลิโคนยุคใหม่มันดีแล้ว อย่างที่สองคือ บริษัทซิลิโคนที่เป็นตัวสแตนดาร์ดในปัจจุบันค่อนข้างการันตีตัวซิลิโคนไปตลอดอายุการใช้งาน ถ้ามีการแตกร้าวหรือว่ามีอะไรที่มันดูไม่ปลอดภัย เขาจะเคลมซิลิโคนข้างนั้นให้ แล้วเดี๋ยวนี้เทคนิคเสริมมันเยอะค่ะในการที่จะทำแบบซ่อนแผล

 

ส่วนยาที่กินแล้วมีผลให้หน้าอกโตมักจะไปเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ฮอร์โมนเนี่ย มันไม่ได้ส่งผลต่ออวัยวะเดียว เราคงบอกไม่ได้ว่าฮอร์โมนหนึ่งตัวจะพุ่งตรงไปที่หน้าอก ไม่มีผลต่อมดลูก รังไข่ ขนาดยาคุมที่ใช้เพื่อรักษาโรคทางนรีเวช หมอนรีเวชยังต้องส่งคนไข้มาเช็กอัพด้านเต้านมอยู่ตลอดเลยค่ะ เพราะว่ามันมีเอฟเฟกต์ต่อกัน 

ถามว่าเชียร์ไหมสำหรับให้ทานเพื่อให้หน้าอกใหญ่ คงไม่เชียร์ด้วยเหตุผลคือ หนึ่งเราคาดหวังผลได้แค่ไหน สองเราต้องกินนานแค่ไหน เราหยุดแล้วมันจะกลับมาเป็นแบบไหน มีเอฟเฟกต์ต่อที่อื่นหรือเปล่า

 

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง (ว.47202)

 

คิดอย่างไรกับครีมตบนมที่เคยฮิตในยุคหนึ่ง

 

หมอเบนซ์: เราเหมือนไปคาดหวัง Indirect Effect คือเราไปคาดหวังผลจากการบวมอันนี้คงไม่น่าจะได้ประโยชน์สักเท่าไร

 

น่าจะเจ็บด้วย คงไม่ได้มีผลข้างเคียงอะไรเยอะ แต่ว่าอาจจะไม่ได้อะไรที่ชัดเจน 

ต้องบอกว่าเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะในแง่อาหารเสริม ในแง่ความงามด้วย หลายเทรนด์มาแล้วก็ไปค่ะ เช่น เมื่อก่อนจะมีฉีดฟิลเลอร์หน้าอก

 

ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นผลเสียบ้างแล้วว่ามันสร้างเป็นหินปูน หรือฟิลเลอร์บางตัวมันไม่สลายสร้างตัวเป็นก้อนอยู่ในเต้านม ทำให้ส่งผลกระทบต่อการที่เราจะไปสกรีนนิ่งตัวเต้านม กลายเป็นหินปูนพวกนี้มันมาบดบัง

 

หรือว่าเติมไขมัน ดูดไขมันจากที่อื่นมาเสริมหน้าอกก็เจอปัญหาเยอะอยู่เหมือนกันค่ะ ปีหลังๆ เขาเลยไม่มีการเติมไขมันเดี่ยวๆ แล้ว ส่วนใหญ่จะทำเป็น combine กัน เอามาเสริมทดแทนในบางจุดที่ซิลิโคนไม่สามารถไปหนุนได้ เช่น ด้านบนหรือตรงกลางที่ดันมากแล้วจะดูเป็นบล็อก ตรงนี้ก็จะทำให้ละมุนขึ้น



การเอาไปทดแทนทีแบบ 300-400 CC. ไม่มีใครทำแล้วค่ะ เพราะเวลาทำเสร็จมันมีผลข้างเคียงเรื่องไขมันตายบ้าง หรือว่ากลายเป็นก้อนแข็งบ้างอะไรแบบนี้ 

นวัตกรรมเปลี่ยนมันก็จะค่อยๆ บอกออกมาค่ะ ก็เลยเป็นที่มาที่ว่ายังไม่เชียร์อาหารเสริม 5 ปีข้างหน้าว่ากันใหม่ ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งกระโดดทำตามเทรนด์ค่ะ


เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องของการเสริมหน้าอกที่ส่งผลหรือกระตุ้นต่อการเป็นมะเร็ง 

 

หมอเบนซ์: อย่างที่บอกว่ามะเร็งเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม สำหรับซิลิโคนของเต้านมเอง สารที่จะใส่ไปในรูปแบบ implant มันจะต้องผ่านการทดสอบด้วย FDA หรือ อย. ต่างๆ ว่ามันจะไม่มีผลข้างเคียง

 

แต่ในยุคก่อนๆ ก็จะมีซิลิโคนที่กระตุ้นมะเร็งเหมือนกัน อย่างซิลิโคนผิวทราย 

ซิลิโคนพวกนั้นจะเป็นซิลิโคนทรงหยดน้ำค่ะ ด้วยความที่เราคาดหวังให้เขาไม่พลิกในตัวเต้านม เขาก็เลยต้องทำให้ตัวซิลิโคนผิวมันหยาบ พอผิวซิลิโคนมันหยาบปุ๊บ สิ่งที่ตามมา ก็คือมันเกิดการเสียดสีเยอะ เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง ชื่อ ALCL ขึ้นมา



อัตราการเกิดโรคต่ำมากค่ะ 1:80,000 แต่ปัจจุบันซิลิโคนรุ่นนั้นถอดออกจากตลาดหมดแล้วค่ะ เลยบอกทุกคนว่าบางอย่างเราอย่าตามเทรนด์เร็วเกินไป เรารอสักนิดหนึ่งให้มันพรูฟตัวเองก่อนว่าไม่ได้สร้างปัญหา



แต่ปัจจุบันเราก็ไม่ได้แนะนำให้ทุกคนที่ใส่ซิลิโคนยุคนั้นไปแล้วต้องมาถอดนะคะ แต่ว่าให้หมั่นสังเกตตัวเอง ถ้ามันมีอาการที่มันแปลกก็ควรจะรีบมาพบแพทย์ก่อน มันเป็นมะเร็งชนิดที่รักษาได้ค่ะ

 

@drbenz.korawan ซิลิโคนทรงหยดน้ำ ที่เคยฮิตมากหลายปีก่อนหายไปไหน.. #เสริมหน้าอกกับหมอเบนซ์ #ซิลิโคนเสริมหน้าอก #หมอเบนซ์เน้นนม #ตัวแม่สายhealth #awesomeค่ะสาว ♬ เสียงต้นฉบับ – หมอเบนซ์เน้นนม (DoctorBenz) – หมอเบนซ์เน้นนม DoctorBenz

 

ความเชื่อที่ว่าการเสริมหน้าอกอาจทำให้เกิดเนื้องอกได้ จริงไหม 

 

หมอเบนซ์: ไม่จริงค่ะ แต่เราเจอว่ามันคลำง่ายขึ้น เหตุผลว่า
หน้าอกของคนธรรมดาจะมีความนิ่มหยุ่นตามแรงโน้มถ่วงใช่ไหมคะ แล้วพอคนที่เสริมหน้าอก มันมีซิลิโคนไปดามอยู่ข้างหลัง ทำให้คลำเจอก้อนได้ง่ายขึ้น

 

แต่โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้แตกต่างกันเลยค่ะ คนที่เสริมหน้าอกกับไม่เสริมหน้าอก สามารถสกรีนนิ่งมะเร็งได้เหมือนๆ กัน

 

บีบแมมโมแกรมได้โดยที่ไม่ทำให้ซิลิโคนแตก อัลตราซาวด์ได้ ไม่ลดคุณภาพของการอัลตราซาวด์ แล้วก็ไม่ได้กระตุ้นการเกิดมะเร็งอะไรเลยค่ะ
 

การทำแมมโมแกรมมีเอฟเฟกต์อะไรต่อร่างกายไหม

 

หมอเบนซ์: แมมโมแกรมถ้าเปรียบเทียบก็คือเหมือนเราไปเอ็กซเรย์ปอด แต่อันนี้เป็นการเอ็กซเรย์ผ่านเนื้อนมโดยตรงค่ะ เขาจะบีบ 2 ท่า พูดง่ายๆ เหมือนเราถ่ายเอกสารเพื่อไปดูว่ามีหินปูนอะไรผิดปกติในเนื้อเต้านมหรือเปล่า

ปริมาณรังสีที่ผ่านต่อครั้งน้อยมากค่ะ เหมือนเอ็กซเรย์ 4 ฟิล์ม ถ้าทำตามมาตรฐานคือทุก 6 เดือนถึงหนึ่งปีครั้ง ไม่ได้กระตุ้นการเกิดมะเร็งอะไรค่ะ
 

แล้วผู้ชายมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมไหม

 

หมอเบนซ์: มีค่ะ แต่น้อยกว่าผู้หญิงเป็นพันเท่าเลย จากประสบการณ์ทำงานมา 7 ปี เคยเจอ 2 เคส ต้องบอกว่าฮอร์โมนเพศหญิงเนี่ยเป็นเบสที่มีทั้งในร่างกายผู้หญิง และร่างกายผู้ชาย ถ้าวันหนึ่งมันมีการเปลี่ยนจากฮอร์โมนเพศชายเป็นเพศหญิงเยอะ ฮอร์โมนตัวนี้สูงมันก็สามารถกระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านมได้ค่ะ 

 

แล้วผู้ชายไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่มีเนื้อหน้าอกเลย เขาจะมีเนื้อหน้าอกแต่มีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะอยู่เฉพาะบริเวณหัวนมและลานนม พอโดนฮอร์โมนตัวนี้เข้าไปกระตุ้นมันก็เลยสามารถกลายเป็นมะเร็งได้เหมือนกัน 

 

โรคที่จะเกิดจากการเสริมหน้าอกส่วนใหญ่ที่คุณหมอเคยเจอเป็นเคสอะไรบ้าง

 

หมอเบนซ์: ส่วนใหญ่ไม่ได้เจอจากโรคอะไรนะคะ จะเจอจากภาวะแทรกซ้อนจากตัวซิลิโคนเอง ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอที่เคยเสริมครั้งแรกแล้ววางในบางชั้นที่ไม่สวย การมาแก้แผล พังผืด เป็นพวกนั้นมากกว่า 

 

มือหมอสำคัญมาก

 

หมอเบนซ์: ใช่ค่ะ เราต้องบอกก่อนว่า 3 ปัจจัยที่ทำให้เคสเสริมความงามออกมาแล้วสวยไม่สวย เรื่องแรกก็คือฝีมือคุณหมอค่ะ

 

อย่างที่ 2 ตัวคนไข้ก็สำคัญ เช่น หมอ ก็จะขอคนไข้ว่าไม่อยากให้ยกของหนักในช่วงหนึ่งเดือนแรก

 

ให้ดูแลแผลที่เหมาะสม หรือว่าการใส่เสื้อกระชับอย่างน้อย 3 เดือน 

อีกอันก็คือตัวซิลิโคน เพราะว่าความนุ่มหยุ่นของซิลิโคนแต่ละยุคไม่เหมือนกัน
แล้วก็เชลล์ของตัวซิลิโคนก็มีผลในแง่ความแข็งแรง อย่างยุคก่อนก็จะเป็นถุงน้ำเกลือค่ะ เวลามันแตกมันก็จะเกิดการรั่วออกไปหมดเลย แล้วเจลในซิลิโคนยุคแรกๆ เวลามันแตกมันก็จะกระจายออกไป ปัจจุบันมันจะพยายามฟอร์มด้วยตัวเอง ถ้าลองเอาซิลิโคนมากรีดมันก็ยังจะพยายามคงเป็นทรงอยู่

 

@drbenz.korawan ซิลิโคนแตก!!เรื่องที่ใครก็กลัว แต่ถ้ารู้ว่าจะต้องรับมือยังไงก็สบายใจกว่า… เซฟคลิปเก็บไว้ได้เลย #หมอเบนซ์ #หมอเบนซ์เน้นนม #หมอนมอารมณ์ดี #เสริมหน้าอกกับหมอเบนซ์ #ตัวแม่เรื่องนม ♬ เสียงต้นฉบับ – หมอเบนซ์เน้นนม (DoctorBenz) – หมอเบนซ์เน้นนม DoctorBenz

 

จริงไหมคะที่ถ้าทำหน้าอกแล้วจะต้องมาเปลี่ยนซิลิโคนทุก 10 ปี 

 

หมอเบนซ์: อย่างแรกคือต้องมาเช็กก่อนค่ะว่าซิลิโคนคู่นั้นที่เคยใส่ไว้ในอดีตไม่ได้มีการแตกรั่วร้าว ถัดมา จากประสบการณ์ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเสริมหน้าอกในช่วงระยะเวลาอายุประมาณ 20 กลางๆ ถึง 30 ต้นๆ พอผ่านความเป็นคุณแม่มันอาจจะไม่สวยเหมือนเดิมเลยมาแก้มากกว่า

แต่ก็มีเคสที่ไม่ต้องแก้เหมือนกัน 

 

หมอเบนซ์: มีค่ะ เจอเคสที่ใส่ไปจน 60-70 ปี แล้วก็ยังแฮปปี้อยู่ การใส่ซิลิโคนไม่จำเป็นว่าจะต้องแก้ในทุกราย แต่ยังต้องมาเช็กเป็นประจำค่ะ

 

หมอเบนซ์เคยเจอเคสแก้ที่ยากๆ ไหม

 

หมอเบนซ์: เคยเจอ 2 แพตเทิร์นที่รู้สึกว่ายากค่ะ อย่างแรกคือ ติดเชื้อ
ไม่ว่าจะฉีดสารเหลวมาแล้วมีภาวะแทรกซ้อน อันนี้ก็เรียกว่าโหด ซึ่งกลุ่มนี้เนี่ยถ้าเจอปุ๊บต้องพักนมอย่างเดียวเลย 

 

บางคนเคยฉีดสารเหลวแล้วเอาสารเหลวออกไม่หมด เสริมซิลิโคนเข้าไปติดเชื้อ มันก็นัวๆ นะ อีกเคสคือซิลิโคนแตก ไม่ว่าจะแตกด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ถ้าซิลิโคนแตกส่วนใหญ่ แนะนำให้เอาออกแล้วพักนมก่อนค่ะ ให้มันพ้นเรื่องภาวะติดเชื้อก่อนแล้วค่อยกลับมาเสริมคืน

อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากเสริมหน้าอก

 

หมอเบนซ์: นอกจากเรื่องคุณภาพซิลิโคน คุยกับหมอเจ้าของไข้ให้ชัดเจน เลือกหมอที่ไว้ใจได้ อีกอันหนึ่งที่เจอปัญหาเยอะก็คือผ่าตัดเสริมแบบฉีดยาหลับ ไม่มีวิสัญญีแพทย์ดูแลหรือว่าหลังผ่าตัดมีการดูแลที่ไม่ดี ยุคเก่าๆ ที่เขาบอกว่าเสริมหน้าอกทีเจ็บเหมือนโดนสิบล้อทับ ยุคนี้มันไม่เจ็บแล้วค่ะ มันน่าจะมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการทำเสร็จแล้วกลับบ้านเลยเย็นนั้น

 

กลับไปพักฟื้นเองที่บ้านได้รับยาแก้ปวดไม่ดีพอ คือต้องบอกว่าสวยแล้วไม่จำเป็นต้องรันทดขนาดนั้นค่ะ 

 

ยุคปัจจุบันเนี่ยโดยมาตรฐานก็ควรจะดมยาสลบ โดยวิสัญญีแพทย์ ผ่าตัดในโรงพยาบาล หรือสถานที่ที่ปลอดภัย

 

@drbenz.korawan ถ้าคิดจะเสริมหน้าอก เลือกให้ดีเพราะค่าแก้แพงกว่าทำครั้งแรกเย๊อะ… #รีวิวเสริมหน้าอก #หมอเบนซ์เน้นนม #หมอนมอารมณ์ดี #หมอเบนซ์ ♬ เสียงต้นฉบับ – หมอเบนซ์เน้นนม (DoctorBenz) – หมอเบนซ์เน้นนม DoctorBenz

 

จริงไหมที่ว่าการทำหน้าอกราคาถูกและดีนั้นไม่มีอยู่จริง 

 

หมอเบนซ์: ถูกและดีไม่มีจริงค่ะ เพราะว่าทุกอย่างมีต้นทุน เราก็ต้องคุยกันว่าซิลิโคนหนึ่งคู่ มีราคา ห้องผ่าตัดมีราคา ถ้าราคามันถูกแปลกๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามันมีอะไรที่ไม่ตรงไปตรงมาหรือเปล่า

 

เราเจอหลายๆ เคสที่มีปัญหา ไม่กล้ากลับไปหาคุณหมอท่านแรก แล้วก็ไปหาคุณหมอท่านที่ 2 ท่านที่ 3 เพื่อแก้ แล้วก็เจอว่า ทำไมมันแพงจัง ท่านแรกทำถูกจังเลย และก็มีเคสที่ทำหน้าอกแล้วดับซึ่งเกิดจากการดูแลไม่ทั่วถึง เช่น คุณหมอที่ทำเป็นคนเดียวกับที่ดมยา ต้องดูเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญค่ะ 

 

มาพูดถึงเทรนด์กันบ้าง ก่อนหน้านี้มีเทรนด์กิน Bee Pollen หรือเกสรผึ้ง เพื่อเพิ่มไซส์หน้าอก มันช่วยได้จริงเหรอ

หมอเบนซ์: มันเป็นข้อมูลทาง Anti-aging ค่ะ ส่วนใหญ่พวกนี้จะเป็นศาสตร์ทาง Supplement ต้องบอกว่ากลุ่มข้อมูลมันยังมีน้ำหนักไม่มากพอ คงไม่สามารถบอกได้ชัดว่าดีขึ้นได้สักเท่าไร แล้วขึ้นอยู่ที่บุคคลด้วย



ทิ้งท้ายถึงการตรวจมะเร็งเต้านม

หมอเบนซ์: มะเร็งเต้านมถ้ารู้เร็วรักษาได้ จะดีที่สุดถ้าเราไม่ต้องกังวลฟรี
คือการปล่อยไว้ให้กังวลฟรีเต็มไปด้วยข้อเสียไปหมดเลย แล้วก็ไม่ได้คำตอบด้วยค่ะ ไปเช็กดีกว่า หมอผู้หญิงเดี๋ยวนี้เยอะขึ้นค่ะ 

 

อยากจะฝากว่า โรคทางเต้านมเป็นโรคที่ไม่ควรละเลย ไม่มีใครเสียชีวิตจากสาเหตุหลักๆ ของโรคของตัวเต้านมหรอกค่ะ แล้วมันก็เป็นอวัยวะที่อยู่ค่อนข้างผิว ถ้าเราใส่ใจดูแลเขา หมั่นคลำเต้านม เช็กอัพตามรอบ สุขภาพของเต้านมที่ดีอยู่กับทุกคนได้แน่นอนค่ะ

 

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง (ว.47202)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising