วันนี้ (22 เมษายน) พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีนอนุมัติเงิน 120 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จากเหตุตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม โดยจะประสานผ่านทางกระทรวงยุติธรรม ว่า เป็นข้อมูลจากพนักงานสอบสวนในชั้นคำให้การ ไม่เกี่ยวกับคดีอาญา ซึ่งก็ว่าไปตามกฎหมาย แต่เกี่ยวกับเรื่องมนุษยธรรมและความเสียหาย ซึ่งทางบริษัทจีนมีเจตนาช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำร่วมกับบริษัท อิตาเลียนไทย
ทั้งนี้ เงินเยียวยาจะไม่มีผลในเรื่องการลดโทษ แต่เป็นเรื่องที่น่ายกย่องชื่นชม และรัฐบาลจีนคงได้มาปกป้องบริษัท เพราะเสียภาพลักษณ์ของประเทศจีน อีกทั้งทราบว่ารัฐบาลจีนได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตรวจสอบคนของเขาว่าทำถูกกฎหมายหรือไม่ รวมถึงสาเหตุของตึกถล่ม
ส่วนที่ ชวนหลิง จาง กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลจีนส่งมาลงทุนในไทย พ.ต.อ. ทวี ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจีนหรือคนไทย ก็ต้องอำนวยความยุติธรรม อีกทั้งรัฐบาลจีนพูดอยู่เสมอว่าเคารพกฎหมายไทย เชื่อว่าจะแทรกแซงไม่ได้ เพราะเรายึดตามกฎหมาย
พ.ต.อ. ทวีกล่าวอีกว่า ได้ผู้กระทำผิดครบแล้ว โดยมีคนไทย 3 คน และคนจีน 1 คน คดีนี้เนื่องจากอัตราโทษไม่สูง แต่ต้องเร่งสอบสวนให้เสร็จภายใน 4 ผัด ซึ่งจะแยกคดีออกจากกันระหว่างคดีตึกถล่ม, การจัดซื้อจัดจ้าง, ฮั้วประมูล และนอมินี
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่เกี่ยวเนื่อง คือ บริษัทเหล็ก ที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งเกิดเหตุช่วงปี 59-60 ก็ต้องดูว่าหลังจากปี 60 มีการซื้อเหล็กจากบริษัทนี้หรือไม่ โดยได้กำชับพนักงานสอบสวน ทำงานให้รอบคอบ
เอกนัฏโต้ ซิน เคอ หยวน ยืนยันตรวจสอบเหล็กเป็นไปตามมาตรฐาน
ด้าน เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการแถลงข่าว ของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY) เมื่อวานนี้ (21 เมษายน) ว่า สิ่งที่บริษัทแถลงชี้แจงฟังไม่ขึ้นเลยสักข้อ โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเครื่องมือไม่ได้มาตรฐาน ตรวจสอบได้แค่ค่าโบรอนตั้งแต่ 9-25 ppm เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก ซึ่งผู้อำนวยการสถาบันได้ยืนยันว่า อุปกรณ์ของสถาบันเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. โดยเฉพาะการเข้าไปตรวจครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2 567 ก่อนจะมีการสั่งปิดโรงงานที่ผลิต
ส่วนการที่บริษัทอ้างว่าไปฟังความคิดเห็นจากอดีตข้าราชการที่เกษียณแล้วของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นั้น เอกนัฏกล่าวว่า ขอให้ไปตรวจสอบดูให้ดี เพราะขณะนี้ตนก็จะตรวจสอบย้อนหลังไปให้ถึงปี 2561 ว่า SKY ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาอย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะเงื่อนไขการออก มอก. หากผลิตด้วยเตา IF จะต้องมีกระบวนการปรับปรุงน้ำเหล็กให้บริสุทธิ์ พร้อมแนะนำว่าใครที่ไปให้ข้อมูลให้คำปรึกษาก็ให้คำปรึกษาดีๆ รวมถึงทีมทนายควรจะไปซักลูกความให้ได้ข้อมูลทั้งหมดมาก่อน
เอกนัฏกล่าวอีกว่า SKY ได้ย้อนถึงวิธีการเก็บตัวอย่าง แต่จากการที่ตนไปตรวจสอบพบว่า มีจดหมายจาก SKY ถึง สมอ. ให้เข้าไปตรวจสอบตัวอย่างซ้ำหลายครั้ง แต่ผลก็ยังเหมือนเดิม ทั้งที่การรับรองมาตรฐานหากพบว่าค่าตกเพียงตัวเดียวก็ถือว่าตก แต่การตรวจสอบนี้พบว่าตกทั้งสามตัวอย่าง ทำให้เห็นว่า สิ่งที่แถลงเมื่อวานเป็นการพูดไม่หมด และยังไม่ตอบคำถามอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นฝุ่นแดงที่มีถึง 50,000 ตัน ทั้งที่ SKY แจ้งไว้แค่ 2,000 ตัน ซึ่งสืบพบว่า SKY มีความเชื่อมโยงกับบริษัทที่ลักลอบนำเข้าฝุ่นจากต่างประเทศ
เอกนัฏยังกล่าวด้วยว่า กำลังผลิตเหล็กของประเทศไทยสามารถผลิตได้ประมาณปีละ 4,000,000 ตัน เตา EAF ซึ่งเป็นเตาไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคุมคุณภาพได้มากกว่า สามารถผลิตเหล็กได้เกินความต้องการของตลาด ดังนั้นการยกเลิกการผลิตเหล็กโดยเตา IF นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องมลภาวะแล้ว ยังช่วยอุตสาหกรรมเหล็กด้วย เพราะระบบเตา IF หลายประเทศมีการยกเลิกไปแล้ว