วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีระดับโลกแห่ง Berkshire Hathaway ออกมาประกาศในจดหมายถึงนักลงทุนประจำปีเมื่อวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ว่า บริษัทของตนได้ ‘จ่ายภาษี’ ให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ ไปแล้วกว่า 1.01 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.4 ล้านล้านบาท นับตั้งแต่ที่เขาเข้ามากุมบังเหียนเมื่อ 60 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นสถิติการจ่ายภาษีที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ เลยทีเดียว
คำกล่าวของบัฟเฟตต์ในวัย 94 ปีมีขึ้นในขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะลดภาษีนิติบุคคลงอีกครั้ง หลังจากที่เคยลดภาษีครั้งใหญ่จาก 35% เหลือ 21% ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2017 โดยทรัมป์หมายมั่นปั้นมือที่จะลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงเหลือเพียง 15% เท่านั้น
Berkshire ภายใต้การนำทัพของบัฟเฟตต์ได้จ่ายภาษีในปี 2024 ปีเดียว สูงถึง 2.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9 แสนล้านบาท ซึ่งบัฟเฟตต์ถึงกับใช้คำว่า ตัวเลขนี้เป็น ‘สถิติที่ทำลายทุกสถิติ’ และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของภาษีทั้งหมดที่บริษัทอเมริกันจ่ายให้กับรัฐบาลกลางเมื่อปีที่แล้ว โดยยังไม่รวมภาษีที่จ่ายให้กับรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลต่างประเทศ
“ถ้า Berkshire ส่งเช็ค 1 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33.56 ล้านบาท) ให้กระทรวงการคลังทุกๆ 20 นาที ตลอดทั้งปี 2024 ลองจินตนาการภาพ 366 วัน 366 คืน เพราะปี 2024 เป็นปีอธิกสุรทิน เราก็ยังคงค้างชำระภาษีให้รัฐบาลกลางอีกก้อนโตอยู่ดี ณ สิ้นปี” บัฟเฟตต์กล่าวติดตลกในจดหมาย
ภาระภาษีของ Berkshire ในปี 2024 นั้นสูงกว่าภาษีที่บริษัทจ่ายในช่วง 5 ปีก่อนหน้ารวมกันเสียอีก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทขายหุ้น Apple Inc. และ Bank of America Corp. ซึ่งเป็นสองหุ้น ‘ขาใหญ่’ ในพอร์ตการลงทุนออกไปจำนวนมากเมื่อปีที่แล้ว จิม แชนาแฮน นักวิเคราะห์จาก Edward Jones ให้ความเห็น
“เขา (บัฟเฟตต์) กำลังโอ้อวดเรื่องภาษี แต่มันก็เป็นปีที่พิเศษจริงๆ” แชนาแฮนกล่าว “ผมไม่แน่ใจว่าเขากำลังจงใจเหน็บแนมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ไม่ค่อยจ่ายภาษีเงินสดหรือเปล่า แต่ถ้าให้ผมตีความระหว่างบรรทัด ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นแบบนั้น”
แคธี ไซเฟิร์ต นักวิเคราะห์จาก CFRA ก็ตีความคำพูดของปู่บัฟเฟตต์ไปในทิศทางเดียวกัน “ฉันคิดว่า ข้อความที่ซ่อนอยู่ก็คือ อย่าเหมารวมว่าบริษัทขนาดใหญ่หมื่นล้านดอลลาร์ทุกแห่งเหมือนกันหมด บางบริษัทก็จ่ายภาษีในส่วนที่ควรจ่าย”
ในรายงานประจำปีล่าสุด Berkshire รายงานผลกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 พุ่งขึ้น 71% โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ของรายได้จากการลงทุนในธุรกิจประกันภัย และผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจรับประกันภัย
สำหรับปี 2024 กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 4.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.6 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นเกือบ 27% จากปีก่อนหน้า
“Berkshire ทำผลงานได้ดีกว่าที่ผมคาดไว้” บัฟเฟตต์ระบุ “เราได้รับแรงหนุนจากกำไรก้อนโตที่คาดการณ์ได้จากรายได้จากการลงทุน เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวดีขึ้น และเราได้เพิ่มสัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์ระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูงเหล่านี้อย่างมาก”
อย่างไรก็ตาม ในจดหมายถึงนักลงทุนประจำปีบัฟเฟตต์เล่าว่า เมื่อครั้งที่เขาก้าวเข้ามาควบคุม Berkshire Hathaway ในปี 1965 บริษัทแห่งนี้เป็นเพียงโรงงานทอผ้าที่กำลัง ‘ระส่ำระสาย’ และไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้เลยในปีนั้น รวมถึงในช่วงทศวรรษก่อนหน้านั้นด้วย
แต่ในวันนี้ Berkshire Hathaway ได้กลายเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมธุรกิจหลากหลายกว่า 189 บริษัท มีพอร์ตโฟลิโอหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มูลค่า 2.72 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.13 ล้านล้านบาท และมีเงินสดในมือสูงถึง 3.34 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 11.2 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2024
บัฟเฟตต์กล่าวว่า ความสำเร็จของบริษัทส่วนใหญ่เป็นผลมาจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของอเมริกา ซึ่งเป็นระบบที่เขายอมรับว่ามีข้อบกพร่อง ‘ในบางแง่มุมแย่กว่าที่เคยเป็นมาด้วยซ้ำ’ แต่ก็ ‘สามารถสร้างปาฏิหาริย์ที่ไม่มีใครเทียบได้’ เมื่อเทียบกับรูปแบบเศรษฐกิจอื่นๆ
มหาเศรษฐีนักลงทุนยังกล่าวขอบคุณนักลงทุนของ Berkshire ที่เสียสละไม่รับเงินปันผล เพื่อนำรายได้กลับไปลงทุนในบริษัทต่อ โดยชี้ให้เห็นว่าบริษัทเคยจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ในปี 1967 เขากล่าวว่าจำไม่ได้ว่าทำไมถึงเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เขาบอกว่า “เหมือนฝันร้าย”
ในช่วงท้ายของจดหมายบัฟเฟตต์ได้เขียนข้อความถึง ‘ลุงแซม’ (Uncle Sam) ซึ่งเป็นชื่อเล่นที่ใช้เรียกแทนรัฐบาลสหรัฐฯ “สักวันหนึ่ง หลานๆ ของคุณที่ Berkshire หวังว่าจะส่งเงินให้คุณมากกว่าที่เราทำในปี 2024 จงใช้มันอย่างชาญฉลาด ดูแลผู้คนจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสที่ดีในชีวิตโดยที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด พวกเขาสมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านั้น”
ไซเฟิร์ตมองว่าความคิดเห็นดังกล่าวเป็น ‘การเหน็บแนมที่แยบยลแต่สำคัญ’ ต่อบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน
อ้างอิง: