×

AI (Augmented Intelligence): ถึงเวลาที่ผู้นำธุรกิจต้องลงมือทำ

07.02.2025
  • LOADING...

เทคโนโลยี AI ในวันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป การสำรวจ GenAI Dramatically Shifting How Leaders Are Charting the Course for Their Organizations โดยเคพีเอ็มจีในปี 2567 ซึ่งได้สำรวจผู้นำธุรกิจระดับสูงจากบริษัทที่มีรายได้เกิน 1 พันล้านดอลลาร์ทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า Generative AI (GenAI) คือ Game Changer ที่กำลังเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางธุรกิจของโลก โดยผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 83 ของผู้บริหารเชื่อว่าการลงทุนใน GenAI จะเพิ่มขึ้นในอีกสามปีข้างหน้า และสำหรับประเทศไทยเอง เราก็กำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน 

 

ดังนั้นบทความในวันนี้ผมจึงไม่ได้มุ่งเน้นในด้านความสามารถของ AI แต่เป็นมุมมองจากฟากฝั่งของธุรกิจในฐานะผู้ใช้งาน เพราะแม้จะเป็นที่ทราบกันว่า AI สามารถช่วยเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ แต่เพราะเหตุใดธุรกิจจึงยังคงมีความลังเล และระมัดระวังในการนำ AI มาใช้ รวมถึงแนวทางที่ท่านผู้นำสามารถนำไปปรับประยุกต์เพื่อให้ ‘มนุษย์’ กับ ‘AI’ ทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

ข้อจำกัดของธุรกิจที่ยังฉุดรั้งความก้าวหน้า

 

เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้อ่านบทความของ The Economist ที่ชี้ว่าในขณะที่บุคคลทั่วไปยอมรับเทคโนโลยี AI อย่างเต็มที่ แต่ภาคธุรกิจกลับดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยข้อมูลระบุว่าชาวอเมริกันถึงร้อยละ 39 มีการใช้งาน GenAI และร้อยละ 28 ใช้เทคโนโลยีนี้ในการทำงาน แต่มีเพียงร้อยละ 5 ของธุรกิจในสหรัฐฯที่ใช้เทคโนโลยี AI ในกระบวนการผลิตและให้บริการ 

 

ในส่วนของประเทศไทย การศึกษาความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับบริการดิจิทัล ปี 2567 โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA พบว่าการนำ AI มาใช้ในวงกว้างยังคงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับธุรกิจ มีเพียงร้อยละ 17.8 ขององค์กรเท่านั้นที่นำ AI มาใช้จริง โดยหลายแห่งยังคงอยู่ในขั้นทดลองนำร่อง 

 

ต่างจากยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่สนับสนุนการลงทุนใน AI อย่างจริงจัง ธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งระบบนิเวศ AI ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น จะมีความระมัดระวังอย่างมากต่อความไม่แน่นอน ผู้นำธุรกิจตระหนักถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจาก AI โดยเฉพาะความเสี่ยงทางกฎหมายและข้อบังคับ รวมถึงผลตอบแทนจากการลงทุนที่ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการนำ AI มาใช้ในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเชิงปฏิบัติอื่นๆ เช่น การขาดบุคลากรที่มีทักษะ โครงสร้างข้อมูลที่แข็งแกร่ง เป็นต้น

 

แม้การนำ GenAI มาใช้ยังมีความเสี่ยงที่อาจสร้างความกังวล แต่ผู้นำธุรกิจยังมีความกระตือรือร้นที่จะลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ การวิจัยของ ETDA ในประเทศไทยชี้ถึงความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าของธุรกิจไทยในศักยภาพของ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจ GenAI ปี 2567 ของเคพีเอ็มจีที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น

 

การผสาน AI เข้ากับธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์

 

ผมขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจในการนำ AI มาใช้งานในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าง KymChat เครื่องมือที่ใช้ AI เข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงการทำงานที่พัฒนาขึ้นโดยเคพีเอ็มจี ประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าถึงการใช้งาน GenAI อย่างปลอดภัยสำหรับการทำงาน เช่น การทำการวิจัย การสร้างคอนเทนต์ และการศึกษาเกี่ยวกับนโยบายของบริษัท ภายในหนึ่งปีหลังจากเปิดตัว KymChat มีผู้ใช้ในองค์กรมากถึง 10,000 คน สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการพัฒนาโซลูชัน AI ให้ตอบโจทย์ปัญหาทางธุรกิจและสนับสนุนเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ธุรกิจไทยสามารถนำแนวทางจากความสำเร็จของ KymChat มาปรับใช้ โดยอาจเปิดตัวการใช้งาน AI แบบเป็นระยะ (Phased Rollout Approach) เริ่มจากโครงการนำร่องและขยายออกไปทีละน้อย เพื่อศึกษาเรียนรู้ ปรับตัว และสร้างความมั่นใจให้แก่ธุรกิจในการขยายขอบเขตการใช้งาน ซึ่งจะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับผลตอบแทนจากการลงทุนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ 

 

ปัญญาประดิษฐ์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และการคำนึงถึงต้นทุน

 

ผมเชื่อว่าการบูรณาการเชิงกลยุทธ์ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน การเน้นแนวทางที่มุ่งเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และนำเครื่องมือ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมพลังให้กับพนักงาน รวมถึงการปรับมุมมองที่มีต่อ AI จาก ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เป็น ‘ปัญญาประดิษฐ์เสริม’ หรือ Augmented Intelligence ที่เน้นความร่วมมือระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี จะช่วยบรรเทาความกังวลว่าเทคโนโลยีอาจมาแทนที่มนุษย์ โดยเน้นศักยภาพในการทำงานร่วมกันว่า AI สามารถสนับสนุนและเพิ่มความสามารถของพนักงานได้อย่างไร การตั้งคำถามที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เช่น ปัญหาอะไรที่ AI สามารถช่วยแก้ไขเพื่อเพิ่มสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว จะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับกลยุทธ์ AI ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง

 

นอกจากนี้ ผมคิดว่าการใช้แนวทางในการวิเคราะห์ต้นทุนอย่างละเอียด จะช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากต้นทุนของการใช้ GenAI นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงและการใช้งาน หากแต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นที่ซ่อนอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการปรับโมเดลให้มีความเฉพาะเจาะจงกับงาน การตรวจจับและแก้ไขข้อผิดพลาด หรือค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นหากข้อผิดพลาดนั้นเล็ดลอดออกไป

 

ไม่เพียงเท่านั้น องค์กรยังควรให้ความสำคัญกับการแบ่งกระบวนการทางธุรกิจออกตามประเภทของงานแต่ละงานอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถจัดลำดับความสำคัญในงานที่ผลประโยชน์นั้นชัดเจนมากกว่าต้นทุน โดยอาจเริ่มจากงานด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ต้องการการปรับแก้มาก เช่น การเขียนคอนเทนต์เพื่อการตลาด หรือการทำรายงานประจำวันแบบอัตโนมัติ และประเมินการใช้งานที่มีความเสี่ยงสูงอย่างรอบคอบ เช่น งานด้านกฎหมายหรือการเงิน เป็นต้น

 

บทสรุป

 

แม้จะมีความกังวลและความท้าทายในด้านต่างๆ ที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เกี่ยวกับศักยภาพของ GenAI ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วสำหรับธุรกิจไทยจะต้องลงมือทำ ด้วยการนำแนวทางเชิงกลยุทธ์และคำนึงถึงต้นทุนมาใช้ มุ่งเน้นไปที่โซลูชัน AI ที่มุ่งเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการเติมเต็มช่องว่างด้านทักษะ AI และมีแนวทางเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการนำไปใช้ คำถามสำคัญในวันนี้ คือ ธุรกิจไทยจะสามารถคว้าโอกาสนี้ไว้เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในยุค AI ได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าอนาคตเป็นของผู้ที่กล้าคว้าโอกาส และสำหรับผู้นำธุรกิจไทย โอกาสนั้นมาถึงแล้ว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising