×

เสียงสะท้อนธุรกิจ FMCG มองเศรษฐกิจปีนี้ไม่คึกคัก ยังห่วงกำลังซื้อต่างจังหวัด หลังรัฐบาลแจกเงินหมื่นไม่ช่วยกระตุ้น!

15.01.2025
  • LOADING...
เศรษฐกิจปีนี้

HIGHLIGHTS

  • เสียงสะท้อนจากธุรกิจสินค้าอุปโภค-บริโภครายใหญ่ มองภาพเศรษฐกิจ-กำลังซื้อปี 2568 ไม่คึกคักมากนัก ยังห่วงกำลังซื้อต่างจังหวัด หลังนโยบายรัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาท ไม่ช่วยกระตุ้น ย้ำชัดรายได้จะโตมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฝีมือการต่อสู้ในตลาด
  • พร้อมไขคำตอบ ทำไมสินค้ากลุ่มขนมที่ขาย 5-10 บาท ขึ้นราคาในร้านโชห่วยต่างจังหวัดไม่ได้ หลังมีแบรนด์เวเฟอร์รายหนึ่งขยับขึ้นจาก 5 บาท เป็น 6 บาท สุดท้ายไปไม่รอด ต้องกลับมาขาย 5 บาทเหมือนเดิม 
  • สวนทางธุรกิจอีเวนต์และค้าปลีกที่บรรยากาศคึกคัก รับอานิสงส์จากงานอีเวนต์ตรุษจีน-สงกรานต์ ช่วยกระตุ้นการจับจ่าย แม้กำลังซื้อไม่ดี แต่คนยังเก็บเงินซื้อบัตรคอนเสิร์ต 

ปี 2568 จะเป็นปีที่ท้าทายของนักธุรกิจไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อเศรษฐกิจโลกกำลังจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศยังคงซบเซา แม้ภาครัฐจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบแล้วก็ตาม

 

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมมาตรการแจกเงินของรัฐบาลถึงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่คาดหวัง เมื่อเม็ดเงินส่วนใหญ่กลับไหลออกนอกระบบในรูปแบบการชำระหนี้นอกระบบ แทนที่จะถูกใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว

 

แต่ท่ามกลางความท้าทายนี้ กลับมีธุรกิจบางกลุ่มที่ส่องแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิด โดยเฉพาะธุรกิจอีเวนต์และคอนเสิร์ตที่กำลังเฟื่องฟูสวนกระแส ด้วยการเติบโตที่ทะยานขึ้นกว่า 20% ในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องในปี 2568 สะท้อนให้เห็นว่าแม้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการใช้จ่าย แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะควักกระเป๋าเพื่อประสบการณ์ที่พิเศษและมีความหมาย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

 

ผู้บริโภคระมัดระวังมากขึ้น

 

วิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานธุรกิจในประเทศ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง หรือ SNNP ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในปี 2568 หลายสำนักประเมินเศรษฐกิจต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า GDP จะไม่ได้โตมากถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่ากังวลคือผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นกว่าต้นปีที่ผ่านมา เห็นได้จากในช่วงปลายปีที่ผ่านมาซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองก็ไม่ได้คึกคักเท่าที่ควรจะเป็น 

 

ดังนั้นในช่วงไตรมาสที่ 1 มองว่าไม่น่าจะมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนเศรษฐกิจโลกหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มองว่ามีผลต่อภาพเศรษฐกิจแน่ๆ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันการค้า แต่ของศรีนานาพรไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศ 

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือตลาดต่างจังหวัด กำลังซื้อยังไม่กลับมา แม้ภาครัฐจะแจกเงิน 10,000 บาทไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ก็ยังไม่เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่ภาครัฐคาดหวังเอาไว้ คนได้เงินมาไม่ได้นำไปใช้จ่าย โดยนำไปใช้หนี้นอกระบบแทน เม็ดเงินก็อยู่นอกระบบ 

 

“โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินกลับมาอยู่ในระบบให้มากที่สุด มาตรการดังกล่าวจึงไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควรจะเป็น แต่เหมือนเป็นการซื้อความสบายใจของผู้คนมากกว่า”

 

แนะเจ้าของธุรกิจระมัดระวังการใช้งบการตลาด

 

ขณะเดียวกันในมุมของธุรกิจและเจ้าของสินค้าต้องระมัดระวังเรื่องการใช้งบทำการตลาด จะไม่หว่านแหไปทุกช่องทาง แต่จะต้องทำแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทำแล้วจะต้องได้ยอดขายกลับมา เช่นเดียวกับศรีนานาพร ในครึ่งปีแรกของปีที่ผ่าน มา บริษัทเลือกไม่ใช้งบทำการตลาดของสินค้าเบนโตะเลย บริษัทระมัดระวังมาก ทำให้ยอดขายไม่โตขึ้น ครึ่งปีหลังจึงทำโฆษณาชุดใหม่ออกมา ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

 

 

สะท้อนให้เห็นว่าการใช้งบเพื่อสร้างการจดจำให้แบรนด์ยังสำคัญ เพียงแค่ต้องทำให้ตรงจุด ควบคู่กับจัดโปรโมชันอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งจะทำให้ไตรมาสแรกของปี 2568 ยอดขายบริษัทจะยังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง และต้องเดินหน้าออกสินค้าใหม่เพื่อกระตุ้นตลาด 

 

ปี 2568 จะได้เห็นสินค้าขึ้นราคาอีกหรือไม่

 

วิโรจน์กล่าวต่อไปว่า การขึ้นราคากลุ่มสินค้า 5-10 บาท ไม่ได้ขึ้นได้ง่ายๆ โดยเฉพาะกลุ่มขนมขบเคี้ยว ต้องยอมรับว่าถ้าขึ้นในโมเดิร์นเทรดไม่มีปัญหา แต่จะไปมีปัญหาในช่องทางร้านค้าโชห่วยในต่างจังหวัด ถ้าขึ้นราคาแล้วจะขายสินค้าได้ยากมาก

 

ยกตัวอย่างช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีกลุ่มขนมเวเฟอร์แบรนด์หนึ่งขยับราคาขึ้นจาก 5 บาท เป็น 6 บาท สุดท้ายต้องกลับมาขาย 5 บาทเหมือนเดิม เนื่องจากผู้บริโภคจะคุ้นชินกับการซื้อสินค้าราคาเดิม หากปรับขึ้นก็จะเปลี่ยนไปซื้อแบรนด์คู่แข่ง ทำให้ไม่มีแบรนด์ไหนกล้าปรับขึ้นราคา แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นก็ตาม บางแบรนด์พยายามปรับตัวด้วยการลดปริมาณสินค้าลง 

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะไม่ขึ้นราคาแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการจัดโปรโมชัน 1 แถม 1 สังเกตง่ายๆ บนเชลฟ์สินค้า ครีมอาบน้ำแบรนด์ไหนที่จัดโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 ลูกค้าจะเลือกซื้อเป็นอันดับแรกๆ 

 

รายได้สินค้าจะโตมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฝีมือการต่อสู้ในตลาด

 

ขณะที่มุมมองของ พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘มาม่า’ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ภาพรวมกำลังซื้อจะมีเรื่องเงิน 10,000 บาท ที่รัฐบาลเตรียมอัดฉีดเข้าระบบในระยะที่ 2 มองว่าจะช่วยกระตุ้นได้แค่ระยะเวลาสั้นๆ แต่ถ้าระยะยาวต้องเพิ่มรายได้และค่าแรง รวมถึงควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แซงรายได้ประชาชน กำลังซื้อก็คงไม่หดตัว 

 

ที่กระทบคือกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย แต่กลุ่มสินค้าจำเป็นยังไปได้ รายได้จะโตมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าสินค้าจะต่อสู้กับคู่แข่งในตลาดได้มากแค่ไหน ยิ่งในภาวะที่ต้นทุนสูง การจัดโปรโมชันอาจน้อยลง แต่ก็ต้องทำเพื่อดึงดูด 

 

“เช่นเดียวกับมาม่าเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย แต่บริษัททำการตลาดสื่อสารแบรนด์อย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโต 5%”

 

 

ปี 2568 ปีที่สดใสของธุรกิจอีเวนต์

 

ถึงธุรกิจอื่นๆ จะยังต้องระมัดระวัง แต่ในแง่ธุรกิจบันเทิงยังมีทีท่าที่สดใส เพราะ เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปี 2568 นับเป็นปีที่สดใสของธุรกิจอีเวนต์และคอนเสิร์ต จากปีที่แล้วอุตสาหกรรมเติบโตมากว่า 20% ปีนี้คาดว่าจะโตขึ้นอีก 

 

เนื่องจากประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการจัดงาน มีนิทรรศการที่สเกลใหญ่ที่สุดในประเทศ โรงแรมราคาไม่สูงมาก มีระบบการเดินทางสะดวก บวกกับเทรนด์ผู้บริโภคปัจจุบันไม่ได้อยู่แค่ในโลกออนไลน์อย่างเดียว แต่คนออกจากบ้านเพื่อรับประสบการณ์ใหม่ๆ มากขึ้น

 

จากปัจจัยทั้งหมดจะสร้างอานิสงส์ให้กับธุรกิจอีเวนต์และงานคอนเสิร์ตอย่างมากทั้งปี จำนวนงานจะมากขึ้น แม้หลายคนจะบอกว่าผู้คนระมัดระวังการจับจ่าย แต่เซ็กเมนต์คอนเสิร์ต การตัดสินใจซื้อจะขึ้นอยู่กับฐานแฟนคลับ ผู้จัด และสถานที่จัดงาน จริงๆ แล้วกลุ่มคนที่ดูคอนเสิร์ตมากที่สุดคือผู้หญิง ถ้ารู้ว่าจะมีศิลปินที่ติดตามและชื่นชอบเข้ามาก็จะเริ่มเก็บเงินหรือลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่น เพื่อนำมาซื้อบัตรคอนเสิร์ต 

 

“ปีนี้เรากังวลเรื่องความมั่นคงทางการเมือง ถ้ารัฐบาลสะดุดอาจกระทบกับความเชื่อมั่นต่างๆ ก็ต้องจับตาดูนโยบายอีกหลายๆ เรื่องที่รัฐบาลทำ ผลลัพธ์ก็เริ่มทยอยออกมาให้เห็นกัน ส่วนอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าปีนี้จะมีอีเวนต์กี่งาน แต่บริษัทอยากได้งานสเกลใหญ่ที่ทำแล้วสร้างอิมแพ็กต์ได้มาก” เกรียงไกรย้ำ

 

 

ค้าปลีกคึกคักจากงานอีเวนต์ ช่วยกระตุ้นการจับจ่าย

 

ด้าน วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ฉายภาพว่า ภาพรวมการจับจ่ายในภาคค้าปลีกปี 2568 มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีงานอีเวนต์ปีใหม่ วันเด็ก ตามด้วยมาตรการ Easy e-Receipt 2.0 และวันตรุษจีน โดยงานทั้งหมดเข้ามาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในไตรมาสแรกให้คึกคักมากขึ้น 

 

สอดคล้องกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคบริการที่คาดว่าจะเติบโตราว 4.0% ซึ่งน่าจะมาจากการกระตุ้นการใช้จ่ายและการกระตุ้นการท่องเที่ยวของทุกภาคส่วน

 

ถึงแม้ธุรกิจจะยังเห็นสัญญาณบวกของการเติบโต แต่ยังต้องตั้งรับความท้าทายของทิศทางเศรษฐกิจโลก หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ มองว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งต้องจับตาดูนโยบายต่างๆ ว่าจะกระทบกับประเทศมากน้อยแค่ไหน

 

รวมถึงปัจจัยของราคาสินค้าที่อาจเพิ่มขึ้นด้วยต้นทุนต่างๆ รวมไปถึงการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่อาจกระทบกับ SME ด้วยความไม่แน่นอนหลายอย่าง เดอะมอลล์ต้องปรับตัวในเชิงกลยุทธ์ จะต้องโฟกัสแค่สิ่งสำคัญ มีแผน 1 แผน 2 อยู่ตลอด ควบคู่ไปกับการรัดเข็มขัดเพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆ รอบด้าน 

 

เหล่านี้ทำให้ปี 2568 ถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่ต้องเผชิญกับสมการอันซับซ้อนระหว่างต้นทุนที่พุ่งสูง กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่น การปรับตัวและความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินว่าใครจะเป็นผู้อยู่รอดในสนามรบทางธุรกิจที่ดุเดือดนี้

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising