ช่วงนี้มีเรื่องราวข่าวสารที่สะเทือนอารมณ์มากมาย ทั้งข่าวเศร้าจากกรณีการเสียชีวิตของนักแสดงสาว แตงโม นิดา ข่าวคราวของสถานการณ์โรคระบาดโควิด รวมถึงข่าวใหญ่ระดับโลกระหว่างยูเครนและรัสเซีย แน่นอนว่าเมื่อติดตามข่าวสารของสถานการณ์ต่างๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจนมากเกินไป ย่อมมีความรู้สึกกังวล มีอารมณ์ร่วม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตามกลไกธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเผชิญกับเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก แต่หากไม่มีการจำกัดการเสพข่าวสารอย่างพอดี อาจส่งผลทำให้เกิดความกังวลและเครียดมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อการนอนหลับ และทำให้ประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตลดลง คุณอาจทำงานแบบไม่สมาธิ เกิดความตื่นตระหนก อ่อนล้า เพราะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับ
ทางด้าน ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันในโลกโซเชียลมีการรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็ว และบางข่าวอาจทำให้เรามีอารมณ์ร่วม โดยบางคนอาจคิดว่าเรื่องราวที่เสพอยู่มีบางอย่างเหมือนตัวเอง พออ่านแล้วรู้สึกโกรธ เสียใจ หงุดหงิด จึงทำให้ผู้ที่เสพข่าวมีอารมณ์ร่วมกับข่าวนั้นๆ และติดตามข่าวนั้นไปเรื่อยๆ จนสะสม เมื่อเราอ่านหรือติดตามข่าวนานๆ อยู่ในโลกออนไลน์ 2-3 ชั่วโมง แล้ววนอยู่อย่างนั้นซ้ำๆ อาจทำให้อารมณ์เรารุนแรงมากขึ้น มีการจินตนาการและระแวง ทำให้เกิดความวิตกกังวลและรู้สึกโกรธไปด้วย ซึ่งควรพักและจำกัดเวลาการเสพโซเชียลเพื่อปรับอารมณ์ให้เป็นปกติ ไม่เครียดเกินเหตุจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน ดังนี้
- จำกัดการเสพข่าวจากโซเชียล
- ไม่ควรวนเวียนกับข่าวที่ชวนให้รู้สึกหดหู่ เศร้า หรือรุนแรง
- ไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับคอมเมนต์ดราม่าซ้ำๆ
- เมื่อรู้สึกว่าเริ่มเครียด ให้หยุด และดึงตัวเองออกจากโซเชียลทันที
- หากิจกรรมอย่างอื่นที่นำไปสู่ความผ่อนคลาย
- ออกกำลังกายให้เหงื่อออก
- ดูหนัง ฟังเพลง และพักผ่อนให้อารมณ์ดี
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
อ้างอิง: