×

7 THINGS WE LOVE ABOUT PATAGONIA แบรนด์เสื้อผ้ากิจกรรมกลางแจ้งที่ยืนหยัดเรื่องความยั่งยืน

07.04.2024
  • LOADING...

หากใครเป็นสายกิจกรรมกลางแจ้งจะต้องรู้จักชื่อของ Patagonia แบรนด์เสื้อผ้าที่มีอายุกว่า 50 ปี กับโลโก้ภาพจำอย่างภูเขาและแบ็กกราวด์แถบสีม่วงน้ำเงิน แม้จะมีจุดเริ่มต้นและเป้าหมายเป็นแบรนด์สำหรับนักปีนเขา แต่ปัจจุบัน Patagonia มีไลน์เสื้อผ้าครอบคลุมหลากหลายกิจกรรม ตอบโจทย์กีฬาเกือบทุกประเภท จนกลายเป็นแบรนด์ที่มูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

นอกจากคุณภาพสินค้าและงานดีไซน์ที่ถูกใจผู้บริโภคแล้วนั้น Patagonia ยังโดดเด่นในการสร้างธุรกิจที่มีหัวใจหลักเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ นำโดย Yvon Chouinard ผู้ก่อตั้ง Patagonia ประกาศยกบริษัทของตัวเองให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อต่อสู้กับวิกฤต Climate Change หรือวิกฤตการณ์โลกร้อนอย่างจริงจัง กระชากกระแสสร้างภาพลักษณ์รักษ์โลกแบบฉาบฉวยของแบรนด์อื่นๆ

 

วันนี้ THE STANDARD POP จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับแบรนด์ Patagonia ถึงที่มาที่ไปและทำไมถึงได้กลายเป็นแบรนด์ที่ยืนหยัดเรื่องความยั่งยืน

 


 

HOW IT STARTED 

 

จุดเริ่มต้นของ Patagonia มาจากชายนาม Yvon Chouinard หนุ่มชาวอเมริกันผู้หลงใหลการปีนเขาเป็นชีวิตจิตใจ เขานำความรู้เรื่องการตีเหล็กจากพ่อมาต่อยอดในการทำธุรกิจผลิตหมุดปีนเขาจนได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนในปี 1970 เขากลายเป็นเจ้าของบริษัทอุปกรณ์ปีนเขาเจ้าใหญ่ในอเมริกา ภายหลังเมื่อเขารู้ว่าหมุดของเขาสร้างผลกระทบต่อภูเขา Yvon จึงใช้เวลากว่าสองปีในการค้นคว้าออกแบบหมุดที่ใช้สำหรับเกี่ยวกับร่องหินโดยไม่เจาะเข้าไปในภูเขา ต่อมาไม่นาน Yvon เริ่มนำเอาเสื้อสไตล์รักบี้มาใส่ปีนเขาจนได้รับความสนใจจากนักปีนเขาคนอื่นๆ จากเนื้อผ้าที่แข็งแรงและทนทานต่อสภาพอากาศ เมื่อเขาเล็งเห็นจุดนี้จึงเกิดไอเดียผลิตเสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งตามมา และยังเขายังเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Chouinard Equipment สู่ Patagonia 

 

 


 

BEHIND THE NAME PATAGONIA 

 

ที่มาของชื่อ Patagonia มีแรงบันดาลใจมาจาก Fitz Roy หุบเขาแห่งหนึ่งในภูมิภาค Patagonia ของประเทศอาร์เจนตินาที่เขาได้ไปสำรวจมา หลังจากที่ Yvon ได้เดินทางไปทวีปอเมริกาใต้เพื่อปีนเขาตามหุบเขาชื่อดังในแถบประเทศอาร์เจนตินาและประเทศชิลี ซึ่งหุบเขาดังกล่าวได้กลายเป็นพื้นหลังตั้งตระหง่านให้กับชื่อ Patagonia ในขณะที่พื้นหลังด้านบนแถบน้ำเงินม่วงซึ่งมาจากสีของท้องฟ้ายามเย็นเป็นช่วงเวลาที่เขาได้แรงบันดาลใจและตกตะกอนในการทำแบรนด์นี้นั่นเอง ในปี 1973 จึงเป็นปีที่แบรนด์ Patagonia เปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมเป้าหมายมุ่งลดการทำลายธรรมชาติและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม 

 

 


 

SUSTAINABLE MATERIAL

 

เพื่อขานรับกับนโยบายที่ตนเองตั้งใจ Patagonia เริ่มต้นกระบวนผลิตตั้งแต่การใช้โรงงานที่ใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ รวมถึงการปรับสำนักงานให้เป็นอาคารสีเขียว อาคารสำนักงานที่ผ่านประเมินคะแนนวัดระดับอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) สินค้าของ Patagonia ใช้วัสดุหลักเป็นผ้าฝ้าย 100% ในการผลิตเสื้อผ้าและกว่า 70% สินค้าของแบรนด์ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล เช่น ไนลอน ขนสัตว์ หรืออวนจับปลา ที่ครั้งหนึ่ง Patagonia นำมาใช้ผลิตแจ็กเกตผ้านวม และขวดน้ำพลาสติกกว่า 10 ล้านใบมาแปรสภาพเป็นกระเป๋าสุดฮิตรุ่น Black Hole ซึ่งในอนาคต Patagonia วางแผนจะใช้วัสดุรีไซเคิล 100% ในการผลิตสินค้าของแบรนด์ 

 

 


 

WORN WEAR 

 

อีกหนึ่งแคมเปญและกลยุทธ์การขายที่ชูเรื่องความยั่งยืนของ Patagonia คือการออกแพลตฟอร์มชื่อ ‘Worn Wear’ บริการที่เปิดโอกาสให้ลูกค้านำเสื้อผ้าที่ซื้อไปของ Patagonia มาส่งซ่อมได้ หรือบริการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ซื้อไปแล้วไม่ชอบเป็นเงินแล้วซื้อของชิ้นใหม่ในร้านได้ แต่ถ้าชิ้นไหนเกินเยียวยาทางแบรนด์จะขอนำสินค้าชิ้นนั้นไปใช้รีไซเคิลในภายหลัง แพลตฟอร์ม Worn Wear มีศูนย์ซ่อมมากกว่า 70 แห่งทั่วโลก แถมยังบริการขับรถไปซ่อมเสื้อผ้าให้ถึงหน้าบ้าน ซึ่งบริการดังกล่าวสามารถซ่อมได้สูงสุดกว่าแสนชิ้นต่อปีเพื่อยืดอายุการใช้งานของสินค้าทุกชิ้นของแบรนด์ Patagonia และลดการทิ้งสินค้าของลูกค้าทุกคน 

 

 


 

‘DON’T BUY THIS JACKET’

 

โฆษณาที่ไวรัลที่สุดของ Patagonia คือ ‘Don’t Buy This Jacket’ สโลแกนโฆษณาที่พยายามบอกผู้บริโภคว่าอย่าซื้อหากคุณไม่ต้องการมันจริงๆ โฆษณาตัวนี้มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนขยะและกระบวนการผลิตที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ซื้อเกินความจำเป็น แม้ว่าแบรนด์จะใช้กลยุทธ์นี้เพื่อต่อต้านการเติบโต แต่เปล่าเลยกลับยิ่งทำให้ Patagonia โด่งดังและเป็นที่ต้องการมากขึ้น เมื่อผู้บริโภคยิ่งเข้าใจถึงสินค้าและจุดยืนของ Patagonia ทำให้ลูกค้ารู้สึกดีและสร้างภาพลักษณ์ที่โปร่งใส กลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์ Patagonia จนทุกวันนี้  

 

 


 

SUSTAINABLE COMMUNITY 

 

แบรนด์ Patagonia เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสำนักอยู่หลายประเทศทั่วโลก มีร้านค้ากว่า 70 แห่งใน 20 ประเทศ และมีพนักงานกว่า 3,000 คนทั่วโลก บริษัท Patagonia ขึ้นชื่อในเรื่องการบริหารคนด้วยวัฒนธรรมองค์กรแบบ Un-Company นั่นคือการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรต่อเพื่อนร่วมงาน โดยส่งเสริมให้พนักงานทุกคนออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้ชีวิตแบบฉบับของตัวเอง แถมยังมีนโยบายให้พนักงานผู้ชายมีวันพักร้อนสำหรับช่วยภรรยาเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน ที่นี่ยังเปิดกว้างเรื่องสิทธิของทุกคนอีกด้วย พนักงานทุกคนสามารถเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ และถ้าหากโดนจับบริษัทก็พร้อมที่จะประกันตัวและชำระค่าใช้จ่ายทางกฎหมายให้อีกด้วย 

 

 


 

EARTH IS NOW OUR ONLY SHAREHOLDER 

 

ในปี 1985 แบรนด์ Patagonia ได้ก่อตั้งโครงการ 1% for the Planet เพื่อมอบเงินจากยอดขายหมด 1% ให้กับองค์การด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2022 เมื่อ Yvon ประกาศมอบธุรกิจมูลค่ากว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของเขาให้กับองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อม โดยเขาได้ทิ้งท้ายด้วยวลีดัง ‘ณ เวลานี้โลกเป็นหุ้นส่วนเดียวของเรา’ เขาเลือกไม่ผลักดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่เลือกโอน 2% ให้กับองค์กรที่ชื่อว่า Patagonia Purpose Trust เพื่อดำรงกิจการบริษัทแฟชั่นรักษ์โลกต่อ และอีก 98% ให้กับองค์กรการกุศลชื่อ Hold Fast Collective โดยมีเงินปันผลมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อสนับสนุนองค์กรต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วน เช่น Climate Change 

 

 

ภาพ: Courtesy of Patagonia / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising