×

7 Things We Love About LVMH เบื้องหลังบริษัทแฟชั่นและลักชัวรีเบอร์หนึ่งของโลก

19.02.2023
  • LOADING...

หากใครติดตามข่าวธุรกิจแฟชั่นจะต้องคุ้นชื่อของ Bernard Arnault อย่างแน่นอน ชายผู้รวยที่สุดในโลกคนใหม่หลังที่เขาสามารถโค่น Elon Musk ลงไปอยู่อันดับสองได้ในการจัดอันดับมหาเศรษฐีรวยที่สุดของโลกประจำปีที่ผ่านมา ซึ่ง Bernard Arnault เป็นเจ้าของเครือบริษัท LVMH ซึ่งเป็นอาณาจักรของแบรนด์แฟชั่นและลักชัวรีหรูชั้นนำของโลก เช่น Christian Dior, Louis Vuitton, Givenchy, Celine, Tiffany & co., Bulgari และอีกมากมาย โดยเขามีทรัพย์สินอยู่ที่ 1.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.56 ล้านล้านบาท

 

Bernard Arnault เป็นเจ้าของธุรกิจประเภทแฟชั่นคนเดียวเท่านั้นที่ติดท็อป 10 ซึ่งนั่นเป็นตัวชี้วัดได้เลยว่า LVMH ในอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลแค่ไหน ซึ่งวันนี้ THE STANDARD POP จะพาทุกคนไปเจาะลึกเกี่ยวกับเครือบริษัทมหาชนแฟชั่นทรงอิทธิพล LVMH ให้ผู้อ่านทุกคนได้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น 

 

 

THE RISE OF LVMH

LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton หรือที่รู้จักสั้นๆ ในชื่อ LVMH คือเครือบริษัทมหาชนจากประเทศฝรั่งเศสซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าลักชัวรีชั้นนำทั่วโลก ปัจจุบันเจ้าของคือ Bernard Arnault นักธุรกิจชาวฝรั่งเศส เขาเติบโตในครอบครัวที่ร่ำรวยอยู่แล้วโดยมีคุณพ่อผู้ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ Ferret-Savinel หลังจากเรียนจบในสาขาวิศวกรรมศาสตร์เขาช่วยงานของครอบครัวจนกระทั่งในช่วง 1980 ที่เขาเริ่มสนใจการทำธุรกิจบริหารสินค้าลักชัวรี 

 

เขาตัดสินใจซื้อบริษัท Agache-Willot-Boussac ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่น Christian Dior และห้างสรรพสินค้า Bon Marche ในเวลานั้น ทั้งสองธุรกิจกำลังอยู่ในขาลงแต่ Bernard Arnault เปลี่ยนวิธีการบริหารและทำการตลาดใหม่ทั้งหมดจนสามารถกลับมาทำกำไรได้สำเร็จ จุดนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนเมื่อ Bernard Arnault มีเป้าหมายที่อยากสร้างอาณาจักรแฟชั่นแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และนั่นยังหมายถึงการกว้านซื้อแบรนด์ให้มากที่สุดมาไว้ในบริษัท ในปี 1989 เขาขึ้นแท่นควบผู้ถือหุ้นรายใหญ่และประธานบริษัทของ LVMH หลังจากเข้าซื้อหุ้นด้วยมูลค่าสูงถึง 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน LVMH ถือครองแบรนด์ในเครือมากกว่า 75 แบรนด์ ครอบคลุมตั้งแต่สินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง เครื่องสำอางและน้ำหอม เครื่องประดับและนาฬิกา ร้านค้ารีเทล และอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย 

 

 

HUB OF LUXURY BRANDS

LVMH มีแบรนด์แฟชั่นและเครื่องประดับลักชัวรีรวมกันมากกว่า 20 แบรนด์ ไม่ต้องสงสัย Bernard Arnault เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอีกครั้งของห้องเสื้อเก่าแก่อย่าง Christian Dior ด้วยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปจนถึงดีไซเนอร์ทำให้แบรนด์นั้นเป็นที่ต้องการจวบจนทุกวันนี้ เช่นเดียวกับ Celine ที่แม้จะเสียฐานลูกค้าเก่าไปหลังจาก Phoebe Philo ลาออก (ล่าสุดเขาได้ลงทุนเปิดแบรนด์ใหม่ให้เธอที่มีกำหนดเปิดตัวปีนี้) แต่ก็ได้ Hedi Slimane มาช่วยยกเครื่องใหม่และเรียกฐานลูกค้าเจนใหม่มาแทน ผนวกกับป๊อปคัลเจอร์ของ K-Pop อย่าง Lisa Blackpink ยิ่งช่วยกระตุ้นยอดขายทวีคูณขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับ Bulgari แบรนด์เครื่องประดับสุดหรูที่ได้นักร้อง K-Pop คนเดียวกันมาช่วยกระชากภาพลักษณ์ให้เข้าถึงง่ายขึ้น 

 

ในปี 2021 เครือ LVMH ทุ่มเงินกว่า 15.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซื้อกิจการของบริษัทจิวเวลรีสัญชาติอเมริกัน Tiffany & Co. หลังจากเจรจากันมานานตั้งแต่ปี 2019 พร้อมปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้แบรนด์กลับมาผงาดและเป็นที่พูดถึงอีกครั้งได้ ด้วยหัวธุรกิจที่เฉียบคม Bernard Arnault มักจะซื้อหุ้นแบรนด์แฟชั่นที่เขาเห็นว่าสามารถไปได้อีกไกล และเมื่อเห็นว่าบริหารแล้วเวิร์กเขาจะซื้อมาไว้ในเครือ LVMH ทันที เช่น Tod’s แบรนด์เครื่องหนังจากอิตาลีที่เขาซื้อหุ้นเพิ่ม รวมถึง Off-White ที่เขาซื้อหุ้นไปกว่า 60% 

 

 

GROWING HOSPITALITY BUSINESS

อีกหนึ่งประเภทธุรกิจที่ LVMH กำลังรุกหนักไม่แพ้ประเภทอื่นๆ นั่นก็คืออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโรงแรมหรู ซึ่งจัดอยู่ในประเภท Other Activities หรือธุรกิจอื่นๆ LVMH ปัจจุบันเป็นเจ้าของโรงแรม Bulgari Hotels & Resorts ซึ่งมีทั้งหมด 6 สาขา เช่น ลอนดอน ดูไบ และมิลาน และมีแผนจะเปิดเพิ่มอีกเร็วๆ นี้ และยังเป็นเจ้าของเชนโรงแรมหรู Cheval Blanc อีก 4 สาขาทั่วโลก 

 

ในปี 2018 เครือ LVMH ทุ่มเงินกว่า 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กว้านซื้อกิจการ Belmond เครือธุรกิจโรงแรม การรถไฟ และร้านอาหารสุดหรู การที่ได้ Belmond มาอยู่ในมือจะยิ่งทำให้ธุรกิจสายท่องเที่ยวของ LVMH แข็งแรงมากขึ้น เพราะ Belmond มีธุรกิจการท่องเที่ยวใน 24 ประเทศทั่วโลก ยังไม่หมดแค่นั้นแบรนด์หรูในเครือของ LVMH เริ่มขยายกรอบสินค้าให้มีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น จะเห็นได้จากบูติกใหญ่ๆ ของแบรนด์แฟชั่นเริ่มปรับรีโนเวตให้มีร้านอาหารหรือร้านกาแฟตามหัวเมืองสำคัญของโลก นี่ก็เป็นอีกวิธีการขยายธุรกิจประเภท Hospitality ของ LVMH เช่นกัน 

 

 

BUILDING LOUIS VUITTON

จุดเริ่มต้นของ Louis Vuitton มาจากธุรกิจครอบครัวผลิตกระเป๋าหนังมานานกว่า 100 ปี จนกระทั่งในปี 1970 เมื่อทายาทรุ่นที่ 4 นาม Henry Racamier เข้ามาพลิกโฉมให้ Louis Vuitton กลายเป็นแบรนด์หรูในฝรั่งเศสจากที่เคยมีแค่ 2 สาขาในฝรั่งเศสเท่านั้น เขาสามารถขยายให้มีร้านกว่า 135 สาขาทั่วโลก จนกระทั่งในปี 1987 เมื่อ Louis Vuitton ตัดสินใจร่วมธุรกิจ Moët Hennessy (MH) บริษัทแชมเปญชื่อดัง และเป็นที่รู้กจักในนาม LVMH นั่นเอง 

 

ในปี 1997 เมื่อ Bernard Arnault อยากปรับภาพลักษณ์ของ Louis Vuitton ให้เป็นแบรนด์แฟชั่นมากขึ้นเขาดึงตัว Marc Jacobs เข้ามาทำหน้าที่ครีเอทีฟไดเรกเตอร์และได้เปลี่ยนโฉมหน้าของ Louis Vuitton จากหน้ามือเป็นหลังมือ Marc Jacobs สร้างโมเมนต์สุดปังมากมายระหว่างที่เขารับหน้าที่ หนึ่งในไฮไลต์คือการทำคอลลาบอเรชันกับศิลปินมากมาย จนกระทั่งในปี 2013 ที่ Nicolas Ghesquière มารับช่วงต่อจนถึงปัจจุบัน ส่วนฝั่ง Menswear ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน Louis Vuitton แนะนำให้ทั้งโลกรู้จักชื่อของ Kim Jones หลังจากที่เขามารับตำแหน่งสไตล์ไดเรกเตอร์ให้แบรนด์ตั้งแต่ 2011-2018 ก่อนจะมาเป็น Virgil Abloh ผู้พลิกกระดานเสื้อผ้าผู้ชายของ Louis Vuitton ไปตลอดกาล ด้วยโรคร้ายทำให้เขาจากไปกะทันหันและเป็นเวลากว่า 1 ปีเต็มที่ไร้เงาดีไซเนอร์จนกระทั่งไม่นานนี้เมื่อ Pharrell Williams โปรดิวเซอร์และแรปเปอร์มือทองรับตำแหน่งครีเอทีฟคนล่าสุด 

 

 

BEAUTY EMPIRE

นอกจากธุรกิจแฟชั่นและเครื่องหนังแล้วนั้น LVMH ยังมีเครือแบรนด์น้ำหอมและเครื่องสำอางมากกว่า 10 แบรนด์ ประกอบไปด้วย Guerlain, Acqua di Parma, Fenty Beauty By Rihanna, Perfume Christian Dior, Givenchy Parfums, Perfumes Loewe, Benefit Cosmetics, Make Up Forever, Kenzo Parfums, Fresh, Maison Francis Kurkdjian และรีเทลบิวตี้ Sephora ซึ่งในปีที่ผ่านมาสินค้าประเภทบิวตี้ของเครือบริษัทสามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมได้ 10% แม้อาจจะไม่เยอะเมื่อเทียบกับธุรกิจแขนงอื่นๆ ในเครือ แต่การเติบโตกว่า 10% ถือเป็นทิศทางที่ดี โดยเฉพาะรีเทลอย่าง Sephora ที่มีแพลนจะขยายสาขามากขึ้นในลำดับถัดไป และน่าจะสามารถทำยอดขายในฝั่งบิวตี้ให้ LVMH สูงขึ้น

 

 

LVMH PRIZE

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ส่งเสริมบุคลากรฝั่งแฟชั่นนั่นก็คือ LVMH Prize โปรแกรมการแข่งขันเฟ้นหาดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2014 จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งโปรแกรมนี้ได้นำเสนอดีไซเนอร์และแบรนด์แฟชั่นหน้าใหม่มากมายและหลายคนกำลังโด่งดังประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น Marine Serre , Nensi Dojaka, Jacquemus และ Grace Wales Bonner สำหรับโปรแกรมนี้จะมีรางวัลใหญ่ทั้งหมด 2 รางวัล โดยรางวัลแรกผู้ชนะจะได้เงิน 300,000 ยูโร รวมถึงการชี้แนะการทำแบรนด์จากทีม LVMH โดยตรง เช่น เรื่อง Sustainability หรือการทำการตลาดของแบรนด์ รางวัลที่ 2 จะได้รับเงินรางวัล 150,000 ยูโร และได้รับการชี้แนะเช่นเดียวกัน LVMH Prize ถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับเด็กแฟชั่นรุ่นใหม่ที่จะสามารถมีประสบการณ์ได้พูดคุยและแสดงความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่มาเป็นกรรมการรับเชิญ เช่น Maria Grazia Chiuri, Stella McCartney, Nigo, Marc Jacobs, Kim Jones และอีกมากมาย 

 

 

THE REAL TASTE MAKER

นิตยสาร Forbes ขนานนามให้กับ Bernard Arnault ในฐานะ Taste Maker หรือผู้สร้างรสนิยม ที่กล่าวแบบนี้ไม่ใช่เพราะเขาแต่งตัวปังนำเทรนด์หรืออย่างไร แต่เป็นวิสัยทัศน์ในการบริหารธุรกิจของ LVMH ให้แบรนด์แฟชั่นยังเป็นที่ต้องการของคนอยู่เสมอ รายรับของเครือ LVMH สวนกระแสกับวิกฤตโควิด เมื่อบริษัทประเภทอื่นๆ ต่างประสบปัญหาจากผลกระทบพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่สำหรับ LVMH นั้นไม่ใช่เลย ในปี 2021 ยอดขายครึ่งปีแรกกระโดดไปไกลกว่า 28.7 พันล้านยูโร โตมากว่า 56% จากปี 2020 และยังทำกำไรได้มากว่าเดิมถึง 10 เท่า 

 

และในปี 2022 ที่ผ่านมาผลประกอบการของเครือ LVMH ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รายได้รวมสูงกว่า 2.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 23% โดยมีกำไรกว่า 5.3 แสนล้านบาท แน่นอนว่ายอดขายที่โตและใหญ่ที่สุดมาจากตลาดเอเชียโดยมีส่วนแบ่งกว่า 37% สำหรับสินค้าที่ทำรายได้สูงสุดมาจากสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังที่โตเพิ่มขึ้น 20% จากปีที่แล้ว โดยเฉพาะแบรนด์ Louis Vuitton ที่สามารถสร้างยอดขายทะลุ 2 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท รายได้จาก LV แบรนด์เดียวคิดเป็น 25% ของรายได้ทั้งบริษัททีเดียว ในขณะที่รีเทล นาฬิกาและเครื่องประดับ ไวน์และแอลกอฮอล์ น้ำหอมและเครื่องสำอาง ต่างก็โตขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน ทำให้มูลค่าของบริษัทตอนนี้สูงกว่า 4 แสนล้านยูโร กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในยุโรป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories