×

5 เรื่องต้องรู้ก่อนเปิดฉากเลือกตั้งกัมพูชา 2018 ที่อาจเป็นชัยชนะครั้งสุดท้ายของสมเด็จฯ ฮุน เซน

26.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาครั้งนี้ถูกมองเป็นเพียง ‘พิธีกรรม’ ที่จะสร้างความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจให้กับพรรครัฐบาลและเครือข่าย หลังจากมีการกรุยทาง สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ขจัดศัตรูทางการเมือง นำไปสู่การจับกุมหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน เพิกถอนสิทธิ์สมาชิกพรรค และประกาศยุบพรรคในท้ายที่สุด
  • การหายไปของพรรคการเมืองที่เป็นคู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อทำให้เส้นทางสู่ชัยชนะของสมเด็จฯ ฮุน เซน และพรรค CPP ในการก้าวขึ้นบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกันค่อนข้างสดใส แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงความเป็นประชาธิปไตยที่ free และ fair ในเกมการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่น้อย

ในวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคมนี้ กัมพูชากำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในรอบ 5 ปี เพื่อลงคะแนนเสียงเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมีวาระในการปกครองประเทศไปจนถึงปี 2023

 

Photo: ฐานิส สุดโต

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลกัมพูชาให้เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งกัมพูชาในครั้งนี้ถึงประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ

 

อาจเป็นชัยชนะอีกครั้งของหนึ่งในผู้นำที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในโลก

จากลูกหลานของชาวนา ผ่านการเข้าร่วมกับกลุ่มเขมรแดง สูญเสียดวงตาข้างซ้ายระหว่างการรบ ก่อนจะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำประเทศกัมพูชาที่อยู่ในอำนาจยาวนานกว่า 33 ปี โดยจอมพลสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน หรือสมเด็จฯ ฮุน เซน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 1985 ก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อมาจะพ่ายแพ้ให้กับพรรคอนุรักษนิยมอย่างพรรคฟุนซินเปก (FUNCINPEC) แต่ก็สามารถเรียกร้องให้ตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ร่วมกับสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ที่ชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้นได้สำเร็จ

 

สมเด็จฯ ฮุน เซน เริ่มสร้างเสริมและผูกขาดอำนาจ พร้อมทั้งนำพาพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) คว้าชัยชนะในเกมการเลือกตั้งระดับต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และในการเลือกตั้งครั้งนี้เองก็มีปัจจัยต่างๆ มากมายที่สะท้อนให้เห็นว่าพรรคหมายเลข 20 ในคูหาเลือกตั้งของสมเด็จฯ ฮุน เซน ‘นอนมา’ ในหมากการเมืองกระดานนี้

 

ซึ่งนั่นหมายความว่าหากสมเด็จฯ ฮุน เซน ชนะการเลือกตั้ง เขาจะปกครองกัมพูชาต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี และจะทำให้เขาเป็นผู้นำประเทศที่อยู่ในอำนาจยาวนานเกือบ 4 ทศวรรษ!

 

เขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าตัวเขาจะปกครองกัมพูชาต่อไปจนถึงอายุ 70 กว่าปี อาจมีความเป็นไปได้ว่านี่อาจจะเป็นการลงสมัครชิงตำแหน่งเก้าอี้ผู้นำประเทศครั้งสุดท้ายหรือก่อนรองสุดท้ายของผู้ชายที่ชื่อสมเด็จฯ ฮุน เซน ก่อนตัดสินใจก้าวลงจากอำนาจ

 

ซึ่ง ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ มองว่า “หากสมเด็จฯ ฮุน เซน ตัดสินใจก้าวลงจากอำนาจจริง นั่นจะเป็นการลงจากอำนาจในฐานะตัวบุคคลเท่านั้น แต่ระบบเครือข่ายและมรดกตกทอดที่สมเด็จฯ ฮุน เซน วางไว้จะยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมกัมพูชาต่อไป นี่อาจจะเป็นการบริหารประเทศวาระสุดท้ายของเขาที่เป็นไปเพื่อวางระบบทุกอย่างให้รัดกุมต่อการสืบทอดอำนาจในกลุ่มก้อนของตัวเองต่อไป

 

“นอกเสียจากว่าในช่วง 4-5 ปีต่อจากนี้ พรรคฝ่ายค้านจะสามารถจัดตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ได้และรวบรวมเสียงสนับสนุนได้มากขึ้นอีกครั้ง การเลือกตั้งครั้งหน้าก็อาจจะเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของพรรครัฐบาลกัมพูชา”

 

 

การเลือกตั้งที่ ‘ไม่มี’ พรรคฝ่ายค้านที่ต่อกรกับพรรครัฐบาลได้อย่างสูสีครั้งแรกในรอบเกือบ 25 ปี

นับตั้งแต่ปี 1993 ที่เกิดการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคอนุรักษนิยมและพรรคประชาชนกัมพูชาขึ้น นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ไม่มีพรรคการเมืองที่พอจะเป็นคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อกับพรรครัฐบาลได้เลย

 

หลังจากหัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) อย่าง นายเกิม สุขา ถูกจับกุมข้อหากบฏ ร่วมกันสมคบคิดกับต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาในการโค่นล้มรัฐบาลของสมเด็จฯ ฮุน เซน จนทำให้เมื่อช่วงปลายปี 2017 ศาลสูงสุดของกัมพูชาตัดสินประกาศยุบพรรค CNRP และตัดสิทธิ์สมาชิกพรรคทั้ง 118 คน ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลานานถึง 5 ปี ซึ่งการหายไปของพรรคคู่แข่งสำคัญทำให้เส้นทางสู่ชัยชนะของพรรครัฐบาลสดใสมากยิ่งขึ้น

 

พรรคกู้ชาติกัมพูชาเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคสมรังสี (Sam Rainsy Party) และพรรคสิทธิมนุษยชน (Human Rights Party) ที่เคยสร้างเสียงฮือฮากวาดคะแนนเสียงไปได้เกือบ 3 ล้านเสียงจากผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 6.6 ล้านคนในการเลือกตั้งครั้งก่อน (2013) คว้า 55 ที่นั่งจากทั้งหมด 123 ที่นั่งในรัฐสภา ซึ่งน้อยกว่าพรรค CPP ของสมเด็จฯ ฮุน เซน เพียง 13 ที่นั่ง ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ามีชาวกัมพูชาจำนวนไม่น้อยต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมการเมืองของประเทศนี้

 

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ อธิบายว่า “หากเราย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งเมื่อปี 2013 เราจะพบว่าพรรคฝ่ายค้านกวาดคะแนนเสียงไปเยอะมากในการเลือกตั้งครั้งนั้น เกือบ 44.46% หลังพรรคก่อตั้งขึ้นได้เพียงปีกว่าๆ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกพรรครัฐบาลว่าพรรคฝ่ายค้านกำลังมีโอกาสก้าวขึ้นมาบริหารประเทศเพิ่มมากขึ้น

 

“ยิ่งไปกว่านั้น ในปีที่ผ่านมากัมพูชาจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่เรียกว่า ‘สังกัต’ (Sangkat) ขึ้น ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งที่ถูกจับตามองมากที่สุดครั้งหนึ่งของกัมพูชา เพราะเป็นเหมือนกระดานทดสอบ Pre-Test ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในปี 2018 เป็นการหยั่งเสียงครั้งสำคัญเพื่อดูแนวโน้มว่าพรรคฝ่ายค้านจะได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในมุมของฝ่ายประชาสังคมและ NGO มองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2017 มีการจัดการที่ดีขึ้นกว่า 4 ปีก่อนอย่างมาก พร้อมกับรับรู้ได้ถึงบรรยากาศความตื่นตัวของคนกัมพูชาที่ออกมาเริ่มต่อคิวใช้สิทธิ์ตั้งแต่ก่อนเวลา 6.30 น.

 

“แต่ด้วยความที่การเลือกตั้งครั้งนี้ขาดพรรคการเมืองที่สู้กับพรรครัฐบาลได้อย่างสูสี ความเป็นประชาธิปไตยในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงถูกตั้งคำถาม พรรคอื่นๆ ถูกจัดให้เป็นเพียงพรรคไม้ประดับที่แทบจะต่อกรกับพรรครัฐบาลไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าจะมีพรรคการเมืองลงชิงชัยมากถึง 20 พรรค และมีพรรคอนุรักษนิยมอย่างพรรคฟุนซินเปก ซึ่งกำลังเสื่อมความนิยมลงอย่างมากในระยะหลัง

 

“อีกทั้งพรรคที่เกิดขึ้นใหม่บางพรรคยังอาจถูกมองว่าเป็นพรรคนอมินีของพรรครัฐบาลอีกด้วย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการจัดการพรรคเครือข่ายของสมเด็จฯ ฮุน เซน มีการจัดการที่ดี ทำให้พรรคสามารถกุมอำนาจได้ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ อาจจะต้องจับตาดูกันว่าพลังเสียงของผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านเดิมจะปรากฏขึ้นในรูปแบบใด หรือจะงดมาใช้สิทธิ์ออกเสียงตามที่บรรดาอดีตผู้นำฝ่ายค้านต่างรณรงค์ให้บอยคอตการเลือกตั้งครั้งนี้ตามแคมเปญ Clear Finger”

 

 

บรรยากาศความกลัวและกำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างหนักก่อนเลือกตั้ง

อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ปกครองประเทศ เขามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศและช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ หลังจากกัมพูชาผ่านพ้นยุคของเขมรแดงที่เข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์และสังหารประชาชนชาวกัมพูชาไปมากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในช่วงเวลาโศกนาฏกรรมนองเลือดที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 20

 

แต่ถึงกระนั้น สมเด็จฯ ฮุน เซน ก็เผชิญหน้ากับข้อครหาต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องความโปร่งใสในเกมการเลือกตั้ง การใช้อำนาจศาล หน่วยงานของรัฐ รวมถึงออกกฎหมายต่างๆ เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง ผูกขาดอำนาจ ใช้อำนาจในทางมิชอบ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อและกลุ่มผู้เห็นต่าง รวมถึงมีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีส่วนทำให้กระบวนการประชาธิปไตยภายในกัมพูชาเสื่อมถอยนับตั้งแต่ก้าวขึ้นสู่อำนาจ

 

ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาคุกคามสื่อ สั่งปิดสถานีวิทยุที่ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกว่า 30 แห่ง อีกทั้งยังเก็บภาษีย้อนหลังหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษอย่าง The Cambodia Daily ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาด้วยอัตราภาษีที่สูงลิ่ว ทำให้สำนักพิมพ์นี้ต้องยุติการตีพิมพ์และปิดตัวลงในที่สุด

 

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ผ่านกฎหมายใหม่ที่ให้อำนาจยื่นเรื่องต่อศาลสูงสุดพิจารณายุบพรรคการเมืองต่างๆ ได้หากหัวหน้าพรรคถูกตั้งข้อหาในคดีอาญา และอนุญาตให้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ได้ในเขตที่พรรคที่ถูกยุบเคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่เพื่อเพิ่มที่นั่งในสภาให้กับตัวเอง จนนำไปสู่การยุบพรรคฝ่ายค้านและการลี้ภัยทางการเมืองของอดีตนักการเมืองคนสำคัญๆ หนึ่งในนั้นคือ นายสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรค CNRP ที่เคยเกือบพาพรรคชนะสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้สำเร็จ และประกาศลาออกเพื่อรักษาพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวของกัมพูชาขณะนั้นไว้เมื่อช่วงต้นปี 2018

 

ทำให้หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลกำลังอาศัยกลไกต่างๆ ทางการเมืองเพื่อสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว ปิดกั้น และจำกัดขอบเขตของผู้เห็นต่างในสังคม เพื่อที่จะปูทางไปสู่การอยู่ในอำนาจได้ยาวนานยิ่งขึ้นของพรรครัฐบาลและเครือข่าย

 

 

กลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มแรงงานในกัมพูชา ตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้ง 2018

กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากโลกอินเทอร์เน็ต รวมถึงกลุ่มแรงงานที่เป็นฐานเสียงสำคัญที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งประเทศถูกวางตัวให้เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าพลังจากคนกลุ่มนี้นอกจากจะเป็นแรงสนับสนุนได้ดีแล้ว ยังอาจกลายเป็นพลังต่อต้านในลักษณะขั้วตรงข้ามที่ปะทุออกมาเป็นขบวนประท้วงและเรียกร้องสิทธิ์จากรัฐบาลก็ได้ ดังนั้นการซื้อใจคนกลุ่มนี้จึงถือว่าเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้สำหรับพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรครัฐบาล

 

ที่ผ่านมารัฐบาลของสมเด็จฯ ฮุน เซน จัดหาสวัสดิการต่างๆ แก่คนกลุ่มนี้ผ่านนโยบายโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นขึ้นค่าแรง เข้ารับการรักษาพยาบาลฟรี ห้ามขึ้นค่าเช่าบ้านตลอดปี เป็นต้น

 

ซึ่งหนึ่งในนโยบายหาเสียงในครั้งนี้คือการทุ่มงบประมาณกว่า 27,200 ล้านบาท (ราว 1 ใน 4 ของงบประมาณของรัฐทั้งหมด) ให้กับภาคการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสในการแสวงหาความรู้ การจ้างงาน และเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งปัญหาเรื่องปากท้องถือเป็นเรื่องสำคัญในประเทศกำลังพัฒนาแห่งนี้

 

นอกจากนี้ผู้นำของกัมพูชายังได้ใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister ที่มียอดไลก์และผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้านคน เป็นเครื่องมือสร้างปฏิสัมพันธ์และลดช่องว่างระหว่างนายกรัฐมนตรีและคนกลุ่มนี้

 

โดยพยายามสร้าง ขยาย และผลิตซ้ำให้ทุกคนรู้สึกว่าเขาเป็นผู้นำที่สามารถจับต้องได้ เป็นที่ยอมรับ เป็นที่พึ่งที่เข้าใจปัญหาของคนในประเทศนี้ รวมถึงการปลุกความเป็นชาตินิยมให้ทั้งคนรุ่นเก่าไม่ลืมเลือนและให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงความดีงามที่เขาได้ทำไว้ในอดีตเพื่อช่วยเหลือประเทศนี้ ดังจะเห็นได้จากสเตตัสต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ความรุนแรงในอดีต ดังนั้นสิ่งที่จะตอบแทนเขาได้ดีที่สุดในตอนนี้คือการเลือกให้เขานั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศอีกครั้ง

 

โดย ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า “เวลาพูดถึงคนรุ่นใหม่หรือคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรก คนกลุ่มนี้มักจะถูกมองว่าอาจจะเป็นคลื่นใต้น้ำ เป็นพลัง หรือเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้ง เรามองว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีภูมิหลังหรือฐานคิด คนกลุ่มนี้เพิ่งจะเข้ามาสู่พื้นที่ทางการเมืองเป็นครั้งแรก บางคนมีพรรคการเมืองที่ชื่นชอบ บางคนแทบไม่เคยได้สัมผัสหรือมีความคิดทางการเมืองเลย

 

“นี่แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่ทุกคนที่จะไม่เลือกลงคะแนนให้กับพรรครัฐบาล อีกทั้งสื่อกระแสหลัก กระแสรอง รวมถึงสื่อออนไลน์ในประเทศนี้ค่อนข้างมีข้อจำกัดและจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเฉพาะพลังของคนกลุ่มนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ยากพอสมควร”

 

 

การเลือกตั้งในฐานะ ‘พิธีกรรม’ สร้างความชอบธรรม แต่ไร้เงาสนับสนุนจากมหาอำนาจ

จากสภาวะเบียดขับและกำจัดศัตรูผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะในกรณีที่ไล่บี้พรรคฝ่ายค้านจนนำไปสู่การยุบพรรคและหมดสิทธิ์ในการลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำกัมพูชาทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปตัดสินใจไม่สนับสนุนการเลือกตั้งกัมพูชาในครั้งนี้

 

พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงความเป็นประชาธิปไตยที่กำลังค่อยๆ ถดถอยลง โดยเฉพาะในพื้นที่ทางการเมือง นำไปสู่การตัดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ กว่า 8.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 257 ล้านบาท) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงการช่วยเหลือทางด้านการทหารและการคลังของกัมพูชาไม่มากก็น้อย

 

โดยระยะหลังกัมพูชาเองก็หันไปสนิทสนมและทำการค้ากับจีนเพิ่มมากขึ้น พร้อมถอยห่างจากบรรดาชาติตะวันตกทั้งหลาย

 

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า “บริบทแวดล้อมต่างๆ ทำให้การเลือกตั้งในกัมพูชาครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจได้นานยิ่งขึ้น จุดนี้ทำให้ไทยที่มีแผนจะเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้าต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองว่าเรากำลังอยู่บนเส้นทางนี้เหมือนกับกัมพูชาหรือไม่ ถ้าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นไปเพื่อเสริมสร้างความชอบธรรม หรือมีความพยายามในการวางกลไกให้การเลือกตั้งไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยได้ อันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่เราควรจะต้องคิดทบทวนและเรียนรู้

 

“เพราะการพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่แค่มีการจัดเลือกตั้งขึ้นแล้วจะเป็นตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพแต่เพียงอย่างเดียว”

 

Photo: ฐานิส สุดโต

 

แม้การเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคมนี้อาจจะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชามากนัก แต่ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างชาวกัมพูชากว่า 16 ล้านคนไปอย่างน้อยอีก 5 ปีนับจากนี้อย่างแน่นอน

 

อ้างอิง:

FYI
  • ปัจจุบันสมเด็จฯ ฮุน เซน ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในผู้นำประเทศที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในโลกลำดับที่ 6 (33 ปีเศษ) ตามหลัง นายพอล บิยา ผู้นำแคเมอรูนที่บริหารประเทศมายาวนานกว่า 43 ปี รวมถึงบรรดาผู้นำประเทศเอควาทอเรียลกินี อิหร่าน คาซัคสถาน และคองโก ที่อยู่ใน 5 ลำดับแรก
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising