×

ปรับ 5 นิสัย อัปเกรดความ Productive ให้กลายเป็น Super Productive

14.03.2019
  • LOADING...
Steps To Be Super Productive

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • การจะเปลี่ยนตัวเองจาก Productive ให้กลายเป็น Super Productive อาจมีแรงต้านจากคนรอบข้าง และต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่าง รวมถึงความเครียดในบางครั้ง
  • นิสัยแรกที่ต้องปรับคือ เวลาจะนัดใคร ไม่ว่าจะนัดประชุม นัดสัมภาษณ์ หรือออกไปพูด จะต้องถามเลยว่า เวลาที่เริ่ม ‘จริงๆ’ คือตอนไหน เพราะการ ‘เริ่มช้า’ มักตามมาด้วยการ ‘เลิกช้า’ ซึ่งจะกระทบกับงานต่อๆ ไปด้วย ดังนั้น การรู้เวลาเริ่มจริงๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
  • การออกกำลังกายตอนเช้าไม่ได้มีประโยชน์ต่อแค่ร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยเรื่องการทำงานด้วย เพราะหลังออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนต่างๆ ที่ทำให้เราจิตใจนิ่ง อารมณ์เย็น และมองโลกในแง่บวก ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงานสำคัญในช่วงเช้าอย่างมาก

ถ้าจะเลือกทำแบบนี้ต้องบอกก่อนเลยนะครับว่า คุณอาจได้ยินเสียงจากคนรอบข้างประมาณว่า “จะฟิตไปไหน” หรือ “แม่งบ้า” อะไรทำนองนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติมาก

 

ในความจริงก็คือ บางทีมันก็ดูบ้าจริงๆ ครับ หลายครั้งเวลาผมนั่งทำอะไรเยอะๆ ผมก็เคยคิดนะว่า “เราเป็นอะไรมากไหมเนี่ย”

 

ดังนั้น วิธีการต่อไปนี้จึงเหมาะสำหรับคนที่จะใช้ชีวิตแบบ Productive มากๆ และแน่นอนครับ ไม่มีอะไรได้มาฟรี ต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงมากเช่นกันครับ เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกนะครับว่า อะไรที่จะไม่แลก เช่น ไม่ว่าจะ Productive แค่ไหน ก็ขอครอบครัวกับสุขภาพไว้ให้มี Priority สูงสุดเสมอ

 

ถ้าทำแบบนี้คุณอาจจะรู้สึกเครียดเป็นบางครั้ง เอาเป็นว่าอยากให้ลองก่อนแล้วกันครับ ถ้าไม่ชอบค่อยว่ากัน

 

สิ่งที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงสามอย่างหรือที่ผมเรียกว่า Super-Productive Ecosystem ประกอบไปด้วย

 

  1. สิ่งที่ทำนั้นช่วยเพิ่มความ Productive ได้อย่างไร (Active Result)
  2. สิ่งที่เราทำส่งผลให้เรื่องอื่นที่ต่อเนื่องกัน Productive ขึ้นได้อย่างไร (Passive Result)
  3. เรื่องนี้กระทบหรือควรบริหารจัดการ Mindset อย่างไร (Habit Mindset) 

 

โดยกระบวนการในการทำจะใช้วิธีแบบที่ Start Up ทำ นั่นคือการ Built > Measure > Learn ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องพยายามสร้างให้เป็นนิสัย ลองดูว่าพอทำแล้ว ทำได้แค่ไหน และที่สำคัญที่สุดคือต้องเรียนรู้ว่านิสัยที่ว่านี้จะสามารถอยู่ได้อย่างคงทนถาวรได้อย่างไร

 

และนิสัยที่จะช่วยคุณอัปเกรดความ Super Productive มีอะไรบ้าง

 

นิสัยแรก: อย่าให้ใครหรือสถานการณ์ไหนมาขโมยเวลาของคุณไปได้ (และก็อย่าทำแบบนั้นกับคนอื่นเช่นกัน)  

เวลาผมจะนัดใคร ไม่ว่าจะนัดประชุม นัดสัมภาษณ์ หรือออกไปพูด ผมจะถามเลยว่าเวลาที่เริ่ม ‘จริงๆ’ คือตอนไหน เพราะผมพบว่าหลายงานมากที่นัดผมไป 09.00 น. แต่เริ่มจริงๆ 10.00 น. ซึ่งเป็นอะไรที่เสียเวลามากๆ ครับ เพราะเวลา ‘เริ่มช้า’ มันมักตามมาด้วยการ ‘เลิกช้า’ ซึ่งจะกระทบกับงานต่อๆ ไปด้วย ดังนั้น การรู้เวลาเริ่มจริงๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และผมจะพยายามอย่างที่สุดในการเลิกให้ตรงเวลาด้วย

 

เพราะจริงๆ ถ้าบอกว่าเริ่ม 09.00 น. เวลาที่ผมต้องไปถึงจริงๆ ก็ต้องประมาณ 08.30 น. เผื่อมีเรื่องฉุกเฉิน ดังนั้น เท่ากับว่าถ้าไม่วางแผนให้ดี เวลาเกือบทั้งหมดจะหมดไปกับการเล่นโทรศัพท์

 

งานบางงาน แค่ช่วงพิธีเปิดก็จัดไปเกือบชั่วโมงแล้วครับ และผมเชื่อว่ากระบวนการนี้มี Productivity ต่ำมาก และหลายอย่างสามารถตัดทิ้งได้สบายๆ โดยไม่กระทบกับอะไรเลยครับ

 

แต่อย่างไรก็ดี เรื่องพวกนี้แม้ว่าจะพยายามป้องกันแค่ไหน มันก็จะเกิดขึ้นได้ครับ ดังนั้น เราจึงต้องมีแผนเสมอสำหรับ ‘Waiting Time’ ว่าจะทำอะไร ส่วนใหญ่ถ้าเป็นงานที่ต้องไปพูด พอไปถึงงานเราจะต้องเอาคอมพิวเตอร์ไปเซตก่อน ซึ่งจะทำให้เราไม่มีคอมฯ อยู่กับตัว เพราะฉะนั้นต้องเตรียมการให้ดีครับ

 

สำหรับผมของสามอย่างที่จะติดกระเป๋าไปเสมอคือ 1. iPad 2. หูฟัง และ 3. หนังสือ (หรือ Kindle) ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และหูฟังจะช่วยให้เรามีสมาธิได้ประมาณหนึ่ง กรณีที่สถานที่ที่เราต้องนั่งรอมันพลุกพล่าน

 

ผลกระทบกับ Super-Productive Ecosystem

 

  1. Active: ชัดๆ เลยคือคุณไม่เสียเวลา ทั้งเวลาของงานนี้และเวลาของงานต่อๆ ไปด้วย
  2. Passive: เป็นการช่วยให้คนรอบๆ ตัวคุณเคารพเวลาของคุณ และเวลาของตัวเองมากขึ้น ซึ่งเอาจริงๆ ผมหวังว่าเรื่องนี้จะช่วยปรับภาพเวลาแบบไทยๆ ที่เริ่มช้าเลิกช้าได้ไม่มากก็น้อยครับ
  3. Mindset: ถ้าคุณเห็นเวลามีค่ามาก คุณจะหวงแหนมัน พอหวงแหนมันคุณจะมี Mindset ในการดูแลเวลาได้ดีขึ้น และไม่ปล่อยมันไปอย่างสูญเปล่าครับ

 

นิสัยที่สอง: Fasting Your Body, Supercharged Your Mind

เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน และต้องบอกว่าผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ แต่ว่าผมได้ลงมือทำด้วยตัวเองมาหลายเดือนแล้วพบว่า Intermittent Fasting ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงพลังงานของสมอง สมาธิ หรือแม้แต่น้ำหนักตัว แต่ที่สำคัญสุดคือ มันเปลี่ยน Mindset ของผมไปอย่างสิ้นเชิง

 

ออกตัวก่อนเหมือนเดิมทุกครั้งครับว่า นอกจากเรื่องของการดึงคีโตนมาใช้เมื่อไกลโคเจนหมดไปหลังจากเราอดอาหารเกิน 12 ชั่วโมงแล้ว อีกเรื่องที่คนพูดถึงเยอะมากตอนนี้คือเรื่อง Autophagy

 

เรื่องนี้โด่งดังมาจากการที่ โยชิโนริ โอสุมิ นักวิจัยญี่ปุ่นคว้ารางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ จากการศึกษากลไกการกินตัวเองของเซลล์ การค้นพบของเขาทำให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเซลล์กับกลไกของมัน พร้อมกับความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับโรคต่างๆ มากขึ้น เช่น โรคพาร์กินสันและโรคทางสมอง

 

ข้อมูลจาก BBC เกี่ยวกับ Autophagy ได้กล่าวไว้ว่า กลไกการกินตัวเองของเซลล์ (Autophagy) เป็นกระบวนการฟื้นฟูทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นในระดับเซลล์ในร่างกาย ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคบางอย่างลงได้ รวมทั้งทำให้อายุยืนขึ้นด้วย

 

บริษัทยาต่างเร่งหายาที่จะกระตุ้นกระบวนการ Autophagy แต่นักวิชาการหลายคนบอกว่า กระบวนการดังกล่าวสามารถเกิดได้จากการทำ Fasting รวมไปถึงการออกกำลังกายอย่างหนักและจำกัดการบริโภคคาร์โบไฮเดรต

 

ถ้าพูดถึงการ Fasting กับกระบวนการ Autophagy ส่วนใหญ่เอกสารที่ผมได้อ่านมาจะบอกว่ากระบวนการนี้จะเริ่มหลังจากเรากินอาหารคำสุดท้ายไปนานประมาณ 16-18 ชั่วโมง

 

ผมทดลองทำ Fasting มาหลายรูปแบบมาก จนกระทั่งมาพบกับรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุดคือ 18/6 คือไม่กิน 18 ชั่วโมง ส่วนช่วงกิน (หรือ Feeding Window) มี 6 ชั่วโมง โดยทำทุกวัน แล้วพบว่าวิธีนี้ส่งผลต่อ Productivity อย่างมาก มากจนถึงกับคิดในใจหลายครั้งแล้วว่า “ทำไมเราถึงไม่รู้จักวิธีการนี้มาก่อน”

 

เรื่องอาหารกับ Productivity นั้นไม่เพียงแต่เกี่ยวกับการ Fasting เท่านั้น แต่สิ่งที่เรากินตอนช่วง Feeding Window ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยหลักๆ แล้วโปรตีนกับอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุเยอะๆ จะช่วยให้สมองทำงานได้ดี มีกำลังในการทำงานที่ดี ส่วนอาหารที่มีน้ำตาลสูงจะส่งผลให้สมองเฉื่อยๆ ครับ ซึ่งสิ่งที่กินจะเกี่ยวกับ ‘โอกาส’ ที่ Fasting จะหลุดด้วย

 

ผมสังเกตดูว่าวันที่หลุดโดยไม่ได้ตั้งใจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุหลักๆ เพียงสาเหตุเดียวคือ คุณภาพของอาหารที่กินในวันนั้นไม่ดีพอ ซึ่งเราก็จะต้องสังเกตและปรับปรุงเพื่อให้เราหาสิ่งที่ดีที่สุด

 

ผลกระทบกับ Super-Productive Ecosystem

 

  1. Active: การทำ Fasting จะช่วยให้สมองทำงานได้ดีขั้น สมาธิดีขึ้น
  2. Passive: ผลข้างเคียงที่หลายคนอาจไม่ค่อยได้นึกถึงคือ การมี Timeslot เพิ่มมาอีกหนึ่งช่วงเลย อย่างถ้าทำ 18/6 และกินแค่ตอนเช้ากับเที่ยง ซึ่งตอนเย็นสามารถเอาเวลามาทำอะไรได้เพียบเลยครับ และเป็นเวลาที่มีคุณภาพด้วย เรียกว่าช่วง 18.00-21.00 น. ปกติจะเป็นเวลาที่ไม่ได้ Productive มากเท่าไร แต่พอ Fasting เวลาช่วงนี้กลับ Productive มากครับ ขนาดเล่นกับลูกก็ยังเป็นการเล่นที่ Productive เช่นกัน
  3. Mindset: ตอนทำ Fasting เราต้องมีจิตใจเข้มแข็งพอควร โดยเฉพาะตอนแรกๆ หรือตอนที่เราต้องอยู่ในวงของเพื่อนที่กินปิ้งย่างกันอยู่แล้วเรากินไม่ได้ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการที่ต้อง ‘ต่อสู้’ กับจิตใจตัวเองทุกวันนั้นมันมีความรู้สึกเป็นอย่างไร และเมื่อทำได้เราจะรู้สึกภาคภูมิใจกับตัวเองครับ

 

แม้ตอนหลุด Fasting ก็เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้เช่นกัน

 

อย่าลืมเรียนรู้นะครับว่าเราหลุดเพราะอะไร แล้วมาพิจารณาว่าตอนนี้เราคิดอะไรอยู่ อะไรที่กดดันทำให้เราหลุด Fasting ในวันนั้น ถ้าเข้าใจ Mindset ของเรา เราจะคิดออกครับ

 

นิสัยที่สาม: 365 Days Morning Exercise

การออกกำลังกายตอนเช้าไม่ได้มีประโยชน์ต่อแค่ร่างกายเท่านั้น เพราะถ้าเอาแค่ประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายตอนเย็นก็ได้ผลเหมือนกันครับ อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะตอนเย็นแรงเยอะกว่า

 

แต่การออกกำลังกายตอนเช้านั้นช่วยเรื่องการทำงานครับ เพราะหลังออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนต่างๆ ที่ทำให้เราจิตใจนิ่ง อารมณ์เย็น และมองโลกในแง่บวก ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงานสำคัญในช่วงเช้าอย่างมาก

 

ผลกระทบกับ Super-Productive Ecosystem

 

  1. Active: การออกกำลังกายส่งผลโดยตรงกับช่วง Prime Time ช่วงเช้า ทำให้ช่วง Prime Time นั้นเข้มข้นมากๆ งานยากๆ มีโอกาสถูกทำให้สำเร็จในช่วงเวลานี้มาก
  2. Passive: เวลาออกกำลังกายตอนเช้ามันเป็นเหมือนกับการบอกตัวเองว่าวันนี้ทำอะไรสำเร็จอย่างหนึ่งแล้วนะ มันช่วยสร้างความมั่นใจกับเรื่องที่เรากำลังจะทำที่เหลือในวันนั้นๆ
  3. Mindset: ความประหลาดของการออกกำลังกายตอนเช้าคือ การลากตัวเองออกจากเตียงนั้นโคตรยาก แต่ว่าพอได้เริ่มออกกำลังกายแล้ว เช่น ก้าวขาวิ่งไปแล้วสัก 2 นาที ยกเวตไปแล้วสักเซตหนึ่ง คราวนี้ที่เหลือมันจะง่ายแล้วครับ เพราะฉะนั้นต้องคิดวิธีเริ่มให้ได้ เช่น จัดชุดออกกำลังกายไว้ที่ปลายเตียงทุกคืน

 

นิสัยที่สี่: พร้อมเสมอสำหรับ Deep Reading

เรื่องประโยชน์ของการอ่านหนังสือคงไม่ต้องอธิบายกันเพิ่มเติมแล้วล่ะครับ แต่ที่อยากคุยคือเรื่อง Deep Reading ครับ

 

การอ่านแบบทำความเข้าใจ (Deep Reading) เป็นเรื่องที่ผมเชื่อว่าสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดังนั้น เราต้องหาเวลาการทำ Deep Reading

 

สำหรับผม Deep Reading ทำยากมากบนมือถือ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างนิสัยนี้ให้ได้อย่างน้อยที่สุดวันละ 30 นาที

 

นอกจากหนังสือหรือ Kindle แล้ว อีกอย่างที่ผมต้องมีเลยคือหูฟังตัดเสียงดีๆ ครับ เพราะหลายครั้งเวลาจะอ่านหนังสือ บางทีเสียงมันดังก็จะอ่านได้ช้าลงไปเยอะ

 

ส่วนตัวผม นิสัยการอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่องเป็นนิสัยที่สร้างยากที่สุด และหายไปง่ายที่สุด แปลว่าเราต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการรักษามันไว้ ซึ่งหมายความว่าเราต้องหาตารางสอดแทรกเรื่อง Deep Reading เข้าไปให้ได้ทุกวัน เพราะถ้าหลุดเมื่อไร ต้องใช้แรงเยอะกว่าจะกลับมาได้ครับ

 

ผลกระทบกับ Super-Productive Ecosystem

 

  1. Active: จะแปลกไหมครับ ถ้าผมจะบอกว่าการอ่านหนังสือมีผลแบบ Active ไม่มาก นอกจากการอ่านเพื่อไปทำอะไรเดี๋ยวนั้น เช่น อ่านเพื่อทำรายงาน อ่านเพื่อสอบ อ่านเพื่อทำ Training ฯลฯ แต่นอกจากนั้นผลมันจะมาตอน Passive มากกว่าครับ
  2. Passive: เรื่องที่เราอ่าน ความรู้ ความเข้าใจของหนังสือ มันจะค่อยๆ ซึมซับอยู่ในสมองเราและเปลี่ยนแปลงเราทีละนิดครับ หลายครั้งเวลาผมบอกว่าเจอ ‘หนังสือเปลี่ยนชีวิต’ บางทีมันไม่ได้หมายถึงว่าเล่มนั้นเปลี่ยนชีวิต แต่มันเป็นการสะสมของหลายๆ เล่มจนได้มาเจอเล่มที่เป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย พอมันครบมันเลยทรงพลังมาก
  3. Mindset: ถ้าเรารู้ว่ามันสร้างยากแต่ถูกทำลายง่าย เราจะพยายามประคบประหงมมัน ด้วยการหมั่นเติมเชื้อเพลิงให้ทุกวันอย่าให้ขาด

 

นิสัยที่ห้า: สร้าง My Space ได้อย่างรวดเร็ว

อันนี้ยากมากจริงๆ ผมเองกำลังฝึกอยู่เช่นกันครับ คำว่า My Space คือ การสร้างสภาวะแวดล้อมข้างๆ ให้เป็นกลางเพื่อให้เราทำงานได้อย่างรู้สึกเหมือนกับเราอยู่คนเดียว

 

ยกตัวอย่าง บางทีเวลาร้อนเกินไป เราอาจจะรู้สึกตัวเหนียวและไม่สบายตัว จริงๆ ตัวเราไม่ได้ร้อนอะไรมากมายหรอกครับ ที่ร้อนมากคือใจของเรา มันอยากไปอยู่ที่สบายๆ มันเลยจะงอแงหน่อย ถ้าเราจับอาการมันได้ เราจะเริ่มเห็นแพตเทิร์น แล้วอาการที่เรารู้สึกว่า ‘ร้อนไป ทำงานไม่ได้’ จะค่อยๆ หายไปครับ

 

อันนี้ยากมากครับ เพราะบางอย่างเราชินมาตลอดชีวิต มันเป็นชุดความคิดไปแล้ว เช่น ถ้าร้อนไป หนาวไป อิ่มไป หิวไป เสียงดังไป คนเยอะไป ฯลฯ เราจะทำงานไม่ได้

 

แต่เราลองคิดดูนะครับว่าในแต่ละปีเราเสียเวลาที่ไม่ควรเสียไปเยอะขนาดไหนกับข้ออ้างประมาณนี้ ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันเยอะมากครับ

 

ผลกระทบกับ Super-Productive Ecosystem

 

  1. Active: ทำให้ Productivity เกิดขึ้นได้ทุกทีทุกเวลา แน่นอนว่าเพิ่มโอกาสในการทำสิ่งที่เราต้องการจะทำได้มากขึ้น
  2. Passive: เมื่อเราเข้าสู่โหมด My Space ได้เร็ว มันจะช่วยให้เรามีความสุขง่ายขึ้น ทุกข์น้อยลง เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สงบ สำหรับคนส่วนใหญ่ My Space เป็นทั้งเกราะกำบังความวุ่นวายและที่ชาร์จพลังไปพร้อมๆ กัน
  3. Mindset: สถานการณ์ต่างๆ รอบตัวเรานั้นเป็นปัจจัยภายนอก แต่ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อเราอย่างไรขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเรา การฝึกหา My Space ในทุกสถานการณ์จะทำให้เรานิ่ง สุขุม และจะเลือกการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์กับเรามากขึ้น 

 

ทั้ง 5 ข้อนี้เป็นของสำหรับคนที่พร้อมจะ ‘แลก’ อะไรบางอย่าง เพื่ออัปเกรดความ Super Productive ขึ้นไปอีกขั้นครับ

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X