×

เทียบ 3 เกณฑ์ใหม่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท vs. ของเดิม

26.10.2023
  • LOADING...
https://thestandard.co/31-rue-cambon-chanel/

ประเด็นร้อนแรงที่กำลังถูกพูดถึงมากที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้นเงื่อนไขการแจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล หลังจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ออกมาเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2 ในช่วงวานนี้ (25 ตุลาคม) ว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขตามเสียงคัดค้านของนักวิชาการ

 

โดยในด้านกลุ่มเป้าหมายของโครงการ จุลพันธ์ระบุว่า แม้ประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด แต่ในที่ประชุมมีข้อเสนอให้ตัดสิทธิ์คนรวย เนื่องจากมองว่าจะไม่นำเงินไปใช้ในลักษณะกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่ประชุมได้พยายามหาคำจำกัดความของคนรวย โดยมีแนวทางจะตัดสิทธิ์กลุ่มที่มีความพร้อมทางสังคม ซึ่งมีข้อเสนอ 3 รูปแบบ ได้แก่

 

  1. ตัดกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาท หรือมีเงินฝากรวมกันมากกว่า 1 แสนบาท โดยจะทำให้ผู้ได้รับสิทธิ์เหลือ 43 ล้านคน ใช้วงเงินประมาณ 4.3 แสนล้านบาท

 

  1. ตัดกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนเกินกว่า 50,000 บาท หรือมีเงินฝากรวมกันมากกว่า 5 แสนบาท โดยจะทำให้ผู้ได้รับสิทธิ์เหลือ 49 ล้านคน ใช้วงเงินประมาณ 4.9 แสนล้านบาท

 

  1. ให้เข้าร่วมเฉพาะผู้ยากไร้ตามกลุ่มบัตรคนจน จำนวน 15-16 ล้านคน

 

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะนำเสนอทั้ง 3 แนวทางเข้าที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อให้ตัดสินใจต่อไป

 

สำหรับด้านหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะยกเลิกรัศมีการใช้จ่ายในระยะทาง 4 กิโลเมตร และให้ใช้ในระดับอำเภอ เนื่องจากไม่กระจุกตัวเกินไปและมีร้านค้ารองรับเพียงพอ ส่วนเงื่อนไขของร้านค้าที่ขึ้นเงินได้ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีนิติบุคคล

 

ขณะที่ในด้านแหล่งเงินงบประมาณ ที่ประชุมได้มีข้อเสนอให้ใช้งบประมาณแผ่นดินผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณฯ เช่น หากโครงการนี้มีการใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาท ให้ผูกพันปีละ 1 แสนล้านบาท โดยทำในลักษณะการทำงบผูกพัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะทำให้ร้านค้าขึ้นเงินได้ช้าลง

 

ทั้งนี้ การใช้แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามแผนขาดดุลที่วางไว้ ไม่มีผลกระทบต่อตลาดทุน อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้คาดว่าจะทำให้เริ่มโครงการได้ช้าลง เพราะต้องรองบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ โดยคาดว่างบฯ จะล่าช้าไปถึงช่วงเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2567 และคาดว่าโครงการล่าช้าไปถึงช่วงนั้น

 

ส่วนข้อเสนอเรื่องใช้มาตรการกึ่งการคลัง หรืองบประมาณตามมาตรา 28 จาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หรืองบจากธนาคารออมสินคงไม่ได้ใช้แล้ว เพราะติดขัดข้อกฎหมายและกรอบอำนาจหน้าที่ซึ่งไม่ครอบคลุมการดำเนินงาน แต่คณะอนุกรรมการฯ จะส่งข้อเสนอเรื่องแหล่งเงินทั้งจากเงินงบประมาณ เงินกู้ และเงินจากมาตรา 28 ให้ที่ประชุมชุดใหญ่ตัดสินใจ

 

สุดท้ายด้านผู้ดำเนินการทำระบบแอปพลิเคชัน จุลพันธ์ระบุว่า หลังจากที่ได้มอบหมายให้สมาคมสถาบันการเงินของรัฐไปพิจารณา ได้มีข้อสรุปมอบหมายให้ ‘ธนาคารกรุงไทย’ เป็นผู้ทำระบบ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม มีประสบการณ์ และมี Platform Environment ที่เหมาะสม

 

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะเสนอข้อสรุปทั้งหมดต่อคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง โดยคาดว่าจะเสนอได้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งล่าสุดในวันนี้ (26 ตุลาคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่า ได้เห็นข้อเสนอทั้ง 3 ข้อแล้ว โดยย้ำว่าพร้อมรับฟังทุกข้อความคิดเห็น แต่ไม่อยากให้พูดเป็นประเด็นแตกย่อยหรือมาตอบคำถามทีละข้อ โดยขอให้มีคำตอบทั้งหมดก่อน แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมาได้พูดคุยกันโดยตลอด 

 

นายกฯ ระบุอีกว่า ในวันนี้จะมีการหารือกับ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นขอให้รออีกสักนิด ไม่อยากพูดไปก่อน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสน และขอพูดในองค์รวมทั้งหมด จะได้ทราบถึงความต้องการจริงๆ และผลกระทบด้านงบประมาณ รวมถึงตัวเลขการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ  

 

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising