×

เช็กผลงาน 2 ปีของไบเดน อะไรสำเร็จ อะไรล้มเหลว และสิ่งที่อาจจะเกิดหลังเลือกตั้งกลางเทอม

01.11.2022
  • LOADING...

ในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประสบความสำเร็จพอสมควรในการผลักดันกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่เขาเคยได้หาเสียงไว้ 

 

อย่างไรก็ตามนโยบายหลายอย่างของเขาต้องถูกลดขนาดลงไป และนโยบายบางอย่างก็ไม่สามารถผลักดันออกมาได้เนื่องจากติดกฎ Filibuster ของวุฒิสภาที่ระบุไว้ว่า ก่อนที่วุฒิสภาจะโหวตกันได้นั้น ส.ว. ของทั้งสองพรรคจะต้องได้โอกาสอภิปรายจนพึงพอใจก่อน และต้องใช้เสียง ส.ว. อย่างน้อย 60 คนออกมาโหวตว่าพวกเขาอภิปรายจนพอใจแล้ว วุฒิสภาถึงจะออกมาโหวตกันจริงๆ ได้ ซึ่งก็แปลว่าถ้าพรรคฝ่ายตรงข้ามรวบรวมเสียงได้ถึง 41 เสียง พวกเขาก็สามารถยับยั้งไม่ให้วุฒิสภามีการลงมติกันได้แล้ว ต่อให้พรรคเป็นเสียงข้างน้อยก็ตาม 

 

ซึ่งในปัจจุบันพรรคตรงข้ามอย่างรีพับลิกันมีคะแนนอยู่ที่ 50 เสียง ทำให้พวกเขาสามารถล้มร่างกฎหมายใดๆ ก็ตามที่พวกเขาไม่ชอบได้ 

 

กฎหมาย American Rescue Plan Act, Bipartisan Infrastructure Bill และ Bipartisan Safer Communities Act

หนึ่งในนโยบายหลักที่ไบเดนใช้หาเสียงในปี 2020 คือการที่เขาสัญญาว่ารัฐบาลของเขาจะจัดการกับปัญหาโควิดอย่างจริงจังโดยยึดหลักวิทยาศาสตร์ และไบเดนจะทุ่มเงินก้อนใหญ่ (Stimulus Package) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากการถดถอยที่เกิดในช่วงของการล็อกดาวน์

 

ไบเดนสามารถรักษาสัญญาข้อนี้ไว้ได้ด้วยการผ่านกฎหมายที่มีชื่อว่า American Rescue Plan Act ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบจะทันทีที่เขาเข้ารับตำแหน่ง 

 

ซึ่งเงินก้อนนี้ถูกใช้ไปกับการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนกว่า 500 ล้านโดส ใช้เป็นเงินกู้ยืมฉุกเฉินสำหรับธุรกิจต่างๆ รวมถึงใช้แจกเป็นเช็คโดยตรงแก่ชาวอเมริกันผู้มีรายได้น้อย ซึ่งชาวอเมริกันส่วนใหญ่เห็นชอบกับ American Rescue Plan Act นี้ และทำให้คะแนนนิยมของไบเดนพุ่งสูงขึ้นมากในช่วง 6 เดือนแรกในทำเนียบขาว

 

สัญญาต่อมาที่ไบเดนรักษาไว้ได้คือนโยบายลงทุนกับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ผ่านร่างกฎหมายที่มีชื่อว่า Bipartisan Infrastructure Bill เพื่อใช้ลงทุนปรับปรุงถนน, สะพาน, ระบบราง, ไฟฟ้า และระบบการบริหารจัดการน้ำ ในตอนต้นไบเดนเสนอการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ ส.ว. ของรีพับลิกันมองว่าเป็นการลงทุนที่เกินตัวเกินไป จนสุดท้ายไบเดนต้องลดขนาดของโครงการลงมาเหลือ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

กฎหมายควบคุมการถือครองปืนก็เป็นอีกกฎหมายหนึ่งที่ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตคนก่อนๆ พยายามผลักดันมาหลายสมัย แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะการต่อต้านอย่างรุนแรงจากรีพับลิกันที่ถือว่าสิทธิในการถือครองปืนอย่างเสรีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวอเมริกันทุกคนที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

ไบเดนเป็นประธานาธิบดีในรอบกว่า 30 ปีที่สามารถผ่านกฎหมายควบคุมการถือครองปืนได้สำเร็จ ภายใต้ชื่อว่า Bipartisan Safer Communities Act ซึ่งกำหนดให้ผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 21 ปี) ที่จะซื้ออาวุธปืนต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและจิตเวชก่อน นอกจากนี้ยังมีการให้เงินสนับสนุนแก่มลรัฐที่มีกฎหมายที่อนุญาตให้ตำรวจสามารถยึดครองอาวุธปืนจากบุคคลที่มีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรม และไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีประวัติใช้ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Abuse) ถือครองอาวุธปืนเป็นเวลา 5 ปีนับตั้งแต่ก่อเหตุ 

 

ซึ่งสาเหตุหลักที่ไบเดนสามารถผ่านร่างกฎหมายนี้ได้ก็เป็นเพราะในเดือนพฤษภาคมปี 2022 นั้นมีเหตุการณ์กราดยิงหมู่ติดๆ กันสองเหตุการณ์คือ ในซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองบัฟฟาโล มลรัฐนิวยอร์ก และในโรงเรียนประถมศึกษาที่เมืองอูวัลเด รัฐเท็กซัส ทำให้พรรครีพับลิกันไม่อาจฝืนกระแสความโกรธแค้นของชาวอเมริกัน และยอมให้ร่างกฎหมายผ่านวุฒิสภาออกมาได้

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งนโยบายล่าสุดที่ไบเดนประกาศออกมาผ่านคำสั่งของประธานาธิบดีโดยไม่ต้องผ่านสภา (ที่เรียกว่า Executive Order) ที่กำหนดให้หนี้สินกู้ยืมเพื่อการศึกษาระดับปริญญาจำนวน 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐแรกเป็นโมฆะไป ซึ่งก็เป็นนโยบายที่ไบเดนเคยหาเสียงไว้กับคนรุ่นใหม่ และก็น่าจะทำให้คะแนนนิยมของเขาในคนกลุ่มนี้พุ่งสูงขึ้น 

 

กฎหมาย Build Back Better/Inflation Reduction Act, John Lewis Voting Rights Act และสิทธิในการทำแท้ง

อย่างไรก็ตาม ไบเดนไม่สามารถผลักดันนโยบายที่เป็นซิกเนเจอร์ในการหาเสียงของเขาอย่าง Build Back Better ออกมาได้

 

Build Back Better คือนโยบายลงทุนกับพลังงานสะอาดและรัฐสวัสดิการพื้นฐานแก่ชาวอเมริกันผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต (เช่น บ้านเช่าราคาถูกจากรัฐ, เดย์แคร์ฟรีสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน และเพิ่มมูลค่าความคุ้มครองให้กับประกันสุขภาพฟรีจากรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่เรียกว่า Medicare) ไบเดนเสนอให้มีการใช้เงินงบประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนกับสองเรื่องนี้ และเขาก็สามารถผลักดันร่างกฎหมายนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่สุดท้ายร่างกฎหมายนี้ก็ไปติดกลไก Filibuster ของวุฒิสภา

 

ในเดือนสิงหาคมปีนี้ ไบเดนสามารถต่อรองกับวุฒิสภาจนผ่านร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาคล้าย Build Back Better ฉบับย่อส่วนที่มีชื่อว่า Inflation Reduction Act ออกมาได้ โดย Inflation Reduction Act นั้นมีขนาดที่เล็กกว่า และครอบคลุมแค่การลงทุนกับพลังงานสะอาด (โดยไม่มีนโยบายรัฐสวัสดิการรวมอยู่ด้วย) ที่สำคัญตัวกฎหมายนั้นจะไม่เอาเงินของรัฐมาใช้จ่ายโดยตรง แต่จะเอามาจากการขึ้นภาษีของภาคธุรกิจ

 

อีกหนึ่งกฎหมายที่ไบเดนสัญญาไว้แต่ผลักดันไม่สำเร็จคือกฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งที่มีชื่อว่า John Lewis Voting Rights Act ที่เป็นกฎหมายที่จะป้องกันไม่ให้รัฐบาลมลรัฐออกกฎหมายมากีดกันไม่ให้คนผิวดำออกมาใช้สิทธิได้โดยง่าย และป้องกันการแบ่งเขตเลือกตั้งตามอำเภอใจให้พรรคของตัวเองได้เปรียบ (Gerrymandering)

 

นอกจากนี้ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศาลสูงสุดหรือ Supreme Court ได้ออกคำพิพากษาใหม่เพื่อเป็นการล้มล้างคำพิพากษาเดิมในคดี Roe v. Wade ที่เคยให้สิทธิในการทำแท้งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์แก่สตรีทั่วประเทศมากว่า 50 ปี ซึ่งทำให้ในตอนนี้การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายไปแล้วใน 13 มลรัฐ ไบเดนและเดโมแครตได้มีแนวคิดที่จะออกกฎหมายให้การทำแท้งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ถูกกฎหมายทั้งประเทศ แต่ก็แน่นอนว่าแนวคิดนี้ติดกลไก Filibuster ในสภาสูงจากกลุ่ม ส.ว. เคร่งศาสนาจากพรรครีพับลิกัน

 

ศึกเลือกตั้งกลางเทอมและบททดสอบสำคัญของไบเดนในช่วงครึ่งเทอมที่เหลือ

สิ่งที่น่าจับตาหลังจากนี้คือ ไบเดนจะสามารถผลักดันกฎหมาย Build Back Better, John Lewis Voting Rights Act และกฎหมายทำแท้งเสรีทั่วประเทศได้หรือไม่ในอีก 2 ปีที่เหลือ ซึ่งการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะถึงนี้จะเป็นตัวตัดสิน

 

ถ้าเดโมแครตแพ้ในสภาใดสภาหนึ่ง โอกาสที่ไบเดนจะผลักดันกฎหมายเหล่านี้ได้คงเป็นศูนย์ แต่หากพรรคของเขารักษาทั้งสองสภาไว้ได้ และเพิ่มที่นั่งในสภาสูงเป็น 52 ที่นั่ง (จากเดิม 50 ที่นั่ง) เขาก็มีโอกาสที่จะผลักดันนโยบายเหล่านี้ได้ด้วยการโหวตให้ ส.ว. ของพรรคลงมติยกเลิกกฎ Filibuster ของวุฒิสภา ซึ่งใช้เพียงแค่ 50 เสียงก็โหวตล้มได้ แต่ในขณะนี้มี ส.ว. ของเดโมแครตเพียงแค่ 48 คนที่พร้อมจะโหวตล้ม Filibuster ของวุฒิสภา (ส.ว. สายกลางของพรรคสองคนอย่าง โจ แมนชิน และ เคิร์สเตน ซินีมา ประกาศมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก Filibuster เพราะพวกเขาต้องการให้มีการประนีประนอมกันในสภาสูง)

 

ผลจะเป็นอย่างไร อีกไม่นานเราจะได้รู้กัน

 

ภาพ: Anna Moneymaker / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising