ในตลาดหุ้นไทยถือว่ามีจำนวนหุ้นที่เป็นธุรกิจเทคโนโลยี หรือเรียกกันติดปากว่า ‘หุ้นเทค’ ในจำนวนที่จำกัด แต่ด้วยเทรนด์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปแบบรวดเร็ว ทำให้เทคโนโลยีถูกนำมาปรับใช้มากขึ้นเรื่อยๆ แทรกซึมกลมกลืนไปกับการใช้ชีวิตประจำวันในเกือบทุกช่วงเวลา ด้วยวัตถุประสงค์ในด้านการส่งเสริมความสะดวกสบาย
ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจหนังสือแบบดั้งเดิมที่เคยอ่านเป็นเล่มๆ ในวันนี้ได้มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้นผ่านการดึงเทคโนโลยีมาพัฒนาหนังสือดั้งเดิมให้เปลี่ยนเป็น E-Book และสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการอ่านหนังสือแบบออนไลน์
และในเร็วๆ นี้ ธุรกิจ E-Book ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงนักอ่าน กำลังจะยกระดับขึ้นมาเป็นบริษัทมหาชน THE STANDARD WEALTH จึงพามาทำความรู้จักหุ้น IPO น้องใหม่รายนี้ ซึ่งก็คือ บมจ.เมพ คอร์ปอเรชั่น หรือ MEB ที่กำหนดฤกษ์นำหุ้นเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้
1. ทำธุรกิจอะไร
MEB ปัจจุบันทำธุรกิจจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) จัดจำหน่ายอุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Reader) และธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มระบบห้องสมุดดิจิทัลสำหรับองค์กร (Hibrary)
2. ผู้ก่อตั้งคือใคร
MEB ถูกก่อตั้งในปี 2556 เริ่มต้นจากการเป็นสตาร์ทอัพ โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง ได้แก่ รวิวร มะหะสิทธิ์ ปัจจุบันยังรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กับ กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ปัจจุบันยังรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการ และทั้ง 2 คนยังเป็นผู้ถือหุ้นใน MEB
3. ใครถือหุ้นใหญ่
ปัจจุบัน บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC ถือหุ้นใน MEB สัดส่วน 75% และหลัง IPO จะมีสัดส่วนลดลงเหลือ 56.08%
4. ขาย IPO ราคาเท่าไร
MEB กำหนดราคาขาย IPO ที่ราคา 28.50 บาทต่อหุ้น โดยมีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) อ้างอิงกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง อยู่ที่ประมาณ 26.64 เท่า เปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ mai มี P/E อยู่ที่ 35.10 เท่า
โดย MEB เสนอขายจำนวนรวมไม่เกิน 75.50 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นไม่เกิน 25.17% หลัง IPO แบ่งเป็น
- หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 22.50 ล้านหุ้น
- หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Two Bees (HK) Limited จำนวนไม่เกิน 39.88 ล้านหุ้น
- หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Brain Ventures Limited จำนวนไม่เกิน 13.13 ล้านหุ้น
5. ตลาดรอง
ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในหมวดธุรกิจบริการ คาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อได้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์
บริษัทที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกันกับ MEB คือ บมจ.รุ่งเรืองตลอดไป (GLORY) มีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) อ้างอิงกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง อยู่ที่ประมาณ 45.01 เท่า
6. แผนใช้เงินจาก IPO
MEB จะได้รับเงินระดมทุนประมาณ 641.25 ล้านบาท (คำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ที่เสนอขาย) โดยบริษัทมีแผนจะขยายธุรกิจที่อยู่ในแพลตฟอร์มปัจจุบันของ meb readAwrite และ Hytexts จำนวนประมาณ 320 ล้านบาท และลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจปัจจุบัน โดยขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ รวมถึงใช้ลงทุนควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 230 ล้านบาท
7. มีอัตรากำไรดีแค่ไหน
ในช่วง 4 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา MEB มีอัตรากำไรสุทธิดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2562 อยู่ที่ 13.27%, ในปี 2563 อยู่ที่ 16.40%, ในปี 2564 อยู่ที่ 18.91% และใน 9 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ 19.14% และ MEB เป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้เงินกู้ยืม ดังนั้นเงินที่ได้จากการขาย IPO จะใช้ในการขยายธุรกิจเป็นหลัก
8. นโยบายการจ่ายเงินปันผล
MEB มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในอัตราปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินรวมของบริษัท ภายหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและการจัดสรรทุนสำรองตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ
9. ส่วนแบ่งการตลาด
ปัจจุบัน MEB มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ในตลาด E-Book ของประเทศไทย โดยมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 60% มีจำนวนลูกค้าที่เป็นสมาชิกประมาณ 8 ล้านราย ทิ้งห่างอันดับ 2 ที่ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 20-25%
10. ผลประกอบการที่ผ่านมา
ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 82.09 ล้านบาท มีรายได้ 618.72 ล้านบาท
ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 164.74 ล้านบาท มีรายได้ 1,004.68 ล้านบาท
ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 275.34 ล้านบาท มีรายได้ 1,456.38 ล้านบาท
และ 9 เดือนแรกปี 2565 มีกำไรสุทธิ 241.85 ล้านบาท มีรายได้ 1,263.54 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขข้อข้องใจ ทำไม หุ้น MASTER ถึงกล้าเคาะราคา IPO ต่อหน่วยสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- หุ้นสตาร์มันนี่ เข้าเทรดใน SET วันแรก ‘บวกแรง’ เปิดตลาดวิ่ง 16.65% จากราคา IPO
- หุ้น MOSHI พุ่งแรง! เข้าเทรดใน SET วันแรกด้วยราคาเปิดที่ 35 บาท เพิ่มขึ้น 67% จากราคา IPO