×

ประสิทธิภาพสูง แต่คนไทยยังต้องรอ รวม 10 คำถามไขข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีน Pfizer

28.04.2021
  • LOADING...
วัคซีน Pfizer

HIGHLIGHTS

  • วัคซีน Pfizer เป็นวัคซีนต้านโควิด-19 บริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการทดลองเฟสสาม ต่อมาได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ให้ใช้ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป 
  • ขณะนี้วัคซีนได้รับอนุมัติให้ใช้ใน 48 ประเทศ รวมถึงประเทศในอาเซียน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ นอกจากนี้วัคซีน Pfizer ยังอยู่ในโครงการ COVAX ซึ่งมีแผนกระจายวัคซีน 14 ล้านโดสให้กับ 47 ประเทศภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ 
  • สำหรับไทยน่าจะสามารถนำเข้าวัคซีนมาใช้ได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 แต่ถ้าหากตัดสินใจจองวัคซีน Pfizer ตั้งแต่ปีที่แล้ว หรือปรับแผนความครอบคลุมของวัคซีนจาก 50% เป็น 70% ตั้งแต่ต้นปี ไทยจะมีโอกาสได้ใช้วัคซีน Pfizer เร็วกว่านี้หรือไม่ คำตอบต้องอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขและนายกรัฐมนตรี

วัคซีน Pfizer เป็นวัคซีนโควิด-19 บริษัทแรกๆ ที่ได้ยินข่าวความคืบหน้ามาเป็นระยะ ตั้งแต่ระหว่างที่นักวิจัยกำลังคิดค้นจนกระทั่งถูกนำมาฉีดในกับประชากรจำนวนมากในหลายประเทศ ทั้งเป็นเทคโนโลยีใหม่ และมีประสิทธิภาพสูง เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีข่าวว่าไทยกำลังเจรจากับบริษัทนี้เพื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศ

 

ตอนนี้น่าจะมีอย่างน้อย 10 คำถามที่หลายคนสงสัย และหลายคนน่าจะอยากรู้ว่าวัคซีน Pfizer เป็นอย่างไร นี่คือคำตอบจากแหล่งข้อมูลเท่าที่สืบค้นได้ในขณะนี้

 

1. วัคซีน Pfizer ใช้เทคโนโลยีอะไรในการผลิต? 

 

วัคซีน Pfizer-BioNTech เป็นวัคซีนสัญชาติอเมริกัน-เยอรมัน ชื่อในการทดลองคือ BNT162b2 เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตวัคซีน โดย mRNA เป็นสารพันธุกรรมของไวรัสทำหน้าที่คล้าย ‘แม่พิมพ์’ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะถูกถอดรหัสเป็นโปรตีนส่วนหนาม (Spike) ออกมากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

 

ต่างจากวัคซีนประเภทเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) เช่น วัคซีน AstraZeneca ตรงที่วัคซีนเหล่านี้ตัดต่อสารพันธุกรรมให้ไวรัสอะดิโนก่อนเพื่อเป็นพาหะนำเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย ในขณะที่วัคซีน Pfizer ฉีดสารพันธุกรรมเข้าไปโดยตรง แต่เป็นเพียงชิ้นส่วนของไวรัสที่หุ้มด้วยอนุภาคนาโนที่เป็นไขมัน ( Lipid Nonaparticle) ไม่ใช่ไวรัสที่มีชีวิต 

 

ภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน Pfizer (อ้างอิง: NEJM) เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว mRNA จะเป็นแม่พิมพ์ถอดรหัสเป็นหนามของไวรัส (สีแดง) ออกไปแสดงที่ผิวเซลล์ กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน (สีม่วง)

 

2. วัคซีนได้รับอนุมัติจาก US FDA ตั้งแต่เมื่อไร?

 

วัคซีน Pfizer เป็นวัคซีนโควิด-19 บริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการทดลองเฟสสาม โดยบริษัทได้ประกาศว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่า 90% เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 และต่อมาได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ให้ใช้ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป 

 

3. ประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer เป็นอย่างไร?

 

95% เป็นตัวเลขประสิทธิภาพแรกของวัคซีน Pfizer ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The New England Journal of Medicine ในเดือนธันวาคม 2563 ทดลองในอาสาสมัคร 43,548 คน อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป แบ่งครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีน อีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 95% 

 

แต่เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ผู้วิจัยได้รายงานตัวเลขใหม่คือ 94.8% และแก้ไขประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มแรกเป็น 92.6% จากเดิม 52.4% เนื่องจากตัวเลขเดิมวิเคราะห์รวมช่วง 2 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งร่างกายยังไม่ทันสร้างภูมิคุ้มกัน ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับของวัคซีน Moderna ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนกันคือ 92.1%

 

วัคซีน Pfizer ยังมีผลการทดลองเฟส 3/4 ที่น่าสนใจอีก 2 การทดลองคือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในสหราชอาณาจักรระหว่างเดือนธันวาคม 2563 ถึงมกราคม 2564 พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการหลังฉีดเข็มแรกประมาณ 75% และการทดลองในอิสราเอล ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวนมาก พบว่า

 

  • มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 92%
  • ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 94%
  • และป้องกันอาการรุนแรง 92%

 

4. ป้องกันสายพันธ์ุใหม่ได้หรือไม่?

 

ปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขประสิทธิภาพจริงของวัคซีน Pfizer ต่อสายพันธุ์ใหม่ แต่จากการศึกษาในห้องทดลอง โดยนำน้ำเหลืองของผู้ที่ได้รับวัคซีนมาทดสอบกับไวรัสที่กลายพันธุ์พบว่ามีประสิทธิภาพลดลง 2.0, 6.5 และ 6.7 เท่าต่อสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7), สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) และสายพันธุ์บราซิล (P.1) ตามลำดับ

 

แต่สำหรับสายพันธุ์อังกฤษอาจเทียบเคียงได้จากผลการทดลองในอิสราเอลข้างต้น เพราะเป็นสายพันธุ์ที่พบในอิสราเอลมากถึง 80% ดังนั้นวัคซีน Pfizer น่าจะมีประสิทธิภาพสูง ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้พบน้อยเพียง 1% แต่อ้างอิงจากสำนักข่าว Reuters พบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีอัตราการติดเชื้อสายพันธุ์นี้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน 

 

ส่วนสายพันธุ์เบงกอลที่กำลังระบาดในอินเดียยังไม่มีข้อมูล

 

5. วัคซีนปลอดภัยหรือไม่ มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

 

ผลการทดลองในเฟสสาม พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ส่วนใหญ่เป็นผลข้างเคียงไม่รุนแรง กลุ่มอายุน้อย (16-55 ปี) พบผลข้างเคียงได้มากกว่ากลุ่มอายุมากกว่า 55 ปี เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด 83% พบในกลุ่มอายุน้อย 71% พบในกลุ่มอายุมากกว่า 55 ปี (83% ต่อ 71%) ไม่ค่อยพบอาการบวม/แดงบริเวณที่ฉีด อาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย (47% ต่อ 34%) ปวดศีรษะ (42% ต่อ 25%) หนาวสั่น (14% ต่อ 6%)

 

ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงพบ 4 ราย ได้แก่ หัวไหล่บาดเจ็บจากการฉีดวัคซีน ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ขวาโต หัวใจเต้นผิดจังหวะชั่วคราว และชาขาข้างขวา แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต 

 

ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาเริ่มฉีดวัคซีนในประชากรจำนวนมาก พบอัตราการแพ้วัคซีนรุนแรง 4.5 รายต่อ 1 ล้านโดสใน 1 เดือนแรก จนถึงขณะนี้วัคซีนถูกฉีดไปแล้วมากกว่า 150 ล้านโดส

 

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เมื่อวันที่ 21 เมษายนมีรายงานผลการติดตามการฉีดวัคซีนเบื้องต้นพบว่า 86.1% ตั้งครรภ์จนคลอดเป็นทารก (ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนในไตรมาสที่ 3) ในจำนวนนี้คลอดก่อนกำหนด 9.4% ส่วนอัตราการแท้งไม่แตกต่างจากช่วงก่อนที่จะมีการระบาด คณะกรรมการที่รับผิดชอบด้านวัคซีนจึงแนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเหมือนคนทั่วไป

 

6. วัคซีน Pfizer ต้องฉีดกี่เข็ม ห่างกันเท่าไร?

 

วัคซีน Pfizer ต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่ต้นแขนจำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ ต่างจากวัคซีน Moderna ที่ฉีด 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้รุนแรงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในเข็มที่สอง (วัคซีนไม่มีส่วนประกอบของไข่หรือลาเท็กซ์ แต่มีโพลีเอทิลีนไกลคอล ซึ่งเป็นตัวทำละลายในยาหรือเครื่องสำอาง)

 

7. วัคซีนราคาเท่าใด? เก็บในตู้เย็นปกติได้หรือไม่?

 

วัคซีนราคาโดสละ 19.5 ดอลลาร์ แพงกว่าวัคซีน AstraZeneca (2-5 ดอลลาร์) แต่วัคซีน Pfizer อาจต้องลงทุนเพิ่มในส่วนของการเก็บรักษาและการขนส่งเนื่องจากต้องเก็บในตู้แช่แข็ง -80 ถึง -60 องศาเซลเซียส แต่ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US CDC) สามารถเก็บในอุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียสได้ถึง 2 สัปดาห์

 

ส่วนตู้เย็นปกติอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้ 120 ชั่วโมง (5 วัน) แต่ไม่สามารถนำกลับมาแช่แข็งได้อีก ในขณะที่อุณหภูมิห้อง 2-25 องศาเซลเซียส เก็บไว้ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง 

 

8. ประเทศที่อนุมัติการใช้วัคซีน Pfizer แล้วมีกี่ประเทศ

 

ขณะนี้วัคซีนได้รับอนุมัติให้ใช้ใน 48 ประเทศ รวมถึงประเทศในอาเซียน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ นอกจากนี้วัคซีน Pfizer ยังอยู่ในโครงการ COVAX ซึ่งมีแผนกระจายวัคซีน 14 ล้านโดสให้กับ 47 ประเทศภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยเฉพาะบราซิล โคลอมเบีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และยูเครน

 

9. แผนการซื้อวัคซีน Pfizer ของไทยเป็นอย่างไร?

 

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 (หลังจากบริษัทประกาศความสำเร็จ ย้อนกลับไปคำถามที่ 2) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เคยแถลงข่าวร่วมกับอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ว่าทางบริษัทได้นัดหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2563

 

แต่หลังจากนั้นไม่ได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับวัคซีน Pfizer อีกจนกระทั่งเกิดการระบาดระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการเจรจากับบริษัท Pfizer เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ว่า “จะให้กราบเขาเพื่อให้ส่งได้เร็วที่สุดก็จะทำ” 

 

ด้านเพจสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โพสต์ชี้แจงเมื่อวันที่ 27 เมษายน เกี่ยวกับข่าวที่บริษัท Pfizer เสนอขายวัคซีนให้รัฐบาลถึง 4 รอบแต่ถูกปฏิเสธว่า ‘ไม่เป็นความจริง’ เพราะบริษัทได้เข้ามาให้ข้อมูลเป็นระยะ รวมถึงข้อมูลที่สนับสนุนว่าสามารถใช้ได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป จึงมีการเจรจาต่อเนื่องเพื่อจองซื้อวัคซีน โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมดังกล่าว

 

10. ไทยจะได้ฉีดวัคซีน Pfizer เมื่อไร?

 

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ โดยตอนหนึ่งได้กล่าวถึงวัคซีน Pfizer ว่าสถาบันวัคซีนแห่งชาติกำลังเจรจากับบริษัท มีความเป็นไปได้ว่าจะส่งในเดือนกรกฎาคมถึงสิ้นปี 2564 จำนวน 5-10 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาใบเสนอราคาและเงื่อนไขของการนำเข้า

 

โดยสรุปวัคซีน Pfizer เป็นวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ มีประสิทธิภาพสูงมากกว่า 90% และมีความปลอดภัยจากการติดตามผลข้างเคียงในระยะสั้น จึงได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ แต่การทดลองเฟสสามจะต้องติดตามผลข้างเคียงจนครบ 2 ปี ส่วนการเก็บรักษาวัคซีนสามารถใช้ตู้เย็นปกติได้ไม่เกิน 5 วัน

 

สำหรับไทยน่าจะสามารถนำเข้าวัคซีนมาใช้ได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 แต่ถ้าหากตัดสินใจจองวัคซีน Pfizer ตั้งแต่ปีที่แล้วหรือปรับแผนความครอบคลุมของวัคซีนจาก 50% เป็น 70% ตั้งแต่ต้นปี ไทยจะมีโอกาสได้ใช้วัคซีน Pfizer เร็วกว่านี้หรือไม่ คำตอบต้องอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขและนายกรัฐมนตรี

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising