×

คนเข้าร้านน้อยลงไม่เป็นไร แต่ชาวจีนสั่งมากินที่บ้านมากขึ้น ทำให้ยอดขายไตรมาสแรกของ KFC และ Pizza Hut ในแดงมังกรโตระเบิด

28.04.2021
  • LOADING...

แม้โควิด-19 จะทำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงที่จะเดินเข้าไปกินอาหารในร้าน ทว่าการจัดส่งแบบเดลิเวอรีกลายเป็นปัจจัยหลักที่เข้ามาหนุนนำทำให้ Yum China ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ KFC, Pizza Hut, Taco Bell และเครือข่ายร้านอาหารอื่นๆ ในจีน โตแบบระเบิดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021

 

รายได้เพิ่มขึ้น 46% ในช่วงสามเดือนแรกจากปีก่อนหน้าเป็น 2.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มเกือบ 4 เท่า เป็น 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.2 พันล้านบาท ตัวเลขที่เกิดขึ้นถือว่ามากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาดเสียอีก โดยรายได้เพิ่มขึ้น 11% และกำไรเพิ่ม 13%

 

“ผลประกอบการไตรมาสแรกของเราแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของ Yum China” Joey Wat ซีอีโอของ Yum China กล่าวในระหว่างแถลงผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยอดขายสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสแรกของปี 2020 แต่ยังคงต่ำกว่าไตรมาสแรกของปี 2019 ถึง 6%

 

Yum China บอกว่า ผลงานที่ดีขึ้นเกิดจากปัจจัย 2 ประการด้วยกัน ได้แก่ ประการแรก การขยายสาขา โดยไตรมาสแรกนี้มีร้านค้าใหม่ 315 สาขา และยอดรวมร้านค้า ณ สิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ 10,725 ร้าน โดยมีร้าน KFC 7,373 แห่ง และ Pizza Hut 2,382 แห่ง

 

ประการที่สองและปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการผลักดันยอดขายคือ บริการจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี ซึ่ง Yum China ดำเนินการโดยมีพนักงานขับรถของตนเอง จากข้อมูลพบประมาณ 29% ของยอดขายที่ KFC และ Pizza Hut มาจากการส่งอาหาร เทียบกับ 19% ในไตรมาสแรกของปี 2019 ในขณะที่ปริมาณการเดินเข้าร้านของลูกค้าลดลง 13% จากสามเดือนเดียวกันในปี 2019

 

“ธุรกิจเดลิเวอรรีของเราดำเนินไปได้ด้วยดี” Andy Yeung ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินกล่าว พร้อมเสริมว่า นอกเหนือจากการเปลี่ยนไปใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บริษัทยังลงทุนในบรรจุภัณฑ์พิเศษที่จะตอบสนองความต้องการในการจัดส่งและนำกลับบ้านได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนอย่างมากในธุรกิจของ Yum China 

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Yum China ได้ลงทุนในเรื่องของดิจิทัลจำนวนมาก และได้ออกดอกออกผลเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้คำสั่งซื้อดิจิทัลบนแอปฯ บนอุปกรณ์เคลื่อนที่และวิธีการออนไลน์อื่นๆ คิดเป็น 84% ของยอดขายทั้งหมดของ KFC และ Pizza Hut ขณะเดียวกัน มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ขับขี่ โดยในช่วงตรุษจีนได้มีการแชร์คนขับระหว่างแพลตฟอร์ม KFC และ Pizza Hut เพื่อให้ใช้ทรัพยากรได้ดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม Yum China ยังมีความท้าทายในแง่ของ ‘ต้นทุน’ ซึ่งเกิดจากพนักงาน เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในจีน ทำให้การจ้างพนักงานร้านอาหารและคนขับรถเพิ่มขึ้นจึงมีราคาแพงขึ้น ขณะเดียวกัน การดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลและค่าใช้จ่ายการลงทุนอื่นๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ใหม่ จะเข้ามาเป็นแรงกดดันให้กับ Yum China ในอนาคตต่อไป 

 

กระนั้น Yum China ก็ย้ำว่าสามารถลดต้นทุนโดยใช้วิธีการแบบองค์รวม หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มความหนาแน่นของร้านค้าในเมืองต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดระยะทางในการจัดส่งโดยเฉลี่ย ทำให้คนขับส่งสั้นลงและต้นทุนลดลง ทว่าสิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายในการเช่าร้าน ดังนั้นแล้ว Yum China ระบุว่า ต้องเป็นร้านที่ทำเลที่ดีมากๆ การลงทุนถึงจะคุ้มค่า 

 

ภาพ:  Barcroft Media / Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising