×

อายุน้อยแต่ต้องเป็นหัวหน้าคนอายุมากกว่า จะทำอย่างไรดี

24.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ใช้ ‘ความเป็นเด็ก’ ให้เป็นประโยชน์ เมื่อเป็นหัวหน้าแล้วลองหาวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ ลองดูว่าอะไรที่เคยทำแล้วจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร ความเป็นเด็กทำให้ไม่ตีกรอบตัวเอง และคอยมองหาวิธีการหรือไอเดียใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาองค์กร
  • องค์กรที่แข็งแรงควรมีความหลากหลาย ยิ่งมีคนหลายรุ่นอยู่ร่วมกันได้ยิ่งดี เพราะเราจะได้การทำงานที่หลากหลาย ได้มุมมองที่รอบด้าน พนักงานได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาคนที่อยู่ต่างรุ่น ยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน มันคือโมเดลเดียวกับการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม

เอาคนอายุมากมาบริหารก็แบบหนึ่ง เอาคนอายุน้อยมาบริหารก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็สามารถพาทีมไปสู่ความสำเร็จได้ วิธีการอาจจะต่างกัน แต่ไปสู่จุดหมายได้เหมือนกัน

Q: ผมเป็นหัวหน้าที่อายุน้อย แต่ต้องบริหารคนที่อายุมากกว่าที่เป็นลูกน้อง จะทำอย่างไรดีครับ  

 

A: ก่อนอื่นต้องยินดีกับคุณก่อนเลย เพราะไม่ใช่ทุกคนจะได้เป็นหัวหน้า บางคนอาจได้เป็นลูกน้องตลอดชีวิต การที่คุณได้เป็นหัวหน้าจะทำให้คุณได้เรียนรู้ทั้งมุมที่เป็นลูกน้องและหัวหน้า ซึ่งทั้งสองหน้าที่นี้ช่วยพัฒนาความสามารถของคุณได้ ตอนเป็นลูกน้องก็ฝึกการเป็นผู้ตาม ส่วนตอนเป็นหัวหน้าก็ฝึกการเป็นผู้นำ และทำให้ได้รู้ว่าหัวหน้าของเราเขาต้องเจออะไรบ้าง อาจจะทำให้เราเข้าใจหัวอกของหัวหน้ามากขึ้นก็ได้ ฮ่าๆ เพราะฉะนั้น ยิ่งได้เรียนรู้การเป็นหัวหน้าตั้งแต่อายุยังน้อยก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ

 

โจทย์ที่คุณได้รับถือเป็นความท้าทายครับ อย่ารีบมองว่าเป็นปัญหา ผมคิดว่าเอาคนอายุมากมาบริหารก็แบบหนึ่ง เอาคนอายุน้อยมาบริหารก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็สามารถพาทีมไปสู่ความสำเร็จได้ วิธีการอาจจะต่างกัน แต่ไปสู่จุดหมายได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมก็เชื่อว่า ผู้บริหารอายุน้อยอย่างคุณก็ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน และอยากให้คุณบอกตัวเองแบบนั้นว่าคุณก็ทำได้

 

ผมอยากชวนคุณมองข้ามอายุที่เป็นเพียงตัวเลข แล้วมาโฟกัสที่ ‘ความเป็นเด็ก’ ดีกว่า

 

จำตอนที่เราเป็นเด็กได้ไหมครับ เราจะมีความคิดสร้างสรรค์แบบที่ผู้ใหญ่ไม่มี เมฆก้อนเดียวเราก็มองเป็นอะไรได้ตั้งหลายอย่าง เรายังไม่ถูกตีกรอบความคิด เราคิดวิธีการแปลกๆ ในการจัดการกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราสนุกกับเรื่องใหม่ๆ เรามีคำถามมากมายเต็มไปหมดและอยากที่จะรู้คำตอบ และเราก็เชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้หมด

 

ใช้ ‘ความเป็นเด็ก’ ให้เป็นประโยชน์ครับ พอมาเป็นหัวหน้าแล้วลองหาวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ ลองดูว่าอะไรที่เคยทำแล้ว แล้วเราจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร ความเป็นเด็กทำให้คุณยังไม่ตีกรอบตัวเองและคอยมองหาวิธีการใหม่ๆ หรือมีไอเดียใหม่ๆ ที่มาช่วยพัฒนาองค์กรได้ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งใหม่ที่คนอายุมากมองไม่เห็นก็ได้ สิ่งนี้คือจุดแข็งในการเป็นหัวหน้าที่อายุน้อย

 

ความเป็นเด็กคือสิ่งที่คุณต้องรักษาไว้ ใช้มันให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม และต่อให้กลายเป็นหัวหน้าที่อายุมากแล้วก็ควรต้องมี

 

องค์กรที่แข็งแรงควรมีความหลากหลาย ยิ่งมีคนหลายรุ่นอยู่ร่วมกันได้ยิ่งดี เพราะเราจะได้การทำงานที่หลากหลาย ได้มุมมองที่รอบด้าน พนักงานได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาคนที่อยู่ต่างรุ่น ยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน มันคือโมเดลเดียวกับการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี่แหละครับ ที่เราต้องอยู่กับทั้งคนอายุมากกว่าเรา น้อยกว่าเรา คิดไม่เหมือนเรา ไปจนถึงคนที่มีความต่างจากเราไปเลยในทุกมิติ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าจุดที่คุณอยู่เป็นจุดที่ดีมากนะครับ

 

แต่แน่นอนครับว่าคนเรามีความคิดที่ต่างกัน ในองค์กรของเราอาจจะมีทั้งคนอายุมากที่ปิดใจไม่ยอมรับสิ่งใหม่ๆ รู้สึกเหนื่อยเกินที่จะปรับตัว อยากใช้วิธีการทำงานแบบเดิมๆ ที่ตัวเองคุ้นเคยมากกว่า มองความอาวุโสเป็นเรื่องใหญ่ และมีคนที่ยินดีเปิดใจพร้อมจะเรียนรู้ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ให้เกียรติคนที่อายุน้อยกว่าในฐานะหัวหน้า เราต้องยอมรับว่าเขาอาจจะมีทัศนคติบางอย่างเกี่ยวกับหัวหน้าที่อายุน้อยกว่าอย่างเราอยู่แล้ว ซึ่งทัศนคติที่พวกเขามีนั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จากลบเป็นกลางเป็นบวก จากกลางเป็นบวก และแน่นอนว่าสวิงกลับไปเป็นลบก็ได้เช่นกัน

 

เรื่องหลักน่าจะไม่ใช่ ‘เขาคิดอย่างไรกับคุณ’ แต่เรื่องหลักน่าจะเป็น ‘คุณจะพาพวกเขาให้ทำงานไปถึงเป้าหมายอย่างไร’ มากกว่า เรามาทำงาน สิ่งสำคัญคือ ถ้าทุกคนได้เห็นว่า คุณในฐานะหัวหน้า ช่วยให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานสู่ความสำเร็จได้ เขาก็จะยอมรับคุณได้มากขึ้น

 

ผมคิดว่าหัวใจของเรื่องนี้คือการให้เกียรติลูกน้องก่อน และเชื่อมั่นว่าทุกคนจะเก่งขึ้นได้ เพราะถ้าเราเชื่อแบบนั้น เราก็จะไม่กลัวที่จะทำงานกับคนอายุมากกว่า

 

คนที่อายุมากกว่าทุกคนชอบคนอายุน้อยที่ให้เกียรติเขา สุภาพกับเขา ไม่มาถอนหงอกเขา ทำให้เขารู้สึกว่ามีความสำคัญ ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าเขากำลังจะหมดความหมายหรือรู้สึกว่าเราไม่เห็นหัวเขา คนเป็นผู้ใหญ่ไม่ชอบเข้าหาใครก่อน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าถ้าเราเข้าหาเขาก่อนด้วยความสุภาพยิ่งน่ารักครับ อย่าลืมว่าคนยิ่งตำแหน่งสูงยิ่งต้องติดดิน ยิ่งต้องเข้าถึงง่ายกับทุกคน

 

พอบอกว่าต้องสุภาพกับผู้อาวุโส ไม่ได้แปลว่าเราต้องคลานเข่าเข้าหาลูกน้องรุ่นใหญ่ของเรานะครับ ผมคิดว่าการเป็นคนสุภาพ มีมารยาท ก็เป็นการให้เกียรติเขาแล้ว ที่สำคัญกว่านั้น การมองเห็นศักยภาพของเขานี่แหละครับคือการให้เกียรติคนเป็นอย่างดี เราต้องยอมรับก่อนว่า ต่อให้เป็นหัวหน้า เราก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง บางเรื่องลูกน้องอาจจะรู้มากกว่าเราในรายละเอียดด้วยซ้ำ เช่นเดียวกัน ลูกน้องก็จะไม่ได้รู้ในสิ่งที่เรารู้ในบางเรื่อง ทุกคนมีความสามารถ มีจุดอ่อนจุดแข็งที่เมื่ออยู่ร่วมกันทำให้ทีมแข็งแกร่งได้ ผมมองว่ามันคือการเติมเต็มซึ่งกันและกัน บางเรื่องคนเป็นหัวหน้าก็ไม่รู้หมดหรอกครับ แต่หัวหน้าที่ดีจะส่งเสริมลูกน้องให้เก่งขึ้น พอลูกน้องเราเก่งขึ้นทีนี้ก็สบายแล้ว งานออกมาดีขึ้น เราไม่จำเป็นต้องเก่งในแบบลูกน้องก็ได้ แต่ต้องส่งเสริมคนเป็น และเราต้องรู้ในเรื่องที่เขารู้ในระดับที่จะแนะนำเขาได้ หรือคอมเมนต์เขาได้ กับลูกน้องอาวุโสก็แบบนี้เหมือนกันครับ เขาอาจจะมองว่าเขาประสบการณ์มากกว่าเราในบางเรื่อง แต่เราต้องบอกตัวเองนะครับว่า สิ่งที่เรามี เขาก็ไม่มี และสิ่งที่เขามี เราก็อาจจะไม่มีเท่าเขา แต่เราจะช่วยส่งเสริมกันและกัน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเรื่องใครรู้มากกว่ากันไม่น่าจะเป็นปัญหา เรามาทำให้งานดีขึ้นดีกว่า

เก็บความเป็นเด็กไว้และใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้เกียรติลูกน้องก่อน มองเห็นข้อดีของลูกน้องแล้วดึงศักยภาพของเขาออกมา

ในฐานะที่คุณเป็นหัวหน้าและเข้ามาเพื่อทำให้งานที่ทำอยู่ดีขึ้น ผมคิดว่าการรับฟังความคิดเห็นของทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนที่เด็กกว่าหรือผู้ใหญ่กว่าก็เถอะ ผมคิดว่าแต่ละคนก็คงมีความเห็นที่ต่างกัน และคงมองเห็นปัญหาขององค์กรจากมุมที่ต่างกัน และนั่นคือสิ่งที่คุณควรรับฟังและนำไปคิดต่อว่าจะพัฒนาองค์กรได้อย่างไร ถ้าลูกน้องสัมผัสได้ว่าหัวหน้าให้ความสำคัญกับเขา เปิดใจให้กับเขาก่อน ผมคิดว่ามันก็จะค่อยๆ ทลายกำแพงระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องได้ ไม่ว่าจะกับลูกน้องที่เด็กกว่าหรือผู้ใหญ่กว่า

 

คนที่อาวุโสกว่าอาจจะมีประสบการณ์การทำงานมาอีกแบบ มีบทเรียนจากการทำงานมาก่อน ซึ่งพวกนี้เราสามารถเรียนรู้ได้และนำมาพัฒนาได้ต่อ อย่างไรก็ต้องถือว่าความสำเร็จที่ผ่านมาขององค์กรก็มาจากผู้ใหญ่เหล่านี้ ซึ่งเราต้องขอบคุณและให้เกียรติเขา หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรให้ดีขึ้นจากที่เคยมีมา เราต้องทำให้ลูกน้องรุ่นใหญ่ของเราเหล่านี้รู้สึกว่า เราไม่ได้เข้ามาล้างบางสิ่งเก่าๆ แต่เราเข้ามาเพื่อต่อยอดสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เข้ามาแก้ปัญหาบางอย่างให้ดีขึ้น ว่ากันตรงๆ คือ เรามาดี เรามาช่วยเขานั่นแหละ ถ้าเราทำให้เขารู้สึกว่าคุณเข้ามาแล้วงานมันดีขึ้น ชีวิตคนทำงานดีขึ้น เรื่องเด็กเรื่องแก่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะลูกน้องได้สิ่งที่ต้องการแล้ว

 

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะสร้างความคิดให้คุณมองเห็นลูกน้องที่อาวุโสกว่าว่าก็มีข้อดีกับองค์กร และเราสามารถทำให้เขาเป็นกำลังสำคัญขององค์กรได้เช่นกัน

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะมีลูกน้องบางคนที่ปิดใจ ไม่ยอมรับคุณเพราะคุณเด็กกว่า ประสบการณ์บางเรื่องน้อยกว่าเขา อันนี้ต้องทำใจแต่ต้องไม่ไปเกลียดเขาเพียงเพราะเขาดื้อด้านกับเรา ยิ่งเราเป็นหัวหน้ายิ่งต้องทำให้คนรู้สึกว่าเราไม่ได้มีอคติกับใคร แต่ใครจะมีอคติกับเราก็ช่าง ถือว่าคุณเข้ามาทำงาน มีหน้าที่ทำงานให้ลุล่วง

 

ในการประเมินผลงานก็เช่นกันครับ ถ้าเขาทำได้ตามเป้าหมายที่ร่วมกันวางไว้ก็จบ แต่ถ้าไม่ถึงเป้าหมาย จะด้วยเพราะเขาไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานแบบเดิมๆ หรืออะไรก็ตาม ก็ต้องคุยกับเขา หรือถ้าจำเป็นต้องลงโทษก็ต้องลงโทษด้วยเหตุผล ลงโทษที่ผลงานเขาไม่ใช่ลงโทษเพียงเพราะเขาไม่เคารพเรา เช่น ถ้า KPI ที่วางไว้คือการปรับวิธีการทำงานใหม่แล้วลูกน้องไม่ยอมเปลี่ยน ก็ถือว่าเขาไปไม่ถึง KPI ต้องคุยกันว่าเพราะอะไร ทำไมถึงไม่เปลี่ยน หรือเขาอยากทำอะไร มีอะไรที่เราจะช่วยแก้ปัญหาได้ ถ้าจำเป็นต้องลงโทษก็ต้องลงโทษ อย่ากลัวที่จะลงโทษเพียงเพราะเขาอาวุโสกว่า ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ทำดีก็ควรได้รับการชื่นชมยกย่อง ทำไม่ดีก็ต้องโดนลงโทษ

 

ยิ่งเป็นหัวหน้าคนยิ่งจับจ้อง และคาดหวังในตัวคุณสูงครับว่าคุณจะเป็นหัวหน้าแบบไหน ผมคิดว่าเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์เอง เป็นหัวหน้าคนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องใช้เวลาและค่อยๆ ปรับกันไป มันก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ผมไม่สามารถตอบได้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน แต่อยากให้คุณรู้สึกว่า ทุกวันที่คุณทำงานมันจะไม่สูญเปล่าครับ ทำดีไปเถอะ

 

ผมคิดว่าจะอายุน้อยแล้วต้องบริหารคนอายุมากก็ใช้เรื่องเดียวกันครับคือ เก็บความเป็นเด็กไว้และใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้เกียรติลูกน้องก่อน มองเห็นข้อดีของลูกน้องแล้วดึงศักยภาพของเขาออกมา เพื่อช่วยให้เขาพัฒนาตัวเองได้ เปิดใจเรียนรู้จากลูกน้อง โฟกัสที่เป้าหมาย มีความยุติธรรมเด็ดขาด และใช้ความสม่ำเสมอเป็นตัวตอกย้ำว่าเราเป็นหัวหน้าแบบไหน

 

อีกอย่างคือพอเป็นหัวหน้าแล้วคุณจะแก่ขึ้นเยอะกว่าตอนเป็นลูกน้องอีก ฮ่าๆ เพราะฉะนั้น อย่าลืมดูแลสุขภาพด้วยครับ อย่าผลาญคอลลาเจนบนหน้าไปกับความเครียดมาก

 

เอาใจช่วยหัวหน้าคนใหม่ครับ

 

* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising