×

บล.กรุงศรี ชี้ BOJ ใช้ Yield Curve Control คุมเงินเฟ้อ เหมาะกับสถานการณ์เงินเฟ้อญี่ปุ่น แต่ทำเยนแข็ง เสี่ยงกระทบท่องเที่ยว

21.12.2022
  • LOADING...

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี ระบุ กรณี BOJ เลือกใช้ Yield Curve Control เพื่อคุมเงินเฟ้อ เหมาะกับสถานการณ์ญี่ปุ่นที่เงินเฟ้อยังไม่สูง มองว่ามีผลเฉพาะญี่ปุ่น ทำเยนแข็ง เสี่ยงกระทบภาคท่องเที่ยว ทำดุลบริการขาดทุน โดยเชื่อว่าญี่ปุ่นยังตรึงดอกเบี้ยต่ำต่อ หากเงินเฟ้อไม่พุ่งแตะ 6-8%

 

เผดิมภพ สงเคราะห์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บล.กรุงศรี กล่าวว่า กรณีธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจปรับนโยบาย Yield Curve Control ขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของญี่ปุ่นให้สามารถเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นจากเดิม -0.25% ถึง +0.25% เป็น-0.5% ถึง +0.5% นั้นมองว่า เป็นเครื่องมือในการดูแลตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นที่อาจมีแนวโน้มสูงขึ้นได้จากปัจจุบัน โดยตัวอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ในเดือนตุลาคมปีนี้ อยู่ที่ 3.7% แต่ยังถือว่าเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบสหรัฐฯ และยุโรป ที่มีตัวเลขเงินเฟ้อสูงถึงระดับ 6-8% 

 

ทั้งนี้ มองว่าการที่ BOJ ตัดสินใจเลือกใช้ Yield Curve Control ถือเป็นเครื่องมือที่มีความเหมาะกับสถานการณ์เงินเฟ้อของญี่ปุ่นที่ยังไม่ได้สูงมาก แต่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินในตลาดเงินของญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้น ส่งผลให้ภาวะการเงินตึงตัว หรือทำให้มีการชะลอการใช้เงินจากต้นทุนทางการเงินที่ขยับขึ้น

 

นอกจากนี้คาดว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำต่อไป เพราะตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นปัจจุบันยังไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงถึงขั้นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อมาสกัดเงินเฟ้อ ยกเว้นหากเงินเฟ้อของญี่ปุ่นปรับขึ้นไปแตะระดับ 6-8% ก็มีแนวโน้มที่จะเห็น BOJ ปรับนโยบายดอกเบี้ยได้ในอนาคต

 

“BOJ เลือกใช้ Yield Curve Control ถือว่าเป็นมาตรการที่เบาที่สุดในการดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งก็ถือว่าเหมาะกับญี่ปุ่น เพราะตัวเลขยังไม่ได้สูงมาก แต่กำลังจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการเบาที่สุด แต่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายในระยะสั้น หากเห็นว่าเงินเฟ้อเริ่มลดลงแล้วก็สามารถเปลี่ยนนโยบายได้ทันที ไม่เหมือนการใช้นโยบายดอกเบี้ยที่เป็นเครื่องมือดูแลเงินเฟ้อระยะยาว การปรับเปลี่ยนต้องใช้เวลา มองว่ายังไม่เหมาะกับตัวเลขเงินของญี่ปุ่นที่ยังไม่ได้สูงมาก”

 

สำหรับผลกระทบของ Yield Curve Control ของ BOJ ประเมินว่า จะมีผลกระทบหลักเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก เพราะจะทำให้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่นำไปเงินลงทุนในต่างประเทศโยกเงินกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนจากพันธบัตรสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเยนมีโอกาสแข็งขึ้นในระยะสั้นเมื่อเปรียบเทียบเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า 

 

ทั้งนี้ การย้ายเงินลงทุนออกจากเงินดอลลาร์เข้าไปเก็งกำไรระยะสั้นในทองคำและน้ำมันดิบ ทำให้ราคาของทั้งสองสินทรัพย์ดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) ตลาดหุ้นไทย

 

“ผลกระทบของ Yield Curve Control ทำให้ค่าเงินเยนเริ่มมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ผลกระทบที่ตามมาคือ ภาคท่องเที่ยวของญี่ปุ่นอาจทำให้ดุลบริการขาดดุล ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ดังนั้นญี่ปุ่นคงต้องเลือกชั่งน้ำหนักว่าจะดูแลเรื่องเงินเฟ้อหรือเลือกเศรษฐกิจ” เผดิมภพกล่าว 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X