×

‘เงินเยน’ อ่อนค่าเทียบดอลลาร์สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี ส่งผลกระทบอย่างไรกับดินแดนซามูไรบ้าง?

20.04.2022
  • LOADING...
เงินเยน

ญี่ปุ่น นอกจากจะเป็นประเทศที่หลายคนนิยมไปท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่เคยได้ชื่อว่าเป็น Safe Haven สำหรับนักลงทุน แม้จะมีหนี้ต่อ GDP ที่สูงถึง 267% แต่เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของญี่ปุ่นยังทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในดินแดนซามูไรเสมอ

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเงินเยนได้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเช้าวันนี้ (20 เมษายน) เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 129 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าลงมาแล้วราว 11% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา 

 

นอกจากนี้ค่าเงินเยนในระดับดังกล่าว ยังถือเป็นการทำสถิติอ่อนค่าสุด (เทียบเงินดอลลาร์) ในรอบ 20 ปี นับจากปี 2002 ขณะที่มีแนวโน้มว่าจะยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนมีการคาดการณ์ว่าค่าเงินเยนอาจอ่อนตัวลงทะลุ 130 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นไปบ้าง

 

แล้วอะไรที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลง? 

 

ปัจจัยแรก เป็นเรื่องของอัตตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ ในขณะที่ BOJ หรือธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำไว้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายทิ้งเงินเยนไปถือดอลลาร์แทน

 

โดยปัจจุบันส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ต่างกันมากถึง 2.55% ซึ่งหาก Fed ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ อาจทำให้ส่วนต่างถ่างกว้างขึ้นเป็น 4-5% ได้เลยทีเดียว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่นักลงทุนจะเทขายเงินเยนออกมาอย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจัยที่สองเป็นเรื่องแรงกดดันจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากเหตุการณ์การสู้รบในยูเครน โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการนำเข้าพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งจากค่าเงินที่อ่อนตัวลงทำให้ค่าใช้จ่ายของญี่ปุ่นสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนสร้างแรงกดดันของค่าเงินเยนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นปัญหาหลักให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องเจอกับราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น

 

เยนอ่อนไม่ช่วยส่งออก

 

โดยทั่วไปแล้วค่าเงินที่อ่อนตัวลงมักจะส่งผลบวกกับภาคส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ แต่ค่าเงินเยนที่อ่อนลงในครั้งนี้อาจไม่ใช่เรื่องดีกับญี่ปุ่นสักเท่าไรนัก เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นมีการหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด 

 

ข้อมูลเชิงสถิติชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นได้มีการลดจำนวนการผลิตยานยนต์ในประเทศจาก 8.33 ล้านคันในปี 2019 เหลือเพียง 6.96 ล้านคัน ในปี 2020 โดยเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นมากกว่า ทำให้การอ่อนค่าของเงินเยนในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลบวกต่อการส่งออกของญี่ปุ่นมากนัก 

 

ขณะเดียวกัน ยังต้องเข้าใจอีกว่าผลกระทบจากโควิดทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในญี่ปุ่นลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวสูงสุดประเทศหนึ่งของโลก โดยผลกระทบจากโควิดทำให้ในปี 2021 จำนวนนักท่องเที่ยวในญี่ปุ่นลดลงเหลือเพียงแค่ราว 5 แสนคนเท่านั้น 

 

ดังนั้นค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงในครั้งนี้จึงไม่ได้เกื้อหนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นทั้งในด้านการส่งออกและท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ 

 

ต้นทุนการนำเข้าพุ่งสวนทาง

 

ล่าสุด ชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นได้ออกมาระบุว่า ค่าเงินเยนอาจอ่อนค่าไปได้จนถึง 130 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าสูง

 

โดยข้อมูลเชิงสถิติในอดีตแสดงให้เห็นว่าในปี 2020 GDP ของญี่ปุ่น ‘ติดลบ’ ไปถึง 4.59% จากผลกระทบของโควิดและราคาวัตถุดิบนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ในปีดังกล่าวญี่ปุ่นได้มีการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมถึง 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวน 3.14 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสามารถคิดได้เป็น 12.01% ต่อ GDP

 

หากนำผลกระทบดังกล่าวมาเทียบเคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ราคาน้ำมันโลกกำลังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่านี่คงไม่ใช่ภาพเศรษฐกิจที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการให้เกิดขึ้น เพราะยิ่งค่าเงินของประเทศอ่อนค่าลงก็จะยิ่งทำให้ญี่ปุ่นต้องเพิ่มราคาสินค้าส่งออกจากแรงกดดันของราคาวัตถุดิบนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นเสียความสามารถในการแข่งขัน

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเสี่ยงชะลอตัว

 

ขณะที่ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้ออกมาเตือนเช่นกันว่า การอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของสกุลเงินเยนในรอบ 45 วันที่ผ่านมา เป็นการอ่อนค่าในระดับที่รุนแรงกว่าที่ BOJ ได้คาดการณ์ไว้ โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบด้านลบที่รุนแรงกับเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริษัทเอกชนที่อาจต้องเผชิญความยากลำบากในการวางแผนธุรกิจระยะยาว นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจฟื้นตัวช้าที่กว่าที่คาดไว้

 

เพื่อไม่ให้การอ่อนค่าของเงินเยนส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการช่วยเหลือ หรือ Stimulus Package เพื่อดูแลปัญหานี้อย่างเร่งด่วนเป็นจำนวนเงินราว 4.51 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยแบ่งการช่วยเหลือออกเป็นสองเฟส ในครึ่งปีแรกจะเป็นการช่วยเหลือผ่านธนาคารกลางของญี่ปุ่น และในครึ่งปีหลังจะเป็นความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง 

 

โทรุ ซูเอฮิโระ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Daiwa Securities ประเมินว่า มาตรการช่วยเหลือเหล่านี้จะช่วยให้รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถคงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ที่ 3.4% ในปีนี้ และ 1.1%ในปีถัดไป

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising