×

จัดพอร์ตรับคลื่นลูกสุดท้ายของปี ลงทุนสินทรัพย์อะไรดีสุด

13.10.2021
  • LOADING...
ลงทุนสินทรัพย์

เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีแล้วละครับ ปีนี้ต้องถือว่าเป็นปีแห่งความผันผวน งุนงง สับสน มีจุดหักเห ที่มีผลต่อการลงทุน เกิดขึ้นได้ทุกไตรมาส โดยมีปัจจัยที่คาดการณ์ไม่ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการของโควิด ภาวะเศรษฐกิจช่วงโควิด การใช้ QE และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ลากกันมาจนถึงการเปลี่ยนมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังจะมา รวมทั้งแผนการลด QE ของ Fed ณ จุดนี้ จึงอาจจะสรุปได้ว่าเข็มทิศการลงทุน เริ่มสั้นๆ เราลองมาดูกันว่าจะทำให้ทิศทางในการปรับพอร์ตจะเป็นอย่างไร แต่ก่อนอื่นผมขอสรุปภาพเรื่องราวในเดือนที่ผ่านมาก่อน เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจภาพการลงทุนในช่วงที่เหลือ เนื่องจากถัดจากนี้ไปนโยบายการเงินจะเริ่มมีผลต่อตลาดหุ้นและเศรษฐกิจโดยรวมครับ 

 

ภาพตลาดในเดือนที่ผ่านมาเริ่มกังวลมากขึ้น หลังจากที่ประธาน Fed ส่งสัญญาณว่าจะเริ่มลด QE ภายในปีนี้ และจะทำจบในช่วงกลางปี 2565 อีกทั้ง Dot Plot ในเดือนกันยายนบ่งชี้ว่า Fed อาจเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในปี 2565 ทำให้ตลาดกังวลใจ เพราะเมื่อเทียบกับปี 2014 Fed ใช้เวลาถึง 9 เดือนในการลด QE จากเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจนจบ ขณะที่รอบนี้ Fed จะใช้เวลาสั้นกว่าในการลด QE ครั้งนี้ที่ปัจจุบันทำอยู่ที่เดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ตลาดการลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นทั่วโลกปรับฐาน โดยดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวลง กว่าร้อยละ 3 ในขณะที่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหร้ฐฯ พันธบัตรอายุ 10 ปี ผลตอบแทนปรับตัวขึ้นกว่า 20bps. หรือร้อยละ 0.2 เป็น ร้อยละ1.50 ต่อปี ส่วนค่าเงินสหรัฐฯ ได้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.8 และราคาทองคำร่วงลง ร้อยละ 3.6 สำหรับตลาดหุ้นไทยเดือนกันยายน ปรับตัวลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.4 แต่พันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปีของไทย ปรับตัวขึ้นแรงกว่าสหรัฐอเมริกา โดยปรับขึ้นถึง 30bps. หรือร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 1.89 เพราะรัฐบาลมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 60 เป็น 70 ทำให้มีแรงขายพันธบัตรและตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติกว่า 29,559 ล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่ากว่าร้อยละ 4.9

 

ในเดือนตุลาคมนี้ประเด็นที่เราต้องจับตามองการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจากวิกฤตโควิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในแถบบ้านเราซึ่งเพิ่งจะเริ่มคลายล็อกดาวน์ โดยเฉพาะประเทศไทย เราคงต้องมาติดตามแผนการ หรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในปีงบประมาณใหม่ หลังจากที่ได้มีการปรับเพิ่มระดับเพดานหนี้สาธารณะมาอยู่ที่ 70% ของ GDP ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยหลายๆ ฝ่ายประเมินว่าจะส่งผลบวกต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญคาดว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอาเซียน น่าจะมีทิศทางที่ดีกว่าในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ทำไมอาเซียนดูน่าสนใจกว่าประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศมีแนวโน้มการเติบโตที่จะเริ่มชะลอตัวลง โดยต้องจับตาการเข้ามาจัดระเบียบของรัฐบาลจีนอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 

 

อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าสุดท้ายรัฐบาลจีนจะเข้ามาแทรกแซงและออกมาตรการผ่อนคลายเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้โตตามเป้าที่ไม่น้อยกว่า 6% ขณะที่ประเทศไทย การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะทำให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ยังคาดว่าจะรายงานกำไรเติบโตได้ดีในปีนี้และต่อเนื่องในปีหน้า 

 

การจัดพอร์ตการลงทุนในไตรมาสนี้ เน้นลงหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 50 โดยกระจายอยู่ในหุ้นไทย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ในสัดส่วนเท่าๆ กันเราให้น้ำหนักการลงทุนตราสารหนี้ ไม่เกินร้อยละ 30 เนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะค่อยๆ เข้มงวดขึ้น จนถึงการเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงปลายปีหน้า 

 

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มตราสารหนี้ นอกเหนือจากตราสารหนี้ระยะสั้นและตลาดเงินแล้ว ตราสารหนี้เอกชนในกลุ่ม Investment Grade ดูน่าสนใจมากกว่าพันธบัตรรัฐบาลจากวัฏจักรเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงการขยายตัวส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ 

 

ส่วนประเภทสินทรัพย์ทางเลือก เราเลือกลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ รีท ประมาณร้อยละ 15 ส่วนน้ำมันกับทองคำมีมุมมองที่เป็นกลางคือร้อยละ 0-5 เพราะราคาทองคำยังคงถูกกดดันต่อเนื่องจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น น้ำมันก็เช่นกัน เนื่องจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งและอุปทานที่ตึงตัวในระยะสั้นจะยังช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ Brent ให้ทรงตัวอยู่ในระดับสูง 75-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้ แต่มีโอกาสน้อยมากที่ราคาน้ำมันจะทะลุระดับ 85 ดอลลาร์ไปได้ 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising