×
SCB Omnibus Fund 2024

‘สีจิ้นผิง’ เดินหน้าหนุนจ้างงานเด็กจบใหม่ พร้อมลุยพัฒนาภาคเอกชนของประเทศ หวังเร่งฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด

10.06.2022
  • LOADING...
สีจิ้นผิง

ในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (8 มิถุนายน) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปฏิบัติตามกลยุทธ์การกำราบไวรัสโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) แบบไดนามิก พร้อมให้คำมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเรียกร้องให้มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะ เช่น การจ้างงานในเด็กจบใหม่ที่มากขึ้น 

 

คำกล่าวของผู้นำจีนครั้งนี้ มีขึ้นในช่วงเวลาที่สองเมืองใหญ่ของจีนคือ กรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้ สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่างๆ โดยเน้นที่การจัดการกับความท้าทายในเรื่องของการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยอีบิน (Yibin) และพบกับคนงานในบริษัทเทคโนโลยีในท้องถิ่น พร้อมยืนยันจุดยืนของรัฐบาลที่จะสนับสนุนตำแหน่งงานและค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ รวมถึงสวัสดิการที่ดีให้กับแรงงานเหล่านี้ 

 

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงยังเรียกร้องให้มีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพกับทุกฝ่ายในการควบคุมโควิดกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นับเป็นความพยายามอย่างเป็นทางการล่าสุดเพื่อเอาชนะความท้าทายที่เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ 

 

ด้านสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ประเด็นสำคัญของผู้นำจีนที่มีการพูดถึง ครอบคลุมถึงการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัย การพัฒนาภาคเอกชน และนวัตกรรมในท้องถิ่น

 

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งมองว่าคำพูดล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน ช่วยคลายความตึงเครียดที่เกิดจากการเมืองและการระบาดของโควิด พร้อมเชื่อว่า เศรษฐกิจจีนจะสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 

 

วันเดียวกัน ทางการจีนเปิดเผยรายงานตัวเลขการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ที่ยังแสดงให้เห็นการขยายตัวในอัตราที่เร็วขึ้นในเดือนพฤษภาคม แม้จีนจะเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด ตอกย้ำสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของจีนและยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐฯ ยังมีการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากจีน แม้ว่ารัฐบาลกรุงวอชิงตันจะพยายามตั้งข้อหาทางการเมืองเพื่อกีดกันจีนออกจากเวทีการค้าโลก 

 

บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า การเติบโตที่แข็งแกร่งของการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคมยังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยบวกในระยะสั้น เช่น การฟื้นตัวของยอดค้าปลีกในสหรัฐฯ ซึ่งผลักดันความต้องการสินค้าที่ผลิตในจีน

 

ทั้งนี้ ข้อมูลของศุลกากรจีนระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรก การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 12.9% เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปีสู่ระดับ 1.51 ล้านล้านหยวน และสูงขึ้น 12.6% เมื่อเทียบกับการเติบโตในช่วง 4 เดือนแรก ขณะที่การนำเข้าของจีนจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.1% เป็น 489,300 ล้านหยวนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม

 

ในช่วงเวลาดังกล่าว จีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่ 1.02 ล้านล้านหยวน หรือเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบเป็นรายปี และขยายตัวจาก 654,000 ล้านหยวนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ 

 

ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า ความแตกต่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นโครงสร้างการค้าของทั้งสองประเทศอย่างชัดเจน เนื่องจากสหรัฐฯ พึ่งพาสินค้าจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในชีวิตประจำวัน มากกว่าที่จีนพึ่งพาการนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีไฮเทค 

 

ขณะเดียวกัน กรมศุลกากรจีนยังได้เปิดเผยตัวเลขการค้าระหว่างจีนกับรัสเซียในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2022 นี้ว่า มีการเติบโตในอัตราที่เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากรัสเซียเร่งเปลี่ยนซัพพลายเชนไปยังเอเชีย ท่ามกลางการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ

 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดว่าการค้าระหว่างจีน-รัสเซียจะเกิน 150,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าภายใต้การแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของกรมศุลกากร การค้าทวิภาคีระหว่างจีน-รัสเซียอยู่ที่ 65,810 ล้านดอลลาร์ในช่วง 5 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 28.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี และมีอัตราการเติบโตเร่งขึ้น 25.9% ในช่วงมกราคม-เมษายน

 

นอกจากนี้ ในช่วง 5 เดือนแรก การนำเข้าของจีนจากรัสเซียในรูปดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น 46.5% จากปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจาก 37.8% ในช่วง 4 เดือนแรก แต่การเติบโตของการส่งออกลดลงจาก 11.3% ในช่วง 4 เดือนแรกเป็น 7.2%

 

โดยผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า การเติบโตทางการค้าเกิดขึ้นในขณะที่รัสเซียเร่งเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจมายังภูมิภาคเอเชีย ท่ามกลางการคว่ำบาตรจากตะวันตกที่ทวีความรุนแรงขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising