×

สีจิ้นผิง มาไทย…เพื่อแสดงบทบาทยืนหนึ่งผู้นําโลก

19.11.2022
  • LOADING...
สีจิ้นผิง

สีจิ้นผิง ใช้เวทีผู้นำ APEC ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทย แสดงความพร้อมกลับมา ‘ยืนหนึ่ง’ เป็นผู้นำโลก โดยเดินเกมเพิ่มบทบาทจีนในระดับโลกด้วยกลยุทธ์ ‘The World Needs China’ หลังจากที่จีนใช้นโยบาย Zero-COVID อย่างเข้มข้น คุมการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้ สีจิ้นผิง ไม่ได้เดินทางไปแสดงความเป็นผู้นำในการประชุมระดับโลกด้วยตัวเองแบบนี้มาหลายปีแล้ว 

 

การที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ไม่มาประชุมด้วยตัวเอง ด้วยเหตุผลว่าติดภารกิจส่วนตัวกับครอบครัว ถือเป็นการ ‘เปิดช่อง’ ให้ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน มีความโดดเด่นก้าวนำไปหนึ่งก้าว และเดินเกมขยายอิทธิพลบทบาทการเป็นผู้นำของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สีจิ้นผิง ใช้เวที APEC CEO Summit ที่ประเทศไทย เพื่อประกาศว่า “เอเชีย-แปซิฟิกไม่ใช่สนามหลังบ้านของใคร และไม่ควรถูกใช้เป็นสมรภูมิสำหรับการแข่งขันของมหาอำนาจ” 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


สีจิ้นผิง ต้องการบอกอะไรกับโลก รวมทั้งจะบอกอะไรกับปวงชนชาวจีน จากการเดินทางออกนอกประเทศนานถึง 6 วัน (ช่วงวันที่ 14-19 พฤศจิกายน) ไล่มาตั้งแต่การเข้าร่วมประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย ต่อด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่ประเทศไทย บทความนี้จะวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามสำคัญนี้

 

ประการแรก เพิ่มคะแนนนิยมในบ้าน สร้างความชาตินิยมให้ชาวจีน

จากสถานการณ์ภายในประเทศจีนที่ค่อนข้างอึมครึม ด้วยผลกระทบจากนโยบาย Zero-COVID ที่ตึงเกินไป ทำให้การใช้ชีวิตของคนจีนเริ่มมีความยากลำบากและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในของจีน ดังนั้นการมีภาพผู้นำสูงสุดของจีนที่โดดเด่นเหนือผู้นำชาติอื่นในสายตาชาวจีน ก็จะทำให้ชาวจีนได้ภาคภูมิใจกับภาพผู้นำของตนที่ถ่ายทอดไปทั่วโลก โดยเฉพาะชาวจีนมีความเป็นชาตินิยมสูงมาก สิ่งเหล่านี้จึงจะทำให้ สีจิ้นผิง ยังคงได้รับคะแนนนิยมจากชาวจีนต่อไป

 

โดยเฉพาะในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC สีจิ้นผิง ถือเป็นผู้นำ ‘หนึ่งเดียว’ ในบรรดา 3 ชาติมหาอำนาจหลักของโลก เพราะสหรัฐฯ และรัสเซียนั้นผู้นำไม่ได้มาเอง ส่งเพียงตัวแทนมาร่วมประชุมเท่านั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สีจิ้นผิง กลายเป็นผู้ที่ถูก ‘สปอตไลต์’ จับมากที่สุดบนเวทีประชุม APEC ปีนี้  


ในการเดินทางเยือนต่างแดนรอบนี้ สีจิ้นผิง ยังได้สร้างบารมีในฐานะผู้นำระดับโลก ชาวจีนได้รับชมภาพของผู้นำตนเองพบปะกับผู้นำของหลายประเทศ และมีการหารือในลักษณะทวิภาคีนอกรอบกับหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ รวมทั้งไทย ตารางงานของผู้นำจีนน่าจะแน่นที่สุดกว่าผู้นำคนอื่นในการเดินสายรอบนี้ และ สีจิ้นผิง ยังได้นำประสบการณ์ความสำเร็จของจีนขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่างๆ ด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ชาวจีนได้เป็นปลื้มและยังคงให้คะแนนนิยมกับผู้นำจีนที่ทรงอำนาจคนนี้ต่อไป

 

ประการที่สอง เดินเกมเพิ่มบทบาทผู้นำโลกด้วยกลยุทธ์ ‘The World Needs China’

การเดินสายออกนอกประเทศของ สีจิ้นผิง ในครั้งนี้ ทั้งการเข้าร่วมเวที APEC ที่กรุงเทพฯ และเวที G20 ที่บาหลี ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ หลังจากที่ สีจิ้นผิง ได้อยู่ในอำนาจเป็นผู้นำจีนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นวาระที่ 3 จึงถือเป็น ‘จังหวะเวลา’ ที่เหมาะสม สีจิ้นผิง ตั้งใจบอกกับทั้งโลกว่าจีนพร้อมที่จะแสดงพลังของจีนในระดับโลกอีกครั้ง และจีนจะทำให้ ‘โลกต้องการจีน’  

 

หากจำได้ สีจิ้นผิง ประกาศว่า The World Needs China ตั้งแต่วันแรกที่ได้ต่อวาระ 3 ในฐานะเบอร์ 1 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเป็นทางการ และเป็นวันเปิดตัวสมาชิกถาวรกรมการเมืองชุดใหม่ 7 คนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย ในวันที่ 23 ตุลาคม 2565 ที่ สีจิ้นผิง ได้ประกาศสิ่งนี้ จึงเป็นเสมือนคำสัญญาและภารกิจสำคัญของผู้นำจีนคนนี้ที่จะทำให้โลกต้องการจีน  

 

ความมุ่งมั่นในการทำให้โลกต้องพึ่งพาจีนของ สีจิ้นผิง ยังสอดคล้องกับโมเดล ‘เศรษฐกิจวงจรคู่’ (Dual Circulation Model) จีนจะเน้นทั้ง ‘การหมุนเวียนภายใน’ คือจีนจะลดพึ่งพาโลก พร้อมๆ กับ ‘การหมุนเวียนภายนอก’ คือการดึงให้โลกต้องพึ่งพาจีน ดังนั้นประเด็นทำให้โลกต้องการจีนเป็นสิ่งที่ สีจิ้นผิง ตอกย้ำอย่างหนักแน่นในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และแสดงให้ชาวจีนและพรรคคอมมิวนิสต์ได้ประจักษ์ จากการเดินทางไปแสดงพลังความเป็นผู้นำของจีนบนเวทีการประชุม G20 และเวทีผู้นำ APEC ในรอบนี้นั่นเอง 

 

จีนมองเวที APEC สำคัญอย่างไร

กลุ่ม APEC มีความสำคัญสำหรับจีนในแง่การเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งแรกที่จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิก นับตั้งแต่ที่จีนได้เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศในปี 1979 จีนใช้เวลาก่อร่างสร้างตัวเพื่อให้พร้อมเข้าร่วมเวทีเศรษฐกิจระดับสากล จนกระทั่งในปี 1991 จีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม APEC เป็นเวทีแรกอย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กับจีนฮ่องกงและจีนไทเป และที่ผ่านมา สีจิ้นผิง จะเข้าร่วมประชุมผู้นำ APEC ด้วยตัวเองมาโดยตลอด (ยกเว้นในช่วงเกือบ 3 ปีที่มีปัญหาการระบาดของโควิด) 

 

นอกจากนี้เวที APEC ยังเป็นกลุ่มที่เน้นด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะ สีจิ้นผิง จึงต้องการใช้เวทีนี้เพื่อผลักดันประเด็นด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่จีนได้ริเริ่มไว้คือ แผนริเริ่มการพัฒนาโลก หรือ Global Development Initiative (GDI) 

 

สีจิ้นผิง ประกาศแผนริเริ่ม GDI เป็นครั้งแรกที่สหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2021 เพื่อต้องการให้ GDI เป็นวาระระดับโลก และบอกกับทั้งโลกว่า จีนจะใช้ ‘ภูมิปัญญาจีน’ ในการช่วยผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาของโลก และจะแบ่งปันประสบการณ์ของจีนในการเป็นตัวอย่างเพื่อพัฒนาประเทศอื่นๆ 

 

จีนจริงจังกับแผนริเริ่ม GDI 

สีจิ้นผิง ผลักดันแผนริเริ่ม GDI อย่างจริงจังมาโดยตลอด จึงต้องการใช้เวทีการประชุม APEC ในประเทศไทย เพื่อแสดงบทบาทผู้นำตัวจริงระดับโลกด้วยการตอกย้ำความสำคัญของแผนริเริ่ม GDI และถือเป็นการต่อยอดยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ที่จีนผลักดันมานานนับสิบปีแล้ว สีจิ้นผิง ใช้เวที APEC ในการประกาศว่า “จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3 ในปีหน้า เพื่ออัดฉีดแรงผลักดันใหม่ๆ ในการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของเอเชีย-แปซิฟิกและโลก”

 

หากย้อนไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 จีนได้ริเริ่มตั้ง Group of Friends ในกรอบ GDI โดยมีมากกว่า 50 ประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง (รวมทั้งประเทศไทย) ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2022 สีจิ้นผิง ยังได้ประกาศตั้งกองทุน Global Development and South-South Cooperation มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ เพื่อดึงให้ประเทศต่างๆ มาร่วมมือกับจีนด้วย (คล้ายกับที่จีนเคยประกาศตั้งกองทุน Silk Road Fund ภายใต้ BRI)  

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแผนริเริ่ม GDI ยังคงคลุมเครือและไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง มีเพียงแค่การตั้งเป้าหมาย GDI ไว้หลวมๆ เช่น เพื่อรื้อฟื้นความร่วมมือระดับโลกตาม UN 2030 Agenda for Sustainable Development ที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs 17 ประการ ดังนั้นจึงคาดว่านับจากนี้น่าจะมีการผลักดัน GDI อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งการผลักดันแผนริเริ่มความมั่นคงของโลก (Global Security Initiative: GSI) สีจิ้นผิง ได้เริ่มประกาศแผน GSI ไว้ตั้งแต่เมษายน 2022 เช่นกัน

 

เป้าหมายของจีน…ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ‘อาเซียน’ ก็สำคัญในสายตาจีน  

ในการเดินทางมาภูมิภาคอาเซียนของ สีจิ้นผิง ครั้งนี้ยังได้สะท้อนความสำคัญกับกลุ่มอาเซียนในสายตาจีน ล่าสุดอาเซียนก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน และเป็นตลาดเป้าหมายหลักของจีน ด้วยประชากรอาเซียนรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน และมีประชากรเน็ตในอาเซียน หรือ Netizen ที่ใช้ชีวิตแบบดิจิทัลไลฟ์สไตล์ มีกำลังซื้อสินค้าออนไลน์ สอดคล้องกับเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่จีนให้ความสำคัญ และมีกลุ่มบิ๊กเทคของจีนที่เติบโตติดอันดับโลก นอกจากนี้อาเซียนยังตอบโจทย์จีนในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญหลายอย่างที่จีนต้องการ อาเซียนยังเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของจีน

 

ดังนั้นไม่ว่าจะมองจากมุมไหน อาเซียนก็มีความสำคัญในสายตาจีนและสายตาผู้นำทั่วโลก และในครั้งนี้ถือเป็นจังหวะเวลาที่ดีที่มีการจัดประชุมสำคัญหลายวงในภูมิภาคอาเซียน ผู้นำจีนและผู้นำทั่วโลกเดินทางมาร่วมประชุมในภูมิภาคอาเซียนหลังจากโควิดระบาดมาหลายปี ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ผู้นำแต่ละประเทศได้มาพบปะหารือกันด้วย

 

สีจิ้นผิง มาไทย มีอะไรเป็นรูปธรรมบ้าง 

สำหรับการเยือนไทยของ สีจิ้นผิง นอกจากจะมาเข้าร่วมประชุมเวทีผู้นำ APEC แล้ว ยังมีวาระสำคัญในการหารือข้อราชการกับรัฐบาลไทยระดับทวิภาคีในวันที่ 19 พฤศจิกายน โดยมีการออกเอกสารถ้อยแถลงร่วมฯ ระหว่างไทย-จีน ซึ่งมีประเด็นที่ครอบคลุมหลากหลาย 

 

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญกว่าคือความจริงจังในการร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่เขียนไว้ในกระดาษหรือพูดลอยๆ แม้ว่าจะมีหลายเรื่องและหลายประเด็นสำคัญที่มีการระบุในเอกสารแล้ว เช่น การร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงปัญหา ‘ทุนสีเทา / สีดำ’ แต่ประเด็นอ่อนไหวทั้งหมดนี้ต้องมีการจัดการแก้ปัญหาให้จบอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ เพราะหากปล่อยไว้ยืดเยื้ออาจกลายเป็นปัญหา ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ของความสัมพันธ์ไทย-จีนก็เป็นได้

 

นอกจากนี้เอกสารถ้อยแถลงร่วมฯ ระหว่างไทย-จีนยังมีแผนที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น การมุ่งสู่ Green Technology ส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV ซึ่งสอดคล้องกับโมเดล BCG ของรัฐบาลไทย 

 

ในแง่ทิศทางเศรษฐกิจไทย-จีนหลังการเยือนของ สีจิ้นผิง สิ่งหนึ่งที่น่าจะมีความชัดเจนมากที่สุดคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV โดยที่ทุนจีนหลายรายได้เลือกแล้วที่จะให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ของจีนในภูมิภาคนี้ เพราะมองเห็นศักยภาพของไทยในการเป็นฐานการผลิตยนต์ไฟฟ้า EV อย่างครบวงจรของภูมิภาค ขณะที่ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า EV ระดับโลกของจีน อย่างเช่น กลุ่ม BYD ก็มาลงทุนในไทยแล้ว ล่าสุด BYD ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 2 ของโลก สำหรับค่ายรถยนต์ไฟฟ้า EV จากจีนรายอื่นที่ได้มาลงทุนในเมืองไทยแล้ว ได้แก่ ค่ายรถ MG และค่ายรถ Great Wall Motor โดยเฉพาะกลุ่ม Great Wall Motor เพิ่งประกาศเพิ่มการลงทุนในไทยเป็น 2 เท่า เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและพัฒนาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV อย่างครบวงจรในภูมิภาคนี้ต่อไป

 

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า จีนเลือกแล้วที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยด้วยเช่นกัน ฝ่ายจีนควรต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยด้วย ไม่ใช่มีแค่เม็ดเงินลงทุนเข้ามาหรือมีแค่การจ้างงานในไทยที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นนะคะ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising