ทั่วโลกต่างกำลังจับตาทริปเดินทางเยือนต่างประเทศของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (20 มีนาคม) เพราะนี่จะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำพญามังกรเดินทางเยือนรัสเซีย เพื่อเข้าพบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน นับตั้งแต่ที่สงครามยูเครนเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022
ด้วยรายละเอียดที่มีการเปิดเผยออกมาเพียงน้อยนิด ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์สถานการณ์กันไปต่างๆ นานา ว่าผู้นำจีนและรัสเซียมีวัตถุประสงค์เช่นไรกันแน่ในการพบปะกันครั้งนี้ โดยฝั่งตะวันตกกังวลว่า นี่อาจเป็นสัญญาณที่กำลังตอกย้ำว่าจีนอยู่ระหว่างพิจารณาจัดส่งอาวุธให้รัสเซียตามที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า นี่คือความต้องการของสีจิ้นผิงที่จะเดินหน้าเล่นบทบาท ‘กาวใจ’ ยุติความขัดแย้งระหว่างสองชาติ ควบคู่ไปกับการกระชับความสัมพันธ์กับมหามิตรอย่างรัสเซีย เข้าตำรายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว หลังจากที่จีนเพิ่งประสบความสำเร็จในการเป็นตัวกลางผลักดันให้สองประเทศคู่แค้นอย่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตได้สำเร็จเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นไร สิ่งที่ชัดเจนและแน่นอนที่สุดคือ การพบปะกันครั้งนี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ของสีจิ้นผิงและปูตินให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ดังที่พวกเขาเคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า รัสเซียและจีนคือพันธมิตรที่ไร้ขีดจำกัด มหามิตรที่พร้อมช่วยเหลือกันในยามยาก
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนหมากทางการทูตของจีนแต่ละย่างก้าวก็ต้องผ่านการคิดตรึกตรองอย่างรอบคอบก่อนที่จะลงมือ เพราะหากขยับหมากผิดทิศ ก็อาจทำให้จีนมีสถานะเป็นปรปักษ์กับชาติตะวันตกอย่างเต็มตัว นั่นเป็นสิ่งที่จีนเองก็อยากหลีกเลี่ยง เพราะถึงแม้ทั้งสองฝ่ายจะมีการปะทะคารมกันอยู่เป็นระยะ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด แหล่งรายได้สำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของจีนเอาไว้
จีนกับบทบาทผู้ส่งออกสันติภาพให้กับโลก
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจีนเพิ่งจะประสบความสำเร็จในการประสานรอยร้าวให้กับประเทศคู่กัดอย่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียได้สำเร็จ ในเวลานี้ ผู้กำหนดนโยบายของจีนจึงหันไปยังเป้าหมายใหม่ คือการเป็นตัวกลางในการลดความบาดหมางระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งหากทำได้จริงก็จะส่งผลให้จีนได้ภาพลักษณ์ของการเป็นพระเอกขี่ม้าขาวผู้ส่งออกสันติภาพให้กับโลก
จีนได้ปูทางเรื่องนี้ไว้แล้วตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการประกาศแผนสันติภาพ 12 ประการที่เรียกร้องให้ยูเครนและรัสเซียถอยคนละก้าวเพื่อคลี่คลายวิกฤตที่เกิดขึ้น ในเวลานั้น ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ก็แสดงเจตจำนงที่จะพูดคุยกับสีจิ้นผิงเกี่ยวกับสูตรสันติภาพฉบับนี้ ขณะที่มีหลายสื่อรายงานตรงกันว่า สีจิ้นผิงเตรียมยกหูหารือผู้นำยูเครนหลังปิดฉากทริปเดินทางเยือนมอสโกด้วย
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (16 มีนาคม) ฉินกัง นักการทูตอาวุโสของจีน ได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครนว่า จีนหวังว่าทุกฝ่ายจะอยู่ในความสงบ ใช้หลักเหตุผล อดทนอดกลั้น และกลับมาเจรจาสันติภาพโดยเร็วที่สุด สอดคล้องกับคำกล่าวของหวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า คีย์สำคัญของทริปนี้คือ ‘การเดินทางแห่งมิตรภาพ’ ‘ความร่วมมือ’ และ ‘สันติภาพ’ แม้จะไม่ได้พูดชื่อของยูเครนขึ้นมาก็ตาม
พันธมิตร ‘ไร้ขีดจำกัด’ ทำชาติตะวันตกกังขา
ในช่วงเวลาที่ถนนทุกสายมุ่งหน้ามาสู่จีน ด้วยความหวังที่จะให้มหาอำนาจแห่งเอเชียรับบทตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง แต่ชาติตะวันตกยังคงไม่วางใจ ด้วยเหตุที่ว่าจีนปฏิเสธที่จะประณามรัสเซียมาโดยตลอด อีกทั้งยังทำตัวเสมือนเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับรัสเซียที่โดนชาติอื่นๆ คว่ำบาตรอย่างหนัก
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หรือก่อนที่สงครามยูเครนจะเปิดฉากขึ้นเพียงไม่กี่วัน จีนและรัสเซียได้ประกาศว่าทั้งสองชาติเป็น ‘หุ้นส่วนที่ไร้ขีดจำกัด’ (No Limits Partnership) หลังจากที่ปูตินได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมในพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาว
แม้จีนจะออกตัวขอให้สองฝ่ายยุติการสู้รบนับตั้งแต่ที่สงครามเริ่มต้นขึ้น แต่หากตีความจากท่าทีที่ผ่านมาของจีนนั้น ส่วนหนึ่งก็ดูเหมือนว่าจีนจะยอมรับแนวคิดของรัสเซียที่ว่า NATO ได้รุกคืบแผ่ขยายอำนาจมาทางตะวันออกมากขึ้นจนเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย และชาติพันธมิตรของยูเครนก็เป็นฝ่ายที่ราดน้ำมันลงกองไฟด้วยการส่งรถถังและอาวุธจำนวนมาก จนทำให้สเกลของสงครามนั้นทวีความรุนแรงมากไปกว่าเดิม
ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่ที่ปูตินตัดสินใจเปิดฉากสงครามในยูเครน หลายๆ ชาติก็ตีตัวออกหากเพราะไม่อยากข้องเกี่ยวในสงครามนี้ด้วย ทำให้การนำเข้าและจัดหาอาวุธหนักและเครื่องกระสุนต่างๆ เพื่อมาใช้ในปฏิบัติการทางทหารนั้นเป็นไปได้ยากกว่าเดิม
ที่ผ่านมานั้นจีนปฏิเสธที่จะส่งอาวุธพิฆาตให้กับรัสเซีย แต่ก็ให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านภาคการค้า ทำให้รัสเซียมีสายป่านยาวพอที่จะทำสงครามต่อไป สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาติตะวันตกอดกังวลไม่ได้ว่า หากจีนเปลี่ยนใจไม่สร้างภาพลักษณ์ผู้ส่งออกสันติภาพอย่างที่คาดการณ์ไว้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าเวทีการประชุมที่จะเปิดฉากขึ้นนี้อาจพลิกกลับเป็นการประกาศข้อตกลงสนับสนุนอาวุธให้แก่กัน ตามที่ข้อมูลข่าวกรองของชาติตะวันตกระบุว่า จีนอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะส่งอาวุธให้รัสเซีย แม้จีนจะออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวแล้วก็ตาม
ขณะเดียวกัน ความคิดเห็นล่าสุดของฉินกังยังทำให้กระแสความหวาดวิตกรุนแรงขึ้นด้วย โดยฉินกังเคยกล่าวว่า สหรัฐฯ ‘เจ้าเล่ห์’ ที่ทำเป็นเตือนจีนไม่ให้ส่งอาวุธให้รัสเซีย แต่รัฐบาลของไบเดนเองกลับส่งอาวุธให้ไต้หวันเสียเอง
แน่นอนว่าสหรัฐฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับความเป็นไปได้ดังกล่าว โดย เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ เองก็กำลังจับตาดูประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพราะชัดเจนว่ารัสเซียเองก็มีความต้องการที่จะดึงชาติอื่นๆ เข้ามาสู่วงความขัดแย้งด้วยหากทำได้
ซามูเอล รามานี (Samuel Ramani) ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า “แน่นอนว่าจีนต้องการให้ดูเหมือนว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการทูตที่เป็นกลางและไม่ลำเอียง แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่”
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าสีจิ้นผิงจะเดินทางเยือนรัสเซียเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 มีนาคม) ก็มีอีกหนึ่งข่าวใหญ่ช็อกโลกเกิดขึ้น เมื่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายจับปูติน ในฐานะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมสงคราม หลังมีเด็กๆ ชาวยูเครนหลายพันคนถูกเนรเทศและบังคับโยกย้ายถิ่นฐานไปยังรัสเซียอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การประกาศของ ICC ทำให้ฝั่งของเครมลินโกรธเกรี้ยวอย่างมาก โดยโต้แย้งว่านั่นคือโครงการด้านมนุษยธรรมที่มุ่งช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กที่ถูกทอดทิ้งในพื้นที่ความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม จีนปิดปากเงียบไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับการออกหมายจับดังกล่าว โดยทั้งรัสเซียและจีนต่างไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICC
จับตาหลังม่านการประชุม
เหลือแค่อีกไม่กี่ชั่วโมง สีจิ้นผิงก็จะบินลัดฟ้าสู่กรุงมอสโกแล้ว โดยถือเป็นทริปเยือนต่างประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เขารับตำแหน่งประธานาธิบดีจีน สมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการ ทว่ารายละเอียดเกี่ยวกับหัวข้อของการพูดคุยของทั้งสองผู้นำนั้นกลับถูกเปิดเผยออกมาน้อยมาก
สำหรับกำหนดการที่ทางเครมลินเปิดเผยออกมามีแค่เพียงว่า ผู้นำทั้งสองจะพูดคุยกันแบบตัวต่อตัว และรับประทานอาหารร่วมกันในวันพรุ่งนี้ หลังจากนั้นจะมีการจัดการเจรจาเพิ่มเติมและออกแถลงการณ์ในวันอังคาร (21 มีนาคม) ก่อนที่สีจิ้นผิงจะเดินทางกลับประเทศในวันพุธ แต่ที่น่าจับตาคือ เจ้าหน้าที่ของเครมลินระบุว่าทั้งสองผู้นำจะมีการลงนามใน ‘เอกสารสำคัญ’ ที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
สำหรับปูตินแล้ว การเดินทางเยือนของสีจิ้นผิงถือเป็นการแสดงความสนับสนุนจากพันธมิตรรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย หลังจากที่ระยะเวลาผ่านมาปีกว่า รัสเซียก็ยังไม่สามารถปิดเกมรบในประเทศเล็กกว่าอย่างยูเครนได้ ขณะที่กำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ร่อยหรอลงทุกขณะ ก่อนหน้านี้ปูตินเคยพยายามขอความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือและอิหร่านให้ช่วยส่งอาวุธและโดรนมาช่วยหนุน แต่นั่นก็ยังไม่พอ…เขายังคงต้องการมันเพิ่ม ทั้งอาวุธ เครื่องกระสุน รวมถึงโดรนจากจีน ซึ่งต้องจับตากันต่อไปว่า จีนจะยอมเปิดหน้าช่วยเหลือรัสเซียแบบตรงๆ หรือไม่
แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิเคราะห์มั่นใจคือ ไม่ว่าทั้งสองผู้นำจะปิดดีลพิเศษใดได้บ้างในการประชุมครั้งนี้ แต่ฝ่ายที่ได้เปรียบที่สุดก็คือสีจิ้นผิง ไม่ใช่ปูติน
นักการทูตของยุโรปคนหนึ่ง ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อต่อสาธารณะ ระบุว่า “เป็นที่ชัดเจนมาระยะหนึ่งแล้วว่ารัสเซียกลายเป็นพันธมิตรระดับรองของจีน แต่สงครามในยูเครนทำให้สิ่งนั้นชัดเจนขึ้น…ไม่ว่าสีจิ้นผิงจะให้อะไรเพื่อเป็นการสนับสนุนรัสเซีย จีนก็จะเป็นผู้กุมเงื่อนไขทั้งหมด”
ภาพ: Mikhail Svetlov / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/touting-friendship-peace-chinas-xi-takes-diplomatic-dance-isolated-russia-2023-03-18/
- https://edition.cnn.com/2023/03/18/europe/putin-xi-visit-what-to-expect-analysis-hnk-intl
- https://www.bbc.com/news/world-europe-64986486
- https://news.yahoo.com/putin-xi-usher-era-ties
- https://thehill.com/policy/defense/3906089-what-xi-and-putin-want-to-gain-from-their-joint-meeting/