×

สะท้อนมุมมองทั้งสองด้านของ ‘เขื่อนไซยะบุรี’ แหล่งพลังงานสำคัญแห่งใหม่หรือศัตรูร้ายแห่งลุ่มแม่น้ำโขง

30.10.2019
  • LOADING...
เขื่อนไซยะบุรี

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สืบเนื่องจากวันที่ 29 ตุลาคม 2562 มีการเปิดตัวเขื่อนไซยะบุรี ที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำโขง ประเทศลาว ท่ามกลางเครื่องหมายคำถามจากประชาชนจำนวนไม่น้อยว่าเขื่อนดังกล่าวมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร
  • บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ยกข้อดีของเขื่อนด้วยการบอกว่าเขื่อนไซยะบุรีจะสร้างประโยชน์ด้านพลังงานที่ดีให้ทั้งไทยและลาว โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่เป็นข่าว
  • ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มองถึงประเด็นของผลกระทบในมุมที่หลากหลาย โดยบอกว่าสิ่งที่จะได้รับผลกระทบประกอบด้วย ระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตอย่างสัตว์น้ำ และชาวบ้านที่ดำรงชีวิตอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขง

เมื่อวานนี้ (29 ตุลาคม) มีการรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศถึงกรณีการเปิดเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่างอย่าง ‘เขื่อนไซยะบุรี’

 

โดยผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ที่เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ช่วงปี 2553 ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 9 ปี ซึ่งเขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างทางกั้นแม่น้ำโขง แขวงไซยะบุรี ห่างจากแขวงหลวงพระบางประมาณ 80 กิโลเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดย 95% จะส่งออกให้กับไทย และส่วนที่เหลือสำหรับใช้ในลาว โดยส่วนที่จะขายให้กับไทยมีอัตราเฉลี่ยยูนิตละ 2 บาท 

 

มูลค่าโครงการของเขื่อนไซยะบุรีอยู่ที่ 4,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (134,876 ล้านบาท) โดย ซีเค พาวเวอร์ บริษัทในเครือของ ช.การช่าง บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทย และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากหลายธนาคารและสถาบันการเงินของไทยเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเขื่อนแห่งนี้ โดยประเด็นที่น่าสนใจคือการมาของเขื่อนไซยะบุรีแห่งนี้ได้สร้างข้อถกเถียงทางวิชาการไว้ไม่น้อย 

 

บ้างก็ว่าเขื่อนไซยะบุรีเต็มไปด้วยข้อดี เพราะเขื่อนแห่งนี้จะเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญในอนาคต ขณะที่บางส่วนก็มองสวนทาง โดยเชื่อว่าเขื่อนไซยะบุรีเต็มไปด้วยข้อเสีย โดยเฉพาะผลกระทบต่อชีวิตประชาชนแถบลุ่มแม่น้ำโขง ดังนั้นทางออกที่ดีของข้อพิพาทนี้คือการศึกษาผลดีและเสียไปพร้อมๆ กันว่าแต่ละมุมเป็นอย่างไร

 

เขื่อนไซยะบุรี

 

มองเขื่อนไซยะบุรีในมุมบวก แหล่งพลังงานไฟฟ้าสำคัญของภูมิภาค โครงการมั่นใจ ศึกษาผลกระทบดีแล้ว

สำหรับมุมบวกหรือด้านดีๆ จากการมาของเขื่อนไซยะบุรีแห่งนี้เป็นข้อมูลที่ได้จากเว็บไซต์บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ที่งัดจุดเด่นของเขื่อนโดยระบุว่าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีแห่งนี้ก่อสร้างในรูปแบบ Run-of-River ซึ่งมีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลออกจากโครงการ ดังนั้นจึงไม่มีการกักเก็บน้ำหรือเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง 

 

ดังนั้นปริมาณน้ำที่ไหลผ่านโครงการจะเป็นไปตามปริมาณน้ำตามธรรมชาติ เพราะไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหมือนเขื่อนประเภทกักเก็บที่มีอ่างเก็บน้ำทั่วๆ ไป ซึ่งการก่อสร้างจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นเฉพาะบริเวณที่ตั้งโครงการไปถึงตอนใต้ของเมืองหลวงพระบาง โดยมีระดับน้ำใกล้เคียงกับระดับน้ำสูงสุดในฤดูน้ำหลากตามธรรมชาติ ส่วนตอนล่างของแม่น้ำโขงจะมีระดับน้ำปกติตามธรรมชาติ

 

ต่อมาคือหน้าที่หลักของเขื่อนนี้อย่างกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีมีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 7,370 ล้านหน่วยต่อปี 

 

ภายในโรงไฟฟ้าจะมีกังหันน้ำผลิตไฟฟ้ารวม 7 ชุด แต่ละชุดมีกำลังการผลิต 175 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าส่งผ่านระบบส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ เพื่อเชื่อมโยงกับระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมีชุดกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าอีก 1 ชุด กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ที่จะผลิตและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ในลาว

 

เขื่อนไซยะบุรี

 

นอกจากนี้ยังมีการรองรับปัญหาที่ประชาชนหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดยแบ่งออกเป็นหลายๆ ด้านดังนี้ 

 

ทรัพยากรปลา: โครงการได้มีการออกแบบระบบทางปลาผ่านเพื่อลดผลกระทบที่อาจมีต่อปลาอพยพตามธรรมชาติ ระบบนี้ได้ออกแบบให้ปลาสามารถอพยพทวนน้ำและตามน้ำได้ตลอดทุกฤดูกาล รวมทั้งมีการจัดตั้งสถานีจัดการด้านทรัพยากรประมงสำหรับเพาะพันธุ์ปลา เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรปลาในแม่น้ำโขง

 

นอกจากนี้ยังได้เลือกใช้กังหันน้ำที่เป็นมิตรกับปลา ซึ่งปลาที่ผ่านกังหันน้ำจะมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่ากังหันน้ำผลิตไฟฟ้าแบบทั่วไป โดยกังหันที่ใช้ในโครงการมีจำนวนใบพัดน้อยและหมุนช้า ทำให้ปลาที่ผ่านเข้ามาสามารถผ่านออกไปได้อย่างปลอดภัย และมีโอกาสน้อยที่จะบาดเจ็บหรือตาย

 

เขื่อนไซยะบุรี

 

การระบายตะกอน: โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเป็นแบบ Run-of-River จึงไม่มีการเก็บกักตะกอน ดังนั้นโครงการจึงไม่มีผลกระทบต่อการระบายตะกอนและธาตุอาหารที่มากับกระแสน้ำ ซึ่งเน้นการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศวิทยาแหล่งน้ำธรรมชาติ 

 

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการระบายตะกอนท้องน้ำ ทางโครงการได้ออกแบบประตูระบายตะกอน (Low Level Outlet) สำหรับระบายตะกอนท้องน้ำโดยเฉพาะ

 

การเดินเรือ: แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญมากของภูมิภาค แต่ในช่วงฤดูแล้ง ลำน้ำโขงตอนใต้เมืองหลวงพระบางจนถึงที่ตั้งโครงการ ระดับน้ำจะต่ำ มีเกาะแก่งมากมาย เรือใหญ่ไม่สามารถผ่านได้ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีจึงออกแบบให้มีทางเดินเรือขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 700 เมตร เพื่อรองรับการคมนาคมและขนส่งทางเรือ สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาด 500 ตันได้ 2 ลำพร้อมกัน

 

เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ การคมนาคมทางน้ำจากหลวงพระบางจนถึงที่ตั้งโครงการจะเป็นไปได้อย่างสะดวกตลอดปี อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมด้านการค้า การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสังคมของอนุภาคลุ่มน้ำโขงโดยรวม

 

การกัดเซาะของตลิ่ง: เนื่องจากโครงการมีลักษณะเป็นแบบ Run-of-River จึงมีการปล่อยให้น้ำที่ไหลเข้าและออกมีปริมาณเท่ากันกับน้ำที่ไหลอยู่ในแม่น้ำโขงตามธรรมชาติทั้งในฤดูแล้งและฤดูน้ำหลาก

 

เมื่อโครงการดำเนินการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำด้านเหนือจะถูกรักษาให้มีระดับคงที่เพื่อหลีกเลี่ยงการกัดเซาะตลิ่ง อย่างไรก็ดี ในระยะแรกที่ระดับน้ำสูงขึ้นอาจมีผลกระทบต่อตลิ่งบ้างเล็กน้อย

 

เขื่อนไซยะบุรี

 

ศึกษาด้านลบของ ‘เขื่อนไซยะบุรี’

THE STANDARD ได้สัมภาษณ์ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลังเขื่อนไซยะบุรีเปิดทำการเป็นวันแรก

 

โดย ดร.ไชยณรงค์ เล่าให้ฟังว่าผลกระทบแรกที่ได้เห็นหลังจากเขื่อนสร้างเสร็จจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มีการเริ่มทดลองเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าและเริ่มควบคุมน้ำคือการขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำโขงที่ไม่เป็นไปตามกลไกธรรมชาติในแบบที่ควรจะเป็น และเป็นเหตุให้น้ำในลุ่มแม่น้ำโขงเริ่มแห้ง 

 

อีกหนึ่งผลกระทบที่ตามมาคือการทำให้วงจรชีวิตของสัตว์น้ำไม่มีระบบนิเวศที่ดีเหมือนเดิม และไม่ดีพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ในแม่น้ำโขงต่อไปเท่าสมัยก่อน จึงทำให้มีปลา กุ้ง และหอยจำนวนไม่น้อยที่รับมือกับผลกระทบนี้ไม่ทัน เช่น หนีปริมาณน้ำที่น้อยลงเพื่อไปอาศัยอยู่ในน้ำลึกไม่ทัน ส่งผลให้สัตว์น้ำเหล่านั้นอาจต้องตายค้างอยู่ตามหาดที่แห้งแล้งไปอย่างไม่จำเป็น

 

“ถึงตอนนี้มีสัตว์น้ำที่ตายไปแล้วไม่น้อย และกำลังจะเป็นผลกระทบที่รุนแรงต่อห่วงโซ่อาหารสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง เพราะส่วนใหญ่ปลาจำพวกนี้จะกินพืช ปะปนไปกับปลาที่กินเนื้อ ซึ่งปลาที่กินเนื้อก็จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ฉะนั้นปัจจัยแรกสุดคือปลาจำพวกหลังจะได้รับอาหารที่น้อยลง”

 

นอกจากนี้การที่ปริมาณน้ำลดลงยังเป็นการกระตุ้นให้ปลาจำนวนไม่น้อยต้องอพยพไปทางตอนบนของแม่น้ำ ซึ่งมีปริมาณน้ำที่มากพอจะมาหากินและมาวางไข่อยู่ต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังพบว่าปลาบางส่วนก็ยังอยู่ในภาวะหรือสถานการณ์ที่ไม่พร้อมวางไข่ บวกกับการที่ต้องเสี่ยงถูกชาวบ้านจับก่อนวัยอันควร ฉะนั้นปัญหาระยะยาวของเรื่องนี้อาจถึงขั้นที่ปลาบางสายพันธุ์จะสูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำโขง

 

เขื่อนไซยะบุรี

 

“ต่อมาคือเรื่องของต้นไม้หรือพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ป่าไคร้ หรือต้นไคร้ ที่ชาวบ้านมักเรียกติดปากว่าป่าน้ำท่วม (มีระบบนิเวศคล้ายกับป่าชายเลนพื้นที่ทะเล) ซึ่งปัจจุบันเริ่มไม่มีน้ำให้ท่วม เพราะปกติแล้วป่าเหล่านี้จะมีน้ำท่วมถึง 6 เดือน ทำให้ป่าเหล่านี้ไม่ตาย พอถึงหน้าแล้ง ป่าเหล่านี้ก็จะเขียวชอุ่มเหมือนเดิม โดยพื้นที่เหล่านี้มักเป็นที่อนุบาลของสัตว์น้ำในป่าเป็นส่วนใหญ่ แต่พอสถานการณ์น้ำเริ่มลดลงก็พบว่าป่าน้ำท่วมได้เสียหายไปแล้วกว่า 50% ของเขตแดนไทย-ลาว”

 

เมื่อระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อมาคือประชากรแถบลุ่มแม่น้ำโขงเองที่ปีนี้อาจจะมีปลาให้จับเยอะ แต่ปีหน้าอาจไม่มีให้จับเลยก็ได้ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่บึงกาฬ หนองคาย อาจจะวางเครื่องมือประมงไม่ได้ เนื่องจากน้ำแห้งจนไม่สามารถวางเครื่องมือประมงได้ ดังนั้นความมั่นคงทางด้านโภชนาการของประชาชนในพื้นที่จะถือเป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต 

 

นอกจากนี้ชุมชนสองฝั่งโขงยังต้องอาศัยใช้น้ำจากแม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำสายหลักในการทำน้ำประปาหรืออุปโภคบริโภค และการที่น้ำมีปริมาณลดลงทำให้ชาวบ้านบางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำไม่พอใช้ ชาวบ้านบางส่วนจำเป็นต้องต่อท่อลงกลางแม่น้ำให้ลึกกว่าเดิม เพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำที่พอใช้อย่างในปัจจุบัน

 

เขื่อนไซยะบุรี

 

อีกทั้งยังกระทบต่อเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้จากแม่น้ำโขง เมื่อการทำประมงไม่ได้ก็จะทำให้ไม่มีรายได้เข้ามา ซึ่งจะกระทบสุดๆ กับคนที่ใช้แม่น้ำโขงเป็นฐานทรัพยากร รวมถึงเมื่อถูกควบคุมน้ำจากเขื่อนจะส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวหรือหาดตามแม่น้ำหายไป ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการกระทบต่อภาพของเศรษฐกิจอยู่พอสมควร

 

“เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะเขื่อนไม่ได้คำนึงถึงการปล่อยน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ โดยสิ่งสำคัญก็คือหลังจากนี้มันจะเกิดภาวะน้ำแห้งแล้งและการผันผวนอย่างหนัก เพราะการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนขึ้นอยู่กับความต้องการผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะฉะนั้นการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีจะทำให้น้ำในแม่น้ำโขงขึ้นและลงอย่างรวดเร็ว ไม่เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ ดังนั้นวงจรชีวิตของสัตว์น้ำและระบบนิเวศจะได้รับผลกระทบจากตรงนี้ค่อนข้างรุนแรงมาก และอาจส่งผลให้วิถีชีวิตชาวบ้านต้องเปลี่ยนไปเลยก็ได้” ดร.ไชยณรงค์กล่าว

 

ในวันที่เขื่อนไซยะบุรีเริ่มเดินเครื่องเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งให้คนไทยจำนวนมากได้ใช้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจยังไม่ชัดเจนนัก แต่หลังจากนี้คงต้องจับตาดูต่อไปว่าสิ่งที่เราได้จากเขื่อนแห่งนี้จะคุ้มค่าไหมเมื่อเทียบกับสิ่งที่จะต้องสูญเสียไปในอนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอาจจะหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ รวมไปถึงวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

 

เขื่อนไซยะบุรี

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising