×

ทรัมป์คัมแบ็ก สงครามภาษี วิกฤตค่าครองชีพ: 10 ประเด็นร้อนเวทีโลก 2025

26.12.2024
  • LOADING...
เวทีโลก 2025

THE STANDARD พูดคุยกับ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง ถึงประเด็นร้อนที่น่าจับตามองบนเวทีโลก 2025 ทั้งที่เป็นประเด็นสืบเนื่องมาจากหลายปีก่อนหน้า รวมถึงประเด็นที่เป็นผลพวงมาจากชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เตรียมหวนคืนทำเนียบขาวอีกครั้งในช่วงต้นปี 2025 หลังได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดในช่วงปลายปี 2024

 

10 ประเด็นน่าจับตาบนเวทีโลก 2025 มีดังนี้

 

Brandon Bell / Pool via Reuters

 

1. การกลับมาของทรัมป์และประชานิยมปีกขวา

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ มองว่าปี 2025 เป็นปีที่น่าสนใจอย่างมาก โดยเริ่มบทสนทนาด้วยการกล่าวถึงปกนิตยสาร TIME ที่ยกให้ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็น ‘บุคคลแห่งปี’ (Person of the Year) พร้อมระบุว่า ชัยชนะของทรัมป์ไม่ได้เป็นเพียงชัยชนะของผู้นำทำเนียบขาว แต่ในทางการเมืองระหว่างประเทศ ผู้นำทำเนียบขาวยังมีมีนัยเกี่ยวพันกับการเมืองโลกที่อาจารย์มักจะเรียกเสมอว่าการเลือกตั้งสหรัฐคือ ‘การเลือกตั้งโลก’ และอาจจะจริงที่โลกผันผวนอยู่ก่อนที่ทรัมป์จะกลับมา แต่ทรัมป์จะทำให้ความผันผวนเหล่านั้นชัดเจนยิ่งขึ้น คำถามสำคัญที่ตามมาคือ อะไรจะเป็นความแปรปรวนที่เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายของทรัมป์ 

 

โจทย์ของทรัมป์ผูกโยงอยู่กับกระแส ‘ประชานิยมปีกขวา’ (Right-Wing Populism) หรือ ‘ขวาประชานิยม’ (Right Populism) โดยอาจารย์เน้นย้ำว่า ประชานิยมในโลกตะวันตกไม่ได้ใช้นิยามแบบในไทยหรือลาตินอเมริกา ไม่ได้มีนัยถึงนโยบายเศรษฐกิจเพื่อหาเสียงทางการเมือง แต่เป็นกระแสความคิดที่บ่งบอกถึงโจทย์ชุดใหม่ๆ ที่เริ่มเกิดขึ้น หรือเป็นปฏิกิริยาต่อความเปลี่ยนแปลง ทั้งบนเวทีการเมืองในบ้านของพวกเขาและเวทีการเมืองโลก 

 

กระแสปีกขวาที่น่าจับตามองในปี 2025 คงหนีไม่พ้น ‘การเลือกตั้งในเยอรมนี’ แต่ก่อนที่การเลือกตั้งจะเปิดคูหาขึ้น เราเห็น ‘การก่อการร้าย’ ที่เกิดขึ้นกับตลาดคริสต์มาสชื่อดังของเยอรมนี ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ชี้ว่า การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นมีนัยสำคัญมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา เนื่องจากครั้งนี้เกิดขึ้นใกล้ช่วงเลือกตั้งสำคัญ ซึ่งเท่ากับว่ามันไปผลักให้กระแสขวาจัดในเยอรมนี รวมถึงยุโรปประเทศอื่นๆ ขับเคลื่อนได้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือ นี่อาจเป็นโอกาสของ ‘พรรคทางเลือกเยอรมนี’ (Alternative für Deutschland: AfD) ให้มีเสียงในสภามากขึ้น โดยการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคฝ่ายขวาอย่าง AfD ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

 

นอกจากเยอรมนีแล้ว กระแสประชานิยมปีกขวาในฝรั่งเศสก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญ ขณะนี้ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เดินอยู่บนเกมการเมืองที่ไม่แน่นอน ในความผันผวนของการเมืองฝรั่งเศสเราเห็นการเติบโตของกระแสประชานิยมปีกขวาค่อนข้างมาก ยังไม่นับรวมถึงตัวแสดงสำคัญอย่าง จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลีที่มีแนวคิดขวาจัด หรือ เกร์ต ไวล์เดอร์ส ผู้นำพรรคขวาจัดอย่างพรรค PVV ในเนเธอร์แลนด์ รวมถึง วิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 

 

ทำให้อาจารย์มองว่า ประเด็นแรกที่ต้องจับตามองในปี 2025 คือ โลกอาจมีทิศทาง ‘เอียงขวา’ มากขึ้น และเป็นการเอียงขวาที่ถูกขับเคลื่อนโดยกระแสประชานิยมปีกขวา และอาจทำให้ปี 2025 เป็น The Year of Right-Wing Populism บนเวทีโลก 

 

คำถามต่อไปคือ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกตะวันตกเริ่มไม่เป็นประชาธิปไตยหรือเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เสรี ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ระบุว่า กระแสดังกล่าวจะเปลี่ยนทิศทางการเมืองโลกแน่ๆ และคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็น่าจะเป็นยูเครน ขณะที่เสียงที่กังวลกับสงครามในตะวันออกกลางก็จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะปีกนี้อาจจะหันไปซัพพอร์ตปฏิบัติการทหารของอิสราเอลให้มากขึ้น รวมถึงโจทย์เรื่องสิทธิมนุษยชนอาจไม่ใช่โจทย์หลักอีกต่อไป ถ้าตะวันตกเป็น Populism มากขึ้น ความเป็นระเบียบโลก ‘แบบเสรี’ (Liberal International Order) ก็จะเป็นระเบียบโลกที่ ‘ไม่เสรี’ (Illiberal International Order) มากขึ้น แต่จะไปบรรจบอย่างไรกับจีนและรัสเซียก็คงต้องตามดู เพราะประชานิยมแบบทรัมป์อาจชื่นชม วลาดิเมียร์ ปูติน แต่ไม่ตอบรับจีน ขณะที่ปีกขวาในยุโรปก็ไม่ตอบรับจีนเช่นเดียวกัน เพราะมองว่าจีนเอารัดเอาเปรียบ

 

เวทีโลก 2025

Thomas Peter – Pool / Getty Images

 

2. การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ 

 

ไม่ว่าประชานิยมปีกขวาจะได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในยุโรปหรือไม่ แต่ในปี 2025 ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ เชื่อว่าโจทย์ ‘การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์’ จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน โดยเงื่อนไขส่วนหนึ่งมาจากแนวนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งด้านหนึ่งจะผูกโยงอยู่กับ ‘ลัทธิชาตินิยม’ และอีกส่วนหนึ่งก็คือการยืนอยู่บนชุดความคิดแบบ ‘โดดเดี่ยวนิยม’ (Isolationism) ทำให้คาดเดาได้ว่าการแข่งขันทางภูมิศาสตร์ของปี 2025 คงเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทย์นี้ขมวดปมอยู่กับปัญหาสงครามในจุดร้อนต่างๆ แต่เราอาจยังคงตอบไม่ได้ว่าความขัดแย้งในจุดต่างๆ ที่ยังไม่บานปลายกลายเป็นสงครามจะขยายตัวเป็นสงครามหรือไม่ และจุดที่ปะทุเป็นสงครามจะมีจุดจบอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

อาจารย์ยังมองว่าช่วงปลายปี 2024 เราได้เห็นข้อเสนอที่หลายฝ่ายตกใจ ทั้งกรณีที่ทรัมป์ขู่ทวงคืนคลองปานามา รวมถึงกระแสข่าวที่ทรัมป์ต้องการจะทุ่มเงินซื้อเกาะกรีนแลนด์จากเดนมาร์กเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคง และทรัมป์อาจพาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งความร่วมมืออื่นๆ ดังเช่นที่ทรัมป์เคยทำขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก (ปี 2017-2020) ทั้งหมดล้วนสะท้อนชุดความคิดแบบ ‘โดดเดี่ยวนิยม’ โดยข้อดีในการอ่านเกมของทรัมป์คือ เราอ่านจากเมื่อ 4 ปีที่แล้วในสมัยแรกของทรัมป์ว่าทรัมป์ทำอะไรบ้าง และทรัมป์อาจมีแนวโน้มทำสิ่งเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่งในลักษณะที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งครั้งนี้อาจเป็น ‘รอบทิ้งทวน’ ของทรัมป์ในการเมืองสหรัฐฯ ส่วนใครจะมาเป็น ‘ทายาททางการเมือง’ ที่จะมารับช่วงต่อทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน จะใช่ เจ.ดี. แวนซ์ รองประธานาธิบดีคนใหม่, มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ หรือจะเป็นนักการเมืองขวาจัดคนไหน อาจต้องรอติดตามในปี 2028

 

Shannon Stapleton / File Photo / Reuters

 

3. สงครามและการเตรียมรับมือกับสงคราม

 

สงครามยูเครนกำลังเข้าสู่ปีที่ 4 คำถามสำคัญคือ ปี 2025 อนาคตของสงครามยูเครนจะเป็นอย่างไร ทรัมป์จะช่วยยุติสงครามได้จริงหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามดู โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า ทรัมป์อาจบีบให้ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ยอมรับเงื่อนไขยกดินแดนที่เสียไปให้กับรัสเซียและกดดันให้รัสเซียหันกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาเพื่อยุติสงคราม โดยด้านหนึ่งสหรัฐฯ อาจลดความช่วยเหลือด้านการทหารที่มอบให้กับยูเครนลง เพื่อให้ยูเครนไม่สามารถรบได้ แต่ในขณะเดียวกันสหภาพยุโรป (EU) และ NATO ก็คงยังต้องการสนับสนุนยูเครนเพื่อยันกับรัสเซียต่อไป เพราะมองว่าหากรัสเซียชนะหรือรัสเซียสามารถยึดครองดินแดนของยูเครนได้อย่างชอบธรรม ในมิติด้านความมั่นคงก็เชื่อว่ารัสเซียอาจขยายอิทธิพลมากขึ้นกับพื้นที่ต่างๆ ของยุโรป เช่น มอลโดวา, จอร์เจีย รวมถึงบรรดารัฐยุโรปตะวันออกบางส่วนที่อาจกำลังลังเลว่าจะหันเข้าหารัสเซียแบบเดิมหรือผันตัวมาใกล้ชิดกับ EU เพิ่มมากขึ้น

 

เพราะฉะนั้นโจทย์สงครามในอีกมุมหนึ่งคือ ‘การเตรียมรับสงคราม’ ของบรรดารัฐต่างๆ ยิ่งในปี 2024 เราเห็นสัญญาณจากผู้นำสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงต้นปี 2024 ว่า คนอังกฤษกำลังจะถูกแบ่งเป็น Generation โดยใช้สงครามเป็นเส้นแบ่งคือมีนัยว่าประเทศกำลังจะเข้าสู่สงคราม ในขณะเดียวกันหลายประเทศในยุโรปเริ่มมีการเตรียมรับสงครามค่อนข้างชัด ทั้งในประเทศแถบสแกนดิเนเวียอย่างฟินแลนด์และสวีเดน ประเทศแถบทะเลบอลติกอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย รวมถึงประเทศที่ใกล้สมรภูมิรัสเซีย-ยูเครนอย่างโปแลนด์ด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้เรายังเห็นปัญหาสงครามที่ยังไม่รู้จุดจบในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในฉนวนกาซา ในขณะเดียวกันความล่อแหลมที่จะเกิดสงครามในเอเชียก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ รวมถึงบริเวณช่องแคบไต้หวัน และการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือบนคาบสมุทรเกาหลีที่มีความถี่มากยิ่งขึ้นหลังช่วงโควิด แปลว่า ‘ความเปราะบางของสงคราม’ เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ในปี 2025

 

เวทีโลก 2025

Dilok Klaisataporn / Shutterstock

 

4. การกีดกันทางการค้าและกำแพงภาษี 

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ เชื่อว่าปี 2025 จะเป็น ‘ปีแห่งลัทธิกีดกันทางการค้า’ (The Year of Protectionism) หรือจะเป็น ‘ปีแห่งกำแพงภาษี’ (The Year of Tariff) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจในภาพใหญ่ หรือโดยนัย ปี 2025 จะเป็น ‘ปีแห่งสงครามการค้า’ (The Year of Trade War) ที่แรงเสียดทานระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในทางเศรษฐกิจจะมีเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

จากปี 2020 ที่เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด จนถึงปี 2022 ที่สงครามยูเครนปะทุขึ้น และปี 2023 เราได้เห็นวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางและมีผลสืบเนื่องทำให้เศรษฐกิจโลกผันผวนในปี 2024 เพราะฉะนั้นในปี 2025 เราจะเห็นเรื่องใหญ่คือ ‘สงครามการค้า’ ที่มาพร้อมกับการกีดกันทางการค้าและกำแพงภาษี อาจารย์เน้นย้ำว่า ปี 2025 จะต้องระวังความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันก็ต้องระวังความผันผวนของเศรษฐกิจภายในแต่ละประเทศ ซึ่งผูกโยงอยู่กับมิติทางเศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน

 

ส่วนประเด็นเรื่องคำขู่ขึ้นภาษีของทรัมป์นั้นอาจารย์มองว่า ไทยเป็นประเทศลำดับต้นๆ ของโลกที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นถ้าทรัมป์เปิดสงครามการค้า ไทยมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในบัญชีและได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว โดยเราจะเห็นความย้อนแย้งในการเมืองไทยจากกลุ่มอนุรักษนิยมที่ค่อนข้างโปรจีน และมักจะเรียกร้องให้ไทยหันเข้าหาจีนมากขึ้น ซึ่งดูจะละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ และตะวันตก แต่ไทยเสียดุลการค้ากับจีน ส่วนใครที่เชื่อว่าถ้าสงครามการค้าเกิดขึ้น จีนอาจจะย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย แล้วไทยจะผลิตแบรนด์จีนไปขายยังสหรัฐฯ อาจารย์แสดงความเห็นว่า ในทรัมป์สมัยแรกอาจมีความเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นทรัมป์สมัยที่ 2 อาจเป็นไปไม่ได้แล้ว 

 

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระวังคือ จีนอาจจะใช้มาตรการผลักดันสินค้าจีนราคาถูกมาขายในบ้านเรามากขึ้น เพราะจีนจะขายสินค้าในตลาดตะวันตกได้ยาก สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ก็คือปี 205 สังคมไทยจะเผชิญกับสินค้าราคาถูกและไร้คุณภาพจากจีนมากขึ้น ไทยจะรับมือกับประเด็นนี้อย่างไร

 

Who is Danny / Shutterstock

 

5. ภาวะถดถอยของโลกาภิวัตน์

 

ถ้าปี 2025 เป็นปีแห่งสงครามการค้า คำถามสำคัญคือ ‘กระแสโลกาภิวัตน์’ (Globalization) จะยังมีอยู่หรือไม่ เพราะเวลาเราพูดถึงโลกาภิวัตน์ เราพูดถึงในมิติ ‘การค้าเสรี’ (Free Trade) แต่ถ้าการค้าไม่เสรีแล้วจะเป็นอย่างไร ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ อธิบายว่า วันนี้เรามีคำใหม่คือ ‘ภาวะถดถอยของโลกาภิวัตน์’ หรือ ‘ภาวะที่โลกาภิวัตน์ถูกหยุด’ (Deglobalization) ซึ่งก็คงมีมุมมองที่ถกเถียงได้ แต่สิ่งที่จะตามมาแน่ๆ คือผลกระทบกับ ‘ห่วงโซ่อุปทาน’ (Supply Chain) ทั่วโลก โจทย์ตรงนี้อาจจะต้องคิดต่อว่า ไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานนี้ เราจะจัดวางตัวเองอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้

 

ส่วนประเด็นที่ว่าการเข้าเป็นสมาชิก BRICS และ OECD อาจเป็นคำตอบของไทยในช่วงที่สงครามการค้าระลอกใหม่เตรียมปะทุและโลกาภิวัตน์กำลังถดถอย อาจารย์แสดงความเห็นว่า ไม่เคยเชื่อเรื่อง BRICS และไม่เคยมองว่า BRICS เป็นทางเลือก เพราะตลาดของไทยไม่ได้อยู่กับจีนและรัสเซีย แต่ผลประโยชน์ของไทยในทางเศรษฐกิจอยู่กับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป BRICS จึงไม่ใช่คำตอบ โดยอาจารย์ยังมองอีกว่าไทยไม่สามารถเล่นบทแบบอินโดนีเซีย อินเดีย หรือแอฟริกาใต้ได้ เพราะไทย ‘มีต้นทุนต่ำ’ ซึ่งต้นทุนที่ว่าคือสถานะทางเศรษฐกิจการเมือง (Political Economy) ของไทยบนเวทีโลกอยู่ในระดับที่ใช้เป็นข้อต่อรองได้ไม่มากนัก การเข้าร่วมกลุ่มกับโลกใต้ (Global South) อาจไม่ได้ตอบโจทย์เรามากอย่างที่คิด ส่วน OECD ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าไทยจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานการเข้ารับเป็นสมาชิกใหม่ได้หรือไม่ 

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ระบุว่า สิ่งที่ไทยควรทำมากขึ้นคือการสร้างบทบาทของไทยในประชาคมอาเซียน อยากเห็นโจทย์ใกล้ตัวที่ทำได้จริง พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า เศรษฐกิจไทยแขวนอยู่กับโลกตะวันตก ไม่ใช่โลกตะวันออกหรือโลกใต้อย่าง Global South ซึ่งเอาเข้าจริงคือ ‘ค่ายตะวันออกของยุคสงครามเย็น’ ที่เป็นปีกต่อต้านตะวันตก และการเข้า BRICS ไม่ได้เป็นภาพสะท้อนของการเป็นต้นไผ่ที่ลู่ตามลม ตามแนวคิด ‘ไผ่ลู่ลม’ (Bamboo Diplomacy) แต่อย่างใด

 

Earth Phakphum / Shutterstock

 

6. ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัญหาค่าครองชีพ

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ มองว่า ในสภาวะที่เราเห็นสงครามการค้า เห็นโลกาภิวัตน์กำลังถดถอย เห็นปัญหาของห่วงโซ่อุปทาน เราคาดการณ์ได้อย่างหนึ่งว่าเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนอย่างมาก แม้อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นวิกฤตก็ตาม และในความผันผวนนี้เกี่ยวพันกับ ‘ค่าครองชีพ’ (Cost of Living) ในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยอาจารย์มองว่าชัยชนะของทรัมป์คือภาพสะท้อนความพ่ายแพ้ในการจัดการปัญหาค่าครองชีพของพรรคเดโมแครตในสหรัฐฯ แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะไม่ได้แย่และมีอัตราการจ้างงานที่สูงขึ้น ปี 2025 ชีวิตจริงของผู้คนในทุกสังคมทั่วโลกมีโอกาสจะถูกกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจนี้

 

ถ้านับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิดเป็นต้นมา ค่าครองชีพมีแนวโน้มสูงขึ้น หลังสงครามยูเครน รวมถึงสงครามในตะวันออกกลาง ค่าครองชีพก็สูงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นปี 2025 ชีวิตของคนชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง รวมถึงชนชั้นกลาง-ล่าง (Lower Middle Class) จะถูกกระทบด้วยปัญหาค่าครองชีพ ขณะที่สังคมไทยก็น่าจะอยู่ในโมเดลที่ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าสงครามการค้าเกิด ‘สงครามค่าครองชีพ’ ที่กระทบกับชีวิตจริงของผู้คนทั่วโลกก็จะเกิดขึ้นตามมา

 

อาจารย์ยังได้กล่าวถึง กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนชื่อดังเจ้าของนามปากกา ‘ศรีบูรพา’ ที่เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ‘สงครามชีวิต’ เพราะค่าครองชีพคือชีวิตของทุกครอบครัว ถ้าหากค่าครองชีพยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น แปลว่าคนรากหญ้าในสังคมไทยกำลังประสบกับความยากลำบากอย่างมาก เพราะฉะนั้นโจทย์ปี 2025 ในมุมหนึ่งจึงไม่ต่างจากโจทย์สงครามชีวิต

 

Nelson Antoine / Shutterstock

 

7. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฝุ่นพิษ PM2.5 

 

โจทย์สำคัญที่เป็นโจทย์ที่อยู่ต่อเนื่องทุกปีก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในปี 2024 เราเห็นความแปรปรวนด้านสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างมาก ทั้งวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในสเปนและวิกฤตไฟป่าในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ระบุว่า สิ่งที่เห็นในปี 2024 จะเป็นภาพตอกย้ำที่เราจะเจอความแปรปรวนเหล่านี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ รวมถึงในปี 2025 

 

กรณีของไทย โจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจนที่สุดในปี 2024 คือวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ทางภาคเหนือและภาคใต้ของไทย ซึ่งทำให้เราเห็นว่าชีวิตของคนในสังคมไทยประสบความยากจนมากขึ้นจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นผลักดันให้ทั้งภาครัฐและภาคสังคมต้องคิดเรื่องอากาศใหม่อีกครั้ง มองเห็นความแปรปรวนด้านสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตที่รออยู่ข้างหน้าและต้องได้รับการเยียวยาแก้ไข เพราะฉะนั้นโจทย์นี้จะเป็นโจทย์ที่อยู่กับทุกสังคมทั่วโลก โดยมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นและสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น ทั้งในมิติเศรษฐกิจและชีวิตผู้คน

 

นอกจากนี้วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังเกี่ยวพันกับฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ปี 2025 อาจเป็นปีที่ฝุ่น PM2.5 อยู่กับเรานานกว่า 6 เดือน นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ในชีวิตของผู้คนที่ต้องเผชิญ โดยไม่มีเงื่อนไขของอายุ เวลา และสถานที่ เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

Anas-Mohammed / Shutterstock

 

8. ปัญหาผู้อพยพลี้ภัยและวิกฤตมนุษยธรรม

 

โลกในช่วงปลายปีที่ผ่านมาเราเห็นสงครามและความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปี 2021 เราเห็นสงครามกลางเมืองในเมียนมา ต่อมาปี 2022 เราเห็นสงครามปะทุขึ้นในยูเครน และปี 2023 ต่อเนื่องมาปี 2024 เราเห็นสงครามขยายตัวขึ้นในตะวันออกกลาง ยังไม่นับรวมสงครามใน ‘พื้นที่ชายขอบ’ อย่างในซูดาน มาลี และเฮติ โดยโจทย์สำคัญที่เป็นผลพวงจากสงครามและความขัดแย้งเหล่านี้คือ ‘ปัญหาผู้อพยพหนีภัยสงคราม’

 

ในบริบทของไทย เราอาจเห็นผลกระทบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา แม้ในระยะหลังจะไม่ส่งผลกระทบมากเช่นในอดีต แต่สงครามเหล่านี้ก่อให้เกิด ‘ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ’ (Internally Displaced Person: IDP) ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญในปี 2025 เพราะปัญหาผู้อพยพลี้ภัยและหนีภัยความขัดแย้งทางการเมืองเหล่านี้อาจนำไปสู่ ‘วิกฤตมนุษยธรรม’ ซึ่งแปลว่าการให้ความช่วยเหลือชุดนี้จะถูกท้าทาย เช่น ในบริบทสงครามฉนวนกาซา เลบานอน หรือในซีเรีย ไม่ต่างจากในยูเครน

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ระบุว่า ปี 2025 วิกฤตมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลกจะยังคงไม่หายไปไหน เพราะว่าอิสราเอลยังคงเดินหน้ากวาดล้างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความขัดแย้งในเลบานอนอาจจะดูเบาบางลง แต่ก็อาจปะทุขึ้นได้อีก ส่วนอนาคตของซีเรียภายหลังการโค่นล้มระบอบเผด็จการของตระกูลอัสซาดก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Aid) จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่หลายพื้นที่มีแนวโน้มจะกลายเป็น ‘จุดร้อน’ และอาจปะทุกลายเป็นสงครามใหญ่ จนเกิดเป็นปัญหาผู้อพยพลี้ภัยและวิกฤตมนุษยธรรมตามมา

 

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ว่าในปี 2025 จำนวนผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ (Forcibly Displaced and Stateless People) จะสูงกว่า 139 ล้านคนทั่วโลก โดยจำนวนนี้เป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศราว 68.5 ล้านคน และเป็นผู้ลี้ภัยอีกราว 34 ล้านคน

 

เวทีโลก 2025

Metamorworks / Shutterstock

 

9. การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐมหาอำนาจ

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ชี้ว่า ในปี 2024 มีสัญญาณบางอย่างที่น่ากังวล เนื่องจากเราได้เห็นจีนทดลองยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีแม้จะไม่ได้ติดหัวรบก็ตาม ยังไม่นับรวมถึงความพยายามของรัสเซียที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่เกาหลีเหนือที่ยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ แนวนโยบายประชานิยมของทรัมป์ ทรัมป์อยากขยายกองทัพอเมริกัน อยากเพิ่มงบประมาณทางการทหารและเสริมสร้างขีดความสามารถในการสู้รบ ที่สำคัญทรัมป์อยากนำพาสหรัฐฯ หันกลับไปสู่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยยุติไปในปี 1992 หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง ด้วยการถอนขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางในยุโรปทั้งของสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตออกไป เพื่อให้ยุโรปมีภาวะปลอดอาวุธนิวเคลียร์ การกลับมาของทรัมป์จะทำให้ประเด็นด้านอาวุธนิวเคลียร์กลับมาอีกครั้ง 

 

อาจารย์ยังมองอีกว่าโจทย์ปี 2025 ถูกสะท้อนด้วยรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (Nobel Peace Prize) ในช่วงปลายปี 2024 ที่เป็นของ ‘นิฮงฮิดังเคียว’ (Nihon Hidankyo) หรือสมาพันธ์องค์การผู้ประสบภัยระเบิดเอ- และเอช-บอมบ์ ที่ก่อตั้งเพื่อช่วยเหลือกลุ่ม ‘ฮิบาคุชะ’ (Hibakusha) หรือชาวญี่ปุ่นผู้รอดชีวิตจากเหตุทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอาจารย์มองว่าเป็นการตัดสินใจ ‘แบบดักคอ’ และช่วยเตือนสติเราว่า โจทย์นิวเคลียร์ยังเป็นโจทย์สำคัญ และอาจทำให้ปี 2025 เป็น ‘ปีแห่งอาวุธนิวเคลียร์’ (The Year of Nuclear Weapon)

 

Omer Messinger / Getty Images

 

10. การก่อการร้ายไม่เคยหายไปไหน

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ มองว่าการก่อเหตุร้ายกับตลาดคริสต์มาสชื่อดังในเยอรมนีเป็นสัญญาณเตือนให้เรารับรู้ว่าสงครามก่อการร้ายอาจจะหวนกลับคืนมา และสะท้อนว่าการก่อการร้ายไม่เคยหายไปไหน แม้ว่าในช่วงก่อนโควิดเราจะเห็นว่าการก่อการร้ายจากกลุ่มอัลกออิดะห์หรือกลุ่มรัฐอิสลามจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม โจทย์นี้ยังเป็นอะไรที่ละเลยไม่ได้

 

คำถามสำคัญคือ อิหร่านที่สูญเสียพันธมิตรใหญ่ทั้งกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และระบอบอัสซาดและพันธมิตรกลุ่มต่างๆ ในซีเรีย อิหร่านจะหวนกลับมาใช้การก่อการร้ายสู้กับโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ หรือไม่ ยังเป็นโจทย์ที่หลายฝ่ายต้องจับตาดู

 

แม้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเราจะเห็นความพยายามในการสังหารแกนนำกลุ่มติดอาวุธหรือกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ของกองทัพอิสราเอล แต่อาจารย์มองว่าการจัดการกับหัวหน้าขบวนการหรือผู้นำกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้เป็นเพียง ‘การแก้ปัญหาระยะสั้น’ เพราะโจทย์ระยะยาวของปัญหาการก่อการร้ายเป็นโจทย์การเมือง ต่อให้ตัวผู้นำจะหายไปหรือถูกสังหาร แต่อุดมการณ์ของกลุ่มยังคงอยู่และอาจนำไปสู่การฟื้นตัวของกลุ่มในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น หลังจากที่ อุซามะ บิน ลาดิน หลบหนีและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่ากลุ่มอัลกออิดะห์ได้ปิดฉากปฏิบัติการลงทั้งหมด หรือกลุ่มรัฐอิสลามที่เมื่อสูญเสียผู้นำคนสำคัญอย่าง อาบู บักร์ อัล-บักห์ดาดี ไป กลุ่มรัฐอิสลามจะสิ้นสภาพทั้งหมด เรายังเห็นปฏิบัติการของกลุ่มรัฐอิสลามที่กลายเป็นรัฐอิสลามแบบสาขา หรือผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์ของกลุ่มรัฐอิสลามอยู่เนืองๆ 

 

ส่วนในบริบทของไทยที่มีกลุ่ม BRN เคลื่อนไหวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยก็ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังเรื่อยมา โดยกลุ่ม BRN มุ่งหวังที่จะปลดปล่อยให้รัฐปัตตานีกลายเป็นรัฐเอกราช แต่อาจารย์มองว่าการผลักดันเรื่องรัฐเอกราชอาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด และอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนในกรณีของ ‘ติมอร์-เลสเต’ ที่มีเงื่อนไขของรัฐมหาอำนาจภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่อาเจะห์ในอินโดนีเซียและมินดาเนาในฟิลิปปินส์ก็เป็นตัวแบบที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพียงแต่มีเงื่อนไขของการจัดการปกครองที่เหมาะสมเข้ามาช่วยคลี่คลายความตึงเครียด

 

ขณะที่วิกฤตในเมียนมา หากได้รับการเยียวยาแก้ไข ก็อาจไม่ได้เป็นโอกาสในการจัดตั้งรัฐเอกราชใหม่เช่นเดียวกัน แต่เป็นเพียงการจัดเงื่อนไขการปกครองในรูปแบบที่เหมาะสมระหว่างกลุ่มชนหลากหลายชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปี 2025 จะเป็น ‘ปีของทรัมป์’ (The Year of Trump) เราคงได้เห็นนโยบายชุดใหม่ๆ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ภายหลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ในวันที่ 20 มกราคม 2025 รวมถึงแรงกระเพื่อมจากกระแสประชานิยมปีกขวาในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในยุโรป ผนวกกับอีก 9 ประเด็นข้างต้น ทั้งหมดขมวดปมกลับมาที่ตัวเราเอง คำถามคือ ในโจทย์ทั้ง 10 โจทย์ใหญ่เหล่านี้ ไทยจะมีจุดยืนอย่างไร จะดำเนินการอย่างไร สุดท้ายแล้วคงต้องขึ้นอยู่กับผู้นำไทยว่าจะเห็นโจทย์รอบประเทศไทยแค่ไหน เห็นแล้วเข้าใจแค่ไหน เข้าใจแล้วสามารถตีความเพื่อนำไปสู่กระบวนการในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมได้แค่ไหน

 

เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของการมองเห็นเท่านั้นว่า โลกภายนอกที่ล้อมรอบหรือกระแสโลกที่ล้อมไทยเป็นอย่างไร แต่ต้องทั้งเข้าใจและสามารถผลักดันกระบวนการที่จะทำให้นโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงระหว่างประเทศของไทยสอดรับกับสถานการณ์บนเวทีโลกให้ได้มากที่สุดอีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X