ขณะนี้ทั่วโลกไม่สามารถผลิตข้าวได้ทันกับความต้องการบริโภคของผู้คน ผู้บริโภคกว่า 3.5 พันล้านรายได้รับผลกระทบและต้องแบกรับราคาข้าวที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เป็นผู้บริโภคหลักกว่า 90% ของข้าวบนโลก
ในปี 2023 Fitch Solutions ได้ออกมาเผยว่าปริมาณข้าวในตลาดโลกกำลังเจอกับการร่วงหล่นของอุปทานมากสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งการขาดแคลนในระดับนี้จะส่งผลลบต่อผู้นำเข้ารายใหญ่แน่นอน
Charles Hart นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ของ Fitch Solutions กล่าวว่า “ผลกระทบทั่วโลกที่เด่นชัดที่สุดของการขาดแคลนข้าวที่เคยมีมาตลอดและยังคงเป็นอยู่ นั่นคือปัญหาราคาที่สูงในรอบทศวรรษ” ซึ่งราคามีแนวโน้มที่จะคงตัวอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงปี 2024 ตามรายงานของ Fitch Solutions เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา
ค่าเฉลี่ยราคาข้าวอยู่ที่ 17.30 ดอลลาร์ต่อ cwt (หน่วยวัดน้ำหนักสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว ที่มีน้ำหนักเท่ากับ 100 ปอนด์ในทวีปอเมริกา หรือเรียกว่า ‘สั้นร้อยนับ’) จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน และคงจะใช้เวลาไปถึงช่วงปี 2024 ที่ราคาน่าจะปรับลงไปอยู่ที่ 14.50 ดอลลาร์ต่อ cwt ตามข้อมูลจากรายงาน
Hart ได้กล่าวเสริมว่า “ข้าวถือเป็นอาหารหลักในครัวเรือนหลายประเทศ โดยมีแถบเอเชียเป็นหลัก ราคาที่สูงขึ้นจะเป็นตัวแปรสำคัญในการบ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อ ราคา และความมั่นคงทางอาหารของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย” รายงานยังได้พยากรณ์ถึงอุปทานข้าวที่จะหายไปในช่วงปี 2022-2023 ว่าจะคิดเป็นประมาณ 8.7 ล้านตัน ถือเป็นการขาดแคลนครั้งใหญ่นับตั้งแต่ปี 2003-2004 ที่ ณ เวลานั้นข้าวในตลาดโลกหายไปถึง 18.6 ล้านตัน
ปัจจัยภายนอกโถมใส่ สร้างคอขวดในการผลิต
การหดตัวของปริมาณการผลิตข้าวส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบมาจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่อีกปัจจัยสำคัญคือสภาพอากาศที่ย่ำแย่ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตข้าวรายหลักอย่างปากีสถานและจีน
ในครึ่งปีหลังของปี 2022 พื้นที่นาในจีนถูกน้ำท่วมหนักจากพายุมรสุม สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนา โดยเฉพาะในเขตกว่างซีและมณฑลกวางตุ้งที่เป็นสองแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ประสบกับปริมาณฝนที่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในรอบ 20 ปี จากรายงานของ Gro Intelligence
ปากีสถานเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตสำคัญที่มีสัดส่วนการซื้อขายข้าวคิดเป็น 7.6% ของโลก ก็เผชิญกับสภาวะที่คล้ายกันจากน้ำท่วมหนักในปีที่แล้ว ทำให้กำลังผลิตรายปีตกฮวบถึง 31% รายงาน USDA ของสหรัฐอเมริกาชี้ว่า “ผลกระทบนั้นร้ายแรงกว่าที่คาด”
Hart กล่าวสรุปถึงความขาดแคลนข้าวว่ามีส่วนมาจากความสามารถในการเก็บเกี่ยวของฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ที่น้อยลง เป็นผลมาจากอากาศร้อนจัดและความแห้งแล้ง รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วมรุนแรงในปากีสถาน
ทั้งนี้ ข้าวเป็นสินค้าเกษตรอีกตัวเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นต้นตอให้สินค้าเกษตรบางตัวมีราคาสูง จึงทำให้ข้าวมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการเข้ามาเป็นอาหารทดแทนของสินค้าเกษตรบางชนิด
จานข้าวของใครถูกกระทบบ้าง?
อัตราการผลิตข้าวที่ต่ำลงในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วในประเทศอย่างสหรัฐฯ และภูมิภาคยุโรป มีส่วนทำให้ปริมาณข้าวลดลงด้วย
Oscar Tjakra ผู้วิเคราะห์ระดับสูง Rabobank ธนาคารอาหารและเกษตรโลก แสดงความเห็นว่า “สถานการณ์ขาดแคลนนี้จะผลักค่าใช้จ่ายในการนำเข้าข้าวให้สูงขึ้นสำหรับผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศแถบแอฟริกาในปี 2023”
นานาประเทศคงจำเป็นที่จะต้องดึงสต๊อกภายในประเทศของตนมาบริโภคเพื่อบรรเทาสถานการณ์ Kelly Goughary ผู้วิจัยระดับสูงของ Gro Intelligence มองว่าประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อในราคาอาหารในประเทศสูงอยู่แล้ว เช่น ปากีสถาน ตุรกี ซีเรีย และบางประเทศในทวีปแอฟริกา
อีกปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวสูงคือการกีดกันการส่งออกข้าวของอินเดียที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 ที่เรียกเก็บภาษีส่งออกสูงถึง 20% เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับการบริโภคของชาวอินเดีย และควบคุมราคาในประเทศไม่ให้สูงเกินไป การกีดกันนี้ Hart ชี้ว่า “เป็นปัจจัยหลักทำให้ราคาข้าวคงตัวอยู่ในระดับสูง”
อย่างไรก็ตาม Fitch Solutions คาดการณ์ว่าข้าวในตลาดโลกจะค่อยๆ กลับมา โดยในปี 2023-2024 น่าจะมีแนวโน้มเข้าใกล้จุดสมดุลมากขึ้น นี่อาจเป็นสาเหตุทำให้ราคาสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้าเมื่อเทียบแบบปีต่อปีปรับลดต่ำลงกว่าที่เคยเป็นในปี 2022 แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าก่อนการเกิดการระบาดของโควิดประมาณ 1 ใน 3 เนื่องจากสินค้าในคลังถูกนำไปบริโภคในปริมาณมากช่วงที่ผ่านมา
Fitch Solutions มองว่าราคาข้าวจะปรับลงประมาณ 10% มาอยู่ที่ 15.50 ดอลลาร์ต่อ cwt ในปี 2024 และจะกลับมาอยู่ในสภาวะที่มีส่วนเกินในปี 2024-2025 “เรามองว่าปีนี้กำลังการผลิตข้าวจะสามารถกลับมาได้อย่างแข็งแรง โดยคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 2.5% แบบปีต่อปี” ตามรายงานพยากรณ์ของ Fitch Solutions
ถึงมุมมองอนาคตจะเป็นไปในเชิงบวก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการผลิตข้าวนั้นต้องพึ่งพาอาศัยความเป็นใจของสภาพอากาศ ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียคาดว่าประเทศจะมีสภาพฝนที่เป็น ‘ปกติ’ ก็มีความคาดหมายในด้านกลับกันถึงความเป็นไปได้ของอากาศร้อนจัดที่กำลังจะมาในไตรมาส 2 และ 3 และจะยังคงเป็นภัยคุกคามหลักของการเก็บเกี่ยวสำหรับอินเดีย
ประเทศอื่นๆ อย่างจีน หรือผู้ผลิตบางรายในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ก็ยังต้องรับมือกับความท้าทายนี้เหมือนกัน “จีนกำลังเผชิญกับสภาวะอากาศแห้งแล้งในพื้นที่การเก็บเกี่ยวข้าวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี และเหล่าประเทศในยุโรปก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน” Goughary กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เตรียมตัวรับมือ น้ำตาลแพง! หลังราคาฟิวเจอร์สพุ่งต่อเนื่อง แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี เหตุอุปทานตึงตัว
- ชาวอิตาลีกลุ้ม! ต้นทุนวัตถุดิบ ‘พิซซ่า’ อาหารแห่งชาติ พุ่ง 30% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป
- ภาวะเงินเฟ้อรุมเร้าญี่ปุ่น ผู้บริโภคซื้อสินค้าถูกลง สวนทาง ผงชูรส-ยาคูลท์-กาแฟ แม้ขึ้นราคาแต่ลูกค้ายอมจ่าย
อ้างอิง: